แนวคิดเบื้องต้น และ กรอบการอบรมความรู้กฎหมายด้านเด็กในประเทศไทย


เพื่อเตรียมแนวคิดในการจัดทำหลักสูตรอบรมกฎหมายด้านเด็กและเยาวชน

แนวคิดเบื้องต้น และ กรอบการอบรมความรู้กฎหมายด้านเด็กในประเทศไทย 

 

(๑)               ความนำของการพัฒนาโครงการอบรมกฎหมายด้านเด็กและเยาวชน 

          ประโยคตั้งต้นของ ศ.นพ.วิจารณ์ (อาจารย์วิจารณ์) คุณปิยะภรณ์ (พี่เปา จากมูลนิธิสยามกัมมาจล) และ รศ.ดร.พันธุ์ทิพย์ (อาจารย์แหวว จากคณะนิติศาสตร์) ที่เริ่มต้นคำถามว่า “ประเทศไทยมีกฎหมายที่เกี่ยวกับเด็กหลายฉบับ แต่ทำไม เด็กในประเทศไทยจึงไม่ได้รับการพัฒนาเท่าที่ควรจะเป็น?” เป็นคำถามที่ทำให้นักกฎหมายด้านเด็กต้องกลับมานั่งทบทวนว่า ปัญหาดังกล่าวเกิดขึ้นจาก กฎหมายที่มีอยู่ไม่เพียงพอต่อการพัฒนาเด็ก เยาวชน หรือ อยู่ที่ประสิทธิภาพของการบังคับใช้กฎหมาย คำตอบในเรื่องนี้สามารถอธิบายได้ทั้งสองส่วนคือ กฎหมายที่มีอยู่ในประเทศไทยไม่เพียงพอต่อการพัฒนาเด็กและเยาวชนอย่างรอบด้าน และ การบังคับใช้กฎหมายที่มีอยู่โดยผู้บังคับใช้กฎหมาย ซึ่งหมายถึง หน่วยงานที่รับผิดชอบตามกฎหมายนั้น ไม่ดำเนินการบังคับใช้กฎหมายอย่างมีประสิทธิภาพ ประกอบกับ หน่วยงานที่รับผิดชอบตามกฎหมายในฐานะผู้บังคับใช้กฎหมายมีหลายหน่วยงาน อีกทั้ง หน่วยงานที่ทำงานกับเด็กและเยาวชน ก็มีอยู่เป็นจำนวนมาก จึงได้มีการหารือถึงแนวทางการจัดอบรมกฎหมายด้านเด็กให้กับบุคคลต่างๆเพื่อทำให้เกิดการพัฒนาเด็กและเยาวชนอย่างมีประสิทธิภาพ

(๒)              ประเทศไทยกับกฎหมายด้านเด็กและเยาวชน

          ประเทศไทยเป็นภาคีอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก ตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๕๓๕ ซึ่งโดยหลักของอนุสัญญาฉบับนี้ มีการจำแนกสิทธิเด็กออกเป็น ๔ เรื่องหลักๆ กล่าวคือ สิทธิในการมีชีวิตรอด สิทธิในการได้รับการพัฒนา สิทธิในการได้รับความคุ้มครอง และ สิทธิในการมีส่วนร่วม

          อันที่จริงแล้ว ประเทศไทยมีกฎหมายภายในที่รองรับตามอนุสัญญาฉบับดังกล่าวหลายฉบับ โดยในเบื้องต้น สามารถพิจารณากฎหมายภายในต่างๆ โดยจำแนกตามสิทธิในทั้ง ๔ ส่วน ได้ดังนี้

(๑)    สิทธิในการมีชีวิตรอด ได้รับการดูแลสุขภาพขั้นพื้นฐาน การจดทะเบียนหลังการเกิด มีสันติภาพ และความปลอดภัย สิทธิในส่วนนี้ ปรากฏในกฎหมายทั่วไป ทั้ง กฎหมายรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ประมวลกฎหมายอาญา ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ นอกจากนั้น สิทธิขั้นพื้นฐานในส่วนแรกนี้ยังได้รับการรับรองในฐานะกฎหมายพิเศษในพระราชบัญญัติส่งเสริมการพัฒนาเด็กและเยาวชนแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๕๐ ซึ่งก่อนที่กฎหมายฉบับนี้จะมีผลใช้บังคับ มีกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง เช่น พระราชบัญญัติการทะเบียนราษฎร พ.ศ.๒๕๓๔

(๒)    สิทธิในการได้รับการพัฒนา มีครอบครัวที่อบอุ่น ได้รับการศึกษาที่ดี และภาวะโภชนาการที่เหมาะสม ซึ่งโดยหลักก็คือ เรื่องของสิทธิในการศึกษา ปรากฏใน มาตรา ๔๙ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ๒๕๕๐ที่บัญญัติให้บุคคลย่อมมีสิทธิเสมอกันในการรับการศึกษาไม่น้อยกว่าสิบสองปีที่รัฐจะต้องจัดให้อย่างทั่วถึงและมีคุณภาพ โดยไม่เก็บค่าใช้จ่าย และยังปรากฏในกฎหมายด้านพิเศษในด้านการศึกษาของไทย ทั้งพระราชบัญญัติกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา พ.ศ.๒๕๔๑ , พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.๒๕๔๒ และ พระราชบัญญัติการศึกษาภาคบังคับ พ.ศ. ๒๕๔๕ โดยในปี พ.ศ.๒๕๔๒ รัฐบาลได้จัดทำคำแถลงนโยบาย และในที่สุดได้จัดทำเป็นมติ ครม ๑๓ มกราคม ๒๕๕๒ อนุมัติงบประมาณสนับสนุนโครงการเรียนฟรี ๑๕ ปีอย่างมีคุณภาพ

(๓)    สิทธิที่จะได้รับความคุ้มครอง - ให้รอดพ้นจากการทำร้าย การล่วงละเมิด การละเลย การนำไปขาย การใช้แรงงานเด็ก และการแสวงประโยชน์โดยมิชอบในรูปแบบอื่นๆ ปรากฏในกฎหมายทั่วไป อย่างเช่น ประมวลกฎหมายอาญา และ ยังมีการบัญญัติเป็นกฎหมายพิเศษอีกหลายฉบับ เช่น พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี พ.ศ.๒๕๓๙ พระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก พ.ศ.๒๕๔๖ พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ.๒๕๕๑ รวมทั้ง กรณีของการคุ้มครองเด็กจากการรับสื่อที่ไม่เหมาะสมกับช่วงวัย ปรากฏใน ส่วนของการจัดระดับความเหมาะสมของภาพยนตร์ ในพระราชบัญญัติภาพยนตร์และวีดีทัศน์ พ.ศ.๒๕๕๑ และการจัดระดับความเหมาะสมของของรายการโทรทัศน์ ในพระราชบัญญัติประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ.๒๕๕๑ หรือ การคุ้มครองเด็กเยาวชนในการเข้าถึงและใช้บริการในร้านเกมคาเฟ่ ในพระราชบัญญัติภาพยนตร์และวีดีทัศน์ พ.ศ.๒๕๕๑ เป็นต้น

(๔)    สิทธิที่ในการมีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็น แสดงออก การมีผู้รับฟัง และมีส่วนร่วมในการตัดสินใจในเรื่องที่มีผลกระทบกับตนเอง กฎหมายภายในที่เป็นการรับรองสิทธิของการมีส่วนร่วมของเด็กปรากฏชัดเจนในพระราชบัญญัติส่งเสริมการพัฒนาเด็กและเยาวชนแห่งชาติ ๒๕๕๐ ในส่วนของการจัดตั้งสภาเด็กและเยาวชนแห่งประเทศไทยทั้งในระดับจังหวัด ระดับอำเภอ

(๕)    นอกจากนั้นยังมีกฎหมายในส่วนของวิธีสบัญญัติ ซึ่งเป็นกฎหมายในส่วนของวิธีพิจารณาความในชั้นสืบสวน สอบสวน และ ในชั้นศาล ดังที่ปรากฏใน พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาความเยาวชนและครอบครัว

(๓)              กฎหมายที่มีอยู่เพียงพอหรือไม่ ?

หากพิจารณาจากสถานการณ์ต่างๆที่มีการเปลี่ยนแปลงไป ทั้ง (๑) สถานการณ์ด้านแนวคิดในการเรียนรู้ของเด็กในศตวรรษที่ ๒๑ ที่มีการกำหนดผลลัพธ์ด้านคุณภาพของเด็กนักเรียน (๒) สถานการณ์ด้านการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร พฤติกรรมการใช้งานเครือข่ายสังคมออนไลน์ (๓) สถานการณ์ของการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน ทำให้มีต้องมีการเตรียมพร้อมในการปฏิรูปการเรียนรู้ และ (๔) สถานการณ์ด้านนโยบาย โดยเฉพาะในส่วนของนโยบายแท็บเล็ต ๑ เครื่องต่อเด็กนักเรียน ๑ คน ปรากฏข้อเท็จจริงในเบื้องต้นว่า กฎหมายที่มีอยู่ไม่เพียงพอต่อการจัดการปัญหาด้านเด็กและเยาวชนอย่างมีประสิทธิภาพ ในด้านต่างๆเช่น (๑) การเตรียมความพร้อมในการพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อการศึกษา (๒) การปฏิรูปบทบาทครูเพื่อรองรับแนวคิดการเรียนรู้ในศตวรรษที่ ๒๑ (๓) การจัดการปัญหาสื่อลามกเด็ก (๔) การคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลของเด็กในการใช้งานสื่อใหม่ (๕) การพัฒนาระบบการสนับสนุนการพัฒนาในด้านต่างๆโดยกองทุน ยังต้องเร่งพัฒนาให้เกิดขึ้นโดยเร็ว

(๔)              ประสิทธิภาพของการบังคับใช้กฎหมายมีประสิทธิภาพมีมากน้อยเพียงใด?

จะเห็นได้ว่า ประเทศไทย มีกฎหมายภายในที่เป็นไปตามสิทธิในด้านต่างๆของเด็กทั้ง ๔ ด้านข้างต้นจำนวนหลายฉบับ ทั้งที่ปรากฏในฐานะกฎหมายทั่วไป และ กฎหมายพิเศษเฉพาะเรื่อง โดยผลของบทบัญญัติทางกฎหมายได้กำหนดให้มีผู้รับผิดชอบตามกฎหมาย ไม่เพียงเท่านั้น หน่วยงาน องค์กร บุคคล หรือ กลุ่มบุคคล ที่ทำงานกับเด็กและเยาวชนหรือเกี่ยวข้องกับเด็กและเยาวชนทั้งที่เป็นหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาชน หรือ ภาควิชาการมีอยู่เป็นจำนวนมาก

ในเบื้องต้น พบว่าอุปสรรคสำคัญของการบังคับใช้กฎหมายโดยหน่วยงานหรืองค์กรที่รับผิดชอบตามกฎหมาย และ หน่วยงานหรือองค์กรที่ทำงานกับเด็กและเยาวชน ประกอบด้วย ๒ ส่วนหลัก กล่าวคือ (๑)ความไม่รู้กฎหมาย และ (๒) ไม่มีการจัดทำกลไกหรือมาตรการรองรับบทบัญญัติทางกฎหมายที่มีความครบถ้วน ซึ่งสาเหตุส่วนหนึ่งอาจเกิดขึ้นจากความไม่เข้าใจในเจตนารมณ์ของกฎหมาย หรือ อาจจะเกิดขึ้นจากความไม่เข้าใจในบริบททางกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง ตลอดจน ความไม่มีองค์ความรู้ที่ชัดเจนในการจัดทำกลไก หรือ มาตรการที่เกี่ยวข้องได้

          ดังนั้น เพื่อเสริมประสิทธิภาพในการบังคับใช้กฎหมายด้านเด็กและเยาวชน จำเป็นที่จะต้องอบรมให้ความรู้กับบุคคล หน่วยงาน หรือองค์กรที่เกี่ยวข้องเพื่อให้เกิดความรู้ ความเข้าใจในบทบัญญัติทางกฎหมายที่จำเป็นต่อการพัฒนา ส่งเสริม คุ้มครองเด็ก และเยาวชน ตลอดจน มีความรู้ความเข้าใจในการจัดการความรู้ที่เกี่ยวข้องเพื่อนำไปสู่การจัดทำมาตรการหรือกลไกรองรับการทำงานตามกฎหมาย


หมายเลขบันทึก: 450578เขียนเมื่อ 23 กรกฎาคม 2011 19:30 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 13:49 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

สวัสดีค่ะ

  • การส่งเสริมให้เด็กได้เรียนรู้เรื่องกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับเด็กได้มากๆจะดียิ่งนะคะ
  • ขอบคุณที่เขียนเรื่องดีๆให้ได้เรียนรู้เพิ่มเติม
  • หากเป็นไปได้จะต้องสร้างความตระหนักให้ครูได้เห็นความสำคัญก่อน..ซึ่งหากครูมีความตระหนักและให้ความสำคัญการเรียนรู้สู่เด็กๆย่อมเป็นไปได้ง่ายขึ้นอย่างแน่นอนค่ะ

 

วันที่ 22 มารับใช่ไหมคะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท