คุยกันที่บ้านหนองระเวียง


การน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงเพื่อขับเคลื่อนกระบวนการเรียนรู้ในท้องถิ่น

          27 กรกฏาคม 2554  บรรยายกาศเมืองมหาสารคามยามเช้าดูสดใสหากไม่มีภารกิจใดคงได้ตื่นสายแน่นอน แต่ต้องรีบตื่นและดูแลตัวเองแบบเร่งด่วน ด้วยวันนี้มีนัดลงพื้นที่กับทีมนักวิชาการจากสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา ที่เดินทางมาถึงมหาสารคามล่วงหน้าแล้วในวันวาน

      ภารกิจเริ่มต้นด้วยการจัดขบวนรถเดินทาง ฟังดูเหมือนหลายคนแต่ไม่มากมายหรอกครับ ที่ว่าจัดขบวนหมายถึงคนที่รู้เส้นทางไปพื้นที่เป้าหมายคือผมเองซึ่งต้องทำหน้าที่นำทาง พวกเราเดินทางด้วยความเร็วแบบพอดี เพื่อที่จะถึงพื้นที่เป้าหมายตามเวลาดีสามโมงเช้า ภารกิจสำคัญวันนี้คือการพบปะ พูดคุยกับผู้อำนวยการโรงเรียน ครู นักเรียน ผู้นำชุมชนในพื้นที่บริการโรงเรียนบ้านหนองระเวียง ตำบลเวียงชัย อำเภอพยัคฆภูมิพิสัย จังหวัดมหาสารคาม เพื่อน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงไปขับเคลื่อนกระบวนการเรียนรู้ในท้องถิ่น

  พวกเราเดินทางถึงบ้านหนองระเวียงตามเวลานัดหมาย ได้รับรอยยิ้มจากเจ้าถิ่น เราก็หายเหนื่อย หลังทักทายกันตามสมควร เด็กๆนักเรียนชวนเราไปเที่ยวตลาดนัดเล็กๆในโรงเรียน เด็กๆบอกว่าตลาดแห่งนี้มีมาหลายปี เป็นเวทีให้เด็กๆในโรงเรียนทุกคนได้นำผลผลิตจากบ้านมาฝึกแลกเปลี่ยนและขาย บรรยากาศดีมากแต่ที่พิเศษคือทุกคนในตลาดแห่งนี้จะสื่อสารกันด้วยภาษาเยอ ซึ่งเป็นภาษาถิ่นบ้านหนองระเวียง สำเนียงแปลกๆพร้อมกับหน้าตาที่สดใสของเด็กๆทำให้เราเริ่มคุ้นเคยกันอย่างรวดเร็ว

           หลังจากนั้นเด็กๆพาเราเข้าสู่กระบวนการผงนัวคู่ครัวไทยห่างไกลมะเร็ง เป็นการใช้พืชในท้องถิ่นมาหั่นและตำละเอียดผสมกับข้าวสาร ปั้นเป็นก้อนก่อนที่จะทำให้แบนเป็นรูปทรงกลมแล้วนำไปตากแดดให้แห้งสนิท สามารถเก็บไว้ใช้เป็นเครื่องปรุงรสอาหารได้นานหลายเดือน เด็กๆบอกว่าหนึ่งครอบครัวสามารถทำผงนัวใช้ในครัวเรือนได้ นอกจากเป็นยาดีแล้วยังได้ความรัก ความผูกพันของทุกคนในครอบครัวด้วย

       สุดท้ายเราตั้งวงคุยกันว่าหากเราจะน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาเพื่อขับเคลื่อนกระบวนการเรียนรู้ในท้องถิ่น เราจะเปิดพื้นที่การเรียนรู้ด้วยกระบวนใด ความหลากหลายความคิดจากหลากหลายชุดความรู้ที่ทุกคนมีในตัว ทำให้เราเห็นภาพเบื้องต้นและค่อนข้างมั่นใจว่าสิ่งที่คุยกันวันนี้จะมีพลังในวันต่อไป เราลาพี่น้องบ้านหนองระเวียงด้วยการฝากสิ่งที่เราคุยกันไว้ สิ่งใดจะให้เราร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ให้บอกกล่าวกัน

               หลายท่านอาจสงสัยว่าคุยกันเรื่องอะไร ใครออกแบบ บอกได้เลยครับว่าเรายกให้ผู้คนในพื้นที่เป็นหลัก เราจะไม่จมปลักกับแนวคิดการพัฒนาที่กดทับรัศมีความรู้ของชุมชน ถามว่าเป็นวิธีที่ดีหรือไม่ ตอบว่าไม่ฟันธงแต่พวกเราตกลงกันว่าน่าลองดูสักตั้ง  ครับผม

หมายเลขบันทึก: 451119เขียนเมื่อ 27 กรกฎาคม 2011 19:08 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 13:49 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)
  • เท่าที่ทราบ
  • ใบมะรุมตากแห้งเอามาป่นทำผงนัวได้ครับ
  • เด็กๆๆใช้ต้นอะไรครับ
  • เดือนตุลาคม  พอจะระบุวันได้ไหมครับ
  • เอาเด็กน้อยตราดมฝากครับ
  • หายไปนาน
  • ส่งข่าวบ้างครับ
  • เจ้าหน้าที่ของ สกศ ชื่ออะไรครับ
  • ปกติจะรู้จักหลายท่าน

ตามมาทักทาย

ไม่ได้ข่าวเลยครับ

ขอบคุณครับ

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท