๕ ระยะ ๑๕ ขั้นตอนเตรียมพร้อมกับนโยบายนักเรียน ๑ คน ต่อ ๑ แท็บเล็ต


ระยะที่ ๑ ให้เครื่องมือ ปรับความรู้ ให้กับพ่อแม่ ระยะที่ ๒ จัดระบบฐานข้อมูล เพิ่มเนื้อหาสื่อเพื่อส่งเสริมการศึกษาและการเรียนรู้ และ สื่อสารสู่สังคม ระยะที่ ๓ ปรับแนวคิดด้านวัฒนธรรมสร้างสรรค์ในการใช้สื่อใหม่ให้เติบโตและแพร่หลายในสังคม ระยะที่ ๔ สร้างความเชื่อมั่นในการใช้งานอย่างสร้างสร้างสรรค์ ขยายต้นแบบ ระยะที่ ๕ จัดระบบการบริหารจัดการแบบใหม่

ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจก่อนว่า นโยบายการกระจายความเท่าเทียมในการใช้และเข้าถึงเทคโนโลยีให้กับเด็กนักเรียนภายใต้ข้อความคิด “เด็กนักเรียน ๑ คน ต่อ ๑ แท็บเล็ต” เป็นเรื่องที่ดี แต่ต้องมีกระบวนการในการเตรียมความพร้อมที่ดี เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาตามมาทั้ง ปัญหาเรื่องการใช้เวลามากเกินไปจนเข้าข่ายการติดเกม การติดอินเทอร์เน็ต ปัญหาการเข้าถึงสื่อที่ไม่เหมาะสม ปัญหาเลียนแบบพฤติกรรมไม่เหมาะสมจากสื่อ หรือปัญหาที่เกิดขึ้นจากการล่อลวง เราต้องเตรียมรับมืออย่างเป็นระบบและเป็นขั้นเป็นตอน โดยขั้นตอนในเตรียมมาตรการรองรับนโยบายนี้มีอย่างน้อย ๕ ระยะการทำงาน ประกอบด้วย ๑๕ ขั้นตอน

            ระยะที่ ๑            ให้เครื่องมือ ปรับความรู้ ให้กับพ่อแม่ เริ่มจาก (๑) เพิ่มความรู้ ความเข้าใจให้กับพ่อแม่เกี่ยวกับการจัดทำกติกาพื้นฐานในครอบครัว เช่น เรื่องระยะเวลาในการใช้งาน ไม่ควรเกิน ๓ ชั่วโมงต่อวัน การใช้คอมพิวเตอร์ในพื้นที่ส่วนรวมของบ้าน รวมไปถึง ความรู้เกี่ยวกับการติดตั้งโปรแกรมกลั้นกรองเนื้อหาที่ไม่เหมาะสมในเครื่องคอมพิวเตอร์ของลูก (๒) ให้ความรู้เกี่ยวกับการจัดระดับความเหมาะสมของสื่อเกมคอมพิวเตอร์ และ การจัดระดับความเหมาะสมของเนื้อหาในสื่ออินเทอร์เน็ตเพื่อเป็นเครื่องมือให้กับพ่อแม่ ครู ในการเลือกรับสื่อให้กับลูกและเด็กนักเรียน

            ระยะที่ ๒      จัดระบบฐานข้อมูล เพิ่มเนื้อหาสื่อเพื่อส่งเสริมการศึกษาและการเรียนรู้ และ สื่อสารสู่สังคม ประกอบด้วย (๔) จัดระบบฐานข้อมูลสื่อเพื่อส่งเสริมการศึกษาและการเรียนรู้ให้สามารถเข้าถึงได้ง่าย และ สนับสนุนส่งเสริมให้เกิดสื่อสร้างสรรค์เพื่อส่งเสริมการศึกษาและการเรียนรู้ให้มีรูปแบบที่หลากหลาย เหมาะสมสอดคล้องกับทุกช่วงวัย  รวมถึง การพัฒนาแอพพลิเคชั่นด้านการศึกษา และ ระบบห้องสมุดดิจิตอลส่วนตัว เช่นเดียวกับ ibook เพื่อให้ง่ายต่อการเข้าถึงและปลูกฝังระบบการบริหารจัดการข้อมูลอย่างเป็นระบบให้กับเด็กๆ (๕) สื่อสารประชาสัมพันธ์เพื่อให้พ่อแม่ ครู และ เด็ก สามารถเข้าถึงแหล่งข้อมูลความรู้อย่างทั่วถึง และ สร้างจิตสำนึกร่วมกันถึงความจำเป็นในการใช้สื่อเพื่อเป็นเครื่องมือในการเรียนรู้ตลอดชีวิต ทุกที่ทุกเวลาของคนในสังคม

            ระยะที่ ๓      ปรับแนวคิดด้านวัฒนธรรมสร้างสรรค์ในการใช้สื่อใหม่ให้เติบโตและแพร่หลายในสังคม เริ่มต้นด้วย (๖)  ปรับแนวคิดเกี่ยวกับการใช้งานด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร โดยเร่งสร้างเสริมแนวคิด “วัฒนธรรมสร้างสรรค์ในการใช้สื่อใหม่” ที่ประกอบด้วย ๓ ทักษะหลักคือ ทักษะรู้เท่าทันสื่อ (เท่าทันข้อมูล เท่าทันการสื่อสาร และ เท่าทันเทคโนโลยี) ทักษะการใช้สื่อใหม่เป็นเครื่องมือในการพัฒนาตนเอง ชุมชน สังคม และ ทักษะด้านกติกา มารยาท พื้นฐานในการใช้สื่อใหม่ (๗) อบรมให้ความรู้เครือข่ายครู พ่อแม่ และ ชุมชน เพื่อให้เข้าใจและสามารถประยุกต์ใช้หลักสูตรวัฒนธรรมสร้างสรรค์ในการใช้สื่อใหม่ที่สอดคล้องกับบริบทของพื้นที่ต่างๆ (๘) ส่งเสริม สนับสนุนต้นแบบเครือข่ายเด็ก เยาวชน ที่ใช้สื่อใหม่เป็นเครื่องมือในการพัฒนาตนเอง ชุมชน และ สังคม ที่มีอยู่ในสังคม ใน ๕ ต้นแบบพื้นฐาน คือ นักพัฒนารุ่นเยาว์ คือ นักพัฒนาสื่อเพื่อการศึกษาออนไลน์ พัฒนาซอฟท์แวร์ นักสื่อสารไซเบอร์ นักขับเคลื่อนสังคมออนไลน์ นักพัฒนาเศรษฐกิจสร้างสรรค์ในระบบออนไลน์ เพื่อให้เกิดแรงบันดาลใจไปยังกลุ่มเด็กและเยาวชนเพื่อให้เห็นแนวทางของการใช้สื่อใหม่อย่างสร้างสรรค์บนพื้นฐานความชอบในสื่อใหม่ โดยเน้นการจัดกิจกรรมเพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างเครือข่ายเด็กด้วยกัน

ระยะที่ ๔            สร้างความเชื่อมั่นในการใช้งานอย่างสร้างสร้างสรรค์ ขยายต้นแบบ ทั้ง (๙)  ส่งเสริม สนับสนุน และ ขยายผลต้นแบบเครือข่ายครู พ่อแม่ หรือชุมชน ที่มีบทบาทในฐานะผู้สนับสนุนเด็ก เยาวชนให้สามารถใช้สื่อใหม่อย่างรู้เท่าทัน และ รู้จักใช้สื่อใหม่เป็นเครื่องมือในการพัฒนาตนเอง ชุมชน และ สังคม ให้เครือข่ายเหล่านี้มีความเข้มแข็ง และ สามารถขยายเครือข่ายในรูปของชุมชนนักปฎิบัติ โดยอาศัยกลไกการเปิดพื้นที่เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างเครือข่าย เช่น โรงเรียนบางละมุง จังหวัดชลบุรี หรือ มูลนิธิเพื่อลูกหญิง มูลนิธิกระจกเงา เป็นต้น (๑๐) ส่งเสริมสนับสนุนให้เกิดการสร้างนวัตกรรมในการทำงานของเครือข่ายเด็กหัวใสฉลาดใช้ไอซีที โดยเน้นการเปิดพื้นที่ในการนำเสนอผลงาน การจัดโครงการประกวดที่มีการสร้างโจทย์ท้าทายเพื่อให้เกิดการพัฒนาความคิด และ ผลงาน ยกตัวอย่างเช่น โครงการประกวดนักพัฒนาซอฟท์แวร์รุ่นเยาว์ของเนคเทค เป็นต้น

(๑๑) สนับสนุนโอกาสในการทำงาน และ เปิดพื้นที่ในการนำเสนอผลงานของเด็ก เยาวชน เพื่อให้มีพื้นที่ในการนำเสนอผลงานและแลกเปลี่ยนเรียนรู้ทั้งในโลกจริง และ ในโลกเสมือน อย่างต่อเนื่อง เช่น thinkquest.or.th thaigoodview.com dek-d.com หรือ fuse.in.th เป็นต้น

ระยะที่ ๕ จัดระบบการบริหารจัดการแบบใหม่ ประกอบด้วย (๑๒) เร่งคลอดร่างกฎหมายกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ เร่งกฎกระทรวงเพื่อบริหารจัดการกองทุนเทคโนโลยีเพื่อการศึกษา พร้อมทั้งทำความตกลงร่วมกับ กสทช ในการจัดสรรเงินเข้ากองทุนทั้งสองกองทุนที่เพียงพอต่อการสนับสนุนการทำงานทั้งระบบ

(๑๓) พัฒนากฎหมายที่เกี่ยวข้องกับระบบการคุ้มครองเด็ก เช่น กฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล กฎหมายเกี่ยวกับการจัดระดับความเหมาะสมของเกมคอมพิวเตอร์ในพระราชบัญญัติภาพยนตร์และวีดีทัศน์ พ.ศ.๒๕๕๑ กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับระบบการสนับสนุน กล่าวคือ พระราชกฤษฎีกาลดหย่อนภาษีให้กับผู้บริจาคเงินเข้ากองทุน หรือ ผู้ที่สนับสนุนการพัฒนาสื่อสร้างสรรค์สำหรับเด็ก

(๑๔) พัฒนาระบบการบริหารจัดการแบบมีส่วนร่วมของชุมชน ภายใต้ แนวคิด การร่วมทุนทางสังคม โดยกรรมการสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์แห่งชาติที่จะมีบทบาทหลักในการประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยบูรณาการแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ แผนแม่บทเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร หรือ ICT2020 แผนแม่บทกองทุนเทคโนโลยีเพื่อการศึกษา แผนแม่บทสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ เพื่อทำให้เกิดการทำงานและมีการประเมินผลการทำงานร่วมกันระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และ ปรับบทบาทของภาคนโยบายในการเป็นผู้สนับสนุนการทำงานของเครือข่าย

(๑๕) ต่อยอดคุณค่าของผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นจากการทำงานของเครือข่ายเด็ก และเครือข่ายต่างๆ เพื่อทำให้เกิดคุณค่าทางสังคม และ คุณค่าทางเศรษฐกิจจากผลงานที่พัฒนาขึ้น เพื่อตอบสนองต่อการพัฒนาทุนมนุษย์ ทุนสังคม และ ทุนทางวัฒนธรรม

เริ่มทำได้ทันทีแต่อาจต้องกำหนดพื้นที่นำร่อง และ ระยะเวลาของการขับเคลื่อนมาตรการ เพราะเวลานี้มีชุดความรู้ในการทำงาน มีเครื่องมือพร้อมในการทำงาน มีต้นแบบของเครือข่ายที่พร้อมขยายผล มีต้นแบบของการบริหารจัดการเพื่อสนับสนุนการทำงาน โดยอาจแบ่งเป็น ๓ ระยะ คือ ขั้นตอนที่ ๑ – ๑๐ เป็นระยะเริ่มต้นเพื่อปรับแนวคิด สร้างและขยายผลต้นแบบที่มีอยู่ ขั้นตอนที่ ๑๑-๑๓ เป็นระยะของการสร้างความเชื่อมั่นในการใช้งานไอซีที  รวมทั้ง พัฒนากลไกในการทำงานที่ยั่งยืน และ ขั้นตอนที่ ๑๓ เป็นระยะของการต่อยอดผลลัพธ์

ที่กล่าวมาทั้งหมดทั้ง ๑๕ ขั้นตอน เพื่อที่จะตั้งคำถามว่า เราเตรียมพร้อมหรือยัง ......

หมายเลขบันทึก: 450437เขียนเมื่อ 22 กรกฎาคม 2011 18:31 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 มิถุนายน 2012 21:47 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท