รัตนโกสินทร์ : การกระทำพระนครในสมัยรัชกาลที่ ๑



           กรุงรัตนโกสินทร์  ความเชื่อในลัทธิและพิธีกรรมแบบพราหมณ์ยังคงความสำคัญ  โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเวลาที่กำลังสร้างบ้านแปลงเมืองขึ้นใหม่  และต้องสร้างความมั่นคงให้แก่พระราชอาณาจักร  ประกอบกับยังอยู่ในภาวะสงครามที่ยังคงติดพันมาจากสมัยกรุงธนบุรี  พระมหากษัตริย์ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ  ให้สร้างเสาชิงช้าเพื่อเป็นศูนย์กลางของพระนครที่สร้างขึ้นใหม่  และสร้างขวัญและกำลังใจแก่ชาวพระนคร

           เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชทรงปราบดาภิเษกขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์พระองค์แรกแห่งพระบรมราชจักรีวงศ์  ได้ทรงสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์ให้เป็นเมืองหลวงแห่งพระราชอาณาจักรโดยได้ทรงสร้างพระนครใหม่ฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา  ซึ่งมีความเหมาะสมหลายประการ  โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านความมั่นคงปลอดภัย  และความเจริญรุ่งเรืองของพระนครด้วยเป็นบริเวณที่ลำน้ำตกท้องคุ้งมีการทับถมทางฝั่งตะวันออกไม่เป็นอันตรายต่อพระบรมมหาราชวังที่สร้างขึ้นใหม่  และด้วยสภาพของลำน้ำที่เป็นคุ้งเช่นนี้ทำให้ลำน้ำโอบรอบบริเวณที่จะสร้างเป็นพระนครใหม่ทางด้านตะวันตกของพระบรมมหาราชวัง  และขุดคูทางด้านตะวันออกของพระบรมมหาราชวังให้มาบรรจบกับแม่น้ำเจ้าพระยาด้านทิศเหนือและทิศใต้  คือ  คลองรอบกรุง  และสร้างกำแพงพระนครตามแนวคูที่ขุดขึ้น  เพื่อให้เป็นพระนครที่แข็งแรงมั่นคง  นอกจากนี้บริเวณฝั่งตะวันออกพื้นที่ส่วนใหญ่ยังเป็นท้องทุ่งและที่ลุ่ม  ยังไม่เป็นเรือกสวนไร่นาและย่านที่อยู่อาศัยหนาแน่นเหมือนดังฝั่งตะวันตกอันเป็นที่ตั้งของกรุงธนบุรี

          พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช  โปรดให้รักษาแบบแผนของการสร้างกรุงแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานีคือการสร้างหลักเมืองขึ้นมาก่อน  ในวันอาทิตย์  เดือนหก ขึ้น  ๑๐  ค่ำ  ตรงกับวันที่  ๒๑  เมษายน  พุทธศักราช  ๒๓๒๕  ฤกษ์เวลาย่ำรุ่งแล้ว  ๕๔  นาที ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ  ให้ทำพิธียกเสาหลักเมือง  ชัยภูมิที่ตั้งหลักเมืองนั้น  อยู่ประมาณใจกลางพระนครใหม่  จากนั้นจึงสร้างพระบรมมหาราชวังเป็นศูนย์กลางของพระราชอำนาจ ตั้งอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาเช่นเดียวกับพระบรมมหาราชวังแห่งกรุงศรีอยุธยาสร้างพระราชวังบวรสถานมงคล  เป็นที่ประทับของสมเด็จกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท  เทียบได้กับวังหน้า  หรือพระราชวังจันทรเกษม  และสร้างวัดสำคัญสำหรับเมืองอันเป็นที่ประดิษฐานสิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่พระนครอยู่ในพระบรมมหาราชวังชั้นนอก  คือวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ส่วนพื้นที่ระหว่างพระบรมมหาราชวังและพระราชวังบวรฯ  ได้กำหนดให้เป็นทุ่งพระเมรุหรือท้องสนามหลวง  เพื่อใช้ในการประกอบพระราชพิธีสำคัญของบ้านเมืองเช่น  พระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระมหากษัตริย์  พระราชพิธีแรกนาขวัญ  และพระราชพิธีอื่นๆ สำหรับพระนคร

          ในพุทธศักราช  ๒๓๒๖  ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ขยายขอบเขตของพระนครออกไปทางตะวันออก  ให้กว้างออกไปกว่าเก่า  โดยขุดคลองคูพระนครด้านตะวันออก  ตั้งแต่บางลำพูนมาออกแม่น้ำเจ้าพระยาด้านใต้  เหนือวัดสามปลื้ม  (วัดจักรวรรดิราชาวาสวรมหาวิหาร)  พระราชทานชื่อว่าคลองรอบกรุง  แล้วขุดคลองหลอดจากคลองคูเมืองเดิม  ๒  คลอง  (คลองหลอดวัดเทพธิดา  และคลองหลอดวัดราชบพิธ)  ออกไปบรรจบคลองรอบกรุงที่ขุดใหม่  และขุดคลองใหญ่เหนือวัดสะแกอีกคลองหนึ่ง  พระราชทานนามว่า  คลองมหานาค  เป็นที่สำหรับประชาชนชาวพระนครจะได้ลงเรือ  ไปประชุมเล่นเพลงและสักวาในเทศกาลฤดูน้ำเหมือนเมื่อครั้งกรุงเก่าและวัดสะแกนั้น  เมื่อขุดคลองมหานาคแล้ว  พระราชทานนามใหม่ว่า  วัดสระเกศ  และในปีเดียวกันนี้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ  ให้สร้างพระวิหารหลวงคือวัดพระศรีรัตนศาสดาราม  เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธปฏิมากรแก้วมรกตอยู่ในบริเวณเดียวกับพระบรมมหาราชวัง  เช่นเดียวกับวัดพระศรีสรรเพชญ์  ของกรุงศรีอยุธยา

            เมื่อได้ขยายเมืองจากการกำหนดเขตเมืองใหม่  ด้วยการขุดคลองรอบกรุง  (คลองบางลำพู - คลองโอ่งอ่าง)  ในพุทธศักราช  ๒๓๒๖  ทำให้กรุงรัตนโกสินทร์ครอบคลุมพื้นที่ลุ่มด้านตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา  ได้มีการกำหนดจุดศูนย์กลางของพระนครขึ้นใหม่  หรือที่เรียกว่า  “สะดือเมือง”  และ  ณ  ที่นั้นพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช  ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ  ให้เป็นที่ตั้งของเทวสถานโบสถ์พราหมณ์และเสาชิงช้า  สำหรับประกอบพระราชพิธีตรียัมปวาย - ตรีปวาย  อันเป็นพระราชพิธีสำคัญคู่พระนครหลวง

           การที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชทรงสร้างเทวสถานโบสถ์พราหมณ์และเสาชิงช้า  บนพื้นที่ที่เป็น  “สะดือเมือง”  หรือศูนย์กลางของพระนครขึ้นนี้  กล่าวกันว่าพราหมณ์ชื่อพระครูสิทธิชัย  (กระต่าย)  เป็นพราหมณ์ชาวเมืองกรุงเก่าได้นำความขึ้นกราบบังคมทูลต่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช  ขอให้ตั้งเสาชิงช้าตรงบริเวณที่ถือว่าเป็นใจกลางพระนคร  โดยวัดจากกำแพงเมืองด้านฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาทางตะวันตกถึงกำแพงเมืองฝั่งป้อมมหากาฬ  แล้วสร้างขึ้นตรงกลางเมือง  สำหรับประกอบพิธีตรียัมปวาย - ตรีปวายตามโบราณราชประเพณี  และด้วยคติความเชื่อของพราหมณ์ที่ว่าเพื่อให้บ้านเมืองมั่นคงแข็งแรงเป็นการแสดงความกตัญญูต่อมหาเทพทั้งสามผู้สร้างและปกปักรักษาโลก  และเป็นเครื่องเตือนใจให้ไม่ประมาท  ตามตำนานพระอิศวรทดสอบความแข็งแรงของโลก

           ครั้นการสร้างพระนครสำเร็จลงในพุทธศักราช  ๒๓๒๘  พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช  จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ  ประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษกเต็มตามตำราดังพระราชดำริว่า 

           “เมื่อปีขาลจัตวาศก  ได้ทำการพระราชพิธีปราบดาภิเษกแต่โดยสังเขป  ยังไม่พร้อมมูลเต็มตำรา  และบัดนี้ก็ได้ทรงสร้างพระนคร  และพระราชมนเทียรสถานขึ้นใหม่  ควรจะทำพระราชวังพิธีบรมราชาภิเษกให้เต็มตามแบบแผน  โบราณราชประเพณีจะได้เป็นพระเกียรติยศและเป็นศรีสวัสดิมงคลแก่บ้านเมือง  เป็นที่เจริญสุขแก่ไพร่ฟ้าประชาราษฎรทั่วไปในพระราชอาณาเขต...”

          ครั้นเสร็จการพระราชพิธีบรมราชภิเษกแล้ว  จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดการสมโภชพระนครต่อเนื่องกันไป  แล้วจึงพระราชทานนามพระนครใหม่ว่า  

           “กรุงเทพมหานคร บวรรัตนโกสินทร์มหินทรายุธยามหาดิลกภพ  นพรัตนราชธานีบูรีรมย์  อุดมราชนิเวศน์มหาสถาน  อมรพิมานอวตารสถิต  สักกะทัตติยวิษณุกรรมประสิทธิ์

          ต่อมา  พุทธศักราช  ๒๓๔๙  ปลายรัชการพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช  จึงได้โปรดให้สถาปนาวัดมหาสุทธาวาส  ซึ่งต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็นวัดสุทัศน์เทพวราราม  เพื่อให้เป็นวัดใหญ่คู่พระนครเช่นเดียวกับวัดพนัญเชิงแห่งกรุงศรีอยุธยา  โดยได้อัญเชิญพระศรีศากยมุนีซึ่งเดิมประดิษฐานอยู่  ณ  วิหารหลวงวัดมหาธาตุ  แห่งกรุงสุโขทัยมาประดิษฐานเป็นพระประธานวิหารหลวงวัดสุทัศนฯ  อันเป็นการสถาปนาพระพุทธศาสนาให้เป็นหลักพระนครคู่กับเทวสถานโบสถ์พราหมณ์

เทวสถานโบสถ์พราหมณ์ 

          พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช  ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ  ให้สร้างเทวสถานโบสถ์พราหมณ์ขึ้นเมื่อพุทธศักราช  ๒๓๒๗  ประกอบด้วยอาคาร  ๓  หลัง  อันมี

          สถานพระอิศวร  มีขนาดใหญ่ที่สุด  และก่อสร้างด้วยอิฐถือปูนไม่มีพาไล  หน้าบันมีเทวรูปปูนปั้นนูนรูปพระอิศวร  และพระอุมาประทับอยู่ในวิมาน  และเครื่องมงคลอันได้แก่  สังข์  กลศ  กุมภ์  ใต้รูปวิมานมีเมฆและโคนันทิ  หน้าบันด้านหลังไม่มีลวดลาย  ภายในเทวสถานประดิษฐานเทวรูปพระอิศวรสำริด  ประทับยืนขนาด  ๑.๘๗  เมตร  ปางประทานพร  ด้านหลังเบญจามีศิวลึงค์  ๒  องค์  ทำด้วยหินสีดำ  สองข้างแท่นลดมีเทวรูปพระอิศวรทรงโคนันทิ  และพระอุมาทรงโคนันทิ  ตรงกลางโบสถ์มีเสาชิงช้าขนาดเล็ก  สำหรับประกอบพิธีช้าหงส์ในพระราชพิธีตรีปวาย

          สถานพระพิฆเณศวร  (โบสถ์กลาง)  สร้างด้วยอิฐถือปูนมีพาไลทั้งด้านหน้าและด้านหลัง  หลังคาชั้นลด  ๑  ชั้น  ภายในโบสถ์มีเทวรูปพระพิฆเณศวร  ๕  องค์  สร้างด้วยหินแกรนิต  ๑  องค์  หินทราย  ๑  องค์  หินเขียว  ๒  องค์  และสำริดอีก  ๑  องค์  ประทับนั่งทุกองค์  ประดิษฐานบนแท่นเบญจา

          สถานพระนารายณ์  (ด้านในสุด)  สร้างด้วยอิฐถือปูนมีพาไลทั้งด้านหน้าและด้านหลังเช่นเดียวกับสถานพระพิฆเณศวร  ภายในเป็นชั้นยกตั้งบุษบก  ๓  หลัง  หลังกลางประดิษฐานพระนารายณ์ทำด้วยสำริดประทับยืน  เป็นประธาน  บุษบกอีก  ๒  ข้าง  ประดิษฐานพระลักษมีและพระมเหศวรี  ทำด้วยปูน  ประทับยืน  ซึ่งเป็นองค์จำลองของเดิมซึ่งได้ย้ายไปเก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ  ตรงกลางโบสถ์มีเสาชิงช้าขนาดย่อมสำหรับประกอบพิธีช้าหงส์

          การสร้างเสาชิงช้าและเทวสถานโบสถ์พราหมณ์ในพื้นที่นอกคลองคูเมืองเดิมบริเวณที่เป็นสะดือเมืองได้กลายเป็นปัจจัยที่นำความเจริญประการหนึ่ง  โดยเฉพาะเอมีถนนเสาชิงช้าเป็นแกนจากพระบรมมหาราชวังสู่ประตูเมืองสำราญราษฎร์  จนเป็นเหตุให้พื้นที่บริเวณนี้มีผู้เข้ามาตั้งถิ่นฐานหนาแน่นขึ้นตามกาลเวลา  และเป็นจุดศูนย์กลางพระนครด้วยการสร้างวัดสุทัศนฯ 

วาทิน ศานติ์ สันติ : เรียบเรียง

อ้างอิง

ผุสดี จันทวิมล. กรุงเทพฯ ศึกษาเพื่อการท่องเที่ยว = Bangkok study for tourism : HI 429. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยรามคำแหง.๒๕๔๙. 

สำนักผังเมือง กรุงเทพมหานคร. จดหมายเหตุบูรณปฏิสังขรณ์เสาชิงช้า พุทธศักราช ๒๕๔๙. พิมพ์ครั้งที่ ๑. กรุงเทพฯ : บริษัท ดาวฤกษ์ คอมมูนิเคชั่น จำกัด (หนึ่งในกลุ่มบริษัททีม). ๒๕๕๑.


หมายเลขบันทึก: 452701เขียนเมื่อ 6 สิงหาคม 2011 15:01 น. ()แก้ไขเมื่อ 25 กันยายน 2013 07:48 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท