รายการสายใย กศน. 8, 15, 22, 29 ส.ค., 5, 12 ก.ย. 54


8 ส.ค.54 เรื่อง “กศน. กับแหล่งเรียนรู้ภูมิปัญญาท้องถิ่น”, 15 ส.ค.54 เรื่อง “รวมพลังคน กศน.”, 22 ส.ค.54 เรื่อง “การพัฒนาหลักสูตร กศน.เพื่อชีวิต”, 29 ส.ค.54 เรื่อง “สื่อวิทยุกับเครือข่ายแห่งการเรียนรู้”, 5 ก.ย.54 เรื่อง “หลักสูตรส่งเสริมการรู้หนังสือ (ป.3)”, 12 ก.ย.54 เทปซ้ำวันที่ 9 พ.ค.54

รายการสายใย กศน. วันที่ 12 กันยายน 2554

 

         เทป ซ้ำวันที่ 9 พ.ค.54 เรื่อง "เรียน กศน.ทางไกล ได้อย่างไร ( การศึกษาต่อเนื่อง )"

 

 

 

 

รายการสายใย กศน.  วันที่  5  กันยายน  2554

 

 

         เรื่อง “หลักสูตรส่งเสริมการรู้หนังสือ (ป.3)”


         ดำเนินรายการโดย อัญชิษฐา  บุญพรวงศ์
         วิทยากร คือ
         - นายสุรพงษ์  ไชยวงศ์  ผอ.สำนักงาน กศน.จังหวัดลำพูน
         - อ.ปราณี  อร่ามดิลกรัตน์  ครูชำนาญการพิเศษ

         จ.ลำพูน มีครู กศน.ตำบลเต็มพื้นที่  ผลการปฏิบัติงานเป็นไปตามเป้าหมาย อยู่ในเกณฑ์ดี   มีผู้ไม่รู้หนังสือประมาณ 5,000 คน  แต่มีประชากรย้ายเข้าออกอยู่ตลอด  ผู้ไม่รู้หนังสือแบ่งเป็น 3 กลุ่ม คือ ผู้สูงอายุ  ผู้ขายแรงงานที่มาจากต่างจังหวัด  กลุ่มชาติพันธุ์ต่าง ๆ ( หมู่บ้านชาวกะเหรี่ยงบางหมู่บ้านมีผู้ไม่รู้หนังสือเป็นพันคน )  ได้รับงบประมาณแก้ไขผู้มี่รู้หนังสือปีละ 1,000 คน ซึ่งไม่เพียงพอ  ( ตาม จปฐ. กำหนดให้อัตราการไม่รู้หนังสือไม่เกิน 1 %  จ.ลำพูนยังไม่เกินเกณฑ์  แต่ควรเร่งแก้ไขให้รู้หนังสือเพราะมีประโยชน์มาก )

         หลักสูตรต่าง ๆ ของ กศน. เดิมถูกยกเลิกไป  เพราะมีข้อกำหนดว่าหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานต้องมีเพียงหลักสูตรเดียว  จึงไม่สามารถออกวุฒิให้ผู้ที่ผ่านกระบวนการเรียนรู้หนังสือได้ ( เคยให้วุฒิ ป.2 เมื่อปี 2519 )   ปัจจุบันสามารถพัฒนาหลักสูตรขึ้นใหม่ได้ จ.ลำพูนจึงพัฒนาหลักสูตรส่งเสริมการเรียนรู้ (ป.3) ขึ้น  ใช้หลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ.2551 เป็นฐาน ( ต่างจากหลักสูตรของ จ.พิจิตร ที่ใช้หลักสูตร 2544 เป็นฐาน ซึ่งหลักสูตร 2544 กำลังจะถูกยกเลิก )   โดยยึดหลัก

         1. ยอมรับประสบการณ์ของผู้ใหญ่

         2. เน้นการนำไปใช้จริงในชีวิตประจำวัน ตามบริบทของผู้เรียน ใช้จิตวิทยาการศึกษาผู้ใหญ่

         3. ใช้วิชาภาษาไทย กับคณิตศาสตร์ ตามหลักสูตรชาติ

         ก่อนทำหลักสูตร ให้ครูสำรวจข้อมูลสภาพปัญหาชุมชน นำมาช่วยกันวิเคราะห์  และวิเคราะห์หลักสูตรแกนกลางทุกกลุ่มสาระ  ร่วมกันกำหนดโครงสร้างหลักสูตรเป็น 20 สภาพ  88 เรื่องเนื้อหาสาระ ( 200 ชั่วโมง )  เช่นเรื่อง ประวัติศาสตร์เจ้าแม่จามเทวี, ข้าวไร่   โดยบูรณาการกับสาระการเรียนรู้ภาษาไทยและคณิตศาสตร์  และมีกิจกรรมพัฒนาคุณภาพผู้เรียน 20 ชั่วโมง  รวม 220 ชั่วโมง ( ประมาณ 4-6 เดือน )   มีการวัดและประเมินผล 3 อย่าง คือ

         - Pre-test
         - ประเมินระหว่างกระบวนการเรียนรู้

         - Post-test

         สาระที่ 1-20 ให้เรียนเรียงตามลำดับ  สาระที่ 21-88 ไม่ต้องเรียนตามลำดับ   ขณะนี้อยู่ในระหว่างการทดลองใช้หลักสูตร โดยให้คณะกรรมการสถานศึกษาแต่ละอำเภอเห็นชอบ และ ผอ.กศน.อ. อนุมัติหลักสูตรก่อน   แต่ละอำเภอปรับเรื่องเนื้อหาสาระได้    จังหวัดอื่น ๆ สามารถนำไปปรับใช้ได้ โดยดาวน์โหลดหลักสูตรสถานศึกษา และคู่มือการใช้หลักสูตร ได้ที่เว็บไซต์ของ สนง.กศน.จ.ลำพูน  ( ในคู่มือจะมีข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งการเบิกจ่ายค่าตอบแทน โดยถ้าครู กศน.สอนเองจะไม่มีค่าตอบแทน  ถ้าใช้วิทยากรภายนอกเช่นผู้นำท้องถิ่น ครูในระบบ จะได้ค่าตอบแทน 500 บาท/ผู้เรียนตลอดหลักสูตร 1 คน )

         มีการติดตามการดำเนินงาน 2 ระยะ  ระยะที่ 1 ติดตามจากกลุ่มเป้าหมายผู้เรียน  ระยะที่ 2 ติดตามการดำเนินงานของผู้จัด

         การทดลอง เป็นการจัดจริงด้วย ผู้ผ่านจะได้วุฒิ ป.3

 

 

 

 

รายการสายใย กศน.  วันที่  29  สิงหาคม  2554

 

 

         เรื่อง “สื่อวิทยุกับเครือข่ายแห่งการเรียนรู้”

 
         ดำเนินรายการโดย นายอิทธิเดช  สุพงษ์
         วิทยากร คือ
         - นายอรัญ คงนวลใย  ผอ.สถาบัน กศน.ภาคใต้
         - จ.ส.อ.หญิง จริยา  เวียสุวรรณ  ครู สถาบัน กศน.ภาคใต้
         - นายสุนันท์  นิลปักษ์  ครู สถาบัน กศน.ภาคใต้
         - นายปาฏิหาริย์ บุญรัตน์  เลขาธิการสหพันธ์วิทยุชุมชนแห่งชาติ (ภาคใต้)
         - นายผัน  ทิพย์รอด  เลขานุการธนาคารสมอง จ.สงขลา
         - นายไพฑูรย์ ศิริรักษ์  ประธานชมรม “บินหลา หาข่าว”

         พ.ร.บ.กศน.51 มุ่งให้ประชาชนได้รับความเสมอภาคในการเข้าถึงการศึกษา  รวมทั้งการปฏิรูปการศึกษารอบ 2 ได้กำหนดหลักการไว้ 3 หลัก คือ การพัฒนาคุณภาพ การเพิ่มโอกาสการเข้าถึง การมีส่วนร่วม   กศน.ภาคใต้จึงใช้หลักคิดนี้ ทำงานร่วมกับภาคประชาชน ใช้สื่อวิทยุ ( สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย และสถานีวิทยุชุมชน ) สร้างความเข้มแข็งให้ชุมชน

 

         นายไพฑูรย์ บุญรัตน์ ผู้มีประสบการณ์ในการจัดรายการวิทยุโทรทัศน์จาก กศน. เป็นผู้จัดรายการ “บินหลาหาข่าว” ทาง สวท.สงขลา 90.5 MHz  เวลา 07:00-09:00 น.  ได้จัดเป็นห้องเรียนทางอากาศ ใช้ปรัชญา “เอาเรื่องมาเล่า เอาข่าวมาแจ้ง เอาความคิดมาแหลง เอาแรงมาช่วย” เพื่อ ยกระดับความคิด ติดอาวุธทางปัญญา พัฒนาคุณธรรม    ให้คนในชุมชนหมุนเวียนกันเข้ามาจัดรายการ  เป็นรายการที่ยืนหยัดมาตั้งแต่ปี 39 จนถึงวันนี้   เนื้อหาสาระหลากหลาย ที่เป็นเรื่องใกล้ตัว ทำเรื่องยากให้เป็นเรื่องง่าย ทำเรื่องใหญ่ให้เป็นเรื่องเล็ก
         ผู้ฟังสามารถกรีดยางไป ทำงานไป ฟังวิทยุไป  ในรายการจะมีช่วงธรรมะรับอรุณโดยพระคุณเจ้าสมาชิกบินหลาหาข่าว   มีการฝึกอบรมสัมมนาชาวบ้านที่เป็นผู้จัดรายการวิทยุ   ทำให้ประสบผลสำเร็จมีผู้ฟังวันหนึ่งเป็นแสนคน  มีการสื่อสารโต้ตอบทางโทรศัพท์    ตอนนี้ขยายไปจัดรายการโทรทัศน์ทาง สทท.11 สงขลา

 

         วิทยุ แบ่งเป็น 3 ประเภท

         1. วิทยุบริการสาธารณะของรัฐ
         2. วิทยุบริการธุรกิจ ระดับชาติ ระดับท้องถิ่น
         3. วิทยุบริการชุมชน   ชุมชนเป็นเจ้าของ ไม่แสวงหากำไรจากการโฆษณา   ภาคใต้มีอยู่ 50 กว่าสถานี

         นายปาฏิหาริย์ บุญรัตน์ เริ่มต้นจากการเป็นผู้จัดการหอกระจายข่าว  มาเป็นผู้อำนวยการสถานีวิทยุชุมชน จัดวิทยุชุมชนเป็นการสื่อสารระหว่างคนในชุมชน  ระหว่างชุมชนกับชุมชนอื่น  และระหว่างชุมชนกับหน่วยงานภายนอก   โดยชุมชนจัดเอง  ต้องจัดรายการให้ต่างจากวิทยุหลัก   บางช่วงเวลา ถ่ายทอดเสียงจาก สวท.สงขลาเช่นช่วงรายการบินหลาหาข่าว   เป็นที่รวมที่หน่วยงานราชการมาใช้เพราะไม่เกี่ยวข้องกับการโฆษณา   ให้ตัวแทนกลุ่มผู้ฟังกลุ่มต่าง ๆ ในรัศมีการกระจายเสียง มาเป็นผู้ดำเนินรายการ  เช่น กศน. จัดรายการ “นอกรั้วโรงเรียน”    ชุมชนจะดูแลประเมินให้ความเห็นกันเอง   มีการถ่ายทอดสดงานกิจกรรมของชาวบ้าน เช่นการเทศน์มหาชาติตั้งแต่เช้าถึงเย็น

 

         กศน. ใช้วิทยุชุมชน จัดรายการเป็นห้องเรียนทางอากาศ   กศน.ภาคมีบทบาททางด้านการผลิตสื่อวิทยุ สื่อโทรทัศน์  มีสื่อรายการวิทยุมาก  จัดรายการ “นอกรั้วโรงเรียน” เป็นการศึกษาตามอัธยาศัย ทางสถานีวิทยุต่าง ๆ  เริ่ม 6 สถานี เมื่อ 27 ก.พ.52   ปัจจุบันมี 7 สถานี  โดยผลัดกันเป็นผู้จัดรายการ แล้วถ่ายทอดเสียงพร้อมกันทุกสถานี  ( ถึงคิวสถานีไหน ถ้าไม่มีผู้จัดรายการ ครู กศน.จะไปจัดรายการให้ )   ได้รับเสียงตอบรับพอสมควร มีผู้ติดต่อขอเทปรายการ

 

         นายสุนันท์  นิลปักษ์ ครู สถาบัน กศน.ภาคใต้ นอกจากจัดรายการนอกรั้วโรงเรียนแล้ว ยังจัดรายการ “ปักษ์ใต้บ้านเรา” ทาง สวท.สงขลา วันละ 1 ชั่วโมงทุกวัน  ใช้ภาษาใต้  จัดรายการให้สอดคล้องกับทุกกลุ่มเป้าหมายตั้งแต่เด็กจนถึงผู้สูงอายุ   มีผู้สนใจโทร.เข้ามาแลกเปลี่ยนเรียนรู้มาก ถึงขนาดโทร.เข้ามาจองสายก่อนเปิดรายการ

 

         นายผัน  ทิพย์รอด   ผู้จัดรายการ “ผู้เฒ่าเล่าขาน”  ให้ผู้สูงอายุสมาชิก “ธนาคารสมอง” นำความรู้/ประสบการณ์ของตนมาเล่า เช่นเรื่อง ชาดก เศรษฐกิจพอเพียง สุขภาพอนามัย ฯลฯ

 

         สื่อวิทยุในปัจจุบันมีผู้ฟังน้อยลง  ต้องพัฒนาที่เนื้อหาสาระ เป็นเรื่องใกล้ตัว ในลักษณะวิทยุชุมชน ใช้ภาษาถิ่น เป็นกันเอง ทำเรื่องยากให้เป็นเรื่องง่าย  วิทยุก็จะกลับมามีบทบาทมีชีวิต

 

 

 

 

 

รายการสายใย กศน.  วันที่  22  สิงหาคม  2554

 

 

         เรื่อง “การพัฒนาหลักสูตร กศน.เพื่อชีวิต”


         ดำเนินรายการโดย นายอิทธิเดช  สุพงษ์

         วิทยากร คือ
         - นายอรัญ คงนวลใย  ผอ.สถาบัน กศน.ภาคใต้
         - นายปาฏิหาริย์ บุญรัตน์  ครูใหญ่โรงเรียนสิทธิชุมชนเขาคูหา อ.รัตภูมิ จ.สงขลา
         - นายไพฑูรย์ ศิริรักษ์  ผอ.ศูนย์การเรียนรู้ภูมิปัญญาชาวบก อ.สทิงพระ

         ช่วงนี้อยู่ในทศวรรษแห่งการปฏิรูปการศึกษา รอบที่ 2 ( พ.ศ.2552-2561 )   กศน.ภาค เป็นสถานศึกษามีบทบาทหน้าที่ในการพัฒนาหลักสูตร เพื่อส่งเสริมสนับสนุนการจัดการศึกษาของสถานศึกษาในสังกัด กศน.   โดย กศน.ภาคใต้มีมุมมองใหม่ “เรียนจบปริญญาแล้วเรียนต่อ กศน.”  เพราะนักศึกษาในมหาวิทยาลัยไม่ได้เรียนวิชาชีวิต   กศน.ภาคจึงจัดหลักสูตรต่อเนื่อง ( วิชาชีพ วิชาชีวิต วิชาชุมชน )

 

         ส่วนกลางเป็นผู้กำหนดหลักสูตรขั้นพื้นฐาน ซึ่งยังไม่เพียงพอกับการแก้ปัญหาชุมชน  กลุ่มชาวบ้าน อ.รัตภูมิ จ.สงขลา จึงตั้งเป็นโรงเรียนสิทธิชุมชนเขาคูหา ขึ้น จัดหลักสูตรตามความต้องการของชุมชน  ใช้วิทยากรกระบวนการเป็นวิทยากร  ( มีหลักสูตรพัฒนาวิทยากรกระบวนการด้วย )  เช่น หลักสูตรเยาวชนรักถิ่น  หลักสูตรเครือข่ายภาคประชาชนต้านยาเสพติด  หลักสูตรชุมชนบำบัด  หลักสูตรการเมืองท้องถิ่น ( นายก อบต. ไม่ได้เป็นสมาชิก อบต.  คล้ายระบบประธานาธิบดี )  หลักสูตรลูกเสือชุมชน  หลักสูตรการเป็นจำเลย  หลักสูตรวิทยุชุมชน-การสื่อสารชุมชน  หลักสูตรภูมิปัญญาท้องถิ่น  ฯลฯ   เน้นให้ปฏิบัติจริง  มีการปรับปรุงหลักสูตร   ครู กศน.ตำบลเป็นจุดรวมในระดับตำบล เป็นเลขาฯ เป็นผู้ประสานงาน ของเกือบทุกองค์กร   ชุมชนเป็นเจ้าของหลักสูตร พัฒนาหลักสูตรโดยชาวบ้านแล้วนักวิชาการปรับปรุง

 

         ศูนย์การเรียนรู้ภูมิปัญญาชาวบก อ.สทิงพระ ( ชาวบก เป็นชนเผ่าโบราณ คู่ชาวเล ) เป็นแหล่งรวบรวมภูมิปัญญาชาวบก และออกแบบหลักสูตรการบริหารจัดการชุมชน ถ่ายทอดทักษะภูมิปัญญา ทักษะอาชีพตามอัธยาศัย   เกิดขึ้นจากเห็นว่าการศึกษาในโรงเรียนใช้วิชาการเป็นตัวตั้ง ไม่ได้สอนทักษะชีวิตที่ใกล้ตัว ทำให้ไม่มีปัญญาในการแก้ปัญหาตัวเอง   ศูนย์การเรียนรู้ภูมิปัญญาชาวบกจึงใช้บทบาท กศน. มาปฏิรูปการศึกษาในทศวรรษที่สอง  ใช้ครูชาวบ้านสอนวิชาทักษะชีวิต วิชาที่จำเป็นในวิถีชีวิต  ใช้ปรัชญาท่านโกวิทย์ วรพิพัฒน์ ( คิดเป็น ทำเป็น แก้ปัญหาเป็น )   จัดให้เรียนวิชาชีพแบบไม่มีรอบไม่มีรุ่น  หลักสูตรสั้น ๆ 1-3 ชั่วโมง  เรียนครั้งละกี่คนก็ได้ คนเดียวก็ได้ เช่น หลักสูตรการทำโรตี เน้นทำจริง

 

         ลดการให้ความสำคัญกับใบปริญญาหรือใบรับรอง

         กศน.ภาคใต้ได้จัดการพัฒนาหลักสูตร 1 สถานศึกษา 1 หลักสูตร ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้และ 4 อำเภอในจังหวัดสงขลา ให้ครู กศน.จัดทำหลักสูตร นำไปทดลอง    2 ปีนี้ทำได้เกือบ 100 หลักสูตร  อาจเป็นหลักสูตร 4 เดือน หรือ 4 วัน หรือ 4 ชั่วโมง

 

         หลักสูตรชีวิต ทำให้ชาวบ้านคิดเองทำเองได้   นักวิชาการ การศึกษา อย่าคิดแทนชุมชน   ชุมชนมีหลักสูตรเป็นของชุมชนเอง  ชุมชนรู้จักตัวเองแต่คนนอกไม่รู้จัก   คนในชุมชนเรียนรู้แล้วต้องกลับไปพัฒนาชุมชนของตนเอง

 

 

 

 

รายการสายใย กศน. วันที่  15  สิงหาคม  2554

 

   

         เรื่อง “รวมพลังคน กศน.”

 

         อัญชิษฐา  บุญพรวงศ์  ดำเนินรายการ

         วิทยากรโดย
         - กนกพรรณ  สุวรรณพิทักษ์  ผอ.กลุ่มส่งเสริมปฏิบัติการ
         - เบญจางค์  ถิ่นธานี  นักทรัพยากรบุคคลชำนาญการพิเศษ  หัวหน้ากลุ่มพัฒนาบุคคล กลุ่มการเจ้าหน้าที่
         - อภิรดี  กันเดช  นักวิเคราะห์นโยบายและแผน  หัวหน้ากลุ่มพัฒนากลยุทธ์และเลขานุการคณะกรรมการฯ กลุ่มแผนงาน

   

        ในระหว่างวันที่ 5-8 กันยายน 2554  กศน.ได้กำหนดให้มีการจัดกิจกรรมที่จังหวัดเชียงใหม่ 3 กิจกรรม/งาน  ดังนี้

 

         1. มหกรรมกีฬา กศน.เกม  วันที่ 5-7 ก.ย.54  ณ สนามกีฬาสมโภชน์ 700 ปี จังหวัดเชียงใหม่  เพื่อพัฒนาคุณภาพผู้เรียน ( ทำกิจกรรมร่วมกัน เกิดสัมพันธภาพ ความสามัคคี )  เน้น รู้แพ้รู้ชนะรู้อภัย กศน.ร่วมใจเป็นหนึ่งเดียว”   แข่งรอบคัดเลือกวันที่ 5 ก.ย.54  
             - พิธีเปิดอย่างเป็นทางการวันที่ 6 ก.ย.  เวลา 08:30 น.  มีวงโยธวาทิต 5 วง  มีการแสดงของวิทยาลัยนาฏศิลป์ ใช้ผู้แสดงหลายร้อยคน
             - มีกีฬา 7 ประเภท  แบ่งการแข่งขันเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มนักศึกษา มีกีฬา 6 ประเภท   กลุ่มครู   กลุ่มผู้บริหาร มี 3 ประเภทคือ วิ่ง  กอล์ฟ ( รวมผู้บริหาร-ครู-นักศึกษา แข่งด้วยกัน )  และ ฟุตบอล ( แข่งกับทีมผู้บริหารของ UNESCO )    ใช้กติกาตามหลักสากลทุกประการ  และมีการประกวด ขบวนพาเหรด เชียร์ลีดเดอร์ กองเชียร์  เพื่อส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์

             - ปิดวันที่ 7 เวลา 17:00 น.  มีการชิงชนะเลิศของกีฬาประเภทต่าง ๆ  มีการแข่งขันฟุตบอลคู่พิเศษระหว่างผู้บริหาร กศน. กับผู้บริหาร UNESCO    รางวัลมีทั้ง ถ้วยรางวัล-เหรียญรางวัล-เกียรติบัตร   ( นักศึกษา ครู ผอ.อำเภอ รอง ผอ.จังหวัด  ให้จองที่พักกันเอง )

 

         2. งานวันเกษียณอายุราชการของข้าราชการ และเจ้าหน้าที่ของสำนักงาน กศน.  ( ผู้บริหาร+ข้าราชการครู+ข้าราชการพลเรือน+ลูกจ้างประจำ  163 คน )  7-8 ก.ย.   ให้ผู้เกษียณฯรายงานตัวบ่ายวันที่ 7  เพื่อเลือกเส้นทางทัศนศึกษา  โดยมีให้เลือก 6 เส้นทาง  อยู่ในจังหวัดเชียงใหม่ 5 เส้นทาง  ในจังหวัดลำพูน 1 เส้นทาง  เช่น ไหว้พระ 9 วัด ในจังหวัดเชียงใหม่ ( วัดเจดีย์หลวง วัดลอยเคราะห์ วัดพระสิงห์ วัดชัยมงคล วัดสวดดอก ... ... )    ขึ้นเมทนีดล ( เจดีย์สำคัญของเชียงใหม่ )    พิชิตยอดดอยสุเทพและอควาเรียมเชียงใหม่    ร้อยอันพันอย่างของบ้านถวาย ( หัตถกรรม )    ชมลำไยเมืองบุญหริภุญไชย ( ไวน์ลำไย ก๋วยเตี๋ยวลำไย จ.ลำพูน  รับไม่เกิน 50 คน )    เส้นทางใดมีผู้เลือกน้อยกว่า 8 คน จะงดเส้นทางนั้น   ผู้บริหารที่จะเกษียณให้เลือกว่าจะไปทัศนศึกษาหรืออยู่ร่วมงานวันที่ระลึกสากลแห่งการรู้หนังสือ   เชิญผู้บริหารเก่าที่เกษียณปีก่อนๆมาร่วมงานด้วย   ทัศนศึกษาวันที่ 8 รถออกเวลา 08:00 น. มีมัคคุเทศก์ประจำรถทุกคัน   กลับถึงโรงแรมเชียงใหม่แกรนด์วิวภายใน 15:00 น.  เตรียมตัวร่วมงานภาคกลางคืน มีช่างเสริมสวยให้   เวลา 17:00 น. เก็บตัวที่ห้อง   ภาคกลางคืนมี กลองสะบัดชัย  มีพิธีบายศรีสู่ขวัญ  รับมอบโล่จากท่านเลขาฯทุกคน  ขับร้องเพลงโดย รุ่ง สุริยา และสุนารี ราชสีมา  จับฉลากรางวัลใหญ่

 

         3. งานวันที่ระลึกสากลแห่งการรู้หนังสือ พ.ศ.2554  8 ก.ย.54   จัดต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2510 ( ปีที่แล้วจัดที่ ศว.รังสิต )  ปีนี้จัดที่ศูนย์ประชุมนานาชาติ โรงแรมเชียงใหม่แกรนด์วิว  เพื่อให้ทุกคนตระหนักถึงความสำคัญของการรู้หนังสือ  เชิญนายกรัฐมนตรีเป็นประธานเปิดงาน  มีผู้เข้าร่วมประชุมประมาณ 1,400 คน   ช่วงเช้า 09:00 น. รับลงทะเบียน 6 ซุ้ม 6 ภาค   เปิดงาน 10:00 น. โดยนายกรัฐมนตรี   ชมวีดิทัศน์ในหลวงกับการศึกษาตลอดชีวิต   อ่านสารวันที่ระลึกสากลแห่งการรู้หนังสือ   การแสดงชนเผ่า   ปาฐกถาพิเศษโดยท่านนายกรัฐมนตรี   ปาฐกถาโดย อาจารย์จตุพล ชมพูนิช และอาจารย์พะเยาว์ พัฒนพงศ์

             มีการจัดนิทรรศการ 5 ซุ้ม ( กศน.ตำบล   UNESCO   ศศช.   ในหลวงกับการศึกษาตลอดชีวิต  การรักการอ่าน ) โดย กศน.ในภาคเหนือ    มีการถ่ายทอดสดทาง ททบ.5 และ ETV เวลา 10:00-11:00 น.

             ขอให้ผู้จะไปร่วมงานส่งแบบตอบรับไปให้เร็วที่สุดเพื่อความสะดวกในการเตรียมรับลงทะเบียน   โดยให้แต่งชุดเสื้อสูท กศน. สีกรมท่า ( ไม่ใช่เสื้อซาฟารี )

 

         การจัดงานปีนี้จะยิ่งใหญ่กว่าทุก ๆ ปีที่ผ่านมา     เสื้อทีม ( เสื้อวอร์มสีชมพู ) เสร็จแล้ว  ให้รับได้ที่ กป.

 

 

 

 

 

 

รายการสายใย กศน. วันที่  8  สิงหาคม  2554

 

 

         เรื่อง “กศน. กับแหล่งเรียนรู้ภูมิปัญญาท้องถิ่น”

 

         อัญชิษฐา  บุญพรวงศ์  ดำเนินรายการ

         วิทยากรโดย
         - นายพัฒนา  เพชรคชสิทธิ์  ผอ.กศน.อ.แก่งคอย จ.สระบุรี
         - พรนภา  เล่าสกุล  ครู กศน.ต.ท่ามะปราง อ.แก่งคอย
         - คุณลุงสมาน  ยะธาตุ  ปราชญ์ชาวบ้านห้วยแห้ง

 

        อ.แก่งคอย จ.สระบุรี มีครู กศน. ครบทั้ง 14 ตำบล  กระจายอำนาจและงบประมาณให้ทุกตำบล  จัดการศึกษาขั้นพื้นฐานโดยพบกลุ่มทั้ง 14 ตำบล  มีการปรับพื้นทางด้านคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ ภาษาอังกฤษ  มีการศึกษาดูงานนอกสถานที่  การจัดแข่งขันกีฬาให้นักศึกษาดำเนินการเองทั้งหมด ทั้งการเป็นกรรมการผู้ตัดสิน การหาถ้วยรางวัล   ครู กศน.ตำบล เป็นที่ปรึกษา   มีการแนะแนวผู้เรียนโดยครู กศน.ตำบลทุกคน

         ในเรื่องการพัฒนาอาชีพ ทักษะชีวิต การพัฒนาชุมชนและสังคม การเรียนรู้ตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง  มีกิจกรรมหลากหลาย
         งานการศึกษาตามอัธยาศัย ให้บริการ ICT ทุกวัน ไม้เว้นวันหยุด

 

         ตอนที่ ผอ. อยู่ที่ อ.หนองแค ได้พยายามกระตุ้นภูมิปัญญาและแหล่งเรียนรู้ ให้มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้  เริ่มจากการจัดนิทรรศการภูมิปัญญาและแหล่งเรียนรู้ในลักษณะ “ตลาดนัดความรู้”  ใช้เวลาวางแผนประสานงาน 4-5 เดือน    ตอนนี้ย้ายมาเป็น ผอ.กศน.อ.แก่งคอย กำลังจะจัดตลาดนัดความรู้ที่ อ.แก่งคอย  ผู้มาร่วมจัดจะหางบประมาณมาจัดเอง

         ในเรื่องเศรษฐกิจพอเพียง ที่ อ.แก่งคอย มีองค์ความรู้เกิดขึ้นมากมาย  โดยครู กศน.ตำบลเป็นผู้ประสานงาน  ครูทุกคนจะทำงานร่วมกัน ลงพื้นที่ทุกตำบล  มีการประชุมวางแผนร่วมกับภาคีเครือข่ายต่าง ๆ ทำเวทีชาวบ้าน วางแผนล่วงหน้าเป็นปี

 

         คุณลุงสมาน อาชีพเกษตรกร มีประสบการณ์ทางการเกษตรมาก  หลังการเก็บเกี่ยวก็ปลูกผักและพืชต่าง ๆ  จากที่เคยเช่าที่ก็ซื้อที่เป็นของตัวเอง 30 ไร่ ( ใช้เวลาสะสมเงินตั้งแต่ปี 2517-2523 )  ใช้แรงงานควาย  ทำกัน 2 คนเป็นหลัก  มีพ่อค้ามารับซื้อผักถึงที่  จ้างแรงงานเก็บผักรายชั่วโมง   ต่อมาเปลี่ยนจากการทำนามาเลี้ยงไหม โดยไปดูงานที่ จ.นครราชสีมา  เปลี่ยนที่นาเป็นสวนหม่อน ( เหลือทำนาเพียง พอได้กินข้าว )  รายได้ดี เดือนละ 3-4 หมื่นบาท ( ปกติทำนามีรายได้ปีละครั้ง ประมาณแปดหมื่นบาท )  ทำอยู่ 4 ปีเศษ   ต่อมา ม.เกษตรศาสตร์ให้ไปช่วยสอนการเลี้ยงไหมโดยใช้อาหารเทียมเสริมใบหม่อน 3 ปี   ส่วนที่ดินของตนเปลี่ยนเป็นสวนเกษตรผสมผสานตามทฤษฎีใหม่ ทั้ง 30 ไร่  โดยขุดบ่อน้ำไว้ใช้หน้าแล้ง 2 บ่อ  ทำนา  สวนส้มโอ 12 ไร่  ใช้ความรู้จาก ม.เกษตรศาสตร์มาผสมอาหารเสริมโปรตีนเลี้ยงปลา  ใช้เวลาทดลอง 1-2 ปี  จะทำอะไรต้องศึกษาเรียนรู้ทดลอง  มีวิธีลดต้นทุน  มีการทำให้มะม่วงออกผลนอกฤดูกาลอย่างเหมาะสม   ต้องสังเกต เช่นส้มโอลูกเต็มต้นแต่ใบเหลือง แสดงว่าอาหารไม่พอ ถ้าไม่แก้ไขลูกจะร่วง   มีเกษตรกรมาดูงานในพื้นที่  การปลูกผักต่าง ๆ ถ้าชาวบ้านปลูกด้วย ผลผลิตจะมาก จะมีแม่ค้ามารับซื้อถึงที่    ไปเช่าที่เขาทำนาอีก 20 ไร่ ทำไร่ 10 ไร่ ( มันสำปะหลัง, งา )  สกัดน้ำมันงาขาย ปลูกแบบอินทรีย์ไมใช้สารเคมี  จะไม่นำงาที่ปลูกแบบใช้สารเคมีมาสกัดน้ำมัน   ต้องวางแผนให้แต่ละผลิตผลทำไม่พร้อมกัน เพื่อให้ช่วยกันทำเป็นหลักเพียง 2 คนได้   มีผลิตภัณฑ์ 16 อย่าง ( 16 หลักสูตรความรู้ ) ให้นักศึกษาและประชาชนไปศึกษาดูงาน  มีนักศึกษาบางคนมาเรียน 4 เดือนเศษ มาอาทิตย์ละวัน ตั้งแต่หว่านเมล็ดจนถึงเก็บเกี่ยว

         ครู กศน.ตำบลนำนักศึกษาขั้นพื้นฐานที่เรียนวิชาเศรษฐกิจพอเพียง ภูมิปัญญาท้องถิ่น  เข้าไปเรียนรู้และลงมือปฏิบัติตามใบงาน  บางคนกลับไปประกอบอาชีพได้ เช่นการเลี้ยงกบ เลี้ยงปลา ในบ่อปูนฯ

         คุณลุงก็เรียน กศน. ระดับประถม    เคยได้รับรางวัลต่าง ๆ เช่น ชนะเลิศเกษตรกรดีเด่น  ชนะเลิศเกษตรกรสาขาทำไร่นาสวนผสม,  ครอบครัวร่มเย็น   ได้รับประกาศเกียรติคุณต่าง ๆ มาก

         กศน.อ.แก่งคอย จะทำให้ลุงสมานเป็นเจ้าของโรงเรียนนอกระบบ สามารถออกวุฒิบัตรให้ผู้เรียนเองได้

 

หมายเลขบันทึก: 452955เขียนเมื่อ 8 สิงหาคม 2011 12:30 น. ()แก้ไขเมื่อ 24 มิถุนายน 2012 03:15 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

ขอบคุณที่เอื้อเฟื้อให้เราได้อ่าน ขอให้ท่านเจริญๆยิ่งขึ้นไป

ยินดีแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันนะครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท