พราหมณ์ : พระราชพิธีตรียัมปวาย - ตรีปวายในสมัยสุโขทัย


พระราชพิธีตรียัมปวาย - ตรีปวายในสมัยสุโขทัย 

          ในสมัยสุโขทัยนั้นถึงแม้ว่าจะไม่พบหลักฐานที่แน่ชัดว่าได้มีการประกอบพระราชพิธีตรียัมปวาย - ตรีปวาย  และการโล้ชิงช้า  แต่การพบหลักฐานทั้งโบราณสถาน  โบราณวัตถุ  ตลอดจนจารึกต่างๆ  แสดงให้เห็นถึงอิทธิพลของศาสนาพราหมณ์  ในเมืองสุโขทัยนั้นพบว่ามีเทวสถานอันเป็นที่ประดิษฐานเทวรูปพระอิศวร  พระนารายณ์  และพระคเนศ  ที่วัดศรีสวาย  วัดพระพายหลวง  ศาลตาผาแดง  และวัดเจ้าจันทร์  ซึ่งตามเทวสถานเหล่านี้มีพราหมณ์ประจำอยู่ด้วยเสมอ  ทำให้เชื่อได้ว่าในสมัยสุโขทัยน่าจะมีการประกอบพระราชพิธีตรียัมปวาย – ตรีปวายแล้ว โดยเฉพาะที่วัดศรีสวายปรากฏ สมเด็จฯ กรมพระยานริศรานุวัติวงศ์ทรงอธิบายถึงหลักฐานแน่ชัดว่าโบราณสถานแห่งนี้เป็นโบสถ์พราหมณ์และเป็นที่ประกอบการโล้ชิงช้าดังนี้

          “เมื่อเข้าไปในโบสถ์พราหมณ์แล้วแลเห็นทางเข้าไปในปรางค์ได้มองเข้าไปเห็นหลักไม้ปักอยู่ ๒ หลัก ท่าทางดูเหมือนที่นั่งพระยายืนชิงช้า จึงสันนิฐานว่าที่นี่คงเป็นโบสถ์พราหมณ์ และผู้เป็นตัวแทนพระเป็นเจ้าในพิธีรำเสนงและโล้ยัมพวาย นั้นคงเป็นในปรางค์นั่นเอง ค้นไปมาเผอิญไปพบศิลาทำเป็นรูปสยุมภูทิ้งอยู่อันหนึ่ง ยิ่งดูเป็นพยานขึ้นอีกชั้นหนึ่งว่า วัดศรีสวายนี้คือโบสถ์พราหมณ์ เดิมเห็นจะเรียกว่า ศรีศิวายะ” (พระราชกรณียกิจของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๙ ในการอุปถัมภ์ศาสนาพราหมณ์ – ฮินดูในประเทศไทย, ๒๕๓๐ : ๑๔๑)

          หลักฐานเอกสารลายลักษณ์อักษรในเวลาต่อมาที่กล่าวถึงพระราชพิธีตรียัมปวาย - ตรีปวาย  ที่อยู่ในรูปของตำนาน  เช่น  ตำนานพระแท่นมนังคศิลาบาตรกล่าวไว้ว่า 

 

                       “เทวสถานเทิ่งเวิ้ง          ศรีสวาย ภิไธย์พ่อ

                สามยอดเยี่ยมโพยมโสม         ส่องโต้

                ธาดารูปนารายณ์                   นริศสถิต ถมึงเอย

                เสาเล่นชิงช้าโล้                    ฤกษ์สการฯ” 

 

          อย่างไรก็ตาม พิธีโล้ชิงช้าถวายเทพเจ้าก็ได้เป็นแรงบันดาลใจในการแต่งหนังสือะตำรับท้าวศรีจุฬาลักษณ์ หรือนางนพมาศ  ที่สันนิษฐานว่าแต่งขึ้นสมัยพระร่วงเจ้าพระยาลิไทแห่งกรุงสุโขทัย (สมปราชญ์ อัมมะพันธุ์ ๒๕๓๖ : ๙๘) แต่อาจมีการปรุงปรุงเขียนเพิ่มเติมในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น กล่าวถึงการประกอบพระราชพิธีตรียัมปวาย - ตรีปวายว่าเป็นงานพระราชพิธีที่ยิ่งใหญ่และสำคัญพิธีหนึ่งในสมัยสุโขทัยดังนี้

           “ครั้นล่วงมาถึงเดือนอ้าย กาลกำหนดพระราชพิธีตรียัมปวายแลตรีปวายเป็นการนักขัตฤกษ์ประชุมผมู่ประชาชนชายหญิง ยังหน้าพระเทวสถานหลวงบรรดาหมู่ชะแม่นางในทั้งหลายก็ตกแต่งกรัชกายไปตามเสด็จสมเด็จพระร่วงเจ้า ดูไกวนางกระดานสาดน้ำรำเสนง และทัศนาชีพ่อพราหมณ์แห่งพระอิศวร พระนารายณ์ในเพลาราตรี ณ พระที่นั่งไชยชุมพล เกษมสานต์สำราญใจถ้วนทุกหน้า เป็นธรรมเนียมพระนคร...” (ศิลปากร. กรม, ๒๕๑๓ : ๑๐๗ - ๑๐๘)

           จากข้อความดังกล่าวอาจกล่าวได้ว่า พระราชพิธีตรียัมปวาย – ตรีปวายได้กระทำขึ้นในเดือนอ้ายของทุกปีและถูกประกอบขึ้นอย่างเป็นแบบแผนมาแล้วตั้งแต่ครั้งอาณาจักรสุโขทัย เป็นที่น่าเสียดายที่ไม่สามารถหาหลักฐานลายลักษณ์อักษรลายละเอียดเกี่ยวกับพิธีกรรมในสมัยนี้ว่ามีขั้นตอนอย่างไร 

วาทิน ศานติ์ สันติ : เรียบเรียง

อ้างอิง

สมปราชญ์ อัมมะพันธุ์. ประเพณีและพิธีกรรมในวรรณคดีไทย. พิมพ์ครั้งที่ ๑. กรุงเทพฯ :โอเดียนสโตร์. ๒๕๓๖.

ศิลปากร, กรม. นางนพมาศ หรือ ตำรับท้าวศรีจุฬาลักษณ์. พระนคร : ศิลปาบรรณาคาร. ๒๕๑๓.

พระราชกรณียกิจของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๙ ในการอุปถัมภ์ศาสนาพราหมณ์ – ฮินดูในประเทศไทย.

คำสำคัญ (Tags): #พราหมณ์
หมายเลขบันทึก: 452696เขียนเมื่อ 6 สิงหาคม 2011 14:16 น. ()แก้ไขเมื่อ 25 กันยายน 2013 07:48 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท