ต้องปฏิวัติ "การเรียนรู้" ในการจัดการความรู้


การเรียนแบบจำมาบอกต่อ หรือการจำเป็นตัวหนังสือ ท่องได้ทุกบรรทัดแบบนกแก้วนกขุนทอง ยังไม่พอที่จะนำไปสู่การเรียนรู้ และสามารถจัดการความรู้ได้

วันนี้ผมมีโอกาสทบทวนถึงสาเหตุที่ผมไม่สามารถจัดการความรู้ในบางเรื่องได้ ทั้งๆที่เรียนมาแล้ว บางเรื่องบางวิชา ผมทำคะแนนได้สูงระดับ A เสียด้วย

ถ้าทำคะแนนได้ขนาดนั้น แล้วยังไม่รู้ การได้ A จะมีประโยชน์อะไร ควรจะได้ F จึงจะเหมาะสมกว่า

ที่ผมทำได้ A แล้วยังไม่รู้ นั้น เท่าที่ทบทวนดู อาจจะมาจาก การท่องตัวหนังสือ และแผนผังต่างๆ จากหนังสือไปสอบ แล้วพอเห็นคำถาม ผมก็ลอกตัวหนังสือและแผนผังต่างๆ จากสมองลงไปบนกระดาษคำตอบ แล้วก็ได้ A โดยไม่รู้เรื่องอะไรเลย

บางทีแย่กว่านั้น

ผมใช้วิธีสร้างคำย่อให้ท่องจำง่ายๆ พอเข้าห้องสอบก็รีบจดคำย่อไว้บนกระดาษคำตอบ ถ้าเจอคำถาม ก็นำไปขยายเอาในข้อที่ตรงกับที่ท่องไว้

พอออกจากห้องสอบก็ลืมไปเลยว่าท่องอะไรไว้บ้าง แต่ก็ได้ A ในวิชานั้น

พอมาเรียนต่อเนื่อง ก็เริ่มต้นหาวิธีท่องจำใหม่ เพื่อจะนำไปตอบในข้อสอบในวิชาใหม่ ให้พอผ่านๆ แบบเดิมๆ ท่องจำมาก็ได้ A ท่องจำน้อย ก็ได้รองๆลงมา ไม่มีความรู้ ความเข้าใจ อีกเช่นเดิม

วิชาหรือกลุ่มวิชาใดที่ผมทำอย่างนั้น ผมแทบจะจำไม่ได้ว่าเรียนอะไรมาบ้างที่เกี่ยวกับเรื่องนั้นๆ

แต่ถ้าวิชาใด ผมเรียนแบบทำความเข้าใจ แม้จะจำรายละเอียดไม่ค่อยได้ แต่ก็ไม่เคยลืม พอมาเรียนต่อ ก็ต่อกับวิชาใหม่ได้เลย

แม้จะไม่ได้ A ผมก็ยังเข้าใจดีกว่า จำได้นานกว่า

เมื่อคิดไปคิดมา ผมจึงได้ประเด็นว่า

  • การเรียนแบบจำมาบอกต่อ หรือ
  • การจำเป็นตัวหนังสือไว้แค่พอสอบผ่าน
  • ท่องได้ทุกบรรทัด ทุกหน้า แบบนกแก้วนกขุนทอง หรือ
  • ท่องแบบบทสวดมนต์
    • ที่สวดมาเป็นร้อยรอบ ฟังมาพันครั้ง ก็ยังไม่รู้คำแปล หรือ
    • แม้แต่ความหมายรวมๆ ก็ยังไม่รู้
    • รู้แต่ว่าต้องฟังให้จบ สวดให้จบ ก็พอ
      • ไม่ต้องไปถามว่า สวดแล้วได้อะไร หรือ
      • เรียนรู้อะไรบ้างจากบทสวด และ
      • รู้ลึกซึ้งขนาดไหน อะไรน่านำไปใช้ อะไรต้องระวังบ้าง 
  • ยังไม่พอที่จะนำไปสู่การเรียนรู้ และสามารถจัดการความรู้ได้

เราอาจจำเป็นต้องปฏิวัติ "การเรียนรู้" ในการจัดการความรู้ โดยการทำความเข้าใจจึงจะมีความรู้พอที่จะนำไปจัดการความรู้ได้

แล้วเราจะเข้าใจได้อย่างไร

ก็คง

  • ต้องรู้จักสิ่งที่เรียนนั้นอย่าง "จริงๆ" แล้วนำสิ่งที่เรียนมาไปเทียบเคียงกับของจริง เห็นกลไกจริงๆ
  • สิ่งใดที่สามารถสัมผัสได้ด้วยตัวเอง รู้สึกได้ด้วยตัวเอง ก็ควรทำ เพื่อจะได้รู้ลึก รู้ซึ้ง เข้าใจง่าย จำง่าย ลืมยาก ผ่านไปสิบยี่สิบปีก็ยังไม่ลืม
  • ที่อาจเรียกว่า "เรียนผ่านประสบการณ์จริง" หรือ ใกล้เคียงที่สุดเท่าที่จะทำได้ หรือสัมผัสได้

มิเช่นนั้น

  • ก็คงได้แค่การท่องจำ ที่ไม่นานก็ลืม
  • แม้จะไม่ลืม ก็ไม่รู้เรื่อง ไม่เข้าใจ ว่าที่ว่ามาทั้งหมด หมายความว่าอย่างไร 
  • เพราะเป็นการเรียนและจำ แบบเป็น "ตัวหนังสือ"
  • แม้จะไม่ลืม ความรู้ที่ได้ ก็แค่ "ตัวหนังสือ" หาเป็น "ความรู้" จริงๆไม่

ดังนั้น ถ้าจะพัฒนาการเรียนรู้

อย่างน้อยที่สุด

  • จำเป็นต้องหาทางให้ผู้เรียนหนีไกลจากการเรียนเป็น "ตัวหนังสือ" ไปสู่การเรียนที่เข้าใจ "ความจริง" ที่เข้าใจได้ หรือ สัมผัสได้ เป็นเบื้องต้น
  • ต่อจากนั้นก็จะเป็นกระบวนการนำความรู้ไปปรับใช้ ที่จะทำให้เกิดความเข้าใจที่สามารถสรุปบทเรียนได้ว่าอะไดีไม่ดี มีเงื่อนไขประกอบอะไรบ้าง
  • การประเมินผลและวัดผล ก็ต้องสอดคล้องกัน ไม่ใช่วัดการ "จำ" ตัวหนังสือมาตอบ

ที่จะทำให้รู้ เข้าใจ ปรับใช้ สร้างความรู้ใหม่ และสามารถจัดการความรู้ที่เป็นประโยชน์จริงๆ ต่อตัวเอง และต่อผู้อิ่นได้

เราจึงต้องปฏิวัติการเรียนใหม่ เพื่อที่จะรู้ ที่เรียกว่า "การเรียนรู้" มากพอที่จะก้าวไปสู่การ "จัดการความรู้"

นี่คือข้อสรุปที่ผมได้รับจากการทบทวนประวัติการเรียนของตนเองครับ

เผื่อจะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาการเรียนการสอน และการจัดการความรู้ครับ 

หมายเลขบันทึก: 447180เขียนเมื่อ 3 กรกฎาคม 2011 23:50 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 13:47 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

ขอบคุณมากครับสำหรับบทเรียนดี ๆ พึ่งเคยเข้ามาห้องนี้มีเรื่องน่าสมใจเยอะเลยครับ ^^


โฮ้...อาจารย์คะ บันทึกนี้ พาซูมความคิดปรับโฟกัสต่ออย่างกระจ่างแจ้งเลยค่ะ

พบหัวอาหาร ข้าวกล้อง ถั่ว งา พร้อมผักผลไม้อีกแล้วค่ะ ยิ้มปลื้มปีติยินดีแทบหุบไม่ลงค่ะ ๕๕

ตรงใจ ถูกใจไปหมดค่ะ ขอเล่าความเป็นมาส่วนตัวประกอบไปด้วย อาจารย์คงไม่ถือสานะคะ

การเรียนในห้องเรียน อาจารย์สะท้อนความเป็นจริงมาอย่าง...ถึงพริกถึงขิงแล้ว

ยังสะท้อนมุม...การเรียนในวัดด้วย! ระดับทาน...เคยทอเสื่อแบกอุ้มไปวัด

ถวายวัตถุอื่นใด เราทำความเข้าใจได้ไม่ยาก แต่สวดมนต์ที่ยาวยาวววนั้น มองไม่เห็นทางไปจริงๆด้วยค่ะ

...ท่ามกลางงานใหญ่ ในวัยแรกรุ่น เธอจึงลุกออกจากศาลา ไปเดินครุ่นหาคำตอบ "เฮ่ย การสวดมนต์ พาพ้นทุกข์อย่างไรฯลฯ"

.......

ในรอบสัปดาห์วันแม่นี้ รื้อห่อตำราของแม่ออกมาพิจารณา

มีหนังสือเล่มเก่าๆ บทสวดมนต์แปลของท่านพุทธทาสหนึ่งเล่ม

และหนังสือ "สายเลือดเดียวกัน" ที่รวมสายญาติ จากต้นตระกูลไว้เป็นอย่างดี

หน้าปกเป็นภาพพระหลวงปู่(หลวงตาของเรา)สององค์ หลั่งสายเลือดสู่ต้นโพธิ์ใหญ่จากปกนอกทั้งสองด้าน

คำนำ จากพระผู้ใหญ่ ชื่นชมหนึ่งหน้า สรุปไว้ว่า "เป็นตระกูลนักบวช ประกอบสัมมาอาชีพฯลฯ"

นอกจากเนื้อหาหลัก จะเป็นการรวมรายชื่อ พร้อมสายญาติตั้งแต่ต้นตระกูลแล้ว

เนื้อหาสรุปจากหลวงปู่ที่ฝากไว้ เมื่อมีผู้สนใจถามไถ่เรื่องระลึกชาติ ซึ่งท่านเขียนรายละเอียดไว้ชัดมากๆ

ท่านเน้นว่า..."การตายแล้วเกิดใหม่ เป็นเรื่องธรรมดาสามัญ แต่การ ตายแล้วไม่เกิดนี้สิ เป็นเรื่องที่ควรสนใจ ศึกษาฯลฯ"

.....

 

ถือเป็นแนวทาง นำมาสู่...บทสรุปของอาจารย์พอเหมาะพอดี(สำหรับตนเอง)ค่ะ

 

... ดังนั้น ถ้าจะพัฒนาการเรียนรู้

อย่างน้อยที่สุด

  • จำ เป็นต้องหาทางให้ผู้เรียนหนีไกลจากการเรียนเป็น "ตัวหนังสือ" ไปสู่การเรียนที่เข้าใจ "ความจริง" ที่เข้าใจได้ หรือ สัมผัสได้ เป็นเบื้องต้น
  • ต่อ จากนั้นก็จะเป็นกระบวนการนำความรู้ไปปรับใช้ ที่จะทำให้เกิดความเข้าใจที่สามารถสรุปบทเรียนได้ว่าอะไดีไม่ดี มีเงื่อนไขประกอบอะไรบ้าง
  • การประเมินผลและวัดผล ก็ต้องสอดคล้องกัน ไม่ใช่วัดการ "จำ" ตัวหนังสือมาตอบ

ที่จะทำให้รู้ เข้าใจ ปรับใช้ สร้างความรู้ใหม่ และสามารถจัดการความรู้ที่เป็นประโยชน์จริงๆ ต่อตัวเอง และต่อผู้อิ่นได้

เราจึงต้องปฏิวัติการเรียนใหม่ เพื่อที่จะรู้ ที่เรียกว่า "การเรียนรู้" มากพอที่จะก้าวไปสู่การ "จัดการความรู้"

..................

ขอขอบพระคุณอาจารย์เป็นที่สุด ที่ช่วยบันทึกวิธีคิดไว้อย่างดียิ่งค่ะ

 

ครับ ขอบคุณครับที่มาให้กำลังใจ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท