วิกฤต...วิกฤติ...ใช้อย่างไรจึงถูกต้อง


ถ้าใช้คำโดยไม่ทราบความหมายที่แท้จริง...การใช้ภาษาไทยอาจถึงขั้นวิกฤตได้

     คำว่า วิกฤต มักใช้โดยทั่วไป เช่น ศึกชิงตำแหน่งในสมาคม...ถึงจุดวิกฤต  หรือ เกิดวิกฤตการณ์ทางการเมือง
     ที่มาของคำว่า "วิกฤต" เราเทียบเคียงความหมายของคำว่า "Crisis" ซึ่งนับว่าเป็นที่ดีคำหนึ่ง เพราะ มีเสียงดี พูดง่าย แต่ปัญหาการใช้คำที่มีความหมายอย่างนี้ ยังมีการใช้ที่เขียนต่างออกไป คือ "วิกฤติ"

      ถ้าค้นดูจากพจนานุกรม มีปรากฎทั้งสองคำ คือ วิกฤต  วิกฤติ เป็นคำวิเศษณ์ คือใช้ขยายคำอื่น ให้คำแปลไว้ว่า "แปลกจากเดิม  เปลี่ยนไป ไม่ปรกติ เสื่อม" ซึ่งเป็นความหมายตามรูปคำศัพท์เดิม น่าจะไม่ใช่ความหมายที่ใช้กันอยู่ปัจจุบัน

      สืบค้นดูจากหลวงบวรบรรณรักษ์ จาก หนังสือ "สันสกฤต -ไท-อังกฤษ อภิธาน" ให้ไว้รูปเดียว คือ คำว่า "วิกฤติ" ว่าเป็นคำนาม แปลว่า "การเปลี่ยนแปลงอย่างใดอย่างหนึ่ง ดุจเปลี่ยนเหตุการณ์ ความมุ่งหมาย เปลี่ยนมนัส เปลี่ยนรูป"

      เช่น พาดหัวข่าวหนังสือพิมพ์ ว่า "น้ำโขง" จ่อวิกฤติ เสี่ยงน้ำท่วม...ประกาศเตือนพื้นที่รอบ"น้ำโขง" เฝ้าระวังเหตุน้ำท่วม.... (ในความหมายที่เกิดการเปลี่ยนแปลง)

      ศัพท์ทางปรัชญาและตรรถศาสตร์ ของราชบัณฑิตยสถาน คำ Critical ให้คำในภาษาไทยว่า "วิกฤต" เช่น เวลาวิกฤต จุดวิกฤต (Critical time) ดูเหมือนจะใช้ในความหมายที่เข้าใจตรงกันว่า สำคัญที่สุด เข้าด้ายเข้าเข็ม กำลังถึงจุดสูงสุด หรือ ต่ำสุด

     ดังนั้น "เวลาวิกฤต" หมายถึง  เวลาถึงจุดสำคัญอย่างยิ่ง เวลาที่พฤติการณ์ที่เกิดขึ้นกำลังเข้าด้ายเข้าเข็ม (คำในภาษาอังกฤษใช้คำว่า Crisis) ทั้งในทางการเมือง ธรุกิจ เศรษฐกิจ

     เช่น การเมืองไทยถึงจุดวิกฤตเดือนเมษา ๕๒ และปี ๕๓ เกิดวิกฤตด้านการเมืองของไทย ส่งผลให้เป็นวิกฤตทางเศรษฐกิจ มีความหมายเพิ่มขึ้นไป ไม่เพียงแต่ถึงจุดเวลาที่สำคัญเท่านั้นแต่มีการเปลี่ยนแปลงไป ดังที่เราเข้าใจว่า คนไทยเปลี่ยนแปลงไป มีความขัดแย้งร้าวลึกกันขึ้นในสังคมไทย

     นี่คือเรื่องของ คำ และ ความหมาย ในภาษาไทย เราใช้เราเข้าใจความหมายตรงกันเพราะเราใช้ร่วมกันเป็นเวลานาน จนความหมายตกผลึกลงตัว เข้าใจตรงกันหมด แต่ถ้ายังสับสนก็ต้องทบทวนกันดูครับ

หมายเลขบันทึก: 447083เขียนเมื่อ 3 กรกฎาคม 2011 11:05 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 13:47 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท