ปรับประชาธิปไตย (ที่ลอกเขามาทั้งดุ้น) ให้เข้ากับนิสัยคนไทย (ตอนที่ 1)


คนไทยเราไม่มีนิสัยอิงตนแบบฝรั่ง แต่มีนิสัยอิงผู้นำ ดังนั้นระบบปชต.ไทยเราต้องต่างจากฝรั่ง ไม่งั้นล่มแน่ๆ

ปรับประชาธิปไตย (ที่ลอกเขามาทั้งดุ้น) ให้เข้ากับนิสัยคนไทย (ตอนที่ 1)

 

โดย ทวิช จิตรสมบูรณ์

 

ในระหว่างการรณรงค์ต่อต้านเผด็จการ รสช. จากฐานที่มั่นส่วนตัวทางอินเตอร์เน็ทในสหรัฐอเมริกา ในช่วง พศ. ๒๕๓๕ ความคิดผู้เขียนเริ่มตกผลึกว่าระบอบประชาธิปไตยแบบตะวันตก (ปชต. ตต) ที่เราไปลอกฝรั่งมาใช้ทั้งดุ้นนานถึง 60 ปีนั้น ไม่เหมาะกับสังคมไทย ดังนั้นเราควรปรับ ปชต. ตต. ให้สอดคล้องกับลักษณะสังคมไทยเสียก่อน  มันจึงจะงอกงาม ผลิดอกออกผลให้เราได้เชยชมที่คุ้มค่ากับความเหน็ดเหนื่อย

 

ผู้เขียนวิเคราะห์ว่า ปชต. ตต. ถือกำเนิดและเติบโตขึ้นมาในบริบทของลักษณะนิสัยแบบอิงตน ( individualism) ของชาวตะวันตก ทำให้นักการเมืองของเขาจึงต่างคนต่างโหวต (ในสภา) ทั้งนี้โดยมีหลักการใหญ่ร่วมกันตามนโยบายพรรคที่เขาสังกัด ส่วนของไทยเราไม่มีนิสัยอิงตนแบบเขา แต่มีนิสัยอิงผู้นำ (Leaderism..ศัพท์ที่ผมตั้งเอง ) ดังนั้นนักการเมืองเราจะโหวตตามที่ผู้นำสั่ง ผู้นำในที่นี้อาจหมายถึงผู้นำก๊วน ผู้นำพรรค หรือผู้มีอุปการะคุณก็ได้ การโหวตของนักการเมืองไทยจึงไม่ค่อยแตกคอก แต่การโหวตของนักการเมืองฝรั่งนั้น เช่น ที่สหรัฐอเมริกา นักการเมืองโดยเฉลี่ยจะโหวตให้ญัตติของพรรคตรงข้ามถึงประมาณ 25% ดังที่นายจอห์น แมคเคน (ผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ เมื่อปี พศ.  ๒๕๕๑) ถูกกล่าวหาจากกลุ่มตรงข้าม (นายโอบามา) ว่าเป็นพวกที่ภักดีต่อพรรคของตัวเองอย่างรุนแรงเพราะประวัติการเมืองที่ยาวนานกว่า 30 ปีของท่านมีสถิติว่าโหวตให้พรรคตรงข้าม “เพียง” 10% เท่านั้นเอง ส่วนของไทยเรา 0% กันทุกคนไม่ใช่หรือ แต่ก็ไม่เห็นมีใครยกเอามาเป็นประเด็นเลย โดยเฉพาะนักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ที่มีมากมายเต็มประเทศ

 

เรื่องนี้เป็นประเด็นสำคัญที่สุด เพราะเท่ากับว่ารัฐสภาไม่ได้ทำหน้าที่ “คานอำนาจ” กับฝ่ายบริหารดังเจตนารมณ์ของปชต. ตต. เลยแม้แต่น้อย แต่กลับทำหน้าที่ ”เสริมอำนาจ” ให้กับฝ่ายบริหารเสียอีก ด้วยการโหวตด้วยเสียงข้างมากให้พรรครัฐบาลอยู่ร่ำไปไม่ว่าสิ่งที่รัฐบาลเสนอจะผิดหรือถูกก็ตาม

 

มูลเหตุแห่งความผิดเพี้ยนนี้น่าจะเป็นเพราะว่าคนไทยเราไม่มีนิสัยอิงตนแบบฝรั่งนั่นเอง   นิสัยอิงตนนี้เป็นนิสัยที่ไม่ชอบรวมกลุ่มสุมหัวตั้งก๊วนแก๊งค์ ต่างคนต่างคิด ต่างอยู่ และต่างโหวต ซึ่งต่างก็เคารพสิทธิซึ่งกันและกัน ถ้าสส.คนใดโหวตให้พรรคตรงข้ามเขาก็เคารพในสิทธิซึ่งกันและกัน ไม่มาตำหนิหรือไล่ตะเพิดเชคบิลกันภายหลังแบบเมืองไทย (ซึ่งนานทีปีครั้งก็มีเหมือนกันที่โหวตนอกแถว แต่ส่วนใหญ่เป็นเพราะมีเรื่องขัดแย้งผลประโยชน์หรือเรื่องส่วนตัวกันอยู่แล้ว ไม่ได้เกี่ยวกับอุดมคติทางการเมืองแต่อย่างใด)

 

จึงไม่แปลกอะไรเลยที่ “ระบอบทักษิณ” จะกลืนกินประเทศไทยได้อย่างง่ายดายภายในเวลาเพียง 2 ปีที่ผู้นำระบอบดังกล่าวเข้าดำรงตำแหน่ง  ทั้งนี้เพราะผู้นำระบอบมีทั้งอำนาจเงินและอำนาจบริหารให้ สส. ทั้งหลาย “ อิง” ได้อย่างเหลือเฟือแบบไม่เคยมีมาก่อนในประวัติศาสตร์การเมืองไทยนั่นเอง

ส่วนนายโอบามานั้นเป็นประธานาธิบดีสรอ.ที่กระแสนิยมสูงมากและสภาล่างและสภาสูงก็เป็นฝ่ายตนทั้งสองสภา แต่ญัตติสำคัญแรกที่เขาเสนอต่อสภา (การใช้เงินรัฐบาลอุ้มธุรกิจรถยนต์) ต้องพ่ายแพ้ในสภาอย่างหมดรูปเพราะสมาชิกพรรคของตนเองออกเสียงค้านเป็นส่วนมาก (แต่สส. พรรคตรงข้ามกลับโหวตสนับสนุนเป็นส่วนมาก) ซึ่งเรื่องแบบนี้ไม่อาจเกิดขึ้นได้ในระบบปชต.แบบไทยเราอย่างแน่นอน

 

....คนถางทาง (๑๒ สค ๕๔) ....โปรดติดตามตอนต่อไป

หมายเลขบันทึก: 453604เขียนเมื่อ 13 สิงหาคม 2011 01:05 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 10:25 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มาจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

...ชอบตรงนี้.."ที่ว่า..ลอกเขามาทั้งดุ้น.."...อ้ะๆๆ....สวัสดีค่าาา...ยายธี

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท