Wichai@Nanoi
นาย วิชัย ศิริวรวัจน์ชัย

การขับเคลื่อน รน.สช.โดยใช้SRMอ.นาน้อย(ตอน1)


จาก SRM สู่ รน.สช. ที่นาน้อย

การขับเคลื่อนโรงเรียนนวัตกรรมสุขภาพชุมชน (รน.สช.)

โดยใช้แผนที่ทางเดินยุทธศาสตร์ (SRM) พื้นที่อำเภอนาน้อย จังหวัดน่าน (ตอน 1)

เริ่มรู้จัก SRM

        แผนที่ทางเดินยุทธศาสตร์ หรือ SRM (Strategy Route Map) เป็นคำใหม่ที่เข้ามาในระบบการทำงานเมื่อปี 2552 โดยมีการกำหนดเป็นตัวชี้วัดไว้ตัวหนึ่งว่า “กองทุนหลักประกันสุขภาพระดับท้องถิ่นหรือพื้นที่ มีและใช้แผนที่ทางเดินยุทธศาสตร์” ทางสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดน่าน จึงได้จัดการอบบรมการสร้าง SRM ให้แก่คณะทำงานของกองทุนสุขภาพทุกกองทุน ซึ่งประกอบด้วยตัวแทนของคณะกรรมการกองทุน บุคลากรส่วนท้องถิ่น ผู้นำชุมชน อสม. และบุคลากรสาธารณสุขระดับตำบล รวมกองทุนละ 15 คน แบ่งการอบรมเป็น 5 รุ่นๆ ละ 2 วัน ดำเนินการอบรมตั้งแต่วันที่ 3 ส.ค. 2552 จนมาสิ้นสุดรุ่นสุดท้ายวันที่ 15 ธ.ค. 2552

โดยมี คุณกันจน เตชะนันท์ นักวิชาการสาธารณสุขชำนาญการ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดน่าน เป็นวิทยากรและผู้จัดการอบรม แต่เนื่องด้วยเรื่องนี้เป็นเรื่องใหม่และค่อนข้างยากแก่การความใจสำหรับทุกฝ่าย จึงมีกองทุนสุขภาพที่สามารถสร่าง SRM ได้และจัดส่งคืนให้วิทยากรเพียงร้อยละ 27.71 (กองทุนผ่านการอบรม 83 กองทุน มีส่ง SRM 23 กองทุน) โดยในอำเภอนาน้อยมี 3 กองทุน (จาก 8 กองทุน) ที่ส่ง SRM คือ กองทุนเทศบาลตำบลนาน้อย กองทุนเทศบาลตำบลศรีษะเกษ และกองทุน อบต.สันทะ แต่นั่นก็ยังเป็นเพียง SRM ฉบับแบบฝึกหัดอยู่ และแล้วเรื่องนี้ก็เริ่มเงียบๆ ลงไป (คงไม่มีใครอยากแตะของร้อน)

 ทีมบูรณาการร่วมพัฒนา

        จนถึงเดือน กุมภาพันธ์ 2553 สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดน่าน เสนอให้ทุกอำเภอจัดทำโครงการพัฒนาระบบสุขภาพเชิงรุกแบบบูรณาการ เพื่อขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การพัฒนาโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) โดยใช้แผนที่ทางเดินยุทธศาสตร์ (SRM: Strategy Route Map) มีพื้นที่เป้าหมายอำเภอละ 1 รพ.สต. อำเภอนาน้อยเลือกพื้นที่ตำบลศรีษะเกษ เป็นพื้นที่เป้าหมายหลักของโครงการนี้ และจังหวัดได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะทำงานพัฒนาระบบสุขภาพเชิงรุกแบบบูรณาการรับผิดชอบอำเภอนาน้อย โดยทีมระดับจังหวัดประกอบด้วย คุณกานดา ยุบล หัวหน้ากลุ่มงานประกันสุขภาพ เป็นประธาน พร้อมด้วย เภสัชกรคมกริช สังขตะอำพน คุณธีรภัทร์ ไชยยา คุณประครอง การินไชย คุณภิรมย์ เกาะลุน และคุณมาโนชญ์ ชายครอง สำหรับทีมสำนักงานสาธารณสุขอำเภอนาน้อย ประกอบด้วย คุณบุญรวม ยอดศรี สาธารณสุขอำเภอนาน้อย พร้อมด้วย คุณวิชัย ศิริวรวัจน์ชัย คุณจารุวัจน์ ไชยบุญเรือง คุณเมชา แก้วเดช และคุณศุภมาศ ใจบุญ  นอกจากนี้มีทีมจากโรงพยาบาลนาน้อย รพ.สต.ศรีษะเกษ เทศบาลตำบลศรีษะเกษ และภาคีในพื้นที่ศรีษะเกษร่วมด้วย โดยมีทีมสำนักงานสาธารณสุขอำเภอนาน้อย เป็นตัวประสานและทำหน้าที่เป็นสำนักเลขาด้วย

        การทำงานเริ่มจากการทำความเข้าใจในภารกิจการทำงานตามกรอบแนวคิดเดียวกัน คือ กรอบการพัฒนาโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลหรือการพัฒนาระดับปฐมภูมิ

         

        ซึ่งมีภารกิจที่ต้องดำเนินการอยู่ 2 ส่วนใหญ่ๆ คือ ส่วนแรกเป็นการพัฒนาบริการเชิงรับ เกี่ยวกับการวินิจฉัยโรค การรักษาพยาบาล ฟื้นฟูสภาพ ระบบการปรึกษาและส่งต่อ เพื่อสร้างความมั่นใจแก่ประชาชนต่อ รพ.สต. ส่วนนี้ขอให้โรงพยาบาลนาน้อย เข้ามามีบทบาทเป็นพี่เลี้ยงในการพัฒนา ส่วนที่สองเป็นการพัฒนาบริการเชิงรุก ทำงานด้านการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค โดยการพัฒนาบทบาทภาคประชาชนในการจัดการสุขภาพ อาศัยความร่วมมือจากภาคีต่างๆ มาบริหารยุทธศาสตร์ร่วมกัน มีการพัฒนาศักยภาพ อสม. และพัฒนามุ่งสู่โรงเรียนนวัตกรรมสุขภาพชุมชน เพื่อลดการเจ็บป่วยของประชาชน โดยการพัฒนาจะใช้ชุมชนเป็นฐาน อาศัยข้อมูลจากทั้ง 2 ส่วนมาประกอบการวินัจฉัยชุมชน และใช้ SRM เป็นเครื่องมือในการสร้างการมีร่วมกับกองทุนสุขภาพ และภาคีต่างๆ เพื่อให้เกิดมีแผนสุขภาพตำบล นำสู่แผนงานโครงการแก้ไขปัญหาของชุมชน โดยชุมชนเป็นผู้จัดการสุขภาพของตนเอง ในประเด็นหลักเรื่อง เหล้า, ไร้พุง, อาหารปลอดภัย, NCD, Safe Sex และประเด็นอื่นๆ ที่สำคัญของพื้นที่นั้นๆ

          หลังจากทำความเข้าใจตรงกันทุกฝ่ายแล้ว เพื่อให้เกิดกระบวนการคิดร่วมกันจึงได้จัดการสร้าง SRM ตำบลศรีษะเกษ ในวันที่ 3-4 พ.ค. 2553 โดยมีกำนัน, ผู้ใหญ่บ้าน, อสม., ผู้แทนจากวัด, โรงเรียน, ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กตำบลศรีษะเกษ, สาธารณสุข, สำนักงานเกษตรอำเภอ และภาคีต่างๆ เข้าร่วม ในครั้งนี้ทีมบูรณาการอำเภอนาน้อย ได้รับความกรุณาจากคุณอรุณรัตน์ อรุณนุมาศ และคุณขันติชน ปิ่นชัยพัฒน์ จากสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดน่าน มาเสริมทัพอีก จึงทำให้ตำบลศรีษะเกษมี SRM ที่ค่อนข้างสมบูรณ์ และต่อมาทางเทศบาลตำบลศรีษะเกษ ได้นำเป้าประสงค์สุขภาพจาก SRM มาจัดทำเป็นประกาศนโยบายสุขภาพตำบล โดยเน้นในเรื่อง เราจะดูแลสุขภาพด้วยตนเอง เพื่อให้แต่ละชุมชน แต่ละหน่วยงานเห็นเป้าหมายการพัฒนาสุขภาพในทิศทางเดียวกัน

 รน.สช. ตามติดมาอีก

          ความมึนงงกับ SRM ของคนในพื้นที่ยังไม่ทันหายดี ในวันที่ 27 พ.ค. 2553 สสจ.น่าน ก็แจ้งให้ส่งทีมซึ่งประกอบด้วย คุณวิชัย ศิริวรวัจน์ชัย จาก สสอ.นาน้อย คุณชุตินันท์ ขันทะยศ จาก รพ.นาน้อย คุณณรงค์ จาวะนา จาก รพ.สต.ศรีษะเกษ จ.ส.ท.สรวิชญ์ วงศ์ไชย จาก ทต.ศรีษะเกษ และคุณธัญญ์นิธิ ยะตั๋น จาก อสม. เข้ารับฟังนโยบายและแนวทางการพัฒนาโรงเรียนนวัตกรรมสุขภาพชุมชน (รน.สช.) จากคุณนฤดล อ่วมสุข จากศูนย์ฝึกอบรมและพัฒนาสุขภาพภาคประชาชนภาคเหนือ นครสวรรค์ และคุณปิยะพร เสาร์สาร จากศูนย์อนามัยที่ ๑๐ เชียงใหม่ ซึ่งในปี 2553 กำหนดพื้นที่นำร่อง 8 แห่ง (ส่วนกลางกำหนดจังหวัดละ 3 แห่ง) ตำบลศรีษะเกษ เป็นพื้นที่หนึ่งที่จังหวัดกำหนดเพิ่มเติมขึ้นมา ในการชี้แจงครั้งนี้ทำให้เห็นแนวทางที่จะพัฒนาไปสู่ รน.สช. และสรุปว่า รน.สช. ต้องมีองค์ประกอบสำคัญคือ ๑) เรื่องหรือประเด็นนวัตกรรมอย่างน้อย 3 เรื่อง ต้องทำ SLM และเขียนหลักสูตรสำหรับใช้สอนด้วย  2) ครูหรือผู้ถ่ายทอด ก็ควรจะเป็นชาวบ้านอีก  ๓) สถานที่สอน อยู่หน้างานที่ไหนก็ได้ และ 4) ผู้เรียน ผู้ที่สนใจ หรือกลุ่มเป้าหมายที่เราจะพัฒนา โจทย์ครั้งนี้ไม่ธรรมดาเหมือนกัน...

แจ้งเกิดทีมวิทยากรอำเภอ

          เพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนงานอย่างเป็นระบบและต่อเนื่อง สสจ.น่าน จึงจัดอบรมวิทยากรระดับอำเภอในการจัดการโรงเรียนนวัตกรรมสุขภาพชุมชน จังหวัดน่าน ปี 2553 ในวันที่ 12-13 ก.ค. 2553 แก่ทีมอำเภอที่เข้าฟังนโยบาย รน.สช. การอบรมครั้งนี้เป็นการทบทวนกระบวนการ SRM, SLM ชี้จุดเน้นสำคัญของกระบวนการ และวางแผนพัฒนาทีมวิทยากรระดับตำบลต่อไป ผลจากการอบรมครั้งนี้ทำให้เข้าใจในกระบวนการ SRM ตลอดจนมองเห็นความเชื่อมโยงมากขึ้น และทำให้ต้องหามุมมองใหม่ที่ง่ายกว่าเดิม แต่ได้ผลเหมือนเดิมหรือดีกว่าเดิม เป็นข้อคิดที่ได้จากเล่นเกมส์ ถอดเก้าอี้ ของอาจารย์นฤดล อ่วมสุข

   

   โจทย์ของเกมส์นี้คือ ให้คน 4 คน นั่งบนเก้าอี้แล้วเอนตัวลงนอน วางหัวบนเข่าของคนซ้ายมือวนกันไป แล้วให้คนเข้าไปเอาเก้าอี้ออก แต่คนทั้ง 4 ยังคงสามารถนอนอยู่ท่าเดิมได้ พบว่าในการแก้โจทย์มักจะอาศัยความเคยชินคือ หันพนักพิงเก้าอี้ชนกันแล้วนั่ง ซึ่งกว่าจะเอาเก้าอี้ออกได้ทุลักทุเลน่าดูเลย...แล้วคุณล่ะจะแก้อย่างไรครับ?

ถ่ายทอดสู่วิทยากรตำบล

          ทีมวิทยากรอำเภอนาน้อย ได้จัดอบรมการสร้างและใช้ SRM ในการจัดการนวัตกรรมสุขภาพชุมชนแก่ทีมวิทยากรระดับตำบล (ทุกกองทุนสุขภาพ) ในวันที่ 4-5 ส.ค. 2553 กลุ่มเป้าหมายกองทุนละ 15 คน ประกอบด้วย ตัวแทนของคณะกรรมการกองทุน บุคลากรส่วนท้องถิ่น ผู้นำชุมชน อสม. และบุคลากรสาธารณสุขระดับตำบล (คุ้นๆ ว่าเหมือนกับที่ไปอบรมกับคุณกันจน) การอบรมครั้งนี้ทีมวิทยากรระดับอำเภอได้พยายามปรับกระบวนการให้ง่ายต่อความเข้าใจ โดยเน้นเกิดการคิดอย่างกว้างขวาง และชี้ให้เห็นความเชื่อมโยงของแต่ละมุมมองในแต่ละขั้นตอนให้ชัดเจนก่อน เช่น

   

       ขั้นตอนที่ 1 การวิเคราะห์สถานการณ์ ให้วิเคราะห์สิ่งที่ผ่านมาแล้ว และที่กำลังเป็นอยู่ที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพของประชาชนว่าดีอย่างไร ไม่ดีอย่างไร ที่สำคัญเราคาดหวังจะให้เกิดอะไร ให้เป็นอย่างไร และที่ผ่านมามีใครหรือหน่วยงานใด (ภาคีเครือข่าย) เข้ามาช่วยทำอะไร อย่างไรบ้าง ถ้าเราอยากให้ประชาชนเป็นไปอย่างคาดหวังนั้น นอกจากประชาชนจะต้องทำเองแล้ว คาดหวังว่าใครหรือหน่วยงานใดต้องเข้ามาช่วยทำอะไรอีก แล้วการที่จะให้ภาคีเครือข่ายมาช่วยทำงานด้วยนั้น ที่ผ่านมาใช้วิธีการหรือกระบวนการอย่างไร ถ้าจะให้ภาคีเครือข่ายเข้ามาร่วมทำงานจริงจัง ต่อเนื่องคาดหวังว่าควรจะมีวิธีการใดเพิ่มเติมอีก สุดท้ายหันมามองรากฐานของตนเอง (กองทุน) ว่าที่ผ่านมามีจุดแข็ง จุดอ่อนอย่างไร และถ้าจะทำตามกระบวนการที่คิดไว้ให้สำเร็จ คาดหวังว่าต้องเตรียมพร้อมอย่างไร ทั้งเรื่องทีมงาน  ข้อมูลข่าวสาร ทรัพยากร งบประมาณ และบรรยากาศการทำงาน

          ขั้นตอนที่ 2 การกำหนดจุดหมายปลายทาง เป็นขั้นตอนที่หยิบเอาความคาดหวังของแต่ละมุมมองในขั้นตอนแรกมาเขียนในผังจุดหมายปลายทางซึ่งเป็นตาราง 4 ช่อง (รวมประโยคที่มีความหมายเหมือนกันไว้เป็นหัวข้อเดียวกัน) เพื่อให้เห็นความชัดเจนและความสัมพันธ์กันมากยิ่งขึ้น

          ขั้นตอนที่ 3 การสร้าง SRM เป็นขั้นตอนของการ สร้างกล่อง (ใช้กระดาษมาพับครึ่ง) โดยแต่ละกล่องจะมี 2 ส่วนคือ ส่วนหัวกล่อง (วัตถุประสงค์ของยุทธศาสตร์) ให้หยิบมาจากข้อความในผังจุดหมายปลายทางของแต่ละมุมมอง นำมาทำข้อความละกล่อง ส่วนตัวกล่อง (กลยุทธ์หรือกิจกรรมหลัก) ส่วนนี้ต้องใช้ความคิดต่ออีกหน่อยว่า ถ้าจะให้ข้อความตรงหัวกล่องสำเร็จจะต้องทำอะไรบ้าง เมื่อได้กล่องแล้วก็นำมาติดตามชั้นมุมมองทั้ง 4 ให้มีความเชื่อมโยงกันแต่ละกล่องด้วย (มาถึงตอนนี้บ้างก็เอามือกุมขมับ บ้างก็ทำตาเหม่อลอย เหมือนคอมพิวเตอร์แฮงค์ ต้องพักเบรกเรียกความสดชื่นกลับมากันพักใหญ่) ถ้าสร้าง SRM สำเร็จทุกกล่องแล้ว ก็ถือได้ว่าตำบลนั้นมีกรอบแนวทางที่จะนำไปสู่การประกาศเป็นนโยบายสุขภาพตำบลได้แล้ว โดยนำประเด็นในกล่องของมุมมองประชาชนมาเรียบเรียง แล้วลงนามในประกาศร่วมกันได้เลย

           ขั้นตอนที่ 4 การสร้างแผนที่ทางเดินยุทธศาสตร์ฉบับปฏิบัติการหรือ SLM (Strategic Linkage Model Construction) ก่อนอื่นต้องเลือกเรื่องหรือประเด็นสุขภาพที่ปรากฏในกล่องของมุมมองประชาชนใน SRM เรื่องใดเรื่องหนึ่งที่ตรงกับความต้องการหรือปัญหาในหมู่บ้านให้ได้ก่อน แล้วจึงนำมาทำ SLM โดยใช้แผนที่ทางเดินยุทธศาสตร์ฉบับปฏิบัติการ (SLM) ร่วมของกรมอนามัยและกรมควบคุมโรค 2552-2555 เป็นแนวทางในการคิด แล้วใช้คำถามให้เกิดความเชื่อมโยงในมุมมองประชาชน ภาคี กระบวนการ และรากฐานเช่นเดียวกับตอนทำ SRM แต่เจาะแคบลงมาเฉพาะเรื่องที่เกี่ยวข้องกับเรื่องที่กำลังทำอยู่ สามารถนำกล่องของ SRM มาปรับแต่งต่อเติมลงในกล่องของ SLM ได้ แล้วนำกิจกรรมหลักเหล่านี้ไปเขียนลงในโครงการต่อไป

 

           ชาวบ้านกับภาคีเครือข่ายช่วยคิดได้ขนาดนี้แล้วก็พอเหมาะพอควรแล้ว ขั้นตอนต่อไปให้เป็นหน้าที่ของทีมของท้องถิ่นและสาธารณสุขตำบลไปช่วยกันจัดทำต่อ ภายใต้ข้อมูลที่ชาวบ้านและภาคีได้คิดไว้

          จากประสบการณ์ที่ผ่านกระบวนการของ SRM มาระยะหนึ่ง ได้ข้อคิดที่น่าสังเกตจุดหนึ่งคือ ไม่ควรมองข้าม ทีมระดับอำเภอ ที่จะมีบทบาทเป็นโซ่ข้อกลางเชื่อมเอานโยบายจากเบื้องบนมาประยุกต์และนำมาบูรณาการจนสามารถนำไปปฏิบัติได้จริงในระดับพื้นที่ และมีการติดตามงานได้โดยไม่ตะขวิดตะขวางใจ (เพราะตอนแรกเป็นการต่อตรงระหว่างจังหวัดกับกองทุน แต่ตอนตามงาน ตามผ่านมาทาง สสอ.) ในกระบวนการ SRM พบข้อดีคือ กระบวนการนี้ทำให้มีการคิดวิเคราะห์ที่เชื่อมโยง เป็นเหตุเป็นผลกัน หาภาคีที่จะเข้ามาทำงานจริงโดยมีบทบาทกำกับและมีความรู้สึกเป็นเจ้าของงานด้วย ไม่ใช่มีไว้เพียงให้ครบองค์เท่านั้น ที่สำคัญต้องคิดหาแนวทางหรือวิธีการใหม่ วิธีการใดหรือกิจกรรมใดที่ทำมาแล้วตั้งสิบๆปี แต่ไม่ได้ผล และรู้อยู่แล้วว่าถ้าทำอีกก็จะไม่ได้ผลอีก ก็อย่าทำอีกเลย คิดหาหนทางใหม่จะดีกว่า โดยเฉพาะวิธีการที่ชาวบ้านได้คิดขึ้นมาเอง เพื่อจะนำไปทำเอง ขอจบตอนแรกไว้เพียงถึงขั้นตอนการทำ SRM ตอนต่อไปจะเล่าต่อถึงกระบวนการพัฒนา รน.สช. ของอำเภอนาน้อย      

คำสำคัญ (Tags): #slm#srm#นาน้อย#รนสช.
หมายเลขบันทึก: 446126เขียนเมื่อ 27 มิถุนายน 2011 11:09 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 13:47 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)
เกรียงไกร สุตะวงศ์

รอ อ่านตอน สอง นะครับ พี่

ยินดีด้วย ลงมือทำ ย่อมเห็นภาพชัดเจน กว่า ทฤษฏี ทำบ่อยๆ ยิ่งชัดเจน คำตอบอยู่ในนั้นหมด สู้ๆๆๆๆ

จะเป็นสิ่งใหม่ จะยากแค่ไหน ถ้าใจมุ่งมั่น และศรัทธา คิดว่าสำเร็จแน่นอนค่ะ โอกาสของผู้กล้า สู้ สู้

การสร้างแผนที่ทางเดินยุทธศาสตร์ที่สามารถนำไปปฏบัติได้จริง ควรให้ทุกภาคส่วนในชุมชนได้ประเมินวิเคราะห์สถานการณ์ตั้งแต่แรกเริ่ม ถ้าถ่ายระดับของกรมสุดท้ายจะเป็นแผนที่ของเจ้าหน้าที่ ชุมชนไม่มีความเป็นเจ้าของก็จะให้เจ้าหน้าที่นำทางในการจัดการสุขภาพชุมชนเหมือนเดิมก็คือแบบเดิิมนั้นแหละ แผนที่ทางเดินฯ.ที่ชุมชนได้คิดเองก็อยากลองทำดูว่าจะสำเร็จจริงหรือไม่ เจ้าหน้าที่เป็นเพียงผู้สนับสนุน บางครั้งกิจกรรมอาจไม่ตรงกับตัวชี้วัดของตนเอง แต่ควรปล่อยให้ชุมชนทำไปก่อนลองผิดลองถูกคอยแนะนำให้เขากิจกรรมง่ายๆลงมือปฏิบัติก่อน เมื่อเขาทำได้ภูมิใจว่าสำเร็จได้ เจ้าหน้าที่จึงค่อยเอากิจกรรมที่ตรงกับตัวชี้วัดใส่ลงไป บางครั้งเจ้าหน้าที่ใจร้อนอยากได้ตามใจตนเองตรงกับตัวชี้วัดตนเอง สุดท้ายเอาความคิดตนเองใส่ไปในแผนที่ฯ.ชุมชนมีความรู้สึกว่ากำลังทำงานให้เจ้าหน้าที่ไม่ใช่ทำงานให้ชุมชนของเขา เขาจะต่อต้านทันที ส่วนใหญ่ที่ไม่สำเร็จเพราะความใจร้อนกลัวงานไม่ตรงกับตัวชี้วัด ปัจจุบันนี้ผู้นำชุมชนกำลังปเี่ลี่ยนผ่านผู้นำรุ่นเก่ากับผู้นำรุ่นใหม่ จะเห็นได้ว่าในพื้นที่ของตำบลต่างๆ เกิดการผสมผสานความคิดคนรุ่นใหม่กับคนรุ่นเก่า ฉะนั้นเจ้าหน้าที่ ที่อยูใกล้ชิดกับชุมชน คือ รพสต.มองภาพให้ออกว่าผู้นำรุ่นไหนนำทางรุ่นไหนจับทางให้ถูก คนรุ่นใหม่มีหลักวิชามีความรู้สามารถเติมได้อีก แต่คนรุ่นเก่ามีภูมิปัญญาไม่สามารถเติมสิ่งใหม่ได้มากหรือรับไม่ทัน แผนที่ทางเดินยุทธศาสตร์สำเร็จได้ต้องมีผู้นำที่หลากหลายทั้งคนรุ่นใหม่และรุ่นเก่า ก่อนการอบรบการสร้างแผนที่ฯ. ควรนำกลุ่มเป้าหมายอบรมปรับกระบวนความคิดให้สอดคล้องกันก่อน บอกแล้วว่าอย่าใจร้อน ถ้าต้องการให้เกิดนวัตกรรมต้องไม่ทำแบบเดิมๆ 19 กรกฏาคม 54

ขอบคุณทุกความเห็นนะครับ ที่สำคัญเหมือนคุณณภัทรบอกมา ต้องปล่อยให้เขาคิดมากๆ อย่าตีกรอบความคิด และอย่ารีบเร่งเกินไป

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท