ปรัชญาการศึกษาไทยสู่การปฏิรูปการศึกษา


ปรัชญาการศึกษาไทยสู่การปฏิรูปการศึกษา

ปรัชญาการศึกษาไทยสู่การปฏิรูปการศึกษา

iอนาคตภาพของสังคมโลกและสังคมไทย

          1.สังคมโลกในอนาคต จะมีระบบเศรษฐกิจฐานความรู้และการค้าแบบไร้พรมแดน มีความก้าวหน้าทางด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และการสื่อสาร เป็นอย่างมาก. สังคมโลกจะแคบลงมีการลื่นไหลระหว่างวัฒนธรรมมากขึ้น และการเมืองแบบเสรีประชาธิปไตย จะได้รับการนิยมและเป็นที่ยอมรับทั่วโลก
        2.สังคมไทยยุคใหม่ จะเป็นสังคมเข้มแข็งและมีคุณภาพ, สังคมสมานฉันท์และเอื้ออาทร, สังคมเศรษฐกิจฐานความรู้ ตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง, และไทยจะมีบทบาทสูงในประชาคมโลก.
                2.1 สังคมไทยจะเป็นสังคมเข้มแข็ง และมีคุณภาพ กล่าวคือเป็นสังคมที่ยึดหลักความสมดุล และพึ่งตนเองได้ และเป็นสังคมแห่งการเรียนรู้ มีการปรับเปลี่ยนระบบโครงสร้างการบริหาร การเมืองการปกครอง การจัดการศึกษาให้มีการกระจายอำนาจจากส่วนกลางสู่ท้องถิ่น, โดยการเปิดโอกาสให้ทุกส่วนของสังคม มีส่วนร่วมอันจะเป็นระบบที่เอื้อต่อการพัฒนาสังคมไทยที่ยั่งยืน, มีการผสมกลมกลืนระหว่างเทคโนโลยีสมัยใหม่กับภูมิปัญญาไทยอย่างสมบูรณ์.
                2.2 สังคมไทยจะเป็นสังคมสมานฉันท์ และเอื้ออาทร กล่าวคือเป็นสังคมที่รักใคร่ สามัคคี มีความร่วมมือช่วยเหลือเกื้อกูลกัน
                2.3 สังคมไทย จะมีระบบเศรษฐกิจ ฐานความรู้ตามหลักปรัชญาพอเพียง กล่าวคือเป็นสังคมที่สร้างสรรค์ความรู้และใช้ความรู้และนวัตกรรมเพื่อการพัฒนา, มีการบริหารองค์กรเป้นองค์กรแห่งการเรียนรู้และดำเนินการในลักษณะเครือข่าย, ประชากรจะมีสภาพความเป็นอยู่และคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น เป็นผู้รักการอ่าน มีความรู้กว้างขวาง และมีฉันทะใฝ่เรียนรู้ตลอดชีวิต
                2.4 ประเทศไทย จะมีบทบาทสูงขึ้นในประชาคมโลก, ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศไทยกับสังคมโลกอยู่บนพื้นฐานมีศักดิ์ศรีและความเท่าเทียมกัน. ประเทศมีความสามารถในการแข่งขันและร่วมมือกับประคมโลกอย่างไรก็ดีถ้าประเทศไทยยังไม่มีการปรับเปลี่ยนแนวความคิด ไม่มีการปฏิรูประบบโครงสร้างการบริหารการเมือง การปกครอง และระบบการศึกษา เพื่อพัฒนาคนและสังคมไทยให้ยั่งยืนแล้ว อนาคตภายในทางลบของสังคมไทยจะเป็นสังคมที่อ่อนแอแข่งขันไม่ได้ คนไทยมีคุณภาพต่ำ มีความไหลบ่าของวัฒนธรรมต่างชาติ ทำให้คนไทยขาดความภาคภูมิใจในความเป็นคนไทย และการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นจะเป็นไปอย่างเชื่องช้า ไม่ทันเหตุการณ์.

iคนไทยยุคใหม่
           คนไทยยุคปฏิรูปการศึกษา จะเป็นผู้มีความรู้คู่คุณธรรม และมีความสุข เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ทั้งทางร่างกาย จิตใจ สติปัญญา ความรู้และคุณธรรมมีจริยธรรม และวัฒนธรรมในการดำรงชีวิต, สามารถอยู่ร่วมกับผู้อื่นอย่างมีความสุข เป็นคนไทยที่มองกว้าง คิดไกล ใฝ่สูง มุ่งทำงาน และชาญชีวิต, เป็นผู้ที่คิดเป็น ทำเป็น คิดสร้างสรรค์และรักการเรียนรู้ตลอดชีวิต, เป็นผู้ที่สามารถสร้างความรู้ใหม่ ประดิษฐ์คิดค้นสิ่งใหม่ รักการทำงาน และมีพลวัตในตนเองสูง, และเป็นคนไทยที่มาตรฐานสากล คือ เป็นผู้มีความสามารถทางด้านภาษาสากล เทคโนโลยีสื่ออิเล็กทรอนิกส์, มีความรู้เกี่ยวกับวัฒนธรรมนานาชาติ, มีค่านิยมสากล และสามารถบูรณาการวิถีชีวิตไทยกับสังคมสากลได้อย่างมีความสุข.

iการศึกษาไทยยุคใหม่
        เพื่อให้มีการพัฒนาคนไทยยุคใหม่ เพื่อมีชีวิตที่มีคุณภาพในสังคมไทยยุคใหม่ ภายใต้บริบสังคมโลกใหม่, การศึกษาไทยยุคใหม่มีลักษณะที่สำคัญ ดังนี้
                 1. การศึกษาไทยยุคใหม่ เป็นการศึกษาที่มุ่งสร้างคน สร้างงาน และสร้างชาติ, เป็นการศึกษาแบบองค์รวมและบูรณาการ เชื่อมโยงกับเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม ศาสนา และการเมือง เพื่อพัฒนาประเทศยั่งยืน.
                 2. การศึกษาไทยยุคใหม่ ต้องมุ่งสั่งสมทุนปัญญาไทยและทุนปัญญาโลก.
                3. การศึกษาไทยยุคใหม่ ต้องเน้นผลต่อผู้เรียน ทั้งในระดับนโยบายและระดับการเรียนการสอน, โดยกำหนดนโยบายการศึกษาที่คำนึงถึงประโยชน์ของผู้เรียนเป็นสำคัญ, เปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้เรียนรู้ตามวิถีที่ถนัดและสนใจ เรียนอย่างสนุก เล่นให้ได้ความรู้ และมีความสุขกับการเรียน, ครูสอนโดยยึดผู้เรียนเป็นสำคัญ เปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้คิดวิเคราะห์ คิดสร้างสรรค์ เกิดความเชื่อมั่นในตนเองและมีความสุขกับการทำงาน.
                 4. การศึกษาไทยยุคใหม่ ต้องมุ่งยกระดับงาน ให้เป็นแรงงานคุณภาพ (knowledge workers) ที่เข้มแข็ง และแข่งขัน
              ในมาตรา ๘ ของพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๔๒ ได้ยึดหลักสามประการในการจัดการศึกษา คือเป็นการศึกษาตลอดชีวิตสำหรับประชาชน ให้สังคมมีส่วนร่วมในการจัดการศึกษาและกระบวนการเรียนรู้ให้เป็นไปอย่างต่อเนื่อง, อีกทั้งมาตรา ๙ ได้กำหนดหลักการสำคัญในการจัดระบบโครงสรัางและกระบวนการจัดการศึกษาไว้ ๖ ประการ คือ
       (ก) มีเอกภาพด้านนโยบายและมีความหลากหลายในการปฏิบัติ
       (ข) มีการกระจายอำนาจสู่เขตพื้นการศึกษา สถานศึกษา และองค์ปกครองส่วนท้องถิ่น.
       (ค) มีการกำหนดมาตราฐานการศึกษา และจัดระบบประกันคุณภาพการศึกษาทุกระดับ และประเภทการศึกษา.
       (ง) มีหลักการส่งเสริมมาตรฐานวิชาชีพครู คณาจารย์ และบุคลากรทางการศึกษา และการพัฒนาครูคณาจารย์ และบุคลากรทางการศึกษาอย่างต่อเนื่อง.
       (จ) ระดมทรัพยากรจากแหล่งต่างๆ มาใช้ในการจัดการศึกษา.
       (ฉ) การมีส่วนร่วมของบุคคลครอบครัว ชุมชน องค์กรชุมชน องค์กรปกครองส่วนทัองถิ่นเอกชน องค์กรเอกชน องค์กรวิชาชีพ สถาบันศาสนา สถานประกอบการ และสถาบันสังคมอื่น.
จะเห็นได้ว่า หลักการจัดการศึกษาในพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๓๒ สอดคล้องกับหลักการจัดการศึกษายุคใหม่ เพื่อพัฒนาคนไทยให้เป็นคนไทยยุคใหม่ที่มีคุณภาพ คุณธรรม และคุณค่าแก่สังคมไทย และสังคมโลก มีชีวิตอยู่ร่วมกับผู้อื่นได้อย่างมีความสุข

iเหตุผลและความจำเป็นต้องปฏิรูปการศึกษา

        การศึกษาในปัจจุบันไม่สามารถพฒันาคนไทยให้เป็นคนไทยยุคใหม่ได้ทั้งนี้เพราะ
           1. คุณภาพการศึกษาตกต่ำไม่ทันโลก แข่งขันไม่ได้, กล่าวคือ ความสามารถในการแข่งขันสู้ประเทศเพื่อนบ้านไม่ได้ (ประเทศไทยอยู่อันดับที่ ๓๓ จาก ๔๗ ประเทศ), คุณภาพผู้เรียนไทยเป็นที่พอใจ มีสัมฤทธิ์ผลต่ำในทุกวิชา เช่น สังคมศึกษา (ร้อยละ ๕๕) ภาษาไทย (ร้อย ๔๗) ภาษาอังกฤษ (ร้อยละ 34) และคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ (ร้อยละ 30). ผู้สำเร็จการศึกษามีคุณภาพต่ำ คิดไม่เป็น ทำไม่ได้ แก้ปัญหาไม่ได้ ไม่รักการเรียนรู้ เป็นแรงงานที่มีคุณภาพต่ำ. การเรียนการสอนไม่ได้เน้นความสามารถสากลเท่าที่ควร, ขาดการอบรมบ่มนิสัย ไม่ได้ปลูกฝังคุณธรรม จริยธรรมและภูมิปัญญาไทยอย่างเพียงพอ. ทั้งนี้เพราะคุณภาพครูส่วนใหญ่ไม่ได้มาตรฐาน และหลักสูตรการเรียนการสอนและการประเมินผลผู้เรียน เน้นวิชาและครูเป็นตัวตั้ง ไม่ได้ใหึความสำคัญแก่ผู้เรียน, การเรียนการสอนไม่เชื่อมโยงกับชีวิตจริง เน้นการท่องจำ แต่ไม่เน้นการคิดวิเคราะห์ สังเคราะห์ และการคิดริเริ่มสร้างสรรค์.
          2 .การเข้ารับการศึกษาไม่กว้างขวาง ไม่ทั่วถึง และไม่เป็นธรรม, เกิดความเหลื่อมล้ำในโอกาสการเข้ารับการศึกษา และคุณภาพการศึกษาที่ได้รับ, กล่าวคือ คนไยมีการศึกษาเฉลี่ยเพียง 7.1 ปี, แรงงานอายุ 13 ปีขึ้นไป(48 ล้านคน) ร้อยละ 68 มีการศึกษาระดับประถมศึกษาหรือต่ำกว่า, มีประชาชนอายุ 13-24 ปี ซึ่งเป็นคนในวัยเรียน ถึง 7.1 ล้านคน ที่ยังอยู่นอกระบบการศึกษา. นอกจากนี้ ยังมีคนที่พลาดโอกาสและด้อยโอกาสที่จะเข้ารับการศึกษาขั้นพื้นฐานมีจำนวนมาก เช่น เด็กพิการอายุ 6-17 ปี มีถึงร้อยละ 80 พลาดโอกาสเข้ารับการศึกษา.
          3. การศึกษาแปลกแยกจากสังคม ศาสนา และวัฒนธรรม, กล่าวคือ การศึกษาที่จัดอยู่ในปัจจุบันเป็นการศึกษาแบบแยกส่วน ไม่สอดคล้องกับการดำรงชีวิตในสังคม, อีกทั้งการศึกษาขาดการบูรณาการเชื่อมโยงกับด้านศาสนา ศิลป และวัฒนธรรมเข้าไว้ในกระบวนการเรียนรู้อย่างเหมาะสม, ทำให้ผู้สำเร็จการศึกษาอ่อนด้อยทางคุณภาพ และจริยธรรม และขาดความภูมิใจในศิลปะ และภูมิปัญญาไทย ซึ่งเป็นอันตรายอย่างยิ่งก็การดำรงอยู่ และความมั่นคงสถาพรของชาติไทย.
          4. การบริหารจัดการศึกษาขาดประสิทธิภาพและประสิทธิผล, กล่าวคือ ในปัจจุบันมีการบริหารรวมศูนย์อำนาจสู่ส่วนกลาง, มีการจัดองค์กรซ้ำซ้อน สายบังคับบัญชายาว, ไม่มีเอกภาพด้านนโยบาย และมาตรฐานประสิทธิภาพการใช้ทรัพยากรต่ำ, ขาดการเปิดโอกาสให้ทุกฝ่ายมีส่วนร่วม, วิชาชีพครูตกต่ำ จึงไม่ได้คนดีคนเก่งมาเป็นครู, สังคมขาดศรัทธาและความเชื่อมั่นในวิชาชีพครู, ขาดการพัฒนานโยบายอย่างต่อเนื่อง, ขาดแคลนโครงสร้างพื้นฐานด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ เพื่อเข้าถึงแหล่งเรียนรู้ และขาดความเชื่อมโยงกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และชุมชน.
             การศึกษาในปัจจุบันมีปัญหา จึงทำให้เกิดวิกฤตทางปัญญา แล้วพาให้เกิดวิกฤตชาติ. การแก้วิกฤตต้องทำหลายอย่าง รวมทั้งการรักษาสมุฏฐานด้วยยุทธศาสตร์ทางปัญญา และการปฏิรูปการศึกษาเพื่อความเข้มแข็งทางปัญญาโดยรอบด้านโดยเร็ว. การปฏิรูปการศึกษาจึงเป็นวาระเร่งด่วนของชาติ.

iประเด็นเรื่องสำคัญที่ต้องปฏิรูป
           พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 ซึ่งมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 20 สิงหาคม 2542 เป็นต้นมา ถือได้ว่าเป็นกฎหมายแม่บท ที่เป็นเสมือนธรรมนูญการศึกษาของประเทศ, กล่าวคือ การจัดการศึกษาทุกระดับ ทุกประเภท ทุกรูปแบบต้องดำเนินการโดยยึดพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติฉบับนี้เป็นหลัก. พระราชบัญญัติฉบับนี้ถือเป็นกฎหมายปฏิรูปการศึกษา เพราะได้กำหนดประเด็นเรื่องสำคัญครอบคลุมการศึกษา ทั้งระบบที่ต้องปฏิรูปและกำหนดเงื่อนเวลาด้วย เช่น เรื่องส่วนใหญ่จะต้องปฏิบัติ 3 ปี คือ ภายในวันที่ 20 สิงหาคม 2545 , บางเรื่องก็ให้เวลามากกว่านั้นคือ เรื่องการประกันคุณภาพการศึกษาจากภายนอก ซึ่งให้เวลาไว้ถึง 6 ปี. ในการปฏิรูปการศึกษาตามพระราชบัญญัตินี้ได้กำหนดหน่วยงานรับผิดชอบไว้ด้วย ได้แก่ กระทรวงศึกษาธิการ ทบวงมหาวิทยาลัย สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ และองค์การมหาชนเฉพาะกิจ คือสำนักงานปฏิรูปการศึกษา เพื่อจัดทำกฏหมายปฏิรูปการศึกษาในหมวด 5 ว่าด้วยโครงสร้างและระบบการศึกษา, หมวด 7 ว่าด้วยระบบครู คณาจารย์ และบุคลากรทางการศึกษา, และหมวด 8 ว่าด้วยทรัพยากรละการลงทุนทางการศึกษา
           ในเรื่องสารบัญญัติที่สำคัญต้องถือว่าการปฏิรูปการเรียนรู้ในหมวด 4 เป็นหัวใจการปฏิรูปการศึกษา. ทั้งนี้เพราะระบบการศึกษาที่ผ่านมาไม่เอื้ออำนวยต่อการพัฒนาคุณภาพการศึกษา หรือคุณภาพการเรียนรู้ของผู้เรียนเท่าที่ควร ทำให้คุณภาพของไทยไม่สามารถแข่งขันได้, แต่จะทำเฉพาะปฏิรูปการเรียนรู้ ก็จะไม่บังเกิดผลเท่าที่ควรจำเป็นต้องปฏิรูปเรื่องอื่นๆ ที่เชื่อมโยงกันกับการปฏิรูปการเรียนรู้ โดยเฉพาะการปฏิรูปหลักสูตรและการเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ, การประกันคุณภาพสื่อและเทคโนโลยีการศึกษา และปฏิรูปครู และบุคลากรทางการศึกษา. นอกจากนี้เพื่อให้การปฏิรูปการเรียนเป็นไปได้อย่างสมบูรณ์ และได้ผลยั่งยืน จึงจำเป็นต้องปฏิรูปทรัพยากร และการลงทุนทางการศึกษา และการปฏิรูปโครงสร้างและการบริหารการจัดการศึกษา เพื่อมุ่งเน้นการปฏิรูปการเรียนรู้ที่มุ่งผู้เรียนเป็นสำคัญ เพื่อให้ผู้สำเร็จการศึกษาเป็นคนไทยที่มีคุณภาพและคุณธรรมเข้มแข็ง และแข่งขันได้

ขอบคุณข้อมูลจาก:http://school.obec.go.th/sup_br3/ed_2.htm

คำสำคัญ (Tags): #บริหาร 5
หมายเลขบันทึก: 446028เขียนเมื่อ 26 มิถุนายน 2011 18:30 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 13:47 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

มาเยี่ยมให้กำลังใจ ขอใหมีความสุขในการเรียนรู้ครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท