KM (แนวปฏิบัติ) วันละคำ : ๖๒๘. ใช้ KM เป็นเครื่องมือเรียนรู้ร่วมกันในทีมไทยไป WHA


          ผมไปร่วมการประชุม WHA 64 ดังได้เล่าไว้ที่นี่   ซึ่งการทำงานของทีมไทยมี KM Inside เต็มไปหมด  ดังได้เล่าไว้แล้ว   แต่ที่จะเล่าเพิ่มเป็นการใช้ AAR ในการสรุปงาน และสรุปการเรียนรู้ครั้งใหญ่ ในวันที่ ๒๖ มิ.ย. ๕๔

          การประชุม WHA 64 มีระหว่างวันที่ ๑๖ – ๒๔ พ.ค. ๕๔   แต่ผมกลับก่อน 

 
          บ่ายวันที่ ๒๑ พ.ค. ๕๔ ระหว่างนั่งรถลูกสาวกลับบ้านจากสนามบินสุวรรณภูมิ   ผมเปิด อี-เมล์ พบ อี-เมล์ ของ “ครูใหญ่” นพ. วิโรจน์ ตั้งเจริญเสถียร ถามวันที่เหมาะสมสำหรับการประชุมใหญ่ของทีมหลังจบงาน เพื่อทำ AAR   โดยระบุวันเสาร์ที่ ๒๕  หรืออาทิตย์ที่ ๒๖ หรือจันทร์ที่ ๒๗ มิ.ย.   ผมรีบตรวจสอบตารางนัดหมายของตนเอง   และตอบไปว่าถ้าจัดวันที่ ๒๖ ผมจะไปร่วมได้   ถ้าเป็นอีก ๒ วันที่เหลือ ผมติดนัดหมดแล้ว   ตกค่ำก็ได้รับข่าวว่ากำหนดเป็นวันที่ ๒๖

          การประชุม AAR ในวันที่ ๒๖ มิ.ย. ๕๔ จัดที่โรงแรม – ใช้เวลาค่อนวัน   นับเป็นครั้งแรกของทีม WHA ที่จัด AAR หลังจากไปทำงานจบสิ้นแล้ว 

          บรรยากาศของการประชุม เป็นการที่แต่ละคนเล่าว่าตนไปทำอะไร ได้เรียนรู้อะไร ประทับใจอะไร   เมื่อฟังตลอดรายการแล้วสามารถปะติดปะต่อภาพขององค์ประกอบของทีม การเตรียมตัวก่อนไป และการทำงานระหว่างประชุม ได้ดีมาก

          ผมสรุปปรากฏการณ์ของ Thai WHA Team ดังนี้

๑. เป็นเวทีเรียนรู้แบบ team learning, learning by doing เรื่อง international health policy   ซึ่งถ้ามีการจับประเด็น เอากลับมาตั้งคำถามว่า ประเทศไทยเราควรทำอะไรบ้างเพื่อให้เกิดพัฒนาการด้านนั้นๆ   และฝ่ายต่างๆ จะร่วมกันทำงานอย่างไรบ้าง   แล้วลงมือทำ   บ้านเมืองจะได้ประโยชน์มหาศาล


๒. เป็นกลไกเชื่อมโยงงานประจำของกรมต่างๆ ของกระทรวงสาธารณสุข เข้ากับงานพัฒนา โดยเฉพาะอย่างยิ่งส่วนที่เชื่อมโยงกับนานาชาติ   นี่ก็เช่นเดียวกัน เราเอาประเด็นสำคัญกลับมาพัฒนางานของเราได้มากมาย

 
๓. เป็นกลไกเชื่อมโยง sector ต่างๆ ของประเทศ   มาทำความเข้าใจนโยบายสุขภาพ  ปีนี้มีลักษณะพิเศษคือมีคนฝ่ายธุรกิจเอกชนเข้าร่วมด้วย   นพ. ศิริวัฒน์บอกว่าประเทศเกาหลีใต้ภาคเอกชนเข้ามามีบทบาทนโยบายสาธารณสุขระหว่างประเทศสูงมาก   ประเทศไทยเรายังมีช่องทางพัฒนาบทบาทของภาคธุรกิจเอกชน เพื่อประโยชน์สาธารณะ ได้อีกมาก


๔. ผมอยากเห็นภาควิชาการเข้าไปมีบทบาทมากกว่านี้   ผมรู้สึกว่าภาคอุดมศึกษาอ่อนแอในวิชาการด้าน international health  ความเข้มแข็งอยู่ที่กระทรวงสาธารณสุข เพราะมี IHPP และ HITAP   ความเข้มแข็งของ IHPP และ HITAP ทำให้มีบทบาทสูงในวงการนโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ   ทำให้เกิดสมดุลระหว่างนโยบาย pro-rich กับนโยบาย pro-poor


๕. ผมอยากเห็นว่า มีการหยิบยกประเด็นที่เคยเข้า WHA และมีกำหนดจะหมุนเวียนเข้าอีกในอนาคต  เอามาตั้งวงคิดโจทย์วิจัย   และมีคนรับไปทำรวมทั้งมีการจัดสรรทุนวิจัยตามความเหมาะสม   โดยที่โจทย์วิจัยมีมิติทั้งของโลก และของประเทศไทย   มีคณะกรรมการชี้ทิศทาง   มีเวทีนำเสนอผลโดยมี peer review ให้บริการ   ซึ่งในที่สุดจะทำให้ประเทศไทยมี international publication ด้านนี้เพิ่มขึ้น   เป็นกลไกสร้างนักวิชาการด้าน health policy อีกกลไกหนึ่ง   ผมไม่ทราบว่า IHPP ได้ดำเนินการแนวนี้หรือเปล่า


๖. ก่อนจบการประชุม ผมเสนอต่อที่ประชุมว่า ขอเสนอการบ้าน ที่เป็นโจทย์ AAR ข้อสุดท้าย   ให้แต่ละคนแจ้งสั้นๆ ว่าตนจะเอาความรู้ที่ได้จาก WHA 64 ไปทำอะไรบ้าง   เป็นการบ้านให้แจ้งมาภายใน ๑ สัปดาห์

 

 

วิจารณ์ พานิช
๑๒ ก.ค. ๕๔
 
          
         

คำสำคัญ (Tags): #540714#aar#km วันละคำ#WHA 64
หมายเลขบันทึก: 448960เขียนเมื่อ 14 กรกฎาคม 2011 09:30 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 13:48 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท