เปลี่ยนภาระเป็นพลัง


ขอบพระคุณท่านผอ. ทีมงานผู้ให้บริการและผู้รับบริการศูนย์ฟื้นฟูอาชีพคนพิการพระประแดงที่ให้ความรู้แก่อาจารย์และนักศึกษากิจกรรมบำบัดรุ่นแรก ม.มหิดล

ศูนย์ฟื้นฟูฯ แห่งนี้อยู่สังกัดกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์

จากเดิมที่มีผู้ที่มีความบกพร่องทางร่างกาย และ/หรือจิตสังคม อายุ 18-40 ปี มีทักษะดูแลตนเองได้ แต่ต้องการฝึกอาชีพ ได้แก่ อาชีพที่จัดไว้ให้ (ช่างไฟฟ้า พนักงานคอมพิวเตอร์ ช่างงานหนัง ช่างเย็บผ้า) แต่ต้องประชาสัมพันธ์มากขึ้นในการว่าจ้างงาน-ฝึก ณ สถานประกอบการ ตาม พรบ.การฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการ พ.ศ. 2550 ซึ่งระบุให้มีการว่าจ้างงานแก่คนพิการในสัดส่วน 1 คนพิการต่อ 100 คนไม่พิการ มีการกู้เงินตลอดชีวิตเพื่อประกอบอาชีพอิสระ 40,000 บาทต่อปี ถ้าสถานประกอบการไม่จ้างงาน ก็ต้องเปิดพื้นที่ให้คนพิการประกอบอาชีพ หากไม่เปิดพื้นที่ ก็ต้องจ่ายเงินเข้ากองทุนคนพิการเป็นครึ่งหนึ่ง x ค่าแรงขั้นต่ำ x 365 วัน x จำนวนคนพิการที่ควรมีในสถานประกอบการ นอกจากนี้คนพิการมีสิทธิ์เข้าศึกษาจนถึง ป.ตรี และรักษาได้ทุกจังหวัด ซึ่งคนพิการทุกคนสามารถติดต่อขอรับสิทธิ์ข้างต้นจากเจ้าหน้าที่จากกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จากที่ว่าการจังหวัดทั่วประเทศ อย่างไรก็ตามศูนย์ฟื้นฟูฯ แห่งนี้เกิดขึ้นเป็นที่แรกและมีอีก 7 จังหวัดที่มีศูนย์ฟื้นฟูฯ แต่ก็ยังให้บริการได้ไม่พอเพียงกับจำนวนคนพิการที่ไม่มีงานทำ แม้ว่าจะมีศูนย์ฟื้นฟูฯ ของกระทรวงแรงงานอีก 8 จังหวัด ก็ยังมีระบบการฟื้นฟูสมรรถภาพการทำงาน/ประกอบอาชีพไม่สมบูรณ์นัก (Work/Vocational Rehabilitation)

เมื่อ 5 ปีที่แล้ว ดร.ป๊อป ได้มาเป็นวิทยากรให้นักกายภาพบำบัดและเจ้าหน้าที่อาชีวบำบัดเรียนรู้การประเมินสมรรถภาพทางการบาดเจ็บแขนและมือด้วยเครื่องมือทางกิจกรรมบำบัด แต่ปัจจุบันคนพิการลดลงไปครึ่งหนึ่ง ซึ่งทางศูนย์ฟื้นฟูฯ คาดว่า เป็นเพราะมีทางเลือกของการประกอบอาชีพคนพิการมากขึ้น การแพทย์ดีขึ้น และอุบัติเหตุจนถึงพิการลดลง จากสถิติมีคนพิการทางร่างกายที่ได้งานทำ 60% และคนพิการทางจิตสังคมที่ได้งานทำ 10%

ผมสังเกตและประเมินพบว่า "ครูฝึกอาชีพ/ครูที่อบรมอาชีวบำบัดสัดส่วน 1 คนต่อนักเรียนอาชีพ 5 คน" ดูเหมาะสมแต่ขาดการส่งปรึกษาด้านการบำบัดฟื้นฟูทางการแพทย์จากนักกายภาพบำบัด (มี 1 คน) นักกิจกรรมบำบัด (ยังไม่มีตำแหน่ง แต่มีความต้องการให้มีในศูนย์ฟื้นฟูฯ) และนักจิตวิทยาคลินิก (กำลังจะเปิดรับ) มีเพียงผู้ประสานงานเป็นนักสังคมสงเคราะห์เท่านั้น

ผมกับนักศึกษากิจกรรมบำบัดได้ประเมินและแนะนำความรู้ในการจัดท่าทางการเคลื่อนไหวในขณะเรียนฝึกอาชีพ ก็พบว่า ได้ผลดี คือ

1. กรณีศึกษาที่มีความบกพร่องทางร่างกายจากหลอดเลือดสมองแตกในอุบัติเหตุ (สามารถออกแบบอุปกรณ์ช่วยในการจับอุปกรณ์เจียนตะกั่วในงานซ่อมไฟฟ้า) แต่ได้รับความรู้ทางกิจกรรมบำบัดในการใช้มือข้างออกแรงช่วยจัดท่าลดเกร็งแขนและมือข้างอ่อนแรง พร้อมประสานมือทำกิจกรรมเพื่อป้องกันกล้ามเนื้อลีบและข้อต่อผิดรูป

2. กรณีศึกษาที่มีความบกพร่องทางร่างกายจากเส้นประสาทแขนและมือไม่ทำงาน มีข้อไหล่หลุดและปวดมากจนต้องมีผ้าพยุงแขนขณะเคลื่อนย้าย แต่ได้รับความรู้ทางกิจกรรมบำบัดในการจัดท่าทางให้มีการเกร็งกล้ามเนื้อรอบหัวไหล่ให้เท่ากันสองข้าง และใช้แขนข้างดีช่วยประคองแขนข้างอ่อนแรงยืดสะบักและหัวไหล่ไปข้างหน้า ทดสอบให้มีการนั่งวางศอกสองข้างบนโต๊ที่สูงพอเหมาะกับเก้าอี้นั่ง (ขอเปลี่ยนกับเพื่อนที่เรียนด้วยกัน) และพยายามไม่ใช้ที่พยุงแขนโดยไม่จำเป็น (ใช้เมื่อยืดแขนแล้วไม่หายเจ็บไหล่) ทั้งนี้นักศึกษากิจกรรมบำบัดระดมสมองกับผมโดยช่วยปรับที่พยุงแขนไม่ให้สูงเกินไปพร้อมมีผ้าฟองน้ำวางประคองไม่ให้ข้อมือตก พร้อมลองจัดท่าทางแล้วสอบถามกรณีศึกษาว่า ไม่มีอาการเจ็บแล้วเมื่อทำกิจกรรมบำบัด

ขอบคุณสำหรับการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ถึงสภาวะความขาดแคลนบุคลากรทางการแพทย์ เช่น นักกิจกรรมบำบัด ที่มีความจำเป็นทางสากลในการฟื้นฟูสมรรถภาพเพื่อเตรียมประกอบอาชีพ

หมายเลขบันทึก: 450399เขียนเมื่อ 22 กรกฎาคม 2011 13:56 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 13:49 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)

ขอบคุณครับคุณชยันต์ เพชรศรีจันทร์ และคุณโสภณ เปียสนิท

มาให้กำลังใจ ดร.หนุ่มไฟแรงคะ

เห็นด้วยคะว่า นักกิจกรรมบำบัด สำคัญมาก

ได้ความรู้คะ หากมีรูปประกอบด้วยก็จะดีมากๆ เลย

ขอบคุณคุณหมอ CMUPal อีกครั้ง ได้ถ่ายรูปไว้ครับ แต่ยังไม่มีโอกาสเลือกรูปลงได้ทันกับการบันทึก

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท