3 สไตล์ ชมรมผู้สูงอายุส่งเสริมสุขภาพช่องปาก กำแพงเพชร ... ชมรมผู้สูงวัยเทศบาลตำบลลานกระบือ


 

เมื่อ 3-5 สค.54 ที่ รร.โลตัสปางสวนแก้ว เชียงใหม่ จังหวัดกำแพงเพชรยกทีมงานไปร่วมใจกันถอดบทเรียน การทำงาน ส่งเสริมทันตสุขภาพในชมรมผู้สูงอายุแบบผสมผสาน มีการแลกเปลี่ยนประสบการณ์กันอย่างเต็มที่ค่ะ โดยมี ดิฉัน และคุณหมอก้องร่วมกันวิทยากรนำกลุ่ม

กลุ่มของดิฉันมีการถอดบทเรียน ประสบการณ์การทำกิจกรรมส่งเสริมสุขภาพช่องปากในชมรมผู้สูงอายุ ของ 3 พื้นที่ ได้แก่ อำเภอลานกระบือ อำเภอโกสัมพี และอำเภอพรานกระต่าย

ที่นี่ สสจ.กำแพงเพชร ใช้กลยุทธ์สนับสนุนให้ทุกอำเภอดำเนินงาน ในโครงการฟันเทียมพระราชทานและการส่งเสริมสุขภาพช่องปากผู้สูงอายุ ด้วยการจัดประชุมสัญจรไปตามอำเภอทุกแห่ง เพื่อชี้แจงนโยบาย และให้ความรู้เรื่องสุขภาพช่องปากแก่บุคลากรสาธารณสุข แกนนำชมรมผู้สูงอายุ และ อสม. ซึ่งคุณหมอส้มบอกไว้ว่า "... เห็นแววการดำเนินงาน การส่งเสริมสุขภาพช่องปากผู้สูงอายุในชมรมฯ เกิดแน่ ..."

อันแรกที่จะนำมา ลปรร. กันถึงการทำกิจกรรมของอำเภอ ของกำแพงเพชร ก็คือ การรุกกิจกรรมส่งเสริมสุขภาพช่องปากของกำแพงเพชรละค่ะ นั่นก็คือ

ชมรมผู้สูงวัยเทศบาลตำบลลานกระบือ ... ที่นี่มี slogan ว่า “วันวานในน้ำมีปลา วันข้างหน้ามีสังคมมีผู้สูงวัย” 

เมื่อปี 2547 กองสาธารณสุขสิ่งแวดล้อม เทศบาลลานกระบือ ได้เห็นตัวอย่างการจัดกิจกรรม ของชมรมผู้สูงอายุโรงพยาบาลลานกระบือ จึงคิดบ้าง อยากจะรวมตัวผู้สูงอายุให้เป็นของเทศบาลตำบลลานกระบือ ด้วยความคิดที่ว่า “เราก็น่าจะทำได้” เลยเริ่มต้นคิด หาวิธีการว่า จะทำอย่างไร

อาศัยที่เธอรู้จักกับคนเยอะแยะมากมาย และเห็นอะไรดีดีก็จะเก็บตรงนั้นมาต่อยอด เธอรู้จักนายอำเภอประเทือง เกตุอ่ำ ประธานสาขาสภาผู้สูงอายุแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี จังหวัดกำแพงเพชร รู้จักผู้นำกิจกรรมการออกกำลังกายแบบไม้พลอง จากอำเภอไทรงาม จึงเริ่มต้นทำกิจกรรมให้ผู้สูงอายุ โดยเขียนโครงการจัดอบรมให้ความรู้ผู้สูงอายุ และผู้ที่เกี่ยวข้อง เช่น อสม. ของบฯ สนับสนุนจากเทศบาล เชิญคุณลุงประเทือง และวิทยากรสอนการออกกำลังกายแบบไม้พลอง และได้ดำเนินการจัดอบรม โดยเชิญผู้สูงอายุจากแต่ละชุมชนของเทศบาล และผู้เกี่ยวข้องเข้ามาอบรมกัน มีผู้เข้าประชุมที่ถือได้ว่าเยอะมากถึง 70 คน หลังจากอบรมเสร็จ ก็ได้มีการปรึกษาหารือกันต่อว่า ความรู้ที่ได้รับไปแล้ว ก็คือ การออกกำลังกาย เราควรจะมีการนัดมาเจอกัน ทำกิจกรรมกันต่อ อย่างไร และที่ไหนดี

ระยะแรก ชมรมผู้สูงอายุมารวมกลุ่มกันที่วัด เจ้าหน้าที่ของเทศบาลยังต้องเกาะติดนำกลุ่มผู้สูงอายุให้มารวมตัวกันอยู่ จนได้มีการเลือกประธานชมรมผู้สูงอายุ นายแล อ้นอิน มรรคทายกของวัดเป็นประธาน มีกรรมการชมรมฯ ร่วมดำเนินการ และเจ้าหน้าที่ยังคงดำเนินการหลักควบคู่กันไป รวมทั้งไปร่วมกิจกรรมชมรมฯ ซึ่งมีนัดทำกิจกรรมกันในทุกวันอังคารที่ศาลาวัด อยู่ประมาณ 2 ปี เทศบาลให้การสนับสนุนเครื่องเสียง เพื่อให้ชมรมฯ ใช้ทำกิจกรรม และชมรมฯ ร่วมกันทำกิจกรรมเพื่อสนับสนุนวัด เพื่อทำความสะอาด ปรับปรุงสถานที่วัด โดยชวนกันเรี่ยรายเงิน จัดกิจกรรมไข่ปลาพาโชค ในงานลอยกระทง ทำห้องน้ำ ห้องส้วมให้กับศาลาวัดด้วย

เทศบาลจึงเป็นผู้เริ่มต้นทำให้ชมรมผู้สูงอายุเกิดขึ้น ตั้งแต่ปี 2547 และเกิดความเข้มแข็ง สามารถทำกิจกรรมได้อย่างต่อเนื่องมาจนถึงทุกวันนี้ โดยมีผู้สูงอายุมาทำกิจกรรมที่ชมรมฯ เป็นประจำ โดยมีทีมเทศบาลคอยส่งเสริม และให้กำลังใจ จนกระทั่งเมื่อเทศบาลสร้างอาคารใหม่ ชมรมฯ จึงย้ายจากศาลาวัดมาอยู่ในบริเวณของเทศบาลลานกระบือในเวลาต่อมา

เทคนิคหนึ่งที่ได้รับการสนับสนุนจากเทศบาลอย่างสม่ำเสมอ น่าจะมาจาก เวลาที่ชมรมผู้สูงอายุมีการทำกิจกรรมอะไร ก็จะเชิญนายกเทศมนตรีเข้ามาร่วมกิจกรรมด้วยบ่อยๆ เมื่อเทศบาลมีแผนสร้างอาคารเพื่อขยายพื้นที่เพิ่มให้กับกองสาธารณสุขฯ จึงคิดถึงผู้สูงอายุ ทำสถานที่ด้านล่างให้เป็นโถงใหญ่ เป็นสถานที่ทำการชมรมฯ ด้วยพร้อมกัน และความเอาจริงเอาจังในการทำงานด้านนี้ ก็เป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่นายกฯ เห็นได้ว่า เจ้าหน้าที่ทำงานจริง

เมื่อชมรมฯ เข้มแข็งแล้ว ก็สามารถทำกิจกรรมต่อยอดกันต่อไปได้ เมื่อมีกิจกรรมอะไรเข้ามา ชมรมฯ ก็สามารถดำเนินการกันต่อเนื่องได้ เช่น การเกิดของคณะกลองยาว

ถามว่า อะไรที่บอกว่า เป็นชมรมผู้สูงอายุเข้มแข็ง นั่นก็คือ เขาสามารถมากันได้ทุกวันอังคาร ชวนไปไหนไปด้วย เทศบาลให้บริการ โดยมีการไปรับผู้สูงอายุมาทำกิจกรรมบางส่วน แต่ส่วนใหญ่ก็จะมากันเอง จะปั่นจักรยาน หรือรถเครื่องมา เพราะว่าผู้สูงอายุแข็งแรงแทบทุกคน

ปัจจุบันชมรม ตั้งอยู่ที่เทศบาลตำบลลานกระบือ อำเภอลานกระบือ จังหวัดกำแพงเพชร สถานที่ตั้งชมรมผู้สูงอายุเป็นอาคารเอนกประสงค์เฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา ที่ทางเทศบาลสร้างขึ้นเมื่อปี 2552 ให้เป็นที่ทำการของกองสาธารณสุข และเป็นสถานที่ใช้ทำกิจกรรมของชมรมผู้สูงอายุด้วย มีสมาชิก 252 คน เป็นชาย 42 คน หญิง 210 คน มีสมาชิกตั้งแต่อายุ 45 ปีขึ้นไป ซึ่งมีสมาชิกเป็นผู้สูงอายุจำนวน 201 คน และก่อนสูงอายุ 51 คน มีกลุ่มผู้สูงอายุที่ช่วยเหลือตนเองและผู้อื่นได้ 245 คน ช่วยเหลือตนเองได้บ้าง 4 คน และช่วยเหลือตนเองไม่ได้ 3 คน

กิจกรรมประกอบของชมรมฯ มีการทำกิจกรรมการออกกำลังกาย นั่งสมาธิ นันทนาการ การพบปะแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน การตรวจสุขภาพเบื้องต้น ได้แก่ การชั่งน้ำหนัก วัดความดันโลหิตโดย อสม. และการดูแลสุขภาพช่องปาก ซึ่งได้รับการสนับสนุนกิจกรรมจาก ฝ่ายทันตสาธารณสุข รพ.ลานกระบือ

เมื่อแรกทำกิจกรรมส่งเสริมสุขภาพช่องปากในชมรมผู้สูงอายุ 

เมื่อได้รับนโยบายฯ ด้วยเป้าหมาย 1 อำเภอ 1 ชมรม หมอมลได้เข้ามาติดต่อเทศบาล ขณะนั้นเทศบาลเป็นตำบลที่ทำกิจกรรมดูแลผู้สูงอายุระยะยาว (ปี 2553) ด้วยเห็นว่าชมรมฯ นี้เข้มแข็ง จึงเริ่มทำกิจกรรมการส่งเสริมสุขภาพช่องปาก ด้วยการอบรมให้ความรู้เรื่องสุขภาพช่องปากให้ผู้สูงอายุ ทำให้ผู้สูงอายุมีความรู้เรื่องสุขภาพช่องปากมากขึ้น

มาปี 2554 เทศบาลทำโครงการสุขภาพฟันดี เป็นการต่อเนื่องทำกิจกรรมส่งเสริมสุขภาพช่องปากให้ชมรมผู้สูงอายุ โดยคิดต่อยอดกิจกรรมการอบรมให้ความรู้เรื่อง สุขภาพช่องปาก ตรวจสุขภาพช่องปากผู้สูงอายุ เคลือบฟลูออไรด์วานิช การแปรงฟันหลังอาหาร โดยทำที่แขวนแปรงสีฟันให้ผู้สูงอายุ เป็นกล่องใส่แปรงติดชื่อผู้สูงอายุ ที่ผู้สูงอายุสามารถเก็บแปรงสีฟันไว้ที่ชมรมฯ เพื่อที่จะนำมาใช้แปรงฟันในเวลาที่มาที่ชมรมฯ ทุกวันอังคาร รวมทั้งการอมน้ำยาบ้วนปากสมุนไพรหลังการแปรงฟัน ที่ผู้สูงอายุทำขึ้นเอง

กิจกรรมที่เกิดขึ้นในชมรมผู้สูงอายุปัจจุบัน

จุดเริ่มต้น ด้วยความคิดว่า “ปาก คือ ประตูสู่สุขภาพ” ทำให้ทิศทางการดูแลสุขภาพช่องปากผู้สูงอายุเป็นการทำกิจกรรมแบบองค์รวม ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วม ทั้งในเรื่องสุขภาพ สุขภาพช่องปาก และคุณภาพชีวิต การดำเนินกิจกรรมส่งเสริมทันตสุขภาพที่นี่ ได้แก่

  • เชิญทันตบุคลากรมาให้ความรู้ด้านการดูแลสุขภาพช่องปากปีละ 2 ครั้ง
  • มีการตรวจสุขภาพช่องปาก โดยทันตบุคลากรปีละอย่างน้อย 1 ครั้ง
  • มีการตรวจสุขภาพช่องปากกันเอง โดย อาสาสมัคร
  • ชมรมสนับสนุนแปรงสีฟันให้กับผู้สูงวัย เพื่อใช้ในการแปรงฟัน และบ้วนปากด้วยน้ำยาบ้วนปากสมุนไพร ก่อนการออกกำลังกายทุกวันอังคาร
  • ทำน้ำยาบ้วนปากสมุนไพรไว้ใช้กันเองในชมรม หลังจากการแปรงฟัน

และมีการแลกเปลี่ยนเรื่อง การทำน้ำยาบ้วนปากสมุนไพร โดย ถ่ายทอดกิจกรรมสู่บ้าน สู่ชุมชน โดยสมาชิกชมรมผู้สูงอายุจะมีการทำน้ำยาบ้วนปากไว้ใช้ภายในชมรม และผู้สูงอายุบางท่านสามารถทำใช้เองที่บ้านด้วย ตลอดจนนำความรู้ที่มีไปเผยแพร่ในศูนย์พัฒนาเด็กเล็กเทศบาลตำบลลานกระบือ น้ำยาบ้วนปากสมุนไพร ประกอบด้วย น้ำสะอาด 1 ลิตร น้ำมันเปปเปอร์มิ้นอโรมา ผักชีฝรั่งสด 2 ขีด อบเชยแห้ง 2 ขีด และดอกกานพลูแห้ง 50 กรัม

รวมทั้ง จากความร่วมมือร่วมใจของผู้สูงวัยในเทศบาลตำบลลานกระบือ ทำให้เกิดผลิตภัณฑ์ที่เป็นประโยชน์ขึ้นมาหลายอย่าง เช่น มะกรูดแก้ว น้ำยาล้างจานเอนกประสงค์ แชมพูสมุนไพรไร้สารเคมี เป็นต้น

ปัจจัยแห่งความสำเร็จ ที่นำมาซึ่งความสำเร็จของการทำกิจกรรมส่งเสริมสุขภาพช่องปากในชมรมผู้สูงวัยเทศบาลตำบลลานกระบือ น่าจะมาจากความร่วมมือร่วมใจของผู้สูงวัยในชมรมฯ การสนับสนุนอย่างแข็งขันของเทศบาลตำบลลานกระบือ และการร่วมสร้างสรรค์กิจกรรมจากฝ่ายทันตสาธารณสุข รพ.ลานกระบือ

ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้น หลังจากที่ได้มีการทำกิจกรรมส่งเสริมสุขภาพช่องปากในชมรมผู้สูงอายุ ตั้งแต่ปี 2553 ทำให้ผู้สูงวัยเทศบาลตำบลลานกระบือได้รับการตรวจสุขภาพช่องปาก มีความรู้ความเข้าใจเรื่องการดูแลสุขภาพช่องปาก และสามารถนำไปปฏิบัติเองได้ และผู้สูงวัยเทศบาลตำบลลานกระบือ นำความรู้เรื่องการดูแลสุขภาพช่องปากไปเผยแพร่ให้กับบ้านและชุมชนได้

และในวันข้างหน้า จะได้มีการทำแผนร่วมกันที่จะจัดอบรมให้ความรู้เรื่อง การดูแลทันตสุขภาพแก่อาสาสมัครเพื่อให้เป็นภาคีเครือข่ายภาคประชาชน ทำให้งานทันตสุขภาพเป็นส่วนหนึ่งของงานส่งเสริมสุขภาพ และกลุ่มผู้สูงอายุกลุ่ม 2 และกลุ่ม 3 ได้รับการดูแลด้านทันตสุขภาพจากผู้ดูแลที่มีความรู้ หรือจากสมาชิกชมรมเข้าไปดูแล

 

หมายเลขบันทึก: 454159เขียนเมื่อ 16 สิงหาคม 2011 12:39 น. ()แก้ไขเมื่อ 24 มิถุนายน 2012 02:18 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท