ฟังแสงแล้วมาดูเสียง


วิทยาศาสตร์สามารถสร้างคุณสมบัติจำลองซึ่งไม่มีในหลายๆสิ่งได้

ไม่ผิดหรอกครับ "ฟังแสงแล้วมาดูเสียง" จริงๆ ท่านผู้อ่านคงอาจจะนึกว่าผมเกิดเพี้ยนอะไรขึ้นมาถึงได้มาชักชวนให้ดูให้ฟังอะไรที่มันออกจะผิดธรรมชาติ หรือว่าติดตามดูการเมืองมากเกินไปสติสตังจึงเลยเถิดเตลิดเปิดเปิงไป

ที่จริงมันเป็นเรื่องของธรรมชาติที่สามารถอธิบายได้ด้วยหลักการทางวิทยาศาสตร์นี่เอง เพียงแต่อาจจะต้องมีการจัดการโดยใช้เครื่องไม้เครื่องมือที่สลับซับซ้อนสักหน่อย วัตถุประสงค์ก็คงไม่ใช่เพียงแค่ให้เกิดความแปลกพิสดารอะไรเท่านั้น แต่จะต้องสามารถนำไปใช้ประโยชน์ในชีวิตประจำวัน หรือเพื่อการพัฒนาคุณภาพของสิ่งประดิษฐ์ เครื่องใช้ไม้สอย หรือเครื่องไม้เครื่องมือที่จะก่อให้เกิดความสะดวกสบายของมวลมนุษย์อย่างเราๆ ท่านๆนี่แหละครับ

ธรรมดาเรื่องของแสงและเสียงเราทุกคนคงรู้จักดี และสัมผัสกับมันอยู่ตลอดเวลา สามารถรับรู้ได้รอบๆตัว สิ่งที่เป็นคุณสมบัติที่เรารู้จักมาตั้งแต่เกิดโดยไม่ต้องผ่านความรู้ทางวิทยาศาสตร์เลยก็คือ เราจะมองเห็นแสงด้วยการดู และได้ยินเสียงจากการฟัง แต่เราไม่เคยเห็นเสียง หรือได้ยินแสงมาก่อนเลย

ความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์ทำให้เรารู้จักคุณสมบัติของทั้งเสียงและแสง เรารู้ว่าเสียงเป็นคลื่น เกิดจากการสั่นสะเทือนและต้องเดินทางผ่านตัวกลาง ความเร็วในการเดินทางของมันในตัวกลางแต่ละตัวก็จะแตกต่างกัน จากคุณสมบัตินี้เราอาจจะพอสังเกตุได้ด้วยตัวเองว่า เราอาจจะเคยเห็นเสียงเช่นจากการสั่นของลำโพงขยายเสียงหรือระรอกพริ้วบนผิวน้ำที่นิ่งสนิท แต่มันก็ไม่ชัดเจนจนสามารถที่จะจำกัดความได้ว่านั่นคือรูปร่างของเสียงที่ตาเรามองเห็นได้

เช่นเดียวกันในขณะที่เรามองดูแสง ไม่ว่าจะเป็นแสงสว่างรำไรจากไส้เทียน แสงจากหลอดไฟ จากดวงอาทิตย์ เราก็ไม่เคยได้ยินเสียงของมันเลย แม้บางครั้งที่ได้เห็นแสงวาบอันเจิดจ้าของปรากฏการณ์ฟ้าแลบ ฟ้าผ่าที่อยู่ไม่ห่างมากนักเราจะได้ยินเสียงระเบิดตูมตามน่ากลัว แต่เมื่อเราวิเคราะห์ดูจากคุณสมบัติของแสงและเสียงแล้วลองมาสังเกตุดูปรากฏการณ์ของฟ้าร้องฟ้าผ่าที่อยู่ห่างออกไป เพิ่มมิติของระยะทางและเวลาเข้าไป เราก็จะพบว่าเราเห็นแสงทันทีที่เกิดเหตุการณ์แต่ก็จะไม่ได้ยินเสียงของมัน และเมื่อเวลาผ่านไปเราได้ยินเสียงซึ่งเพิ่งจะเดินทางมาถึงและก็จะไม่มีแสงให้เห็นอีกแล้ว

ดูเหมือนมนุษย์จะไม่พึงพอใจนักกับการสัมผัสได้เพียงบางส่วนของสิ่งที่ค้นพบ เราต้องการที่จะจัดการกับทุกสิ่งที่เรารู้จัก ต้องการนำมันมาใช้ประโยชน์ ในเมื่อตัวของมันมีคุณสมบัติที่จับต้องได้เพียงบางด้าน มนุษย์จำเป็นต้องเพิ่มด้านอื่นๆให้(จัดให้) ก็เพียงเพื่อให้ตนเองสามารถนำมันมาบริหารจัดการให้ได้เป็นประโยชน์ตามความต้องการอย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุดนั่นเอง

การใช้แสงเป็นต้นกำเนิดเสียงที่ผมเคยรู้จักในยุคก่อนก็เห็นจะเป็นการบันทึกเสียงบนฟิล์มภาพยนตร์ที่เป็นแถบอ่านด้วยแสงที่เรียกว่า Optical Synthesis ซึ่งใช้กันมาเกือบหนึ่งร้อยปีแล้ว รูปแบบก็คือเสียงที่ถูกบันทึกไว้บนแผ่นฟิล์มพร้อมกับภาพมีลักษณะเป็นแถบเล็กๆใกล้กับรูหนามเตย รูปร่างเหมือนเส้นกราฟติดๆกันให้แสงผ่านได้บ้างไม่ได้บ้าง แสงที่ผ่านจากหลอดไฟของเครื่องฉายภาพยนตร์จะผ่านแถบนี้ไปกระทบตัวรับทำให้เกิดความถี่คล้ายรหัสมอส จากนั้นตัวรับก็จะส่งรหัสเหล่านี้ไปแปลงเป็นเสียงออกมาอีกทีหนึ่ง ซึ่งแม้เวลาจะผ่านมาหลายสิบปีแล้วผมเองก็ยังทึ่งเทคโนโลยีแบบนี้อยู่เลย
http://www.umatic.nl/tonewheels_historical.html

Sound on films

หลายปีมาแล้ว(เกินสามสิบปี) ผมเคยดูภาพยนตร์แนววิทยาศาสตร์จำไม่ได้แล้วว่าเรื่องอะไรและเมื่อไหร่ ในเรื่องมีนักดนตรีในยุคอนาคตกำลังบรรเลงเพลงจากเครื่องดนตรีที่เรียกว่าฮาร์พ(Harp) แต่สายของมันเป็นลำแสงเล็กๆแทนที่จะเป็นสายของเครื่องดนตรีมาตรฐาน แต่ก็ทำให้เกิดเสียงดนตรีที่ไพเราะน่าฟัง ตอนนั้นเลเซอร์อาจจะยังอยู่ในห้องทดลองไม่ได้นำออกมาใช้เชิงพาณิชย์อย่างทุกวันนี้แต่เราก็คิดกันว่าจินตนาการอย่างนี้สามารถเกิดขึ้นได้จริงๆ และมันก็เป็นเช่นนั้น


Harp

ไม่นานมานี้ได้ไปค้นข้อมูลในอินเตอร์เน็ตเพื่อนำมาใช้ประกอบการเขียนบล็อก ไปพบกับสิ่งที่เรียกว่า Beamz มันเป็นผลิตภัณฑ์ที่ทำออกมาขายในลักษณะของเครื่องดนตรี แต่ก็เป็นกึ่งของเล่น อุปกรณ์การศึกษา และอุปกรณ์เพื่อการบำบัด ซึ่งในโฆษณาของผลิตภัณฑ์นี้มีโลโก้การได้รับรางวัลในด้านเหล่านี้แสดงไว้ด้วย

เมื่อดูจากวีดีโอ Youtube สิ่งที่เห็นก็คือมันเป็นเครื่องดนตรีที่สามารถปล่อยลำแสงขวางระหว่างช่องว่างของเสาที่มีความกว้างช่องว่าประมาณสองฟุต ลำแสงที่ปล่อยออกมาเป็นลำเลเซอร์สีแดงอย่างน้อยสี่ลำแสง ตัวเครื่องเล่นจะมีพอร์ตต่อกับเครื่องคอมพิวเตอร์ผ่าน USB และมีโปรแกรมสำหรับการควบคุมและปรับแต่งเสียง ผู้เล่นจะใช้สองมือเปล่าและนิ้วมือในการแตะไปบนเส้นแสงก็จะเกิดเป็นเสียงดนตรีรูปแบบต่างๆที่มีคุณภาพเสียงราวกับออกมาจากเครื่องเล่น synthesizer ของนักดนตรีมืออาชีพทีเดียว

..วันนี้มนุษย์สามารถได้ยินแสงจริงๆ..


Beamz http://thebeamz.com/


แล้วถ้าเป็นเรื่องของเสียงบ้างล่ะ นึกไม่ออกเหมือนกันครับว่าเคยเห็นรูปร่างของมันเมื่อไหร่ ? ตอนเด็กๆเรียนอยู่โรงเรียนวัด สมัยนั้นเขายังไม่มีเมรุเผาศพ มีแต่เชิงตะกอนซึ่งก็ต้องเอาไปไว้ท้ายวัดไกลๆโน่น แต่บังเอิญมันไปอยู่ใกล้โรงเรียน สมัยนั้นเขาจะเผาศพกันเย็นๆใกล้เวลาโรงเรียนเลิก ซึ่งนั่นก็ไม่สำคัญเท่าค่านิยมที่ต้องมีการจุดพลุเหมือนเป็นการส่งวิญญาณด้วยนี่แหละ ต้องบอกว่าพลุสมัยนั้นเขาเอาความดังเป็นหลักไม่ใช่ความโด่ง(ชนิดที่ไปแตกกลางอากาศเหมือนปัจจุบัน) เวลาจุดแต่ละทีเหมือนใครเอาระเบิดทีเอ็นทีสักครึ่งปอนด์มาจุดอยู่ข้างๆเสาอาคารเรียน เรียกได้ว่ากระจกขอบหน้าต่างสั่นจนแทบจะกระเด็นตกลงมาทีเดียว

ตอนที่เห็นกระจกมันสั่นเกรียวกราวแกว่งไปมานั่นทำให้คิดไปตามประสาเด็กๆเหมือนกันว่านี่คือรูปร่างของเสียงบึ้มเมื่อตะกี้หรือเปล่า ?

สิ่งที่ทำให้มีความรู้สึกเหมือนกับมองเห็นเสียงได้ครั้งแรกก็คือการได้เห็นมิเตอร์วัดที่เรียกว่า VU Meter บนหน้าปัดเครื่องเล่นเทปรีลแบบใช้หลอดยี่ห้อ Akai ที่คุณพ่ออุตสาห์ซื้อมาจากเวียดนามตอนไปรบแล้วโดนระเบิดเจ็บกลับมานอนรักษาเป็นปี ที่บอกว่าเหมือนกับเรามองเห็นเสียงก็เพราะเข็มมันจะกระดิกเปลี่ยนไปตามความแรงความเบาของเพลงที่เราได้ยินโดยเห็นความสัมพันธ์ของเข็มที่กระดิกไปกับเสียงที่ได้ยินชัดเจนนั่นเอง

VU meter

ในทางการทดลอง เราสามารถจับเอาเสียงแต่ละความถี่มา plot เป็นกราฟแล้วนำมาวิเคราะห์ได้ไม่ใช่เรื่องแปลก แต่การนำเอามาใช้ในบ้านเป็นส่วนตัวของทุกคนคงยุ่งยากพิลึก และก็ไม่เห็นความจำเป็นอันใด ผมก็เลยเห็นว่าการกระทำเพื่อให้เห็นองค์ประกอบของเสียงด้วยสายตาจึงไม่เป็นสาระอันใดสำหรับเราๆท่านๆแล้วก็ไม่ได้สนใจอะไรอีก

จนเมื่อสัปดาห์ที่แล้วนึกอยากจะอัพเดทบล็อกตัวเองใน G2K บ้างพอดีกำลังขุ่นๆอยู่กับเรื่องที่บรรดานายทุนทั้งหลายพยายามจะออกมาต่อต้านการขึ้นค่าแรง นั่นก็เป็นธรรมดาคนที่ได้รับผลกระทบจากกำไรที่เคยได้จนพุงปลิ้นมันจะต้องถูกลดทอนลงไปบ้างจึงออกมาขัดขวางนั้นพอฟังได้ แต่กับพวกสื่อ นักการเมือง หรือบรรดานักวิชาการทั้งหลายที่ออกมาขานรับกันเป็นขุนพลอยพยักมันไม่รู้จะอธิบายอย่างไรดี เพราะผมเริ่มงานหลังจบปริญญาตรีเมื่อเกือบสามสิบปีที่แล้วกับบริษัทเอกชน ก็พอมีพรรคพวกหลากหลายสาขายังไม่เคยเห็นบริษัทที่ไหนเจ๊งเพราะการขึ้นค่าแรงสักที แต่ที่เห็นเป็นสัจธรรมที่สุดก็คือทุนนิยมนั้นสามารถลดต้นทุนและเพิ่มกำไรได้ด้วยการกดขี่แรงงานนั่นแหละคือเรื่องจริง

ด้วยความที่อยากจะให้เรื่องที่จะเขียนมีสีสัน ก็เลยคิดที่จะหาเพลงเพื่อนำมาเป็น blackground เพราะในตลาดเพลงลูกทุ่งบ้านเรามีบทเพลงดีๆมีความหมายที่แต่งโดยครูเพลงคุณภาพ ร้องโดยนักร้องยอดนิยมอยู่มากพอสมควร ตั้งใจว่าจะเอาเพียงบางท่อนของแต่ละเพลงมาตัดต่อ ใส่ effect ให้ดูสะดุดหู เน้นความหมายของคนใช้แรงงานได้ครบถ้วนสมบูรณ์ทั้งๆที่ตัวเองไม่เคยทำมาก่อน ที่เคยทำมาบ้างก็เป็นเพียงการใช้โปรแกรม opensource อย่าง OpenShot ในการตัดต่อวีดีโอที่ถ่ายมาเองบ้างก็ยังถือว่ายังเป็นมือสมัครเล่นอยู่

หลังจากได้เลือกเพลงมาจนเป็นที่พอใจประมาณ 4-5 เพลงแล้วก็ต้องมาหาโปรแกรมสำหรับแต่งเสียงซึ่งเมื่อสืบค้นจากชุมชนชาวอูบุนตู(ผมใช้ Linux Ubuntu เป็นระบบปฏิบัติการ)ก็จะได้พบคำแนะนำมากมายในที่สุดก็ตัดสินใจเลือก Audacity ซึ่งสำหรับการติดตั้งผ่านนั้นง่ายมากเพราะ Ubuntu มีศูนย์ซอฟท์แวร์ให้ติดตั้งผ่านอินเตอร์เน็ตได้สะดวกมากๆแถมยังฟรีอีกด้วย

ขอนอกเรื่องนิดนะครับ เพราะบางทีอาจจะสงสัยว่าทำไมผมจึงชอบใช้ระบบปฏิบัติการลินุ๊กซ์ บอกตรงๆครับว่าผมเองเบื่อที่จะต้องรบกับไวรัส เมื่อมาใช้ลินุกซ์ผมไม่ต้องคอยระแวงเรื่องพวกนี้อีกเลย อีกอย่างลินุ๊กซ์ปัจจุบันใช้งานง่ายมาก เผลอๆง่ายกว่าวินโดว์สด้วยซ้ำไปสามารถติดตั้งคู่กับวินโดว์สได้ ที่สำคัญเราสามารถติดตั้งโปรแกรมใช้งานในด้านต่างๆทุกเรื่องได้หลายพันโปรแกรมฟรีๆ ที่จริงยังมีอีกมากครับวันหลังคงทยอยเอามาบอกเล่ากัน ตอนนี้ถ้าใครอยากศึกษาก็ลองเข้าไปดูที่นี่ครับ http://www.whylinuxisbetter.net/index_th.php?lang=th

จากที่ไม่เคยใช้โปรแกรมนี้มาก่อนเลยทำให้ต้องปลุกปล้ำทดลองใช้งานอยู่นานพอสมควร แต่จากการที่เคยใช้โปรแกรมตัดต่อวีดีโอ OpenShot มาก่อนการใช้งานทั้งสองโปรแกรมนี้ค่อนข้างมีอะไรที่คล้ายๆกันก็เลยพอที่จะถูไถทำไปได้จนสำเร็จซึ่งจากการที่ต้องจดจ้องอยู่กับมันนานๆจึงทำให้เกิดแรงบันดาลใจให้มาเขียนเรื่องนี้แหละครับ

Audacity ทำให้เรามองเห็นเสียงได้จริงๆครับ เพราะเมื่อเราเปิดไฟล์เพลงหรือไฟล์เสียงเพื่อทำการแก้ไข ตกแต่งเราจะเห็นภาพของเสียงเป็นรูปกราฟที่มีรายละเอียดชัดเจน เราสามารถจัดการกับเสียงผ่านเส้นกราฟเหล่านี้ได้ทันทีหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นการตัดแต่ง ตัดต่อ การลบบางส่วนออก การทำสำเนา การนำเข้าแหล่งเสียงจากอื่นๆ การใส่ effect ทำ fade in, fade out ฯลฯ เท่าที่เราจะจินตนาการแล้วนำมาส่งออกเป็นไฟล์เสียงรูปแบบต่างๆพร้อมที่จะนำไปเปิดฟังได้ทันที

Audacity

ที่ผมบอกว่าเราได้เห็นเสียงก็เพราะ เราสามารถที่จะบริหารจัดการกับเส้นกราฟที่มองเห็นด้วยตาเหล่านี้ได้ตามใจปรารถนา เมื่อเสร็จเรียบร้อยแล้วก็นำมาเปิดฟัง เสียงหรือเพลงที่ได้ก็จะเป็นไปตามที่เราตั้งใจทำมาอย่างที่ตาเห็นไม่ผิดเพี้ยนนั่นเองครับ

ผมสามารถทำไฟล์เพลงที่ตัดต่อด้วย Audacity ออกมาได้สำเร็จ ทดลองฟังดูก็รู้สึกว่าเข้าท่าดีเหมือนกัน พล็อตที่จะนำมาเขียนเรื่องของแรงงานที่ถูกกดขี่ก็มีอยู่แล้วแต่ปรากฏว่าผมไม่ได้เขียนบันทึกที่ว่านี่หรอกครับ

..เพราะเมื่อทบทวนดูแล้วเพลงที่อุตสาห์อดหลับอดนอนตัดต่อตกแต่งมานี่ อย่างไรเสียหากนำมาเผยแพร่ก็จะกลายเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้อื่นอยู่ดี ในที่สุดก็คงต้องเก็บเอาไว้อ่านเอาไว้ฟังเอง และมันก็เป็นอีกบันทึกหนึ่ง..

..ที่ไม่มีโอกาสได้เผยแพร่อีกเช่นกัน !

คำสำคัญ (Tags): #audacity#hear#light#see#sound#sound editor
หมายเลขบันทึก: 449980เขียนเมื่อ 19 กรกฎาคม 2011 23:26 น. ()แก้ไขเมื่อ 29 กันยายน 2013 23:23 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท