วิจัยสภาพและความต้องการของผู้เรียนในการจัดการเรียนการสอนรายวิชาการเพาะพันธุ์สัตว์น้ำ


สภาพและความต้องการของผู้เรียน การจัดการเรียนการสอน การเพาะพันธุ์สัตว์น้ำ

บทคัดย่อ

             การวิจัยครั้งนี้   มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาถึงสภาพและความต้องการของผู้เรียนในการจัดการเรียนการสอนรายวิชาการเพาะพันธุ์สัตว์น้ำ  รวมทั้งเปรียบเทียบสภาพและความต้องการในการจัดการเรียนการสอนการเพาะพันธุ์สัตว์น้ำ  โดยศึกษานักศึกษาระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.)  ชั้นปีที่  2 และ 3 จำนวน  62  คน  ของวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีเชียงใหม่  ที่ลงทะเบียนเรียนรายวิชาการเพาะพันธุ์สัตว์น้ำ   และใช้แบบสอบถามเป็นเครื่องมือในการเก็บรวบรวมข้อมูล  สำหรับสถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูลประกอบด้วย   ค่าความถี่  ร้อยละ  ค่าเฉลี่ย  ค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน  และการวิเคราะห์เปรียบเทียบด้วยสถิติ  T – test

            ผลการวิจัยพบว่า  นักศึกษาร้อยละ  68.9 เรียนระดับ ปวช. 2  ร้อยละ  31.1 เรียนระดับ ปวช. 3   เป็นเพศชายร้อยละ 60.7  ส่วนใหญ่มีอายุในช่วง 17 –18 ปี  (ร้อยละ 70.5)  และเคยมีประสบการณ์ในการเพาะพันธุ์สัตว์น้ำมาก่อน (ร้อยละ 36.1) อีกทั้งส่วนใหญ่ยังมีความสนใจในการเพาะพันธุ์สัตว์น้ำในระดับปานกลาง  (ร้อยละ 70.5)     และร้อยละ 75.4 มีความหวังในการเพาะพันธุ์สัตว์น้ำในการพัฒนาทักษะการปฏิบัติจากการเรียนวิชาการเพาะพันธุ์สัตว์น้ำในระดับปานกลาง  นอกจากนั้นร้อยละ 49.3  ยังมีการนำความรู้ที่ได้รับไปทบทวนฝึกปฏิบัติ รวมทั้งร้อยละ 19.4.  ยังมีการนำความรู้ที่ได้รับไปบูรณาการในการเรียนรู้ในรายวิชาที่เกี่ยวข้องเช่น โครงงาน   ในส่วนของสถานภาพของการเข้าร่วมกิจกรรมในสถานศึกษานั้น  ร้อยละ 19.7 เป็นสมาชิกชมรมประมง ร้อยละ 4.9. มีบทบาทในการเข้าร่วมแข่งขันทักษะสาขาวิชาประมง  ในขณะที่ส่วนใหญ่ไม่ได้เป็นสมาชิกชมรมประมง (ร้อยละ62.3)

            ด้านสภาพการจัดการเรียนการสอนพบว่า  นักเรียนส่วนใหญ่เห็นว่าครูผู้สอนมีการปฏิบัติการในการจัดการเรียนการสอนด้านต่าง ๆ ในเกณฑ์เฉลี่ยอยู่ในระดับที่มาก โดยมีระดับค่าเฉลี่ยรวมที่  4.38  ประกอบด้วยการสำรวจความต้องการของผู้เรียนก่อนเรียน ที่ระดับค่าเฉลี่ย  4.18   การเตรียมการด้วยการชี้แจงวัตถุประสงค์ การอธิบายขั้นตอนการเรียนรู้และการทบทวน  ที่ระดับค่าเฉลี่ย 4.39 การดำเนินกิจกรรมการเรียนรู้ ด้วยการใช้เทคนิคการสอนที่หลายหลาย การกระตุ้นความสนใจที่ระดับค่าเฉลี่ย 4.45  มีการวัดและประเมินผลที่ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของผู้เรียนในการประเมินตนเอง ที่ระดับ 4.48 และการจัดสภาพแวดล้อมทั้งทางกายภาพ  สังคม จิตวิทยาที่สนับสนุนการเรียนรู้ที่ระดับ  4.29

            ด้านความต้องการในการจัดการเรียนการสอนพบว่า  นักเรียนส่วนใหญ่มีความต้องการให้ครูผู้สอน ปฏิบัติการในการจัดการเรียนการสอนด้านต่าง ๆ ในเกณฑ์เฉลี่ยอยู่ในระดับที่มาก โดยมีระดับค่าเฉลี่ยรวมที่  4.47  ประกอบด้วยการสำรวจความต้องการของผู้เรียนก่อนเรียน  ที่ระดับค่าเฉลี่ย  4.40   การเตรียมการด้วยการชี้แจงวัตถุประสงค์ การอธิบายขั้นตอนการเรียนรู้และการทบทวน  ที่ระดับค่าเฉลี่ย 4.51 การดำเนินกิจกรรมการเรียนรู้ ด้วยการใช้เทคนิคการสอนที่หลายหลาย การกระตุ้นความสนใจที่ระดับค่าเฉลี่ย 4.53  มีการวัดและประเมินผลที่ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของผู้เรียนในการประเมินตนเอง ที่ระดับ 4.48 และการจัดสภาพแวดล้อมทั้งทางกายภาพ   สังคม และจิตวิทยาที่สนับสนุนการเรียนรู้ที่ระดับ  4.39   อีกทั้งยังต้องการให้มีการแนะนำเรื่องการเตรียมตนเองเพื่อเข้าสู่วิชาชีพด้านการเพาะพันธุ์สัตว์น้ำ  การเพิ่มเวลาในการทบทวนบทเรียนเดิม  การเชิญวิทยากรมาบรรยาย หรือการศึกษาดูงานนอกสถานที่โดยใช้แหล่งวิทยาการต่าง ๆ และการเปิดโอกาสให้ฝึกงานจริงในสถานประกอบการ   เช่นเดียวกับการทดสอบก่อนและหลังเรียนซึ่งผู้เรียนให้ความเห็นว่า เป็นการกระตุ้นการเรียนรู้  อีกทั้งยังมีความต้องการให้มีห้องปฏิบัติด้านการประมงที่มีความพร้อมด้านวัสดุอุปกรณ์   

            และเมื่อนำสภาพการจัดการเรียนการสอนของครูผู้สอนเข้าสู่การวิเคราะห์แบบเปรียบเทียบกับความต้องการของผู้เรียนพบว่า  สภาพการจัดการเรียนการสอนโดยการปฏิบัติของครูมีความสอดคล้องกับความต้องการในการจัดการเรียนการสอนของผู้เรียนอย่างมีนัยสำคัญที่ระดับนัยสำคัญ 0.001

 

หมายเลขบันทึก: 445984เขียนเมื่อ 26 มิถุนายน 2011 13:22 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 19:48 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท