ทางเลือก ของลุงบอ


ทางเลือก ของลุงบอ

                ทางเลือกของลุงบอ   

         ต้อนรับยามรุ่งอรุณเช้าวันฮารีรายอทุกคนแต่งตัวด้วยเสื้อผ้าตัวใหม่  สะอาด ดูสวยงามและเป็นเอกลักษณ์ของคนมุสลิมเพื่อให้เกียรติในวันสำคัญ  ทุกคนต่างออกจากบ้านไปปฏิบัติศาสนกิจด้วยความรู้สึกยินดี  สัมผัสได้ถึงรอยยิ้มที่เปล่งออกมาจากหัวใจที่เบิกบานและมีความสุข สมดั่งที่รอคอยหลังจากถือศิลอดครบ 1 เดือน วันนี้ทุกคนจะอิ่มท้องและอิ่มใจ  เฉลิมฉลองจัดเลี้ยงอาหารเกือบทุกหลังคาเรือนให้บุตรหลาน และมิตรสหายที่มาเยี่ยมเยียนได้ลิ้มรสชาติอาหารที่หลากหลายชนิด   มีโอกาสได้เรียนรู้วัฒนธรรมอาหารการกินของแต่ละชุมชน  ไปเยี่ยมเยียนญาติผู้ใหญ่ ลงบ้านนั้นขึ้นบ้านนี้  มีโอกาสได้เห็นภาพที่ประทับใจ และน่าจะเอาเป็นแบบอย่าง  

          หญิงสาววัยกลางคนแต่งกายชุดสุภาพ  ดูแล้วไม่ใช่ชุดวันฮารีรายอแน่  เพราะไม่ครบชุดการแต่งกายของมุสลีมะฮ์โดยเฉพาะวันนี้ (มุสลีมะฮ์คือผู้หญิงอิสลามตามหลักแล้วการแต่งกายต้องปกปิดอวัยวะของร่างกายให้มิดชิด ตั้งแต่ศรีษะจรดเท้า เปิดได้เฉพาะใบหน้า  และมือเท่านั้น)  เธอเดินยิ้มมาแต่ไกลท่าทางเป็นมิตร  สะพายกระเป๋าสีดำ มืออีกข้างหนึ่งถือตะกร้าผลไม้สดๆเหมือนเก็บจากสวนในยามเช้าตรู่ ( ชุดของเยี่ยม ไม่ว่าจะให้กับผู้ป่วย หรือญาติผู้ใหญ่  มิตรสหาย เป็นมารยาททางสังคมของคนมุสลิมเพื่อแสดงให้เห็นถึงน้ำใจโดยเฉพาะในวันฮารีรายอ)

        เมื่อย่างก้าวแรกสู่หน้าประตูบ้าน  “ อัสสลามูอาลัยกูม ” (สวัสดีทุกคน) คำทักทายของเธอพร้อมขออนุญาตเข้าไปในบ้าน  ถึงแม้สำเนียงฟังแล้วเพี้ยนบ้าง  เหมือนไม่ใช่เจ้าของภาษา  แต่แสดงให้เห็นถึงการยอมรับถึงวัฒนธรรมของชุนชนนั้นๆ   ทันใดนั้นก็ได้ยินเสียง “วาอาลัยกูมมุสสาลาม” ( สวัสดีเช่นกัน)เป็นคำตอบรับของคนในบ้านพร้อมอนุญาตให้เข้าบ้านได้  เธอเดินเข้าไปในบ้านแล้วยื่นมือสลามทุกคน (การทักทายแล้วยื่นมือสลาม เป็นมารยาททางสังคมของคนมุสลิม คล้ายกับยกมือไหว้ผู้ใหญ่ของคนพุทธและกล่าวสวัสดี ) หลังจากนั้นเธอก็ได้รับการต้อนรับเป็นอย่างดี  บรรยากาศดูสนิทสนมและเป็นกันเอง   และแล้วสายตาเธอก็ได้กวาดมองที่มุมหนึ่งของบ้าน

           ชายไทยอิสลามวัย 70 ปีนอนบนเตียงมีเบาะรองดูนุ่มปูเตียงเรียบนอนสบาย ร่างกายสะอาด สูบผอม แขนขา 2 ข้างเริ่มลีบเล็ก เคลื่อนไหวร่างกายไม่ได้  มีสายยางทางจมูกสำหรับให้อาหารเหลว  สวมเสื้อผ้าสีขาวในชุดวันฮารีรายอ  สิ่งแวดล้อมภายในบ้านจัดเป็นระเบียบเรียบร้อย สะอาด เตียงนอนอยู่ใกล้หน้าต่าง ระบายอากาศได้ดี มองเห็นทิวทัศน์นอกบ้าน และสามารถมองเห็นผู้คนที่เดินผ่านเข้าออกภายในบ้านได้  ที่ฝาผนังด้านปลายเตียงมีนาฬิกาสามารถบอกเวลาที่กำลังเดินไปเรื่อยๆ  ตู้ข้างเตียงมีเครื่องมือแพทย์สำหรับประเมินอาการเบื้องต้น ปรอทวัดไข้  เครื่องวัดความดันโลหิตอัตโนมัติ จัดวางบนถาดเรียบร้อยพร้อมใช้งาน   อีกข้างหนึ่งของเตียงมีเครื่องดูดเสมหะชนิดไฟฟ้า มีสายยางสำหรับดูดเสมหะวางเรียงอยู่ข้างๆ 

       แววตาและสีหน้าของชายชราผู้นี้ดูสดชื้น อิ่มเอิบ ไม่มีวี่แววของความทุกข์ทรมาน แม้กระทั่งสีหน้าและแววตาที่แสดงให้เห็นถึงความเครียด วิตกกังวล หรืออาการเบื่อหน่ายจากผู้ดูแล   เมื่อมีผู้คนมาเยี่ยมชายชราความพยายามที่จะส่งเสียงพูด ทำให้เสียงเสมหะในลำคอดังขึ้นฟังเหมือนเสมหะจะเต็มคอ   ลูกสาวที่เฝ้าอยู่หัวข้างเตียงพูดขึ้นมา  “ อึ่อ ..ม!.....ได้เวลาดูดเสมหะแล้ว”  และแล้วเธอก็เตรียมเครื่องดูดเสมหะพร้อมอุปกรณ์ อย่างคล่องแคล่ว “พ่อ...อ้าปากน่ะ   ลูกจะดูดเสมหะให้” เธอดูดเสมหะ  อย่างเบามือและนุ่มนวล   “เสมหะออกเยอะเลย พ่อเจ็บไหม” แววตาที่ชายชราผู้นี้เหลือบมองลูกดูเหมือนอยากบอกว่าขอบใจ    “ น้อง...เก่งมากทำได้ดีทุกครั้งที่พี่ดู ประเมินอาการ...ก็เป็น” “เป็นงัยบ้างค่ะ....ลุงบอดูสบายขึ้นน่ะ.....”  เสียงหญิงสาวพูดพร้อมจับมือและยิ้มให้กำลังใจ

         ลูกชายคนโตที่นั่งอยู่ปลายเตียงเล่าให้ฟังว่า พ่อ( ลุงบอ)ป่วยเป็นโรคความดันโลหิตสูง ร่วมกับอัมพฤกษ์มาประมาณ 20 ปี รักษาตลอด ที่โรงพยาบาลใกล้บ้านบ้าง ที่คลินิกบ้างเป็นบางครั้ง  ช่วยเหลือตัวเองได้ดี  สามารถปฏิบัติกิจวัตรประจำวันได้ด้วยตนเอง   อาศัยอยู่กับครอบครัว   มีลูก 6 คน  ลูกๆทำงานทุกคนแต่งงานแยกครอบครัวแล้ว4 คน รายได้เพียงพอที่จะใช้จ่าย เพราะลูกๆส่งเสียให้ทุกเดือน 

         1 ปีให้หลังอาการของลุงบอเริ่มทรุดลง  แต่ยังสามารถปฏิบัติกิจวัติประจำวันได้ ลุกเดินต้องมีคนคอยพยุง พูดไม่ชัด พูดได้เป็นคำๆหรือวลีสั้นๆ ไม่สามารถพูดเป็นประโยคที่ซับซ้อนได้ ลุงบอได้รับการดูแลจากคนในครอบครัวอย่างใกล้ชิด  ทุกคนมีความหวังว่าวันหนึ่งอาการของลุงบอจะต้องดีขึ้น  ลุงบอคือร่มโพร่มไทรของคนในครอบครัว

          3 เดือนต่อมาอาการของลุงบอทรุดหนักอีกครัง   ลุงบอไม่รู้สึกตัวทำให้ทุกคนในครอบครัวครัวเริ่มมีอาการกลัวการสูญเสียบุคคลอันเป็นที่รัก  ความวุ่นวายโกลาหลจึงเกิดขึ้น   เมื่อรวบรวมสติได้จึงนำร่างของลุงบอขึ้นรถไปโรงพยาบาลใกล้บ้าน แพทย์มีแผนการรักษาใส่ท่อช่วยหายใจและพักรักษาตัวอยู่ในหอผู้ป่วยหนัก     3 วันผ่านไปลุงเริ่มรู้สึกตัวแต่อาการโดยทั่วไปยังไม่ดีขึนแพทย์มีแผนการรักษาเพิ่ม โดยให้ข้อมูลเกี่ยวการเจาะคอในผู้ป่วยที่ใส่ช่วยหายใจแล้วอาการไม่ดีขึน  ญาติ ทุกคนจึงพร้อมใจขอให้แพทย์เปลี่ยนแผนการรักษาแบบประคับประคองอาการ จึงได้พักรักษาต่ออีก 1 เดือนอาการของลุงบอก็ยังไม่ดีขึ้น  จึงขอกลับไปดูแลเองที่บ้าน  เพระไม่อยากเป็นเหมือนกรณี คนไข้ข้างเตียง  3เดือนแล้วที่จะต้องอยู่ในกรอบที่หอผู้ป่วยกำหนด สิ่งแวดล้อมในห้องเต็มไปด้วยเครื่องมือแพทย์ เจ้าหน้าที่ผลัดเวร หมุนเวียนมาดูแลทุกเตียงตามเวลา....... ส่วนญาติเองก็ต้องผลัดเวียนมาเยี่ยมตามเวลา.......เช่นกัน   

            ตามหลักอิสลามการที่ลูกหลานได้มีโอกาสดูแลบุพการีโดยเฉพาะเมื่ออยู่ในระยะสุดท้ายของชีวิตให้สามารถนำชีวิตที่เหลืออยู่สู่การตายในรูปแบบที่อิสลามกำหนด  ที่สำคัญคือก่อนสิ้นลมหายใจเฮือกสุดท้าย ได้กล่าว ซาฮาดะฮ์ ( ลาอีลาฮาอิลลัลเลาะฮ์ : เป็นการปฏิญาณตนไม่มีพระเจ้าอื่นใด นอกจากองค์อัลเลาะฮ์) และได้ฟังกุรอ่านซูเราะฮ์ยาซีนเพื่อให้ผู้ป่วยยอมรับการตายและจากไปอย่างสงบ(ซูเราะฮ์ยาซีน คือ บทหนึ่งของคัมภีร์อัลกุรอ่านที่ได้กล่าวถึงเรื่องราวความเป็นมาของมนุษย์และเชื่อมโยงถึงความตาย) การตายในลักษณะดังกล่าวเป็นความใฝ่ฝันของมุสลิมทุกคน  และเป็นหน้าที่ที่ถูกกำหนดโดยบทบาทของลูกที่พึงปฏิบัติต่อบุพการี และก็เป็นหน้าที่ของแพทย์พร้อมทีมสุขภาพที่เกี่ยวข้องเช่นเดียวกัน คือการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้าย   การรักษาผู้ป่วยตามแผนการรักษาแบบแพทย์แผนปัจจุบันในผู้ป่วยดังกล่าว   ความหวังเหมือนเดินอยู่บนเส้นด้าย จะยื้อชีวิตได้นานแค่ไหน ไม่มีใครบอกได้    ความทุกข์ทรมานและความกลัวจากเครื่องมือแพทย์ที่ทันสมัย  และการดูแลหลังการรักษาอย่างใกล้ชิดทุกคนต้องปฏิบัติตามกฎระเบียบอย่างเคร่งครัด    สามารถมองเห็นคุณภาพชีวิตจากนี้ไปโดยไม่ต้องสงสัยเลยว่าจะเป็นอย่างไร

          การตัดสินใจของ ลูกๆ ที่จะดูแลลุงบอเองที่บ้านซึ่งอยู่ในระยะสุดท้ายของชีวิตน่าจะเป็นอีกทางเลือกหนึ่งของการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้าย ผู้ป่วยได้รับการดูแลแบบองค์รวม สามารถมองเห็นคุณภาพชีวิตที่เหลืออยู่ได้อย่างสวยงาม  

  1. ความรู้สึกมีคุณค่าในตนเองทั้งตัวผู้ป่วยเองที่ได้มีโอกาสอยู่ท่ามกลางลูกหลานตลอดเวลา ไม่รู้สึกถูกทอดทิ้งให้อยู่อย่างโดดเดี่ยวเดียวดาย  สำหรับลูกหลานที่เป็นผู้ดูแลถือเป็นโอกาสดีได้มีโอกาสทำหน้าที่ของลูกที่ มีความกตัญญู รู้คุณดูแลบุพการีจนวาระสุดท้ายของชีวิต
  2. ไม่ต้องอยู่ภายใต้กฎระเบียบที่เคร่งครัด    ญาติ  มิตรสหายมาเยี่ยมให้กำลังใจได้ทุกเวลา  กำลังใจคือยาวิเศษ  
  3. ผู้ป่วยและญาติได้มีเวลาทบทวนบางอย่างที่ผ่านไปแล้ว   เวลาที่เหลือจะวางแผนอะไรต่อไป
  4. ญาติได้มีเวลาเตรียมตัว และเตรียมใจเผชิญกับการสูญเสียบุคคลอันเป็นที่รัก
  5. มีโอกาสปฏิบัติศาสนกิจที่จำเป็นในขณะนั้น
  6. ผู้ป่วยได้การดูแลความสุขสบายตามศักยภาพ
  7. ญาติมีความเชื่อมั่นในการดูแลผู้ป่วย จากการempowerment ของเจ้าที่ที่รับผิดชอบ
  8. ผู้ป่วยและญาติสามารถเข้าถึงบริการโดยไม่ต้องเดินมาถึงโรงพยาบาล

          ทั้งหมดนี้น่าจะเพียงพอสำหรับการดูแลผู้ป่วยป่วยในระยะสุดท้าย ผู้ป่วยสามารถตายจากไปอย่างสงบ และมีศักดิ์ศรี ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องได้รับความพึงพอใจ ความเศร้าโศกเสียใจหายไปพร้อมๆกับการจากไปของผู้ป่วย

 

รับความขอบคุณจากตึกผู้ป่วยใน โรงพยาบาลหนองจิก 

 

 

คำสำคัญ (Tags): #ลุงบอ
หมายเลขบันทึก: 449937เขียนเมื่อ 19 กรกฎาคม 2011 18:37 น. ()แก้ไขเมื่อ 4 สิงหาคม 2014 20:23 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

หายจากบันทึกไปหลายวันแวะมาให้ดอกไม้ก่อนแล้วจะกลับมาอ่านครับ

"แน่แท้เราเป็นกรรมสิทธฺ์ของพระเจ้า และยังพระประสงค์ของพระเจ้าที่เราจะต้องกลับไป"

ขอบคุณบันทึก การดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้าย

พนักงานเปลอาจไม่มีความรู้เรื่องการดูแลผู้ป่วยเท่าพยาบาล

แต่สัมผัสได้ถึงความรู้สึกของลุง บอที่มีคนมาดูแลเอาใจใส่ ทำให้รู้สึกมีคุณต่าในความเป็นมนุษย์

(หากไม่กลับมาอ่านคงเสียดายมากๆ)

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท