ไตรภูมิพระร่วง


นาค,ครุฑ,ยักษ์ และคนต่างภพ ถูกเปิดเผยโดยพุทธศาสนา

 

ที่มาของวรรณคดีเรื่องไตรภูมิพระร่วง

หนังสือไตรภูมิพระร่วงเป็นหนังสือสำคัญสมัยกรุงสุโขทัยที่ตกทอดมาถึงปัจจุบัน    เป็นวรรณคดีทางศาสนาที่มีอิทธิพลต่อคนไทยมาก  เดิมเรียกว่า "เตภูมิกถา หรือไตรภูมิกถามีความหมายว่า เรื่องราวของโลกทั้ง ๓ ได้แก่ โลกที่เรียกว่ากามภูมิ รูปภูมิ และอรูปภูมิ ในการพิมพ์ครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๕ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงเปลี่ยนชื่อหนังสือเล่มนี้เป็น "ไตรภูมิพระร่วง"      เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระร่วงเจ้าแห่งกรุงสุโขทัยให้คู่กับหนังสือสุภาษิตพระร่วง

ผู้แต่ง    

                พระมหาธรรมราชาที่  ๑ (พระยาลิไท)  ทรงเป็นพระราชโอรสของพระเจ้าเลอไท และเป็นพระนัดดาของพระเจ้ารามคำแหงมหาราช ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ ราชวงศ์พระร่วง ครองกรุงสุโขทัย เมื่อ พ.ศ. ๑๘๙๐ - พ.ศ. ๑๙๑๒ ก่อนขึ้นครองราชย์สมบัติทรงดำรงตำแหน่งอุปราช ครองเมืองศรีสัชนาลัย ตั้งแต่ พ.ศ. ๑๘๘๓ - พ.ศ.๑๘๙๐ ใน พ.ศ. ๑๘๙๐ เมื่อพระยางั่วนำถม พระมหากษัตริย์ครองราชย์สมบัติ ณ กรุงสุโขทัย ได้เสด็จสวรรคตได้เกิดการจลาจลชิงราชสมบัติกรุงสุโขทัยขึ้น พระมหาธรรมราชาที่ ๑ (พระยาลิไท) ทรงสามารถยกกองทัพมาปราบปรามศัตรูได้หมดสิ้น และเสด็จขึ้นครองราชย์สมบัติ เป็นพระมหากษัตริย์องค์ที่ ๖ แห่งราชวงศ์พระร่วง เฉลิมพระนามว่า ศรีสุริยพงศ์รามมหาธรรมราชาธิราช

จุดมุ่งหมายในการแต่ง

1.             เพื่อเทศนาโปรดพระมารดา  เป็นการเจริญธรรมความกตัญญู

2.             ใช้สั่งสอนประชาชนให้มีคุณธรรมและช่วยกันดำรงพระพุทธศาสนาไว้ให้ยั่งยืน

  ลักษณะการแต่ง

แต่งเป็นร้อยแก้ว ประกอบไปด้วยร้อยแก้วชนิดพรรณนาโวหาร บรรยายโวหาร และเทศนาโวหาร 

เนื้อเรื่อง

กล่าวถึงเรื่องในไตรภูมิ คือ กามภูมิ รูปภูมิ และอรูปภูมิ ซึ่งเป็นดินแดนที่สัตว์ทั้งหลายต้องเวียนว่ายตายเกิดในภูมิเหล่านี้

                ๑. กามภูมิ คือโลกของผู้ที่ยังติดอยู่ในกามกิเลสคือ รัก โลภ โกรธ หลง ซึ่งแบ่งออกเป็น ๒ ดินแดนและโลกย่อยๆ ๑๑ แห่งได้แก่

                           ๑.สุคติภูมิ หรือดินแดนฝ่ายดีหรือฝ่ายเจริญ ประกอบด้วยโลกย่อย ๗ แห่งได้แก่ มนุสสภูมิหรือโลกมนุษย์ ๑ แห่ง และสวรรค์ภูมิหรือฉกามาพจรภูมิซึ่งหมายถึงสวรรค์ ๖ ชั้น ได้แก่ จาตุมหาราชิกา  ดาวดึงส์ ยามา  ดุสิต  นิมมานรดี และปรนิมมิตรสวัตตี

                           ๒.อบายภูมิ ๔ (ทุคติภูมิ) หรือดินแดนฝ่ายไม่ดีหรือฝ่ายเสื่อม ประกอบด้วยโลกย่อยๆ ๔ แห่งได้แก่ นรกภูมิ ดิรัจฉานภูมิ  เปรตภูมิ  และอสุรกายภูมิ

๒. รูปภูมิ  เป็นดินแดนของพรหมที่มีรูป มีทั้งสิ้น ๑๖ ชั้น พรหมทั้ง ๑๖ ชั้นนี้เรียกว่า โสฬสพรหม  พรหม ๕ ชั้นสูงสุดนั้นคือ พรหมตั้งแต่ชั้นที่ ๑๒ ๑๖ เป็นพรหมชั้นพิเศษที่เรียกว่า พรหมชั้นปัญจสุทธาวาส เป็นที่เกิดของพระอนาคามี คือผู้ที่จะไม่มาสู่กามภูมิอีก ได้แก่ อวิหาภูมิ อตัปปาภูมิ สุทัสสาภูมิ  สุทัสสีภูมิ และอกนิฏฐาภูมิ

๓. อรูปภูมิ เป็นดินแดนของพรหมไม่มีรูป มีแต่จิตหรือวิญญาณ แบ่งออกเป็น  ๔ ชั้นคือ อากาสานัญจายตนะ  วิญญานัญจายตนะ อากิญจัญญายตนะ และเนวสัญญานาสัญญายตนะ

นอกจากนี้ยังได้กล่าวถึงภูมิต่าง ๆ  ที่มีอยู่ในไตรภูมิว่า ใครที่ทำความดีหรือความชั่วเช่นไร ก็จะได้ไปจุติ ณ ดินแดนนั้น

คุณค่าของวรรณคดีเรื่องไตรภูมิพระร่วง

๑. คุณค่าทางภาษา

เป็นวรรณคดีเล่มแรกที่เรียบเรียงในลักษณะการค้นคว้าจากคัมภีร์ต่าง ๆ ถึง ๓๐ คัมภีร์   จึงมีศัพท์ทางศาสนาและภาษาไทยโบราณอยู่มาก  สามารถนำมาศึกษาการใช้ภาษาในสมัยกรุงสุโขทัย  ตลอดจนสำนวนโวหารต่าง ๆ ไตรภูมิพระร่วงมีสำนวนหนักไปในทางเทศนาโวหารและพรรณนาโวหาร  ผูกประโยคยาว และใช้ถ้อยคำพรรณนาดีเด่น สละสลวยไพเราะ  ก่อให้เกิดความรู้สึกด้านอารมณ์สะเทือนใจและให้จินตภาพหรือภาพในใจอย่างเด่นชัด  เช่น การพรรณนาความงามชองหญิงในอุตรกุรุทวีป

“...แลมีฝูงผู้หญิงอันอยู่ในแผ่นดินนั้นงามทุกคนรูปทรงเขานั้นบมิต่ำบมิสูงบมิพีบมิผอมบมิขาวบมิดำ สีสมบูรณ์งามดังทองอันสุกเหลืองเรืองเป็นที่พึงใจฝูงชายทุกคนแลฯ นิ้วตีนนิ้วมือเขานั้นกลมงามนะแน่ง เล็บตีนเล็บมือเขานั้นแดงงามดังน้ำครั่งอันท่านแต่งแล้วแลแต้มไว้ แลสองแก้มเขานั้นไสงามเป็นนวลดังแกล้งเอาแป้งผัด หน้าเขานั้นหมดเกลี้ยงปราศจากมลทินหาผ้าหาไผบมิได้ แลเห็นดวงหน้าเขาใสดุจดวงพระจันทร์อันเพ็งบูรณ์นั้น เขานั้นมีตาอันดำดังตาแห่งลูกทรายพึ่งออกได้ ๓ วันที่บูรณ์ขาวก็ขาวงามดังสังข์อันท่านพึ่งฝนใหม่แลมีฝีปากนั้นแดงดังลูกฝักข้าวอันสุกนั้น แลมีลำแข้งลำขานั้นงามดังลำกล้วยทองฝาแฝดนั้นแล แลมีท้องเขานั้นงามราบเพียงลำตัวเขานั้นอ้อนแอ้นเกลี้ยงกลมงาม แลเส้นขนนั้นละเอียดอ่อนนัก ๘ เส้นผมเขาจึงเท่าผมเรานี้เส้นหนึ่ง แลผมเขานั้นดำงามดังปีกแมลงภู่เมื่อประลงมาเถิงริมบ่าเบื้องต่ำ แลมีปลายผมเขานั้นงอนเบื้องบนทุกเส้น แลเมื่อเขานั่งอยู่ก็ดี ยืนอยู่ก็ดี เดินไปก็ดี ดังจักแย้มหัวทุกเมื่อ แลขนคิ้วเขานั้นดำแลงามดังแกล้งก่อ เมื่อเขาเจรจาแลน้ำเสียงเขานั้นแจ่มใส่ปราศจากเสมหเขฬทั้งปวงแล...”

 

๒.  ด้านสังคมและวัฒนธรรม

๒.๑  คำสอนทางศาสนา  ไตรภูมิพระร่วงสอนให้คนทำบุญละบาป  เช่น  การทำบุญรักษาศีล เจริญสมาธิภาวะนา จะได้ขึ้นสวรรค์การทำบาปจะตกนรก  แนวความคิดนี้มีอิทธิพลเหนือจิตใจของคนไทยมาช้านาน เป็นเสมือนแนวการสอนศีลธรรมของสังคม ให้คนปฏิบัติชอบซึ่งเป็นประโยชน์ต่อการอยู่ร่วมกันในสังคม

                ๒.๒  ค่านิยมเชิงสังคม  อิทธิพลของหนังสือเล่มนี้ให้ค่านิยมเชิงสังคมต่อคนไทย  ให้ตั้งมั่นและยึดมั่นในการเป็นคนใจบุญ มีเมตตากรุณา รักษาศีล บำเพ็ญทาน รู้จักเสียสละ เชื่อมั่นในผลแห่งกรรม

                ๒.๓  ศิลปกรรม  จิตรกรนิยมนำเรื่องราวและความคิดในไตรภูมิพระร่วงไปเขียนภาพสีไว้ในโบสถ์วิหาร  โดยจะเขียนภาพนรกไว้ที่ผนังด้านล่างหรือหลังองค์พระประธาน  และเขียนภาพสวรรค์ไว้ที่ผนังเบื้องบนรอบโบสถ์วิหาร

  ๓.  ด้านความรู้ 

                ๓.๑ ด้านวรรณคดี ทำให้คนรุ่นหลังได้รับความรู้ทางวรรณคดี อันเป็นความคิดของคนโบราณ ซึ่งจะเป็นพื้นฐานของวรรณคดีไทย เช่น พระอินทร์ แท่นบัณพุกัมพล ช้างเอราวัณ เขาพระสุเมรุ ป่าหิมพานต์ ต้นปาริชาติ ต้นนารีผล นรก สวรรค์ เป็นต้น

                 ๓.๒ ด้านภูมิศาสตร์  เป็นความรู้ทางภูมิศาสตร์ของคนโบราณ

โดยเชื่อว่าโลกมีอยู่ ๔ ทวีป  ได้แก่  ชมพูทวีป  บุรพวิเทหทวีป อุตรกุรุทวีป และอมรโคยานทวีป  โดยมีเขาพระสุเมรุเป็นศูนย์กลาง

 

หมายเลขบันทึก: 453701เขียนเมื่อ 13 สิงหาคม 2011 23:18 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2012 09:33 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

สวัสดีค่ะ..ปานทอง

แวะมาอ่าน และ ให้กำลังใจผู้เขียน เป็นความรู้ที่หลายคนอาจจะลืมเลือนไปบ้าง

น่าสนใจดีค่ะ เป็นครู..อย่าลืมที่จะให้ความรู้ ที่ละเล็กทีละน้อย ค่อยเป็นไป

สวัสดีค่ะ...ครูเล็ก

ขอบคุณที่แวะมาอ่านและให้กำลังใจกันนะค่ะ

วรรณคดีเรื่องนี้ทำส่งอาจารย์ค่ะ เลยเอามาเผยแพร่เป็นความรู้ค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท