ชีวิตที่พอเพียง : 87. จงให้อารมณ์อยู่เหนือเหตุผล


         เมื่อหลายปีมาแล้ว  ศ. นพ. ประเวศ วะสี ให้พรคู่บ่าวสาว     ว่าต่อไปเบื้องหน้า เมื่อไรทะเลาะ หรือขัดแย้งกัน    อย่าแก้ด้วยเหตุผล  แต่ให้แก้ด้วยอารมณ์ คืออารมณ์รักและปรารถนาจะอยู่ร่วมกัน    อย่าตัดสินกันด้วยการหาว่าใครถูกใครผิด     พวกเราที่ผ่านชีวิตแต่งงานมากว่ายี่สิบปี เห็นด้วยกับคำแนะนำนี้ทุกประการ      คู่บ่าวสาวในเหตุการณ์นั้นคือ นพ. สุภกร และ ดร. สีลาภรณ์ บัวสาย

         หนังสือ Beyond Reason : Using Emotions as You Negotiate  แต่งโดย Roger Fisher & Daniel Shapiro ก็แนะนำเช่นเดียวกัน    หนังสือเล่มนี้ว่าด้วยการใช้อารมณ์ในการสร้างความสำเร็จ   ในการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีต่อผู้อื่น     โดยทั่วไปเราจะตกใจกับคำแนะนำเช่นนี้มาก    เพราะเราคุ้นเคยกับคำเตือนว่า "อย่าใช้อารมณ์" ซึ่งเป็นคำที่ถูกเพียงครึ่งเดียว     เพราะผู้กล่าวคำเช่นนั้นหมายถึงอย่าใช้อารมณ์ด้านลบ     แต่เป็นการใช้อารมณ์สร้างความสำเร็จ เน้นที่อารมณ์ด้านบวก

          ผมเป็นนักเรียนที่คอยทำแบบฝึกหัดสร้างพลังอารมณ์ด้านบวก    ปลูกอารมณ์ด้านบวกเอาไว้ใช้งาน และใช้ทำให้ชีวิตสดใสซาบซ่า      และในขณะเดียวกันก็หาทางทำให้อารมณ์ด้านลบมันลีบเล็กลง     อารมณ์ด้านบวกได้แก่  ตื่นเต้น  ดีใจ  สนุกสนาน  กระตือรือร้น  อารมณ์ดี   ภูมิใจ  พึงพอใจ  ยินดี  ชื่นชม  มีความสุข  ปิติ  มีความหวัง  ปลาดใจ   สงบเย็น  เชื่อถือ  ไว้วางใจ  ฯลฯ

        คนที่มีทักษะในการควบคุมอารมณ์ตนเองให้มีอารมณ์ด้านบวกอยู่เสมอ     เป็นคนที่โชคดี  ชีวิตจะมีความสุข     จะยิ่งดี ถ้าเรามีทักษะในการสัมพันธ์กับผู้อื่นในบรรยากาศหรืออารมณ์เชิงบวก   

        แต่อารมณ์ไม่ใช่สิ่งที่เราจะควบคุมได้เสมอไป    ยิ่งอารมณ์ของผู้อื่นเรายิ่งเข้าไปควบคุมเขาไม่ได้      จึงต้องเรียนรู้ให้เข้าใจอารมณ์  และเรียนวิธี "จัดการ" อารมณ์     โดยต้องเข้าใจว่าจริงๆ แล้วอารมณ์เป็นเพียงยอดของภูเขาน้ำแข็งที่เราสัมผัสได้    แต่มีสิ่งที่อยู่ลึกกว่าอารมณ์ที่แสดงออก คือ ความกังวลใจลึกๆ (concern)     จงค้นหาและทำความเข้าใจความกังวลใจลึกๆ นั้น     และหาทางเจรจาเพื่อให้ได้บรรลุผลที่แท้จริงตามความกังวลใจลึกๆ นั้น    

        หลักปฏิบัติ ๕ ประการในการจัดการอารมณ์เชิงบวก   เพื่อความสัมพันธ์ที่ดี 
           ๑. แสดงความชื่นชม    ค้นหาส่วนดีของสิ่งที่ผู้อื่นคิด เชื่อ และปฏิบัติ   และนำมาชื่นชมต่อเขา
           ๒. สร้างความสัมพันธ์   เปลี่ยนศัตรู ให้กลายเป็นมิตร
           ๓. เคารพความเป็นอิสระของผู้อื่น
           ๔. เคารพ ยกย่อง ฐานะของผู้อื่น
           ๕. จงเลือกแสดงบทบาทที่จะช่วยให้บรรลุผลตามเป้าประสงค์ของผู้อื่น   และปฏิบัติตามบทบาทนั้น

         แทนที่จะเน้นแก้ไขอารมณ์เชิงลบ     ผมกำลังฝึกฝนปลูกฝัง รดน้ำพรวนดิน ใส่ปุ๋ย อารมณ์เชิงบวก ขึ้นภายในจิตสำนึก จิตใต้สำนึก  และจิตเหนือสำนึกของตนเอง     ผมหาทางเรียนรู้วิธีจัดการความสัมพันธ์ต่อผู้อื่น  โดยการจัดการอารมณ์ด้านบวก    แต่ผมคงจะยังเรียนอยู่ในชั้นอนุบาลเท่านั้น

วิจารณ์ พานิช
๑๑ กค. ๔๙

หมายเลขบันทึก: 44712เขียนเมื่อ 15 สิงหาคม 2006 09:28 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 พฤษภาคม 2012 08:12 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

เรียน อาจารย์ ที่เคารพ

อารมณ์ ทีว่า มีอยู่ 2 ลักษณะ ในตัวมนุษย์ หรือสัตว์ คือ 1 อารมณ์ดี มักมีตัวสนับสนุนหลายอย่างเช่น มีความพอดี อิ่มท้องพอดี อากาศพอดี และต้องควบคุมอารมณ์ได้ 2 อารมณ์ร้าย มักมีตัวสนับสนุน ที่จะขาด หรือเกิน เช่น ท้องไม่อิ่ม หรืออิ่มมากเกินไป อากาศแวดล้อมเลวร้าย การควบคุมอารมณ์ จะยากขึ้นมาก

ถ้าใครสามารถ ที่จะควบคุมอารมณ์ ได้ ในขณะที่ มีความโลภ โกรธ หลง โดยให้อารมณ์ดี ใช้ปัญญา ถือว่า การใช้อารมณ์ ถูกต้องใช้ได้ แต่หาก เมื่อไหร่เกิดการใช้อารมณ์ร้าย มาเป็นตัวดับปัญหา ซึ่งมักจะขาดปัญญา ก็จะทำให้ทั้งตนทั้งผู้อื่น เดือดร้อน

ผมต้องขอคำชี้แนะด้วย

หนูเคยได้ยินมาสองครั้งจากผู้หลักผู้ใหญ่ระดับประเทศที่มีคนนับหน้าถือตา ว่า "การมีชีวิตครอบครัว จะอยู่ด้วยเหตุผลไม่ได้"  หนูนึกขัดแย้งขึ้นมาในใจว่าต้องฟังเหตผลกันซิจึงจะถูก หนูก็งง งง กับคำที่ได้ยินนี้มาหลายเดือน ตั้งใจว่าจะลองสังเกตุการใช้ชีวิตครอบครัวของตัวเองทุกๆวันที่เราอยู่ด้วยกันเราอยู่ด้วยอารมณ์หรือเหตุผล กันแน่ ได้ข้อสรุปว่า "ครอบครัวไม่ต้องใช้เหตุผลเสมอไปจริงๆ หลายครั้งที่หนูอยากให้คนที่หนูอยู่ด้วยไม่ต้องมาเข้าใจเหตุผล ขอให้เข้าใจอารมณ์ ณ ขณะนั้น เพียงพอ และเท่าทันอารมณ์ของกันและกัน  เช่นกันทั้งกับลูกต้องเข้าใจอารมณ์ สะท้อนความหมาย "ขอเพียงเข้าใจ"  นั่นคือเข้าใจอารมณ์ก็จะอยู่กัน  วันนี้ได้อ่านบันทึกนี้ เข้าใจยิ่งขึ้น ขอบคุณค่ะ

ขอบพระคุณครับ
   จะขอนำไปจัดการกับตัวเองในเรื่องนี้ และค่อยๆเลื่อนชั้นขึ้นไปเรื่อยๆให้ได้ แม้จะช้าก็ตาม

เป็นการง่าย  ยิ้มได้  ไม่ต้องฝืน

เพื่อโลกชื่น  เหมือนบบเลง  เพลงสวรรค์

แต่คนที่  ควรชม  นิยมกัน

ต้องใจมั่น  ยิ้มได้  เมื่อภัยมา

ฝากบทกลอนมาเตือนความทรงจำและความเข้าใจด้วยค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท