ประวัติเมืองสงขลา (19) ปากบางเทพา


สถานีเทพาเคยเป็นสถานีสำคัญ เป็นที่พักเติมน้ำให้รถจักรไอน้ำ มีชานชาลาสำหรับขนสินค้าขึ้นตู้รถไฟ

นานๆ ครั้งผมจึงจะมีโอกาสได้นั่งรถไฟจากสถานีชุมทางหาดใหญ่ลงไปทางทิศใต้สู่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ปัตตานี ยะลาและนราธิวาส

อันที่จริง จะเรียกจังหวัดปัตตานีเป็นจังหวัดชายแดนก็ไม่ถูกต้องตามหลักภูมิศาสตร์ เพราะไม่ได้มีเขตจังหวัดติดต่อกับประเทศเพื่อนบ้านคือมาเลเซียแต่อย่างใด

ประเทศไทยของเรามีจังหวัดทางภาคใต้ที่มีเขตติดต่อกับมาเลเซีย 4 จังหวัดคือ สตูล สงขลา ยะลาและนราธิวาส แต่คำว่า 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ในที่นี้ หมายถึงลักษณะสังคม วัฒนธรรมและชีวิตความเป็นอยู่ของชาวบ้าน ที่ปัจจุบันนี้สถานการณ์ความรุนแรงหรือไฟใต้ทำให้เศรษฐกิจ การค้า การท่องเที่ยวซบเซาลงเป็นอย่างมาก

อำเภอเทพา เป็นอำเภอที่อยู่ทางด้านทิศตะวันออกสุดของจังหวัดสงขลา ไม่ว่าจะเดินทางด้วยรถยนต์ไปตามทางหลวงหมายเลข 43 หรือทางรถไฟสายชุมทางหาดใหญ่-สุไหงโกลก ก็จะผ่านอำเภอเทพาเป็นอำเภอสุดท้าย ก่อนเข้าสู่เขตจังหวัดปัตตานี

ทางรถไฟสร้างมาถึงเทพาเมื่อปี พ.ศ.2460 หรือกว่า 90 ปีมาแล้ว นำความเจริญมาสู่ชุมชนบริเวณบ้านท่าพรุและบ้านท่าม่วง ซึ่งอยู่สองฝั่งของคลองเทพา สายน้ำที่ไหลลงสู่อ่าวไทยที่ปากบางเทพา

เดิมทีนั้น ที่ว่าการอำเภอเทพาตั้งอยู่ที่บ้านพระพุทธ ใกล้ชายทะเล แต่เมื่อชุมชนใกล้ทางรถไฟและใกล้คลองเทพามีความเจริญพัฒนาขึ้น ราวปี 2475 จึงย้ายมาตั้งที่บ้านท่าพรุ ใกล้สถานีรถไฟเทพาดังที่เป็นอยู่ทุกวันนี้

สำหรับสถานีเทพา เดิมชาวบ้านเรียกกันว่าสถานีท่าม่วง และเปลี่ยนมาเรียกเทพาตามชื่ออำเภอในเวลาต่อมานั่นเอง

แม้ปัจจุบันการคมนาคมขนส่งมายังตลาดเทพาจะสะดวก มีให้เลือกทั้งทางรถไฟ รถโดยสารประจำทางและรถตู้ แต่เมื่อย้อนไปไม่กี่สิบปีก่อน ชาวบ้านยังอาศัยการขนส่งทางรถไฟและทางเรืออยู่

ครูเพิ่ม อุไร อดีตอาจารย์ใหญ่โรงเรียนบ้านเทพา วัย 70 ปี เคยเล่าให้ผมฟังว่า การเดินทางและขนส่งสินค้าในสมัยก่อน จะใช้เรือ ขึ้นล่องมาตามคลองเทพา มาเทียบท่าที่ริมคลอง สุดปลายถนนท่าเรือ ในเขตเทศบาลตำบลเทพาในปัจจุบัน จากนั้นก็ต้องขนขึ้นจากเรือไปยังสถานีรถไฟเทพา ที่อยู่ห่างออกไปไม่ไกล

สถานีเทพาเคยเป็นสถานีสำคัญ เป็นที่พักเติมน้ำให้รถจักรไอน้ำ มีชานชาลาสำหรับขนสินค้าขึ้นตู้รถไฟ

สิ่งที่เหลือให้เห็นร่องรอยของความรุ่งเรืองในอดีต คงเป็นชื่อถนนท่าเรือ และถังน้ำเก่าแก่กับรางที่สามสนิมเขรอะที่สถานี หมดยุคของรถจักรไอน้ำและการขนส่งสินค้าที่นี่ไปนานแล้ว

ผมซื้อข้าวแกงเขียวหวานกับไก่ทอดเทพา ผ่านทางหน้าต่างรถไฟไว้เป็นอาหารมื้อเที่ยง รถไฟเคลื่อนออกจากสถานีผ่านสะพานเหล็กโค้งข้ามคลองเทพา ข้ามมาแล้วเป็นเขตตำบลปากบาง ตำบลสุดท้ายก่อนเข้าสู่อำเภอโคกโพธิ์ จังหวัดปัตตานี

ระหว่างสถานีเทพากับสถานีปัตตานี(โคกโพธิ์) มีสถานีตาแปดคั่นอยู่เป็นสถานีสุดท้ายในเขตจังหวัดสงขลา หลักกิโลเมตรที่ 1,000 ตั้งอยู่ที่นี่ บ้านตาแปดเป็นหมู่บ้านเล็กๆ ของตำบลปากบาง มีวัด มีโรงเรียนอยู่ใกล้สถานีรถไฟ สถานีนี้ตั้งเพิ่มขึ้นมาในภายหลัง เพื่ออำนวยความสะดวกให้หมู่บ้านที่อยู่ห่างจากทางหลวง 43 ถึง 5 กิโลเมตร

รถไฟออกจากตาแปด มีผู้โดยสารขึ้นลงที่นี่เพียง 2-3 คน ข้ามคลองตาแปดก็เข้าเขตจังหวัดปัตตานีแล้ว

คำสำคัญ (Tags): #รถไฟ เทพา
หมายเลขบันทึก: 449186เขียนเมื่อ 15 กรกฎาคม 2011 13:54 น. ()แก้ไขเมื่อ 14 มิถุนายน 2016 06:38 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

อาจารย์ครับ ทายปัญหา ประลองเชาว์กันหน่อยครับ

อะไรเอ่ย

คลองศึกษา

ตาสองสี

ควนมีคม

ทราบแล้วตอบไม่มีรางวัลแต่เอาไปทายให้เด็กสังเกตุ ได้ครับ

บ้านผมเอง ถนนท่าเรือ เทพา จำได้ป่าว น้อง

และ มีบ้าน แอ๋ว สุภาพร บำรุงวงศ์ , บ้าน อ้น พงษ์เทพ พงษ์นุรักษ์ , บ้าน อารีย์ และ อุบล คงทอง , บ้าน ติ๋ม สุชาดา เดชอดิศัย , บ้าน อ๊อด นพพร ประสงค์จันทร์.....

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท