มูลนิธิเพื่อนไร้พรมแดน
มูลนิธิเพื่อนไร้พรมแดน มูลนิธิเพื่อนไร้พรมแดน

สรุปผลการศึกษาการนำเสนอภาพผู้ลี้ภัยโดยสื่อมวลชนไทย ระหว่าง 1 เมษายน 2553 - 30 เมษายน 2554


มูลนิธิเพื่อนไร้พรมแดนได้ศึกษาการนำเสนอภาพผู้ลี้ภัยโดยสื่อมวลชนภาษาไทย เพื่อประเมินการรับรู้และทัศนคติของสื่อมวลชนไทยต่อผู้ลี้ภัย

 

มูลนิธิเพื่อนไร้พรมแดนได้ศึกษาการนำเสนอภาพผู้ลี้ภัยโดยสื่อมวลชนภาษาไทย เพื่อประเมินการรับรู้และทัศนคติของสื่อมวลชนไทยต่อผู้ลี้ภัย แนวโน้มการรับรู้ของสาธารณชนผู้รับสื่อ และแนวทางพัฒนาการทำงานร่วมกับสื่อมวลชนไทยในการส่งเสริมทัศนคติที่ดีของประชาชนไทยต่อผู้ลี้ภัยต่อไป

 คำว่า “ผู้ลี้ภัย” (refugee) ในการศึกษานี้ อิงจากนิยามในอนุสัญญาว่าด้วยสถานภาพผู้ลี้ภัย (1951) และพิธีสารต่อท้าย 1967 อนุสัญญาองค์การเอกภาพอัฟริกัน และปฏิญญาคาร์ทาฮีนา ซึ่งเป็นเครื่องมือระดับสากลในการให้ความคุ้มครองผู้ลี้ภัย กล่าวโดยรวมคือ ผู้ลี้ภัยในการศึกษานี้ หมายถึง บุคคลที่หนีจากประเทศตนไปยังอีกประเทศหนึ่ง ด้วยความหวาดกลัวภัยการประหัตประหาร และรวมถึงผู้ที่หนีจากภัยคุกคามถึงชีวิตอันมาจากเหตุการณ์ไม่สงบหรือการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างกว้างขวาง โดยสื่อไม่จำเป็นต้องใช้คำเรียกกลุ่มคนนี้ว่า “ผู้ลี้ภัย” อีกทั้งสื่อและรัฐไทยก็อาจไม่ได้ยอมรับว่าคนกลุ่มนี้เป็นผู้ลี้ภัยเลยก็ได้ นอกจากนี้ ในการศึกษายังรวมถึง “ผู้แสวงหาการลี้ภัย” (asylum seeker) และ “ผู้ที่มีแนวโน้มว่าจะเป็นผู้ลี้ภัย” (prima facie) ซึ่งหมายถึงผู้ที่ขอลี้ภัยโดยกล่าวว่าตนมีเหตุที่จำเป็นต้องลี้ภัยในประเทศอื่น โดยที่ยังไม่ได้มีการพิสูจน์ทราบข้อเท็จจริงไว้ด้วย

 โครงการ “แอบมองสื่อ” ได้ศึกษาเจาะประเด็นผู้ลี้ภัยในระยะเวลา 13 เดือน โดยได้ศึกษาสื่อบางรายตลอดช่วงเวลาดังกล่าว และบางรายในเพียงช่วงระยะเวลาหนึ่ง โดยคณะทำงานได้คำนวณผลการศึกษาเป็นสัดส่วนร้อยละเพื่อให้นำมาเปรียบเทียบกันได้ ทั้งนี้ สื่อมวลชนที่ได้รับการติดตามศึกษา ได้แก่

 

1. สื่อกระแสหลัก ได้แก่ หนังสือพิมพ์รายวันระดับประเทศ คือ ไทยรัฐ มติชน ตลอด 13 เดือน และหนังสือพิมพ์ผู้จัดการ ASTV (1ก.ย. 53-30 เม.ย.54), หนังสือพิมพ์รายวันท้องถิ่น คือ เชียงใหม่นิวส์ (1 เม.ย. - 31 ส.ค. 53) ไทยนิวส์ (1ก.ย.53 -30 เม.ย.54) และวารสารข่าวรายสัปดาห์ คือ เนชั่นรายสัปดาห์และมติชนรายสัปดาห์ ตลอด 13 เดือน

2. สื่อทางเลือก คือ เว็บไซท์ข่าวประชาไท ตลอด 13 เดือน

 

 

 สรุปข้อค้นพบจากการศึกษา ได้ดังนี้ 

 

 1. การให้พื้นที่สื่อต่อผู้ลี้ภัย

 เบื้องต้นพบว่า วารสารข่าวเนชั่นรายสัปดาห์มีสัดส่วนการนำเสนอบทความเกี่ยวกับผู้ลี้ภัยมากที่สุด (0.16 บทความต่อเล่ม) โดยหนังสือพิมพ์ไทยรัฐเป็นสื่อที่ให้พื้นที่ข่าวแก่ผู้ลี้ภัยรองลงมาคือ 0.12 ข่าวต่อฉบับ/วัน ทั้งนี้ หนังสือพิมพ์ท้องถิ่นของจังหวัดเชียงใหม่ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีผู้ลี้ภัยทั้งในและนอกค่ายพักพิงชั่วคราว กลับนำเสนอเรื่องราวผู้ลี้ภัยน้อยมากคือ 0.03ข่าวต่อวัน และไม่มีการนำเสนอเรื่องราวของผู้ลี้ภัยในพื้นที่พักพิงต.เปียงหลวง อ.เวียงแหงเลยตลอด 13 เดือน ในขณะที่มติชนรายสัปดาห์ไม่พื้นที่ให้แก่ผู้ลี้ภัยเลย

 สำหรับสื่อทางเลือกที่ศึกษาคือเว็บไซท์ข่าวประชาไท พบบทความเกี่ยวกับผู้ลี้ภัย 28 ครั้งจากจำนวน 396 วัน ซึ่งลักษณะของเว็บไซท์สำนักข่าวทางเลือกจะไม่สามารถนำมาเปรียบเทียบเชิงสัดส่วนกับหนังสือพิมพ์รายวันได้ เนื่องจากเว็บไซท์ไม่ได้เปลี่ยนหน้าข่าวทั้งหมดทุกวัน หากโดยปกติจะขึ้นข่าวใหม่เพียงวันละ 1- 4 ข่าว และข่าวหนึ่งจะขึ้นอยู่เป็นเวลานานหลายวัน

 

 เมื่อเปรียบเทียบการนำเสนอเรื่องราวของผู้ลี้ภัยและแรงงานข้ามชาติแล้ว ผู้ลี้ภัยได้รับการนำเสนอในสื่อเป็นสัดส่วนน้อยกว่าแรงงานข้ามชาติถึงราว 1 ต่อ 5 อีกทั้งในเนื้อหาที่นำเสนอนั้น เกือบร้อยละ 30  (29.40) เป็นการนำเสนอเรื่องราวอื่น ๆ เช่นสงคราม การเมือง โดยแตะประเด็นผู้ลี้ภัยอยู่เพียงเล็กน้อยหรือเพียงประโยคเดียว ไม่ได้นำเสนอเรื่องผู้ลี้ภัยโดยตรงนอกจากนี้ การนำเสนอส่วนใหญ่ยังเป็นรูปแบบข่าวทั่วไปโดยเฉพาะข่าวสั้น โดยมีที่เป็นสารคดีหรือบทความเชิงลึกที่จะให้รายละเอียดแก่ผู้อ่านน้อยกว่ากันมาก บทความลักษณะนี้ส่วนใหญ่จะอยู่ในสื่อทางเลือกคือเว็บไซท์ข่าวประชาไท และรองลงมาคือหนังสือพิมพ์มติชน บทความจำนวนไม่น้อยเขียนโดยองค์กรเอกชนหรือนักสิทธิมนุษยชนที่ทำงานด้านผู้ลี้ภัยเอง หรือเป็นการทำรายงานข่าวหรือจากการจัดกิจกรรมประชุมสัมมนา หรือเป็นการให้ข่าวขององค์กรเอกชนหรือนักสิทธิมนุษยชนที่ทำงานด้านผู้ลี้ภัย 

 

 อย่างไรก็ดี ในช่วงที่ผ่านมา ผู้ลี้ภัยได้โอกาสขึ้นข่าวหน้าหนึ่งอยู่บ่อยครั้งเป็นปรากฏการณ์ โดยทั้งหมดเป็นกรณีการหลั่งไหลของผู้ลี้ภัยเหลักพันหมื่นจากเหตุการณ์สู้รบในฝั่งพม่าหลังการเลือกตั้งพม่าเมื่อพฤศจิกายน 2553

 

 

แผนภูมิวงกลมที่ 1 ประเภทพื้นที่ในการนำเสนอเรื่องราวผู้ลี้ภัย

 

 จากผลการศึกษาด้านการให้พื้นที่สื่อแก่ผู้ลี้ภัย ประเมินได้ว่าสาธารณชนผู้รับสื่อมีโอกาสรับรู้ว่ามีผู้ลี้ภัยอยู่ในสังคมไทยน้อยมาก โดยจะรับรู้แต่การอพยพหลั่งไหลเข้ามาจากเหตุสงครามเป็นหลักเพราะเป็นข่าวหน้าหนึ่งที่ได้พื้นที่เด่น นอกจากนี้จะมีโอกาสได้รับทราบหรือเข้าใจผู้ลี้ภัยในเชิงลึกไม่มากนัก เนื่องจากพื้นที่ส่วนใหญ่จะเป็นข่าวสั้น ๆ ที่ไม่ให้รายละเอียดใด ๆ แต่ผู้เสพข่าวจากสำนักข่าวทางเลือกเช่น ประชาไท จะมีโอกาสได้รับรู้ข้อมูลเชิงลึกได้มากกว่า

 

 2. ผู้ลี้ภัยในสื่อ 

 

 เมื่อพิจารณาตัวตนของผู้ลี้ภัยที่ได้รับการนำเสนอในสื่อโดยแบ่งตามประเทศต้นทางแล้ว พบว่า ผู้ลี้ภัยจากพม่าได้รับการนำเสนอมากที่สุด รองลงมาได้แก่ผู้ลี้ภัยจากเกาหลีเหนือ ลาว จีน และอื่น ๆ เช่น บังคลาเทศ ปากีสถาน กัมพูชา เป็นต้น โดยในกรณีกัมพูชาจะเป็นการกล่าวถึงผู้ลี้ภัยในอดีต และในกรณีนอกเหนือจากพม่าและกัมพูชา สื่อมักไม่ได้นำเสนอว่าบุคคลดังกล่าวเป็นผู้ลี้ภัย หากเป็นข่าวการถูกจับกุมข้อหาเข้าเมืองผิดกฎหมายเท่านั้น 

 

 

แผนภูมิวงกลมที่ 2 ประเทศต้นทางของผู้ลี้ภัย

 

 เมื่อพิจารณาว่าสื่อได้นำเสนอผู้ลี้ภัยกลุ่มใดบ้างในประเทศไทย พบว่าสื่อจะนำเสนอผู้ลี้ภัยในพื้นที่พักพิงของกระทรวงมหาดไทย รวมถึงพื้นที่พักพิงชั่วคราวในชุมชนชายแดนที่มีเจ้าหน้าที่ทหารมาดูแลในช่วงสั้น ๆ เป็นหลัก กรณีผู้ที่อยู่นอกพื้นที่พักพิงในเขตเมืองและในชุมชนทั่วไปมักเป็นข่าวที่คนเหล่านั้นถูกจับกุมในข้อหาเข้าเมืองผิดกฎหมาย และไม่ได้ระบุหรือชี้ให้เห็นว่าคนดังกล่าวเป็นผู้ลี้ภัย เพียงแต่อาจมีรายละเอียดว่าบุคคลในข่าวให้การว่าเดินทางเข้าประเทศไทยด้วยเหตุอะไร หรือไม่ได้กล่าวถึงเลยแต่ในการศึกษานี้ได้นับรวมไว้ เพราะถือว่าเป็นผู้ที่แสวงหาการลี้ภัยหรือเป็นกลุ่มที่มีแนวโน้มว่าจะลี้ภัย เช่น ชาวเกาหลีเหนือ แม้จะยังไม่ได้มีการพิสูจน์ทราบข้อเท็จจริงว่าเป็นผู้ลี้ภัยหรือไม่ก็ตาม

 นอกจากนี้ สื่อยังได้กล่าวถึงผู้ลี้ภัยที่คืนถิ่นฐานแล้ว หรือไปตั้งถิ่นฐานใหม่ในประเทศที่สามแล้วอยู่บ้าง ซึ่งหากมิใช่เป็นผู้ลี้ภัยที่เคยอยู่ในพื้นที่พักพิงแล้ว สื่อก็จะไม่เรียกบุคคลหรือกลุ่มคนดังกล่าวว่าเป็นอดีตผู้ลี้ภัย หากมองเป็นประเด็นชนกลุ่มน้อยในไทย เช่น กลุ่มลาวอพยพที่ปัจจุบันถือบัตรประจำตัวชนกลุ่มน้อย เป็นต้น

 

 การพิจารณาตัวตนของผู้ลี้ภัยที่ได้รับการนำเสนอ ยังเรวมถึงการพิจารณาเนื้อหาที่สื่อนำเสนอเรื่องราวผู้ลี้ภัยด้วย ซึ่งพบว่า สื่อจะนำเสนอผู้ลี้ภัยในเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับการอพยพลี้ภัยและการส่งกลับมากที่สุด รองลงมาจะเป็นเรื่องราวสงครามและการเมืองซึ่งมีเรื่องของผู้ลี้ภัยเป็นส่วนประกอบเล็ก ๆ และการให้ความคุ้มครองสิทธิ กฎหมาย นโยบาย ตามลำดับ โดยผู้ลี้ภัยได้รับการนำเสนอในเนื้อหาด้านสังคม วัฒนธรรม เศรษฐกิจ การศึกษา น้อยมาก เช่น ข่าวการเตรียมงานปีใหม่ชาวกะเหรี่ยงที่ผู้ลี้ภัยในพื้นที่พักพิงไม่สามารถมาร่วมงานได้ หรือข่าวไข้หวัดใหญ่ระบาดในพื้นที่พักพิง เป็นต้น 

 

 

แผนภูมิวงกลมที่ 3 แสดงกลุ่มผู้ลี้ภัยที่ได้รับการนำเสนอ

 

 

แผนภูมิวงกลมที่ 4 ประเภทเนื้อหาที่ผู้ลี้ภัยได้รับการนำเสนอ

 

 ที่น่าสังเกตก็คือ เว็บไซท์ข่าวประชาไทซึ่งเป็นสำนักข่าวทางเลือกได้ให้ความสำคัญต่อประเด็นการให้ความคุ้มครองสิทธิและนโยบายมากถึงร้อยละ 42.86 และไม่ได้นำเสนอผู้ลี้ภัยในเนื้อหาประเภทอาชญากรรมเลย ต่างจากสื่อกระแสหลักซึ่งนำเสนอเรื่องราวการให้ความคุ้มครองสิทธิเพียงร้อยละ 16.93 และนำเสนอผู้ลี้ภัยในเนื้อหาเชิงอาชญากรรมไว้ร้อยละ 13.71 โดยมักเป็นข่าวคดีเข้าเมืองผิดกฎหมาย และหนังสือพิมพ์มติชนเป็นสื่อกระแสหลักที่นำเสนอผู้ลี้ภัยในแง่มุมเกี่ยวข้องกับการให้ความคุ้มครองและสิทธิมากที่สุด ประเด็นการคุ้มครองสิทธิและนโยบายนี้ ส่วนใหญ่จะมาจากการให้ข่าว เขียนบทความ หรือจัดกิจกรรมโดยองค์กรเอกชนหรือนักกิจกรรมที่ทำงานด้านสิทธิผู้ลี้ภัย และเว็บไซท์สื่อทางเลือกจะมีพื้นที่เปิดให้บทความของผู้เขียนอื่น ๆ มากกว่า

 เมื่อพิจารณาบทบาทของผู้ลี้ภัยที่ได้รับการนำเสนอในสื่อ พบว่า ผู้ลี้ภัยได้รับการนำเสนอในฐานะเป็นผู้ถูกกระทำหรือได้รับผลกระทบมากที่สุด ซึ่งเมื่อพิจารณาเปรียบเทียบกับแรงงานข้ามชาติแล้วจะพบว่า ผู้ลี้ภัยจะได้รับการนำเสนอในแง่มุมนี้มากกว่าแรงงานข้ามชาติถึงราว 3 เท่า โดยแรงงานข้ามชาติจะได้รับการนำเสนอว่าเป็นผู้กระทำผิดมากกว่าผู้ลี้ภัยถึง 4 เท่า ผู้ลี้ภัยมักจะได้รับการนำเสนอว่ากระทำผิดในข้อหาหลบหนีเข้าเมือง ยาเสพติด และก่อความเดือดร้อนให้แก่ชุมชนรอบด้าน นอกจากนี้ ผู้ลี้ภัยยังได้รับการนำเสนอว่าเป็นผู้ที่ได้รับประโยชน์ในสัดส่วนใกล้เคียงกันกับการเป็นผู้กระทำผิด และไม่ได้รับการนำเสนอว่าเป็นผู้ทำประโยชน์เลย ในกรณีที่เป็นผู้ได้รับประโยชน์นั้น ส่วนหนึ่งจะเป็นการนำเสนอในเชิงลบ คือกล่าวว่าเป็นภาระ ซึ่งการนำเสนอว่าผู้ลี้ภัยเป็นภาระและก่อความเดือดร้อนให้แก่ชุมชนนั้น ทั้งหมดเป็นการโค้ตคำพูดของเจ้าหน้าที่รัฐฝ่ายต่าง ๆ รวมถึงหน้าประชาสัมพันธ์ของกระทรวงมหาดไทยที่ชี้แจงบทบาทหน้าที่ของตนต่อผู้ลี้ภัยด้วย

 จากผลการศึกษาในด้านตัวตนของผู้ลี้ภัยในสื่อ ประเมินได้ว่า สาธารณชนผู้รับสื่อจะรู้จักแต่กรณีผู้ลี้ภัยจากพม่าที่อยู่ในพื้นที่พักพิงที่มีเจ้าหน้าที่รัฐดูแลเป็นหลัก โดยจะไม่ได้รับรู้ว่ามีผู้ลี้ภัยอื่น ๆ อยู่ในสังคมไทยด้วย ในกรณีที่สื่อไม่ได้กล่าวว่าบุคคลดังกล่าวเป็นผู้ลี้ภัย หรือแม้แต่ใช้คำอื่นใดใกล้เคียง ผู้อ่านก็ย่อมไม่ได้ตระหนักถึงความเป็นคน “ลี้ภัย”​ ของบุคคลนั้น นอกจากนี้ แง่มุมที่จะได้รับรู้เรื่องราวของผู้ลี้ภัยจะเป็นเพียงกรณีการอพยพเข้ามา และเป็นแง่มุมที่มองผู้ลี้ภัยเป็นเหยื่อ ไปจนกระทั่งถึงเป็นผู้พึ่งพาและเป็นภาระเป็นหลัก โดยไม่ได้รับรู้เรื่องราวสภาพปัญหาอื่น ๆ หรือข้อมูลเชิงบวกมากนัก อย่างไรก็ดี ในช่วงที่ผ่านมา สาธารณชนอาจได้รับทราบถึงสาเหตุการอพยพมากขึ้น เนื่องจากมีข่าวการสู้รบในชายแดนพม่าที่เชื่อมโยงกับการหลั่งไหลของผู้คนเข้ามามากขึ้นกว่าก่อน

 

3. มุมมองและความเข้าใจของสื่อต่อผู้ลี้ภัย

 

 

 

 

แผนภูมิวงกลมที่ 5 แสดงการใช้คำเรียกผู้ลี้ภัยของสื่อกระแสหลัก

 

 

 

แผนภูมิวงกลมที่ 6 แสดงการใช้คำเรียกผู้ลี้ภัยของสื่อทางเลือก

 

 นอกจากความเข้าใจของสื่อต่อผู้ลี้ภัยจะได้สะท้อนให้เห็นผ่านการนำเสนอของสื่อที่มักไม่ได้นำเสนอภาพผู้ลี้ภัยนอกพื้นที่พักพิงว่าเป็นผู้ลี้ภัยแล้ว การใช้คำเรียกประชาชนที่ต้องหลบลี้หนีภัยจากประเทศตนไปยังประเทศอื่นก็นับว่ามีนัยยะแสดงถึงทัศนคติและความเข้าใจของผู้เรียกต่อคนกลุ่มนั้น รวมถึงความตระหนักต่อสิทธิมนุษยชนของคนกลุ่มดังกล่าวที่ได้รับการรับรองในระดับสากลด้วย

 จากการศึกษาพบว่า วารสารเนชั่นรายสัปดาห์และเว็บไซท์ประชาไทจะใช้คำว่า “ผู้ลี้ภัย” เป็นหลัก ซึ่งคำว่า “ผู้ลี้ภัย” นี้ เป็นคำที่ถอดมาจากเครื่องมือ/กฎหมายระหว่างประเทศที่ใช้คุ้มครองผู้ลี้ภัย และเป็นคำที่หน่วยงานรัฐจำนวนไม่น้อยปฏิเสธที่จะใช้เนื่องจากถือว่าเป็นคำที่มีนัยยะทางสิทธิที่จะได้รับความคุ้มครองต่าง ๆ พ่วงติดมา สำหรับสื่อกระแสหลัก มักใช้คำเรียกทั่ว ๆ ไป เช่น ผู้อพยพ ผู้พลัดถิ่น ผู้หนีภัย ผู้อพยพหนีภัย ฯลฯ เป็นหลัก และมีส่วนหนึ่งที่เรียกผู้ลี้ภัยว่า “ต่างด้าว” “ผู้หลบหนีเข้าเมือง” หรือกระทั่ง “ผู้หลบหนีเข้าเมืองจากการสู้รบ”ทั้งนี้ ไม่พบการใช้คำว่า “ต่างด้าว” ในสื่อทางเลือกเลย

 เมื่อพิจารณาทั้งสื่อทางเลือกและสื่อกระแสหลักรวมกัน จะพบว่า ส่วนใหญ่สื่อจะใช้คำว่าผู้อพยพ ผู้พลัดถิ่น ผู้หนีภัย ฯลฯ ซึ่งเป็นคำทั่ว ๆ ไปมากกว่า “ผู้ลี้ภัย” รองลงมาคือการไม่ระบุว่าเป็นคนกลุ่มใด โดยจะเล่าเนื้อหาที่มาของคนกลุ่มดังกล่าวเฉย ๆ และชี้ว่าเป็นชาวพม่า กะเหรี่ยง โสมแดง ฯลฯ และอีกส่วนที่ไม่มากนัก จะใช้คำว่า “ผู้หนีภัยจากการสู้รบ” ตามเอกสารทางการของรัฐไทยที่ตีกรอบไว้ว่าจะให้ความดูแลตามหลักมนุษยธรรมแก่ผู้หลบหนีการสู้รบเท่านั้น และผู้หลบหนีการสู้รบนั้นจะไม่มีสิทธิจะได้รับความคุ้มครองเทียบเท่าผู้ลี้ภัยตามหลักสากล โดยข่าวหรือบทความที่ใช้คำว่า “ผู้ลี้ภัย” มักเป็นโค้ตคำพูดขององค์กรเอกชนหรือนักสิทธิมนุษยชนที่ทำงานด้านผู้ลี้ภัย หรือเป็นบทความจากองค์กรเอกชนเอง

 ที่น่าสังเกตกรณีการใช้คำเรียกผู้ลี้ภัยก็คือ การไม่ใช้คำเรียกใด ๆ ที่มีอยู่ในสัดส่วนไม่น้อยนั้น มองในแง่มุมหนึ่งคือการไม่ตีตราหรือแปะป้ายกลุ่มคน คือ บอกว่าเป็นชาวพม่า ชาวกะเหรี่ยง ชาวโรฮิงญา เป็นต้น แต่อีกแง่มุมหนึ่งก็คือ ทำให้สาธารณชนผู้รับสื่อไม่ได้ตระหนักว่า มีเหตุการณ์การอพยพลี้ภัยและมีผู้ลี้ภัยในสังคมเรา นอกเหนือจากกลุ่มที่เป็นข่าวว่าหลบหนีภัยสงครามมาเป็นจำนวนมากเมื่อปลายปีก่อนถึงต้นปีนี้นั่นเอง

 

 

แผนภูมิวงกลมที่ 7 แสดงการใช้คำเรียกผู้ลี้ภัย

 

 

 

แผนภูมิวงกลมที่ 8 แสดงบทบาทของผู้ลี้ภัยในเรื่องราวในสื่อ

 

 สำหรับรูปแบบการใช้สำนวนภาษาในการนำเสนอนั้น พบว่าส่วนใหญ่แล้ว สื่อจะนำเสนอภาพผู้ลี้ภัยโดยใช้ภาษารายงานอย่างตรงไปตรงมา รองลงมาจะเป็นการนำเสนอโดยใช้สำนวนภาษาและเล่าเรื่องว่ากลุ่มเป้าหมายน่าเห็นใจ น่าสงสาร อย่างไรก็ดี มีการนำเสนอด้วยสำนวนภาษาในเชิงลบอยู่ด้วยไม่น้อย โดยมักเป็นการใช้ถ้อยคำที่ทำให้เกิดความรู้สึกรุนแรง ให้ความรู้สึกว่าผู้ลี้ภัยน่ากลัว เป็นภัยอันตราย หรือเป็นภาระ เช่น “เกาหลีเหนือทะลัก” “แบกรับไม่ไหว”  “ต่างด้าว” หรือการนำเสนอว่า “ทหารไทยเข้าควบคุมผู้ลี้ภัยชาวพม่าที่หลบหนีการสู้รบมา” เป็นต้น ซึ่งการใช้คำว่าควบคุม มีนัยยะว่ากลุ่มคนดังกล่าวต้องได้รับการ “ควบคุม” เพราะเป็นอันตรายหรืออาจก่อความวุ่นวาย อย่างไรก็ดี ที่น่าสนใจก็คือ เมื่อพิจารณาเปรียบเทียบระหว่างสื่อกระแสหลักและสื่อทางเลือกแล้ว ไม่พบสื่อทางเลือกนำเสนอผู้ลี้ภัยในรูปแบบการใช้สำนวนภาษาที่เป็นลบเลย

 

 

แผนภูมิวงกลมที่ 9 แสดงรูปแบบการใช้สำนวนภาษานำเสนอ

 

 เมื่อพิจารณาบริบทข้อมูลในการนำเสนอ ส่วนใหญ่ร้อยละ 91.1 สื่อจะนำเสนอข้อมูลได้ถูกต้อง หากมีกรณีข้อผิดพลาดซึ่งมาจากการขาดความเข้าใจในความอ่อนไหวของประเด็น โดยเฉพาะการเรียกผู้ลี้ภัยกลุ่มชาติพันธุ์ว่าเป็นชาวพม่าหรือคนพม่าทั้งหมด หรือการเรียกชื่อ UNHCR ผิดเป็นต้น นอกจากนี้ ยังมีสื่อที่ใช้คำว่า “ผู้ผลัดถิ่น” แทนที่จะเป็น “ผู้พลัดถิ่น” ทุกคำในบทความเดียวกัน และารนำเสนอข้อมูลผิดอันเนื่องจากการไม่เข้าใจสถานการณ์เช่น กล่าวว่าทหารกองกำลังกะเหรี่ยงอิสระ KNU ยึดคืนพื้นที่ตรงข้ามอำเภอสบเมย จังหวัดแม่ฮ่องสอนได้ ทำให้ผู้ลี้ภัยจากบ้านแม่โกนเกน อำเภอแม่สอด จังหวัดตากกลับไปเป็นต้น

 ที่น่าสังเกตคือ ความผิดพลาดของข่าวที่มาจากพาดหัวข่าวกับเรื่องไม่ตรงกัน เช่น พาดหัวว่า UNHCR ระบุปิดศูนย์อพยพ แต่ในเนื้อข่าวไม่ได้มีเนื้อหาดังกล่าว เป็นเพียงว่าตัวแทน UNHCR ตอบว่าตนไม่เกี่ยวข้องกับการที่รัฐบาลไทยกล่าวว่าจะปิดศูนย์ หรือพาดหัวข่าวว่าชาวบ้านกะเหรี่ยงไทยไม่พอใจผู้ลี้ภัย แต่ในตัวข่าวกลับเป็นการให้สัมภาษณ์ของชาวบ้านในท่วงทำนองเห็นอกเห็นใจและเข้าใจปัญหาของผู้ลี้ภัย ซึ่งกรณีนี้แสดงให้เห็นถึงทัศนคติของบุคลากรสื่อซึ่งเป็นผู้คิด “พาดหัว” ที่เป็นคนละคนกับผู้เขียนข่าวอย่างชัดเจน ทั้งนี้ ในสื่อทางเลือกจะไม่พบการให้บริบทข้อมูลที่ผิด

 จากผลการศึกษามุมมองและความเข้าใจของสื่อต่อผู้ลี้ภัย พบว่าสื่อมวลชนที่นำเสนอข่าวก็ยังขาดความเข้าใจในประเด็นผู้ลี้ภัย ขาดความอ่อนไหวของประเด็นหรือการใช้ชื่อเรียก จึงประเมินได้ว่า สาธารณชนผู้รับสื่อจะมีความคุ้นเคยกับคำว่าผู้ลี้ภัยและมีความเข้าใจในสิทธิผู้ลี้ภัยน้อยมากเช่นกัน เว้นแต่ผู้ที่ติดตามสื่อทางเลือก เช่น เว็บไซท์ข่าวประชาไท เป็นต้น นอกจากนี้ สื่อมวลชนบางส่วนยังมีทัศนคติเชิงลบต่อผู้ลี้ภัยอย่างชัดเจน และอาจส่งผ่านทัศนะด้านนี้ไปให้ผุ้อ่าน เช่น ทำให้ผู้อ่านรู้สึกถึงความเป็นอันตราย น่าหวาดระแวง เป็นต้น

 

 สรุปย่อผลการศึกษานี้ ยังไม่ได้รวมบทสุดท้าย อันว่าด้วยแนวทางการพัฒนาการทำงานขององค์กรเอกชนที่ทำงานด้านผู้ลี้ภัยต่อสื่อมวลชน ซึ่งจะมีอยู่ในรายงานฉบับเต็มของมูลนิธิเพื่อนไร้พรมแดน ซึ่งผู้สนใจสามารถติดต่อขอรับได้ทางอีเมล์ต่อไป

 

-----------

 
* คณะทำงาน “แอบมองสื่อ” ได้แก่จริยา คนซื่อ, เดชา น้อยมะลิวัน อนุสรณ์ แสงศร และพรสุข เกิดสว่าง ติดต่อขอรับข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ [email protected]
 

 

  

 

 

หมายเลขบันทึก: 449266เขียนเมื่อ 15 กรกฎาคม 2011 23:46 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 19:59 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท