Liberal Mind ความสุขยิ่งใหญ่แห่งศตวรรษที่ 21


Liberal Mind จึงไม่ได้เป็นแค่ความเพ้อฝันของนักปฏิรูปเพียงหยิบมืออีกต่อไป หากแต่กำลังเริ่มก่อตัวเป็นความรู้สึกร่วมของคนส่วนใหญ่ ที่ต้องการเติมเต็มชีวิตให้มีคุณค่ามากกว่าการตอบสนองความต้องการพื้นฐานทางกายภาพเพียงอย่างเดียว ที่ไม่ต้องการเพียง “การเมืองแบบเลือกตั้ง” ซึ่งประชาชนมีเสรีภาพเพียงแค่ในเวลาหย่อนบัตรเท่านั้น

โดย เจริญชัย ไชยไพบูลย์วงศ์ (www.siamintelligence.com)

 

 

 

 


บุคคลแต่ละคนต้องการเสรีภาพเพื่อพัฒนาศักยภาพของตนเอง...หากไม่มีเสรีภาพ
จิตวิญญาณแห่งความเป็นมนุษย์ก็จะอ่อนแอ
วัฒนธรรมและศาสตร์ความรู้ต่างๆก็จะเสื่อมถอย
และเศรษฐกิจก็จะหยุดชะงัก
จิตวิญญาณแต่ละคนต้องการเสรีภาพเฉกเช่นร่างกายที่ต้องการอากาศเพื่อหายใจ

---มูลนิธิฟรีดริช เนามัน


ศตวรรษที่ 21
ยุคสมัยที่มั่งคั่งเพียบพร้อมไปด้วยความสะดวกสบายและสิ่งปรนเปรอหลากเหลือคณานับ
แต่ชีวิตประจำวันของมนุษย์กลับเต็มไปด้วยภาวะ
“ไร้สุข” นานัปการ
ห้วงอารมณ์ปั่นป่วนไปด้วยความเปลี่ยวเหงา
หงุดหงิด ฟุ้งซ่าน และขาดแคลน

 

ระบบเศรษฐกิจโลกได้ก้าวผ่านจากยุคเกษตรกรรมที่ทำให้มนุษย์หลุดพ้นจากความหิวโหย
มาสู่ยุคอุตสาหกรรมที่ทำให้ชีวิตสะดวกสบายหลุดพ้นจากการใช้แรงกายอันเหนื่อยหนัก
แต่ความปรารถนาก็ไม่ได้หยุดยั้งเพียงเท่านี้
มนุษย์ยังต้องการหลุดพ้นจากชีวิตประจำวันที่แสนซ้ำซากจำเจ

 

 

 

โรงงานอุตสาหกรรม”
ได้ปฏิวัติโลกด้วยการมอบสินค้าคุณภาพดี
ราคาประหยัดให้กับทุกชนชั้นได้เลือกใช้สรรหา
แต่ในขณะเดียวกันกระบวนการผลิตแบบเหมาโหลถูกกว่า
(Mass Production)  ก็เริ่มทำให้มนุษย์รู้สึกเบื่อหน่ายซ้ำซาก
และมุ่งแสวงหาความสดใหม่แปลกตาที่สะท้อนเอกลักษณ์เฉพาะตัวของผู้เป็นเจ้าของสินค้านั้น

 

การแสวงหา
“เอกลักษณ์” เฉพาะตัวจึงเป็นแนวโน้มใหม่
(Trend)
ของผู้คนในศตวรรษที่ 21
ซึ่งอิ่มล้นกับการเสพรับความสะดวกสบายแบบเหมาโหลถูกกว่า
(Mass Market) มาเป็นการแสวงหาสินค้าที่มีลักษณะเฉพาะตัว (Niche Market)
จนกระทั่งถึงสินค้าที่ผู้บริโภคสามารถมีส่วนร่วมในกระบวนการกำหนดรายละเอียดแบบส่วนตัวได้


Liberal Mind จึงเป็นความสุขใหม่ที่มนุษย์ในศตวรรษที่ 21
ร่ำร้องโหยหา
เพื่อปลดปล่อยชีวิตของพวกเขาให้หลุดพ้นจากความน่าเบื่อหน่ายไร้ตัวตนในทุกด้านของชีวิต
ตั้งแต่ระบบรัฐสภาแบบตัวแทนที่แปรความคิดเห็นของมนุษย์อันหลากหลายให้กลายเป็นเพียงตัวเลขคะแนนเสียงที่ไม่ได้บอกอะไรนอกจาก
0 และ 1
กระทั่งถึงการเสพรับข่าวสารจากสื่อกระแสหลักที่มุ่งยัดเยียดแต่ความตื่นเต้นบันเทิงซ้ำซาก
โดยไม่คำนึงถึงรสนิยมที่แตกต่างกันของผู้บริโภคแต่ละราย

 

แรงปรารถนาแห่งเสรีภาพ”
ในจิตใจที่ละเอียดอ่อนแตกต่างของมนุษยชาติเป็นสิ่งที่ฝังรากลึกอยู่ใน
DNA
แห่งเผ่าพันธุ์
แต่ตลอดประวัติศาสตร์ที่ผ่านมาได้ถูกกดทับจากความหวาดกลัวในห้วงยามหนาวเหน็บหิวโหย
และยังถูกเบียดบังโดยความเกียจคร้านที่จะเลือกเสพรับเฉพาะเพียงความสะดวกสบายเท่านั้น
อย่างไรก็ตาม
เมื่อมนุษย์อิ่มตัวกับอาหารและโทรทัศน์
ความปรารถนาแห่งเสรีภาพและตัวตนบนโลกใบนี้ก็เริ่มปะทุขึ้นมา
เพื่อยกระดับความสุขของมนุษยชาติให้ก้าวรุดหน้าต่อไป

 

ความนิยมที่พุ่งพรวดของ Social Media ดังเช่น
Facebook และ Twitter
ก็สะท้อนความต้องการแสดงออกซึ่งเสรีภาพทางความคิดและเอกลักษณ์เฉพาะตัวของมนุษย์แต่ละคน
แน่นอนว่า “ผู้มีชื่อเสียง
(Celeb)”
ย่อมได้รับความสนใจมากกว่าคนธรรมดา
แต่สิ่งที่ต่างไปจากหนังสือพิมพ์และโทรทัศน์ก็คือ
พื้นที่ในการแสดงออกซึ่งรสนิยมและเอกลักษณ์ของคนธรรมดา
ซึ่งแม้ว่าจะน้อยนิดและไม่ได้รับความสนใจจากสาธารณชนในวงกว้าง
แต่ก็ยังมีเครือข่ายเพื่อนฝูงที่คอยเฝ้าดูและแลกเปลี่ยนบทสนทนาซึ่งกันและกันอย่างแสนรื่นรมย์

 

จงทำในสิ่งที่รัก”
คือ คำขวัญและแรงบันดาลใจของหนุ่มสาวยุคใหม่
ที่ไม่เคยลำบากและปรารถนาความมั่นคงสบายของชีวิตดุจดั่งคนรุ่นพ่อแม่
โดยสังคมที่เปิดกว้างมากขึ้นได้มอบเสรีภาพให้มนุษย์ทุกคนสามารถเดินตามความฝันอย่างเต็มที่
อาชีพศิลปินที่ครั้งหนึ่งเคยได้รับฉายาว่า
“ไส้แห้ง”
ก็สามารถเปลี่ยนแปรจินตนาการให้กลายเป็นความมั่งคั่ง
ดังที่
Harry Potter
พ่อมดน้อยแสนซนได้ช่วยให้แม่ม่ายลูกติดที่ต้องรับเงินประกันสังคมพอยังชีพจากรัฐบาล
พลิกโฉมกลายเป็นเศรษฐีนีพันล้านไปในชั่วชีวิตเดียว

 

Liberal Mind จึงไม่ได้เป็นแค่ความเพ้อฝันของนักปฏิรูปเพียงหยิบมืออีกต่อไป
หากแต่กำลังเริ่มก่อตัวเป็นความรู้สึกร่วมของคนส่วนใหญ่
ที่ต้องการเติมเต็มชีวิตให้มีคุณค่ามากกว่าการตอบสนองความต้องการพื้นฐานทางกายภาพเพียงอย่างเดียว
ที่ไม่ต้องการเพียง
“การเมืองแบบเลือกตั้ง”
ซึ่งประชาชนมีเสรีภาพเพียงแค่ในเวลาหย่อนบัตรเท่านั้น
ที่ไม่โหยหา “ข่าวสาร”
ซึ่งผู้รับสารไม่สามารถมีปฏิสัมพันธ์และสื่อสารกลับไปได้
โดยความสุขของคนยุคนี้ไม่ได้อยู่ที่การได้รับสิ่งที่ถูกคัดเลือกบอกกล่าวว่าดีที่สุดอีกต่อไป
หากแต่เป็นความสุขล้ำลึกในการได้มีเสรีภาพที่จะเลือกและสร้างสรรค์สิ่งที่เหมาะสมสอดคล้องกับเอกลักษณ์รสนิยมของพวกเขาเอง


ในกรณีของประเทศไทย
ความเบื่อหน่ายระอาใจในการเมืองนั้น
ไม่ได้มาจากการแก่งแย่งผลประโยชน์ของผู้นำเพียงไม่กี่สิบคนเท่านั้น
หากแต่ยังเป็น “รูปแบบ”
ที่จำกัดของการมีส่วนร่วมในภาคประชาชน
ที่แม้จะเริ่มมีพลังจากนอกสภาไม่ว่าจะเป็นเสื้อเหลือง
เสื้อแดง และเสื้อหลากสี
แต่ก็ยังเต็มไปด้วยความสัมพันธ์ที่กดทับเสรีภาพของปัจเจกชน
นั่นคือ
การที่แกนนำหรือผู้อยู่เบื้องหลังเป็นผู้กำหนดเนื้อหาและการต่อสู้
โดยที่มวลชนส่วนใหญ่ไม่ได้มีส่วนร่วมในการสร้างสรรค์เลย

 

ยอดผู้ใช้ Twitter และ Facebook
ที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในห้วงวิกฤตการเมืองที่ผ่านมาย่อมสะท้อนให้เห็นเป็นอย่างดีว่า
คนไทยไม่ได้รังเกียจการเมืองโดยเนื้อหา
แต่เบื่อหน่ายรูปแบบที่ปิดกั้นเสรีภาพในการรับรู้และแสดงออกของพวกเขา
คนไทยโหยหาเสรีภาพในการรับรู้ข่าวสารจากแหล่งที่แตกต่างออกไปจากหนังสือพิมพ์และโทรทัศน์
คนไทยโหยหาเสรีภาพในการแสดงออกที่มากกว่าการเข้าร่วมชุมนุมกับสีเสื้อใดก็ตาม
คนไทยมีความสุขที่จะเสพรับและสื่อสารในช่องทางที่ตนเองรู้สึกว่าเป็นอิสระและมีเสรีภาพจากการแทรกแซงของทั้งรัฐบาลและแกนนำไม่ว่าสีใด

 

การเดินทางในการแสวงหา
“เสรีภาพทางใจ
(Liberal Mind)”
ของทั้งคนไทยและผู้คนจากทั่วทุกมุมโลกยังพึ่งเริ่มต้นและต้องฝ่าฟันอุปสรรคปัญหาอีกมากมาย
โดยเฉพาะจากความเคยชินในการแลกเปลี่ยนเสรีภาพกับความมั่นคงสะดวกสบายของชีวิต
แต่กระนั้น
แรงปรารถนาในใจมนุษย์ที่จะเสพรับความสุขจากเสรีภาพในทุกแง่มุมของชีวิตก็จะค่อยๆเบ่งบานขึ้น
ดุจดั่งความกล้าหาญของมนุษย์คนแรกที่ก้าวเท้าออกจากถ้ำที่ให้ความปลอดภัยแต่มืดมิดมาสูดดมแสงสว่างของเสรีภาพภายใต้ดวงตะวันอันร้อนแรง

 

หมายเลขบันทึก: 447596เขียนเมื่อ 5 กรกฎาคม 2011 16:15 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 13:48 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท