GotoKnow

ครอบครัวและชุมชนที่ดูแลผู้ป่วยเบาหวาน

วัลลา ตันตโยทัย
เขียนเมื่อ 26 กันยายน 2548 13:57 น. ()
แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2555 14:00 น. ()
ไม่ได้ยินคนในครอบครัวหรือคนในชุมชนพูดถึงผู้ป่วยเบาหวานในแง่ลบ

ในวันที่ ๒๑ กันยายน ๒๕๔๘ ดิฉันได้ไปเยี่ยมผู้ป่วยเบาหวานในชุมชนตะพง วันนั้นได้พบผู้ป่วยหลายราย ดิฉันขอเล่าถึงผู้ป่วย ๒ รายที่ครอบครัวและชุมชนดูแลผู้ป่วยเป็นอย่างดี

รายแรกน้องปิ๊ก เป็นหนุ่ม อายุ ๒๓ ปี เป็นเบาหวานมาตั้งแต่อายุ ๑๕ ปี ขณะนี้ตามองเห็นไม่ชัด เคยไปยิงเลเซอร์มาแล้ว ไตวายต้องฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม รอเข้าคิวฟอกเลือดที่โรงพยาบาลไม่ไหว ต้องใช้บริการของคลินิกเอกชนครั้งละ ๒,๐๐๐ บาท สัปดาห์ละ ๒ ครั้ง มารดารับภาระค่าใช้จ่ายทั้งหมด ชาวชุมชนพูดให้เราฟังว่าน้องปิ๊กช่วยงานชุมชนหลายอย่าง เมื่อวานนี้มีผู้สูงอายุที่หลงลืมหายไปจากบ้าน ก็ไปช่วยตามหา ดิฉันคุยกับน้องปิ๊กว่าน่าเจ็บใจนะที่เป็นเบาหวานตั้งแต่อายุน้อย คุณป้าท่านหนึ่งได้ยินก็พูดขึ้นว่า "อายุเท่าไหร่เป็นเบาหวานก็เจ็บใจเหมือนกัน" ชาวชุมชนช่วยกันเล่าให้ฟังว่าน้องปิ๊กทำตัวเป็นประโยชน์อย่างไรบ้าง พูดให้กำลังใจและชมเชยตลอดเวลา

คุณลุงชัย อายุน่าจะประมาณ ๖๐ ปี มี CVA ร่างกายซีกซ้ายอ่อนแรง มี contracture ของข้อต่อต่างๆ ของแขนซ้าย ถูกตัดขาทั้ง ๒ ข้างใต้เข่า หลังทำ vascular bypass แล้วไม่ดีขึ้น คุณลุงนอนอยู่ใกล้ๆ กับที่ภรรยาขายผัก ภรรยาฉีดอินซูลินให้ทุกวันเวียนฉีดทั้งที่แขน ขา และหน้าท้อง ถามคุณลุงว่าทำไมไม่ฉีดอินซูลินเอง คุณลุงก็หัวเราะ คุณลุงลุกนั่งได้เองอย่างว่องไว ภรรยาบอกว่าใกล้จะได้รถสามล้อที่ขับได้แล้ว ต่อไปจะได้ขับออกไปที่วัดไปคุยกับคนอื่นๆ ในชุมชนได้ คุณลุงหน้าตาแจ่มใส พูดคุยกับเราอย่างดี บอกค่าน้ำตาลในเลือดและความดันโลหิตครั้งสุดท้ายของตนได้

ดิฉันไม่ได้ยินคนในครอบครัวหรือคนในชุมชนพูดถึงผู้ป่วยเบาหวานในแง่ลบเลย

วัลลา ตันตโยทัย

คำสำคัญ (Tags): #ชุมชน 


ความเห็น

ยังไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท
ภาษาปิยะธอน (Piyathon)
เขียนโค้ดไพทอนได้ด้วยภาษาไทย