ฟื้นฟู-ฟื้นตัวผู้มีประสบการณ์จิตสังคม


นับเป็นครั้งแรกที่ผู้มีประสบการณ์จิตสังคม 7 ท่านร่วมพัฒนาโปรแกรมสุขภาพจิตสังคมได้น่าสนใจหลังแลกเปลี่ยนเรียนรู้กระบวนวิจัยและพัฒนาโปรแกรมทักษะชีวิตแก่ผู้ที่กำลังมีทุกขภาวะทางจิตสังคม

ดร.ป๊อป แนะนำกระบวนการวิจัยและพัฒนาโปรแกรมเพิ่มทักษะชีวิตสำหรับผู้ที่กำลังมีทุกขภาวะทางจิตสังคม เช่น จิตเภท ซึมเศร้า อารมณ์สองขั้ว เป็นต้น

งานนี้ต้องขอบคุณคุณกุ้ง ประธานชมรมเพื่อนไบโพลาร์ ที่แนะนำผู้ที่มีประสบการณ์จากจิตสังคมที่พร้อมจะช่วยเหลือเพื่อนๆ ที่กำลังต้องการพัฒนาทักษะชีวิตภายหลังเกิดทุกขภาวะทางจิตสังคม ซึ่งดร.ป๊อป ได้เรียนรู้ "ประสบการณ์การใช้ยา อาการข้างเคียงจากการใช้ยา การอบรมความรู้ในการจัดการอาการทางจิตแบบกลุ่มสมาชิกสมาคมสายใยครอบครัว สิ่งแวดล้อมเชิงบวกและลบในระบบการบำบัดฟื้นฟู ความต้องการฝึกทักษะในการทำงานและการได้งานทำ" พร้อมแทรกความรู้ในระบบการฟื้นฟูจิตสังคมสู่ระบบการฟื้นตัวให้เกิดพลังชีวิตในบริบท/สถานการณ์ในกิจกรรมการดำเนินชีวิตให้มีอิสระและความสุขมากที่สุด

ผลสัมฤทธิ์ที่ทีมงานผู้ประสบการณ์ทางจิตสังคม นำเสนอและแก้ไขเชิงเทคนิควิชาการจาก ดร.ป๊อป สรุปได้ดังนี้

โปรแกรมที่ 1: เน้น 8 สัปดาห์ในการเพิ่มความรู้ความเข้าใจและทักษะการใช้ยาในแต่ละบุคคล พร้อมเยี่ยมบ้านเพื่อให้กำลังใจและให้คำปรึกษาถึงการยอมรับอาการทางจิตที่ต้องบำบัดด้วยการใช้ยาอย่างต่อเนื่อง มีการประสานงานกับจิตแพทย์และผู้ดูแลในการ "ไม่บังคับ" แต่เตือน กระตุ้นให้คิด และติดตามวิธีการใช้ยาด้วยตัวผู้รับบริการเอง ตลอดจนเรียนรู้วิธีการจัดการผลข้างเคียงของการใช้ยา เช่น การใช้ยาหลอก/วิตามิน การออกกำลังกายเพื่อปรับสมดุลของระบบประสาทอัตโนมัติ การจัดการความล้า การทำสมาธิและประสาทการเคลื่อนไหว เป็นต้น ทั้งนี้อาการทางจิตน่าจะลดลงในระยะเวลาที่ใช้ยาอย่างต่อเนื่องนาน 2 เดือน-1 ปี

โปรแกรมที่ 2: เน้น 6 สัปดาห์ในการเพิ่มทักษะทางสังคม ได้แก่ การฝึกภาวะผู้นำ การฝึกพูดในที่สาธารณะ การฝึกทำงานเป็นทีม ผ่านการบำบัดด้วยกิจกรรม (Activities Therapy) จากดนตรี-กวี-ศิลปะ-สื่อบันเทิง-กีฬาและนันนทนาการ โดยเน้นกลุ่มเป้าหมายที่เหมาะสม (ผู้รับบริการและครอบครัว) มาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ถึงทัศนคติเชิงบวกในการทำความดีเพื่อพัฒนาตนเองและช่วยเหลือผู้อื่น ในรูปแบบการทำกิจกรรมเชิงสร้างสรรค์ในชุมชน กิจกรรมการแสดงบทบาทสมมติ กิจกรรมการทำอาหารที่หลากหลายและแข่งขันมีรางวัลอย่างเหมาะสม เป็นต้น

โปรแกรมที่ 3: เน้น 8 สัปดาห์ในการเพิ่มทักษะการทำงาน โดยเน้นสัมภาษณ์และปรับความคิดให้เกิดความสนใจในงานที่เคยทำในอดีต ที่อยากทำในปัจจุบัน และวางแผนที่จะทำงานในอนาคต มีการประสานงานฝึกงานในสถานที่จำลอง-สถานที่จริง ซึ่งมีการติดต่อแบบเครือข่ายกับแหล่งการฝึกงาน เพื่อวิเคราะห์และสังเคราะห์ขั้นตอนในการทำงานอย่างเหมาะสม การจัดแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างผู้ฝึกงานและผู้สอนงานเป็นกลุ่มอย่างน้อย 4 ครั้ง พร้อมมีการประเมินและติดตามผลของทักษะการทำงานจากนักกิจกรรมบำบัดหรือผู้เชี่ยวชาญด้านการเตรียมความพร้อมในการประกอบอาชีพ และมีการช่วยเหลือให้เกิดการว่าจ้างงานในหลายรูปแบบ เช่น งานช่าง งานออฟฟิต งานขาย งานอาสาสมัคร ฯลฯ

โปรแกรมที่ 4: เน้นการเยี่ยมบ้านเพื่อนไบโพลาร์ ไม่เกิน 3 ครั้ง โดยความถี่ตามความเหมาะสมของแต่ละบุคคล และ/หรือความจำเป็นในการประเมินและให้คำปรึกษาในรูปแบบการพัฒนาความสุขทางการรู้คิดและการมีชีวิตชีวาทางจิตสังคม (Spiritual Well-being) ได้แก่ รูปแบบ-ความชอบ-ความมุ่งมั่นในการออกกำลังกาย/การทำงานบ้าน อุปนิสัยและการดัดแปรโภชนการที่จำเป็นในแต่ละบุคคล การสงวนพลังงาน-การฝึกจิตประสาท-การจัดการความล้า (ส่งปรึกษานักกิจกรรมบำบัด) และการควบคุมอารมณ์และการแสดงความคิดสร้างสรรค์

นับว่าเป็นการคิดโปรแกรมจากผู้มีประสบการณ์จากจิตสังคมที่มีจิตอาสาในการช่วยเหลือเพื่อนที่มีความต้องการพัฒนาทักษะชีวิต ที่ต่อยอดจากกระบวนการฟื้นฟูสมรรถภาพในสถานพยาบาลที่ยังไม่เป็นสหวิชาชีพในปัจจุบันและไม่มีกระบวนการฟื้นฟูพลังชีวิต (ฟื้นตัว) อย่างเหมาะสม ซึ่งการฟื้นฟู-การฟื้นตัวนี้ควรมีการดัดแปรทักษะชีวิตในสิ่งแวดล้อมของบ้านและชุมชนจริง พร้อมมุ่งเน้นการฝึกทักษะชีวิตการทำงาน-การใช้เวลาว่างที่สมดุล เช่น การปรับรูปแบบทักษะชีวิตบนหอผู้ป่วยมาเป็น Housing Employment/Club House โดยไม่มีบุคลากรทางการแพทย์ไปจัดการวางรูปแบบการฝึกผู้รับบริการมากจนเกินไป ควรเน้น "ฝึกการรู้คิดเพื่อการพัฒนาชีวิตของตนเองด้วยกระบวนการในธรรมชาติของการดำเนินชีวิตที่มีความสุข แม้ว่าอาการทางจิตสังคมจะไม่ฟื้นตัวสมบูรณ์ร้อยเปอร์เซ็นต์ก็ตาม"      

หมายเลขบันทึก: 449848เขียนเมื่อ 19 กรกฎาคม 2011 08:54 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 มิถุนายน 2012 10:25 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท