ตามปกติแล้วผู้เขียนไม่ชมละครทีวี เพราะหลายเหตุผล เหตุผลหนึ่งคือไม่ชอบเสียงกรี๊ดๆ แสบหูของผู้รับบทนางร้าย ก็ทำใจหลายครั้งแล้วว่า ละครก็คือละคร ต้องมีความโดดเด่น ร้ายต้องร้ายจนคนเกลียดไปทั่วเมือง ดีต้องดีจนหาคนดีแบบนั้นไม่ได้ในสังคมทั่วไป ต้องแยกแยะดีชั่ว นางเอกนางร้าย พระเอกผู้ร้ายให้ชัดเจน...(ว่าอย่างนั้น) ระยะหลังรู้สึกตัวเองเริ่มคุยกับสมาชิกในครอบครัวไม่ค่อยรู้เรื่อง จึงประนีประนอมด้วยการเลือกอ่านเรื่องย่อของละครในหนังสือพิมพ์ เพื่อเป็นหัวข้อสนทนากับสมาชิกในครอบครัว เลือกสุ่มๆ อ่านเรื่องย่อละครของช่อง 3 เรื่องพิมมาลา บทประพันธ์ของแก้วเก้า บทโทรทัศน์โดย เอกลิขิต อ่านวันแรกก็วันนี้ล่ะ .... ติดใจนะ อาจเพราะชอบอ่านและไม่ต้องฟังเสียงวี๊ด ๆ ดัง ๆ ที่ไม่ชอบก็ได้
อ่านแล้วก็ถึงกับอุทานว่า ... ใครว่านิยายไทยมีแต่น้ำเน่ายุงชุม ข้อคิดดี ๆ ก็มีนะ...
ยกข้อความที่ “พิมมาลา” สาวสวยซึ่งเป็นพระเอกของเรื่องถูกสาปให้กลายเป็นผู้หญิง เนื่องจากเจ้าชู้มาก (เนื้อหาคงต้องหาอ่านและติดตามกันเองนะคะ) ปลอบเพื่อนร่วมงานที่ผิดหวัง อกหักจากชายที่หมายปองอยู่ (เอ...สำหรับผู้หญิงเขาใช้ว่า หมายปองผู้ชายหรือเปล่าก็ไม่ทราบค่ะ) พิมมาลาซึ่งตัวจริงเป็นชายแต่อยู่ในร่างหญิงสาวบอกว่า
“...ฟังนะดา ดาจะคบกับใคร ดาต้องเรียนรู้สองข้อ ข้อแรก ดาต้องมีมากกว่าความสวยหรือความดี ดาต้องมีสิ่งที่ผู้ชายคนนั้นต้องการจริง ๆ ยกตัวอย่างเช่น ผู้ชายบางคนต้องการคู่คิด บางคนต้องการกำลังใจ ถ้าดาเป็นสิ่งเหล่านี้ให้เขาได้ เขาก็เลือกดา ข้อสองนะ ดาต้องรู้จักรักษาคุณค่าของตัวเอง พูดตรงๆ นะ ผู้ชายจีบผู้หญิงก็หวังมีอะไรด้วยทั้งนั้นแหละ ถ้าดายอมให้เขาสมใจง่ายๆ ดาก็ต้องเสียทั้งตัวเสียทั้งใจ วนซ้ำไปซ้ำมาอยู่แบบนี้...”
โห...หากสาวๆ ดูแล้วน่าจะได้ข้อคิดมากมาย เพราะนี่คือมุมมองของชายหนุ่ม ที่สาวๆ ทั้งหลายมักจะไม่ค่อยจะยอมรับความจริงกันนัก สังคมปัจจุบันใครทำตัวเป็นนางเอกหงิมๆ ก็จะถูกเรียกว่า “หนูโบ (ราณ)” ผู้ชายจริงๆ ดีๆ ยิ่งมีน้อยอยู่ด้วย ขืนไม่ต่อสู้ฟาดฟันด้วยวิธีการต่าง ๆ คงต้องอยู่หมู่บ้านคานทองฝังเพชรนิเวศน์แน่ๆ (ฮาาาาา)
ผู้เขียนมองว่า อะไรที่ได้มาง่ายๆ คนเรามักไม่ค่อยเห็นคุณค่า ดังนั้นใครที่ชอบอะไรง่าย ๆ เร็ว ๆ ก็คงเป็นคนง่าย ๆ เร็ว ๆ นั่นแหละ อยู่กันไปก็คงไม่ยั่งยืน ต้องปรับตัวกันหลายยก โชคดีก็ประนีประนอมยอมรับถอยคนละก้าว ทนๆ อยู่กันไป โชคไม่ดีก็ช้ำใจต้องเลิกรากัน สร้างปัญหาเพิ่มให้สังคมอีก...
ไม่ทราบจะสรุปอย่างไรดี จบดื้อ ๆ ตรงที่ว่า “ดูหนังดูละครแล้วย้อนดูตัว” จึงจะได้ประโยชน์ ไม่เสียเวลาก็แล้วกันนะคะ
บางครั้งการดูละครไทยก็ทำให้ได้คิดอะไรขำๆบางอย่างเหมือนกันนะ
เพราะพอเราจับผิดตรงนั้นตรงนี้ได้ ก็มานั่งวิจารณ์กันแล้วก็อดยิ้มไม่ได้
อย่างตอนนี้กำลังนั่งดู"เมียแต่ง" ไม่ได้ชอบเนื้อเรื่องหรอกนะแต่ชอบ "ตัวละคร"
ที่แสดงได้สมบทบาทมากโดยเฉพาะ"เรยา" ( อารยา)
จริงค่ะพี่กีร์...
ละครไทยนี่ตลกมาก ๆ เพราะเพื่อนต่างชาติบางคนที่ได้มาชม เขาสงสัยกันว่าทำไมตัวร้ายจึงกรี๊ดกันขนาดนี้ ขนาดฟังภาษาไทยไม่ออกเขาแค่ฟังสำเนียงและท่าทางในการพูดก็รู้แล้วใครเป็นคนดี คนร้าย... ซึ่งในชีวิตจริงก็ไม่เป็นเช่นนั้นเสมอไป
และสิ่งที่สังเกตเห็นชัดในหลาน ๆ เมื่อได้ดูละคร (ตามแม่ของเขา) ก็จะมีคำพูดและกิริยาบางอย่างคล้าย ๆ ตัวร้ายในละครด้วย... (ตัวดีไม่ยักจะตาม อาจเพราะไม่เด่นชัด) นะคะ ดังนั้นหากจะชมละครไทย ต้องมีผู้ใหญ่คอยให้ข้อคิดกับเด็ก ๆ ด้วยค่ะ
สวัสดีค่ะคุณ กิ่งไผ่ใบหลิว
เคยเป็นคนติดละครงอมแงมเลยค่ะ แต่เมื่อดูมาก ๆ เข้า ก็เกิดความเบื่อหน่ายจนเลิกดูไปเอง ประกอบกับมีภาระหน้าที่อื่น ๆ ด้วย แต่ชอบดูรายการตลก หรือละครตลก ๆ มากกว่าค่ะ
ละครนั้นเขาทำเป็นธุรกิจ ก็ย่อมจะต้องวิเคราะห์ตลาด อะไรที่คน(ส่วนใหญ่)ชอบ เขาก็ทำอย่างนั้น เราคงช่วยตรงนั้นไม่ได้ แต่ต้องให้ปัญญาในการชมกับเด็ก ๆ ของเรา เพราะเด็กจะยังมีวิจารณญาณน้อย ถูกปลูกฝังความคิดได้ง่ายค่ะ :)