Exercise คือการออม: ภาคจบ สติปัฎฐาน 4 กับแนวคิด "สมองพลาสติก"


ศาสตร์ตะวันตกเชื่อว่า การฝึกสติ ลดการยึดครองของ "ความคิดลบอันไร้ประโยชน์" เพื่อให้มีที่ว่างสำหรับการเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ

  ภาคสามนี้ ข้าพเจ้าขอข้ามมาที่ Mind exercise เนื่องจากได้เขียนถึงการฝึกพูดภาษาอังกฤษไปแล้วในบทความนี้คะ.. 
  สติปัฎฐาน 4 หลายท่านคงทราบแล้วว่าเป็นหลักการฝึกสติ โดยระลึกรู้ถึงสิ่งที่เกิดตามจริง ต่อ กาย (หายใจเข้า/ออก)  , เวทนา(ทุกข์/สุข), จิต(สงบ/ฟุ้งซ่าน),  ธรรม(เกิด/ดับ)
  แล้วเกี่ยวกับแนวคิด "สมองพลาสติก" หรือ Neuroplasticity อย่างไร ?
  ที่เกี่ยวข้องเนื่องจาก นักวิทยาศาสตร์ตะวันตก เริ่มตื่นตัวกับการรักษาทางจิต ด้วยสิ่งที่พระพุทธองค์ทรงค้นพบมากว่า 2000 ปี

..จากเดิมที่เราเชื่อกันว่า สมองแต่ละส่วนถูกกำหนดมาให้ทำหน้าที่อย่างเดียว ซ้ำร้ายเซลล์สมองตายแล้วไม่มีสร้างใหม่ หมายความว่า ถ้าวันดีคืนร้าย นาย ก. ถูกโจรทุบหัว จนสมองกบาลด้านซ้าย (Left frontal) บุบ ก็จะไม่สามารถพูดได้อีกเลย เนื่องจากสมองส่วนที่ควบคุมการพูด (Broca's area) ถูกทำลาย..เรียกทฤษฎีนี้ว่า "Brain localization" ซึ่งสมัยข้าพเจ้าเป็นนักศึกษาก็ยังต้องจำรูปพิลึก แบบนี้..

   ถัดมาอีกไม่กี่ปี เมื่อเทคโนโลยีเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ก้าวหน้า "Brain scan" ถูกนำมาใช้ศึกษาความสัมพันธ์ บริเวณที่สมองตื่นตัว กับการทำงานของร่างกาย นักวิทยาศาสตร์นำโดย Norman Doidge (1) ได้ออกมาแย้งว่า..ทฤษฎีที่เรียนมานั้น ถูก..เพียงครึ่งเดียว..

 - แต่ละส่วนของสมองทำหน้าที่ควบคุมแต่ละส่วนของร่างกายจริง..แต่..มันสามารถปรับเปลี่ยน โยกย้าย ได้เหมือนแฟลตให้เช่า..ในทำเลทอง..กล่าวคือ พื้นที่สมองจะถูกแข่งขันจับจอง ใครมาก่อนได้ก่อน ใครมาบ่อยๆ (Repeatibility) ก็มีโอกาสได้พื้นที่สูง แต่ไม่ใช่ใครอยู่แล้วก็เป็นของคนนั้นตลอดกาล...
   เด็กแรกเกิดถึง 8 ปี เมื่อเรียนสองภาษา พบว่าพื้นที่สมองในการใช้ทั้งสองภาษานั้นอยู่ในตำแหน่งเดียวกัน..แต่เมื่อมาเรียนตอนเป็นผู้ใหญ๋ ตำแหน่งของภาษาที่สองอยู่ห่างออกไปจากภาษาแรก (นี่คงสร้างความแตกต่างระหว่าง Bilingual กับ Semilingual ! )  นักวิทยาศาสตร์ได้ทำการผ่าตัดนิ้วกลางของลิงออก แล้วพบว่า เมื่อผ่านไประยะหนึ่ง บริเวณสมองที่เคยควบคุมการทำงานของนิ้วกลาง ถูกครอบครองด้วยนิ้วชี้แทน..

- ส่วนที่ว่าธรรมชาติสมองเรามีแต่จะฝ่อลงตามอายุนั้น คนส่วนมากเป็น แต่ไม่ใช่เพราะเซลล์สมองไม่สามารถเกิดใหม่ ที่จริงแล้วทาง "ชีวภาพ" เอื้อให้สร้างใหม่ได้ แต่เพราะ "พฤติกรรม" ไม่เอื้อให้สร้าง..นักวิทยาศาสต์ศึกษาเซลล์สมองในกลุ่มผู้ใกล้เสียชีวิต (End of life) เทียบกับหลังเสียชีวิต ยังพบว่า มีเซลล์สมองที่เกิดใหม่..แสดงว่าเซลล์สมองน่าจะคล้ายมวลกระดูก คือมีการสร้างใหม่ เพียงแต่เมื่ออายุมากขึ้น มันไม่ทันต่อการทำลาย..อะไรเป็นตัวทำลายเซลล์สมอง คำตอบคือ ความเครียดเรื้อรัง ซึ่งทำให้เซลล์สมองต้องเผชิญกับสารที่มันไม่ค่อยชอบ ได้แก่ glucocorticoid, adrenaline ...แล้วอะไรเป็นตัวสร้าง คำตอบคือ การออกกำลังกาย ซึ่งกระตุ้นการหลั่งสารสร้างเซลล์สมอง BDNF และ การเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ที่ต้องอาศัยความตั้งใจ (เช่นการเรียนเต้นรำ เล่นเกม อ่านหนังสือ) ซึ่งกระตุ้นการสร้างสารที่เซลล์สมองชอบ ได้แก่ Dopamine, Acethylcholine

.. จึงมีผู้กล่าวว่า คนที่เสี่ยงต่อสมองเสื่อมที่สุดคือ คนที่นั่งคิดฟุ้งซ่านในห้องเดิมๆ


  กล่าวโดยสรุป สมองมนุษย์มีศักยภาพสูงกว่าที่เราคิดไว้มาก เพียงแต่เราต้องรู้จักถนอมสุขภาพสมองด้วยการ
1. ไม่ปล่อยให้ความคิดที่ไร้ประโยชน์ครอบครองพื้นที่อันมีค่า = ฝึกสติ
2. ลดการปล่อยยาพิษ = ลดความเครียด 
3. เพิ่มการสร้างเซลล์สมองใหม่ = ออกกำลังกาย, เรียนรู้สิ่งใหม่ๆ


Dr.Siegel (2) ได้ต่อยอดงานของ Doidge ด้วยการพัฒนาวิธีการบำบัด เรียกว่า "Mindsight" ซึ่งมีความคล้ายคลึงกับหลักการฝึก สติปัฎฐาน 4 อย่างประหลาด..
โปรดพิจารณาคำจำกัดความของ "Mindsight" คือ " A kind of focused attention that allows us to see internal working of our minds.."
 หลักการของ Mindsight คือ การอยู่กับปัจจุบันขณะ รับรู้ความร้อนหนาวที่สัมผัสกาย รับรู้เสียงที่กำลังได้ยิน  แทนที่จะเอาใจไปคิดเรื่องอดีต หรือการวางแผนอนาคต และให้มองเห็นความรู้สึกที่เกิดขึ้น แทนที่จะลงไปอยู่ในกระแสความรู้สึกนั้น..Now, I "feel" sad แทนที่จะ " He made me sad.." 

 กลไกที่อธิบายถึงประโยชน์ของ mindsight ก็คือ เป็นการตัดวงจร Repeating ของความคิดเชิงลบ ไม่ให้ฝังลึกและครอบครองสมอง แล้วเปิดพื้นในการเรียนรู้ใหม่ เป็นคนใหม่ได้

 นี่อาจเป็นวิธีการอธิบายตามหลักวิทยาศาสตร์ตะวันตกว่าทำไม สติถึงก่อให้เกิดปัญญา..

********************
Reference:
(1) Doidge N (2007) The Brain that change itself ; Stories of personal triump from the frontier of brain science.
(2) Siegel D.J. (2010) Mindsignt ; the new science of personal transformation.

ขอนอกเรื่องนิดนึงคะ..หนังสือสองเล่มนี้ ได้แสดงถึง วัฒนธรรมที่น่าชื่นชม กล่าวคือ นักวิจัยซึ่งได้รับรางวัลโนเบลในทฤษฎี "localization" ได้แสดงออกต่อกลุ่มนักวิจัยที่เสนอ แนวคิด "neuroplasticity" ที่มาหักล้างทฤษฎีตน อย่างมีน้ำใจและกล่าวชื่นชมยกย่องอย่างเปิดเผย..เช่นเดียวกับ Dr. Doidge กับ Dr.Siegel แม้จะจบต่างที่ ทำงานต่างที่กัน เมื่อมาสนใจศึกษาเรื่องเดียวกัน แทนที่จะมองเป็นคู่แข่ง กลับสนับสนุนกัน ดังเห็นจาก Doidge เป็นผู้เขียนคำนำให้หนังสือของ Siegel..
สิ่งนี้น่าคิด เมื่อบ้านเราพยายามสร้างมหาวิทยาลัยแห่งการวิจัย -- นอกจากลงทุนทางวัตถุแล้ว เราน่าจะปลูกฝัง "วัฒนธรรม" ด้วยดีไหม..

หมายเลขบันทึก: 451903เขียนเมื่อ 31 กรกฎาคม 2011 23:07 น. ()แก้ไขเมื่อ 17 มิถุนายน 2012 13:42 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)

คุณหมอคะ

ขอบคุณมากๆ เลยค่ะ ที่แบ่งปันเรื่องราวของสมองให้ได้ทำความเข้าใจหลักการที่ทำให้เราเข้าใจที่มาที่ไป และเหมือนเป็นแรงบันดาลใจในการช่วยส่งเสริมให้อยากพัฒนาตนเองอย่างสม่ำเสมอ และที่สำคัญยังนับไปปรับใช้กับการดูแลผู้สูงอายุได้ด้วยค่ะ

ขอบคุณมากค่ะ ^_^

ยินดีคะ

เราสามารถพัฒนาตัวเองได้ตลอดชีวิต เหมือนกับเซลล์สมองที่ยังสามารถเกิดใหม่ได้ตลอดชีวิต

สวัสดีครับ

เป็นบันทึกที่อ่านแล้วต้องอ่านอีกแล้วคิดตาม

เป็นการมองแบบศาสตร์ตะวันตก ที่วันข้างหน้าจะต้องพบและเข้าใจตรงกันกับที่องค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงค้นพบและรู้แจ้งแน่นอน.....(อยู่ในอภิธรรมว่าด้วยจิต)

เป็นเรื่องน่าทึ่งและปีติที่ศาสตร์นี้ ที่ค่อยๆ ค้นพบสิ่งต่างๆ มาตามลำดับ Mindsight กับสติปัฏฐาน 4 และวิปัสสนา หรือ Insight Meditation ล้วนมีความชัดเจน เหมือนการเอาไฟฉายเดินเข้าไปในห้องสมบัติ ค่อยๆ พบ ค่อยๆ เรียนรู้กัน

ขอบคุณสำหรับบันทึกที่ย่อยเรื่องยาก ให้เข้าใจได้ง่ายเป็นรูปธรรมครับ

ยินดีคะ

ที่จริงแล้ว อัจฉริยะบุคคลในอินเดียและไทยได้ค้นพบมานาน

เป็นหลักการสากล เพียงวิธีการสื่อสารที่คนตะวันตกเข้าไม่ถึง

ต้องอาศัยเวลา ค่อยๆจูนทำความเข้าใจคะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท