วิชาการสายรับใช้สังคมไทย : 28. เรียนรู้จากวิธีดำเนินการแนว วพส.



          วพส. ย่อมาจาก สถาบันวิจัยและพัฒนาสุขภาพภาคใต้ เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๔๗   เป็นรูปแบบหนึ่งของการทำงานวิชาการรับใช้สังคมของมหาวิทยาลัย   โดยมีแหล่งทุนภายนอกชักชวน เนื่องจากศรัทธาในความสามารถและความดีของตัวบุคคล คือ ศ. นพ. วีระศักดิ์ จงสู่วิวัฒน์วงศ์ ผู้อำนวยการสถาบัน

          และ วพส. เน้นทำงานโดยเอาปัญหาหรือประเด็นสำคัญในพื้นที่เป็นหลัก  ไม่เน้นเอาวิชาการเป็นหลัก   ผมเดาว่าแนวทางนี้ผลักดันโดย ศ. นพ. ธาดา ยิบอินซอย ผู้ล่วงลับ และโดยจริตของ ศ. นพ. วีระศักดิ์เอง

          ยุทธศาสตร์ Empowerment   ให้ชุมชนหรือนักวิชาการในชุมชนรวมตัวกันทำงานเชิงวิชาการ เพื่อแก้ปัญหาของชุมชน พื้นที่ หรือสังคม   เป็นการใช้ยุทธศาสตร์ที่สวนทางจากการทำงานวิชาการ แบบที่คุ้นเคยกันทั่วไป   และเนื่องจาก ศ. นพ. วีระศักดิ์เป็นที่เชื่อถือจากแหล่งทุนทั้งในและ ต่างประเทศ  วพส. จึงทำหน้าที่คล้ายๆ ทำหน้าที่หาทุนวิจัยและพัฒนาจากภายนอกมาสนับสนุน นักวิจัยในพื้นที่

          ผมให้ความเห็นในการประชุมคณะกรรมการ วพส. เมื่อวันที่ ๒๑ มิ.ย. ๕๔ ว่า   ควรทำหน้าที่ เชื่อมโยงกับแหล่งทุนหรือทรัพยากรภายในพื้นที่เอง    ให้เข้ามาสนับสนุนกิจกรรมวิจัยและพัฒนา เพื่อแก้ปัญหาหรือพัฒนาท้องถิ่น   ซึ่งจะทำให้เกิดการพัฒนาแนวใช้ความรู้ เกิดการพัฒนาต่อเนื่อง และยั่งยืน

          โชคดีที่ทั้งมหาวิทยาลัย และคณะแพทยศาสตร์สนับสนุน วพส.   และสนับสนุนอย่างถูกต้อง คือให้อิสระในการดำเนินการ ไม่เข้ามาตั้งเงื่อนไขหรือออกกฎระเบียบกำกับจนไม่สามารถทำงานแบบ ใช้ความริเริ่มสร้างสรรค์สูงได้   ทำให้ วพส. เน้นทำงานพัฒนาตามความต้องการของพื้นที่หรือชุมชน เอาปัญหาของพื้นที่หรือชุมชนเป็นหลัก ไม่ใช่เอาโจทย์วิจัยจากการคิดเชิงวิชาการเป็นหลัก   และใช้นักวิชาการในพื้นที่ที่มีใจเป็นผู้ทำงาน   แล้วมีกลไก coaching จาก วพส. เข้าไปเสริม   เพื่อเอาวิชาการไปรับใช้พื้นที่หรือชุมชน

          วพส. ทำงานทั่วภาคใต้ โดยเน้นพื้นที่ที่มีปัญหามากที่สุด คือ ๓ จังหวัดชายแดน 

          ในวันที่ ๒๙ มิ.ย. ๕๔ สกอ. ร่วมกับมูลนิธิสยามกัมมาจล จัดการประชุมสัมมนาวิชาการเรื่อง "การพัฒนาวิชาการสายรับใช้สังคม"   โดยมีผลการถอดความรู้จากการดำเนินการของ ๖ มหาวิทยาลัยเป็นกรณีศึกษา ได้แก่ มธ., มจธ., มหิดล, อาศรมศิลป์, มรภ. อุตรดิตถ์, และ มศว. (โพธิวิชชาลัย)   ทำให้ผมนึกขึ้นได้ว่า น่าจะมีการถอดความรู้เกี่ยวกับ วพส. ว่าได้มีส่วนสร้างสรรค์ วิชาการสายรับใช้สังคมอย่างไร   มีทางนำเอาประสบการณ์ของ วพส. มาใช้ในการเรียนรู้ของ นศ. ทั่วไปอย่างไรบ้าง   โดยเฉพาะในการจัดการเรียนรู้แบบ PBL (Project-Based Learning)

          ที่จริงทาง ม. สงขลานครินทร์เองน่าจะดำเนินการถอดความรู้เรื่องนี้ ทั้งจากเรื่องราวของความสำเร็จ และเรื่องราวของความล้มเหลว    สำหรับเอามาใช้ต่อยอดดำเนินการพัฒนา มอ. เป็นสถาบันอุดมศึกษารับใช้สังคมตามปณิธานของมหาวิทยาลัย        

 

 

วิจารณ์ พานิช
๒๗ มิ.ย. ๕๔


                

หมายเลขบันทึก: 451475เขียนเมื่อ 29 กรกฎาคม 2011 14:46 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 13:50 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

มาชื่นชม ชาว มอ ครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท