เชียงคานของครูตี๋


เชียงคานชานเคียงเมืองคาน

         

               เชียงคานจากประวัติความเป็นมา  เดิมนายแพทย์อุเทือง  ทิพรส  รวบรวมจังหวัดนำไปแก้ไขข้อมูลลงพิมพ์ในหนังสือ  ประวัติมหาดไทยส่วนภูมิภาคจังหวัดเลย  พ.ศ.๒๕๒๕  หน้า  ๔๙-๕๒  ส่วนข้อมูลเดิมมีดังต่อไปนี้

                          เชียงคานในพงศาวดารล้านช้างของพระยาประมวลวิชาพูล  ขุนคานเจ้าเมืองเชียงทองโอรสขุนคัวเป็นผู้สร้าง  เมืองเชียงคานเดิมอยู่ที่บ้านผาฮดทางฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง

                          ลุปีวอก  โทศก  พ.ศ.๑๙๖๓  สมณพราหมณาจารย์พฤฒามาตย์ทั้งปวงพร้อมกันอันเชิญท้าวลือชัยโอรสของพระเจ้าสามแสนไทซึ่งครองเมืองซ้าย  ขึ้นครองราชสมบัติเป็นพระเจ้ากรุงล้านช้าง  ทรงพระนามว่า  พระเจ้าชัยจักรพรรดิแผ่นแผ้ว  มีพระโอรส  ๑๐  องค์และพระราชธิดา  ๗  องค์ดังต่อไปนี้

                          พระราชโอรส  ๑๐  องค์      พระราชธิดา  ๗  องค์

                          ๑.  ท้าวท่อนแก้ว                    ๑.  เจ้านางสีไว

                          ๒.  ท้าวแท่นคำ                      ๒.  เจ้านางอินทร์

                          ๓.  ท้าวยอน                           ๓.  เจ้านางคาด

                          ๔.  ท้าวย่อน                           ๔.  เจ้านางคำหยาด

                          ๕.  ท้าวจาง                             ๕.  เจ้านางมิ่ง

                          ๖.  ท้าวหล่า                            ๖.  เจ้านางขาว

                          ๗.  ท้าวของ                            ๗.  เจ้านางธารา

                          ๘.  ท้าวภูไท  หรือลุเพไชย

                          ๙.  ท้าวเทพา

                          ๑๐.  ไม่ปรากฏพระนาม

                          ครั้นพระเจ้าชัยจักรพรรดิ์แผ่นแผ้วทรงครองราชสมบัติกรุงล้านช้างแล้วมีพระประสงค์ที่จะส่งเสริมพระพุทธศาสนาโปรดเกล้าฯให้เหล่าเสนาพฤฒามาตย์ไปอันเชิญพระบางซึ่งเจ้าฟ้างุ้มฟ้าหล้าธรณีกษัตริย์ล้านช้างได้อันเชิญพระบางมาจากกรุงอิทรปัตหรือกรุงธมมาประดิษฐาน  ณ  เวียงคำ  ให้ราษฎรได้สักการะบูชาเป็นพระพุทธรูปประจำเมืองสืบไปครั้นขบวนเรือที่อันเชิญพระบางขึ้นมาถึงบริเวณแก่งจันทร์  (อยู่ระหว่างบ้านคกไผ่กับบ้านหาดเบี้ย  อำเภอปากชม)  ซึ่งท้องน้ำเต็มไปด้วยโขดหินและกระแสน้ำไหลเชี่ยว  ปรากฏว่าเรือพาหนะที่ไปอัญเชิญพระบางไปชนโขดหินอับปาง  พระบางพัดตกน้ำจมหายไปไม่สามารถจะเชิญพระบางไปเมืองซ้ายดังพระประสงค์ได้  ต่อมาในฤดูแล้งน้ำในแม่น้ำโขงแห้งแล้งลงได้มีผู้ไปพบพระบางอยู่หาดทราย  จึงอันเชิญกลับไปประดิษฐาน  ณ  หอพระเมืองเวียงคำตามเดิม

                          ต่อมาในปี  พ.ศ.๒๐๑๙  เกิดศึกญวนโดยมี  บัวขวางชุน  กับ เนิกกอง  เป็นแม่ทัพ  ยกทัพเข้าตีกรุงล้านช้าง  พระเจ้าชัยจักรพรรดิแผ่นแผ้วกับท้าวท่อนแก้วอุปราชเกณฑ์พลออกรบ  การรบเป็นไปอย่างดุเดือดถึงขั้นตะลุมบอน  ท้าวท่อนแก้วอุปราชเห็นเหลือกำลังที่จะต้านศึกญวน  เกรงพระราชบิดาและพระญาติพระวงศ์จะเป็นอันตราย  จึงมอบหมายให้ท้าวแท่นคำอนุชาป้องกันพระราชบิดาและพระญาติวงศ์ลงเรือล่องไปพำนักที่เมืองเชียงคานส่วนตนเองพร้อมด้วยท้าวนรสิงห์  ท้าวนรสาร  ท้าวนรเรศน์  และท้าวนรนารายณ์สี่ทหารเสือคู่พระทัย  นำกำลังเข้าต้านทัพญวนที่บุกทะลวงเข้ามาจนถึงกลางใจเมือง  ท้าวท่อนแก้วอุปราชเห็นเหลือกำลังต้าน  รับสั่งให้ไพร่พลสู้พลางถอยพลาง  โดยพระองค์เป็นกำลังระวังหลังให้ไพร่พลได้ลงเรือข้ามไปตั้งหลักใหม่ทางฝั่งตรงข้าม  พวกญวนตามตีไม่ลดละ  แม้ในขณะที่ท้าวท่อนแก้วอุปราชไสช้างขึ้นไปลอยลำ  พอพ้นฝั่งพวกญวนที่ตามมาทันก็พากันไปโห่ร้องอื้ออึงจนช้างทรงตกใจขยับตัวให้แพเกิดพลิกค่ำ  ท้าวท่อนแก้วสิ้นพระชนม์ไปพร้อมกับช้างและไพร่พลในกระแสแม่น้ำโขง

                          ส่วนท้าวแท่นคำอนุชาเมื่อพาพระราชบิดาและพระราชวงศ์ไปพักอยู่ที่เมืองเชียงคานพ้นจากการรุกรานทั้งปวง  จึงรวบรวมกำลังยกเป็นทัพเรือขึ้นไปตีเมืองกลับคืนจากพวกญวน  ได้ปะทะกับเรือของพวกญวนซึ่งมีบัวขวางชุนกับเนิกกองที่ปากน้ำพูน  ฝ่ายพวกญวนแตกพ่ายด้วยไม่สันทัดทางน้ำ  ท้าวแท่นคำเห็นได้ทีนำพลขึ้นฝั่งติดตามตีทัพญวนไปจนถึงเมืองบัวชุมในเขตของพวกญวน  กองทัพทั้งสองยังไม่ทันเข้าปะทะกันก็บังเกิดเหตุอัศจรรย์  ฟ้าได้ผ่าลงที่กองทัพญวน  เป็นเหตุให้บัวขวางกับเนิกกองและไพร่พลต้องล้มตายเป็นจำนานมาก  ศึกญวนจึงได้สิ้นสุดลง

                          พระเจ้าชัยพรรดิ์แผ่นแผ้วทรงประทับ  ณ  เมืองเชียงคานเป็นปกติสุขไปจนพระชนมายุได้  ๖๕  พรรษาจึงสวรรคตในปี  พ.ศ.๒๐๒๐  ท้าวแท่นคำอุปราชราชโอรสผู้แกล้วกล้า  ซึ่งเป็นอนุชาท้าวท่อนแก้ว  ได้ขึ้นครองราชย์สมบัติสืบต่อมาทรงพระนามว่าพระเจ้าสุวรรณบัลลังก์  ครั้นได้ถวายพระเพลิงพระบรมศพหระราชบิดา  สร้างวัดศพเชียงคาน  สร้างเจดีย์บรรจุบรมชนกเสร็จเรียบร้อยแล้ว  จึงเสด็จแปรพระราชฐานขึ้นไปประทับที่เมืองเชียงทอง

                          อนึ่ง  ซัดศพเชียงคาน  ปัจจุบันเรียกวัดผาฮด  อยู่ทางฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงเขตเมืองสานะคามหรือเมืองเชียงคานเดิม  ภายในอุโบสถมีแผ่นหินประหลาดแผ่นหนึ่งผุดขึ้นมาจากพื้นดินมีความสูงราว  ๑๒  เมตร  ฐานกว้างประมาณ  ๘  เมตร  และหนา  ๖๐  เซนติเมตร  ซึ่งชาวบ้านเรียกผาฮดและก่อนหน้าที่พระเจ้าสุวรรณบัลลังก์จะเสด็จแปรพระราชฐานไปประทับอยู่ที่เมืองเชียงทอง  โปรดเกล้าฯให้ท้าวของอนุชาเป็นอุปราชไปครองเมืองซ้าย  ทรงสร้างพระพุทธรูปก่ออิฐถือปูนประทับยืนอยู่สูงประมาณ  ๑๐  เมตร  พระหัตถ์ทั้งสองประสานไว้ใต้พระนาภีโปรดเกล้าฯให้สลักผาหินเป็นเรือนแก้วครอบองค์  เป็นการสร้างพระพุทธรูปถวายพระราชบิดาที่แปลกแตกต่างไปจากปางอื่นๆ

                          ต่อมาใน  พ.ศ.  ๒๒๕๔  อาณาจักรล้านช้างแยกออกเป็นอาณาเขตไม่สามารถดำรงความเป็นเอกราชได้  ชาวเมืองเชียงคานบางส่วนได้อพยพไปตั้งบ้านเรือนอยู่บริเวณทางฝั่งซ้ายแม่น้ำเหือง (ปัจจุบัน  บ้านบุ่งคล้า  แขวงไชยบุรี  สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว)  แล้วพากันนำทองคำมาหลอมเป็นม้าทองคำหนึ่งตัว  พร้อมกับทำพิธีปลุกเสกสาปแช่ง  โดยมีวัตถุประสงค์ป้องกันเอาไว้  ถ้ามีใครมีความโลภเจตนาหวังจะมาฉกชิงบุกรุกทำร้ายเอาม้าทองคำไป  ก็ขอให้จงประสบเหตุนานัปการ  แล้วนำไปเก็บรักษาไว้บนยอดภูเขาสูงและทำลายแทงเอาไว้  อยู่ต่อมาเมื่อความได้ล่วงรู้ไปจนถึงพวกจีนฮ่อ  จึงรวบรวมสมัครพรรคพวกบุกรุกเข้ามาจับหัวหน้าหมู่บ้านปากเหืองไปขู่เข็ญบังคับให้บอกที่ซ่อนม้าทองคำ  ด้วยความโลภ  พอเห็นม้าทองคำพวกฮ่อทุกคนพากันเข้าไปฉุดลากโยกคลอนจนสุดความสามารถแม้จะใช้ม้าดึง  ม้าทองคำตัวเล็กๆก็ไม่ขยับเขยื้อนแต่ประการใด  ด้วยความโกรธหัวหน้าจีนฮ่อจึงใช้ขวานฟันขาม้าทองคำมาได้หนึ่งขานำลงมาจากยอดเขา  ให้ชาวบ้านสร้างแพเพื่อจะได้ล่องลงไปตามลำน้ำเหืองออกแม่น้ำโขงกลับไปยังบ้านเมืองของตนไม่ฟังคำทัดทานร้องขอจากชาวบ้านปากเหือง  เมื่อสร้างแพเสร็จ  พวกจีนฮ่อได้นำขาม้าทองคำและคณะพร้อมม้าต่างลงแพออกเดินทางทันที  เพียงแต่ใช้ไม้ถ่อค้ำให้แพลอยห่างจากฝั่ง  ปรากฏว่าพวกฮ่อทั้งนายและบ่าวเกิดกระหายน้ำ  ต่างพากันก้มตักน้ำเหืองดื่มกิน  เกิดท้องระบายอย่างรุนแรงจนต้องเสียชีวิตไปทั้งหมดไม่มีเหลือแม้กระทั่งสัตว์เลี้ยง  ฝ่ายพวกชาวบ้านที่ตืดตามไปห่างๆเห็นเหตุการณ์จนหมดสิ้น  เมื่อได้นำขาม้าทองคำกลับคืน  ได้เผาศพพวกฮ่อและสร้างศาลให้วิญญาณของพวกฮ่อได้มีที่อยู่อาศัย  เรียกศาลเจ้าพ่อปากเหือง  อยู่ทางฝั่งขวาปากแม่น้ำเหืองกลายเป็นวิญญาณศักสิทธิ์คอยอนุบาลดูแลชาวบ้านมาจนถึงกระทั่งทุกวันนี้

                          ครั้นถึงปี  พ.ศ.๒๔๓๖  เมื่อฝรั่งเศสเข้ายึดครองดินแดนฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงทั้งหมดชาวเมืองเชียงคานจึงพากันอพยพไปอยู่ที่เมืองปากเหือง  แต่ไม่ได้ไปตั้งบ้านเรือนรวมกันอยู่ในที่เดิมด้วยเห็นว่า  พื้นที่เดิมคับแคบไม่เพียงพอต่อผู้คนที่อพยพเข้ามาอยู่เพิ่มเติม  จึงพากันออกไปตั้งบ้านเรือนอยู่ทางฝั่งซ้ายปากแม่น้ำเหืองที่ไหลลงสู่แม่น้ำโขง  เรียกถิ่นฐานใหม่ของพวกตนว่า  เมืองปากเหือง  (ปัจจุบันคือบ้านเวินคำ  สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว)  และเรียกเมืองปากเหืองเดิมว่าเมืองปากเหืองโบราณ  ครั้นอยู่ต่อมาจึงเปลี่ยนเรียกเป็นเมืองเชียงคานใหม่  เมื่อได้พิจารณาเห็นฝรั่งเศสได้ติดตามมาครอบครองบริเวณแขวงไชยบุรีซึ่งอยู่ทางฝั่งขวาของแม่น้ำโขงและอยู่เยื้องเมืองเชียงคานเดิมลงไปตามลำแม่น้ำโขงประมาณกิลเมตรเศษ  ได้เปลี่ยนเรียกเมืองใหม่เชียงคาน  สร้างศาลาว่าการเมือง  (วิหารวัดมหาธาตุ)  เรียกศาลเมืองใหม่เชียงคาน  สร้างหอโฮงการหรือจวนเจ้าเมืองอยู่ห่างจากศาลเมืองใหม่เชียงคานขึ้นไปตามลำน้ำประมาณ  ๗๐๐  เมตร  สมัยรัตนโกสินทร์เชียงคานโอนการปกครองมาขึ้นกับเมืองเลยในมณฑลอุดรตามหนังสือที่  ๓๑/๒๒๒๔  วันที่  ๕  มิถุนายน  พ.ศ.๒๔๕๔  (ร.ศ.๑๓๐)

หมายเลขบันทึก: 450260เขียนเมื่อ 21 กรกฎาคม 2011 14:24 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 13:49 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

อ้ายข้อยคือหล่อคักแท้..

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท