โจ๊ะมาโลลือหล่า : บ้านสบลานกับ "โรงเรียนวิถีชีวิต...."


โรงเรียนนี้ครูไม่ต้องสอนคำว่า "อดทน"...

ช่วงระหว่างกลางของการเดินทาง...

ครั้งที่ข้าพเจ้าเดินทางขึ้นไปถึงจุดสูงสุดของแนวเขา ณ บ้านขุนวิน อันเป็นที่ตั้งของโครงการบ้านเล็กในป่าใหญ่อันเนื่องมาจากพระราชดำริ

Large_td5445

ต่อไปคณะเดินทางก็ต้องปรับแผ่นเท้าเพื่อก้าวเท้าลง และ "ลง"

เช้าวันนั้นเราเตรียมตัวเดินลงจากยอดเขาโดยรู้เบื้องต้นคร่าว ๆ ว่าทางลงนั้น เละ และ "เละ"

คณะเดินทางทุก ๆ เตรียมตัวเตรียมใจที่ "ลื่น" และพร้อมที่จะ "เลอะ" เพราะเมื่อวานก่อนการเดินทางมีทีมสำรวจได้เดินทางล่วงหน้าไปก่อนและกลับมาพร้อมกับสภาพที่ "เละเทะ"

จุดมุ่งหมายสำหรับการเดินทางนั้นอยู่ที่หมู่บ้าน "สบลาน" ซึ่งก็ทราบคร่าว ๆ อีกว่าทางหมู่บ้านได้เตรียมให้พวกเราไปพักกันที่ "โรงเรียน"

 

ในวันนั้นคณะเดินทางของเราไปถึงที่บ้านสบลานในเวลาประมาณ 16.00 น. เนื่องจากมีการแวะที่น้ำตกก่อนถึงหมู่บ้าน 2 แห่ง

 

ครั้นเมื่อไปถึงหมู่บ้าน พี่น้องในหมู่บ้านสบลานนั้นก็บอกว่า "นั่งพักก่อน เดี๋ยวค่อยขึ้นไปโรงเรียน"

ตอนนั้นเราก็งงนิด ๆ ว่า ทำไมต้องนั่งพักด้วย ไปพักที่โรงเรียนเลยก็หมดเรื่อง เพราะโดยปกติโรงเรียนจะตั้งอยู่ในชุมชนนั้นเอง เดินไปให้ถึงแล้วก็พักซะทีเดียว

ช่วงนั้นเอง เราก็ได้ยินครูบาอาจารย์ที่เป็นหัวหน้าทีมคุยกับพี่น้องบ้านสบลานว่า "โรงเรียนอยู่บนเขาต้องขึ้นไปอีกประมาณ 3 กิโล..."

ตอนนั้นเราก็เริ่มงงมากขึ้นว่าโรงเรียนอะไรทำไมอยู่ไกลจัง

อีกซักพักใหญ่ ก็มีคนในชุมชนคนหนึ่งบอกว่า จะเดินนำทางไป ซึ่งตอนนั้นเราออกเดินทางอยู่ในช่วงกลาง ๆ ของคณะฯ

เมื่อเดินพ้นหมู่บ้านออกไป แล้วก็เห็นทางเล็ก ๆ ซึ่งทอดขึ้นไปบนขุนเขาใหญ่จนสุดสายตา เราก็เริ่มแปลกใจอีกแล้วว่า "ไปถูกทางหรือเปล่า"

จากนั้นเราก็เดินดุ่ย ๆ ตามคนข้างหน้าที่ก้าวหน้าเดินอย่างเนือง ๆ

พอเดินขึ้นและขึ้นไปได้สักสิบนาที เหงื่อเริ่มหยด เพราะจากที่เดินมาจากบ้านขุนวินนั้นก็เหนื่อยเต็มที แต่ก็เหงื่อก็ไม่หยดมากเพราะเป็นทางลง แต่ทางไปโรงเรียนที่เขาว่านี่ทำไมมันมีแต่ขึ้นแล้วก็ขึ้น

ตอนนั้นเองเราก็คิดในใจว่า คงจะสื่อสารกันผิดเป็นแน่แท้ โรงเรียนอะไรมันจะอยู่ไกลหมู่บ้านขนาดนี้

เช่นเดียวกับช่างคนหนึ่งซึ่งอุทานออกมาอย่างตรงไปตรงมาว่า "โรงเรียนผีบ้าอะไรจะไปตั้งอยู่บนโน้น"

ขณะนั้นข้าพเจ้าบอกกับกลุ่มที่เดินทางใกล้ ๆ กับข้าพเจ้าว่า หยุดรอตรงนี้ก่อนให้แน่ใจ ไอ้เหนื่อยก็พอสู้ไหวแต่ถ้าไปผิดทางมันจะ "เสียกำลังใจ"

อีกเพียงไม่กี่อึดใจก็ได้ยินเสียงครูบาอาจารย์เดินขึ้นมาแล้วก็บอกว่า "ไปทางนี้แหละ"

จากนั้นข้าพเจ้าก็ก้มหน้าก้มหน้าเดินขึ้นไป เหงื่อไคลก็ไหลย้อย แล้วความคิดในใจก็ถามขึ้นมาตลอดว่าโรงเรียนอะไรจะมาตั้งอยู่บนนี้

ข้าพเจ้าเดินทางไปอีกสิบห้านาทีก็ได้ยินเสียงแว่ว ๆ ข้างหน้าว่า ถูกทางแล้ว ข้างหน้าเป็น "โรงเรียน"

 

เมื่อข้าพเจ้าไปถึงก็เห็นอาคารสองหลังสร้างด้วยไม้ตั้งอยู่บนยอดเขาขนาดย่อม ซึ่งใช้เวลาเดินทางด้วยเท้าขึ้นมาประมาณ 25-30 นาที

โรงเรียนแห่งนี้ไม่มีไฟฟ้า ไม่มีน้ำประปา และไม่ต้องพูดถึง "โทรศัพท์..."

ข้าพเจ้าเก็บความฉงนสนเท่ห์ในใจไว้ตลอดคืนว่า ทำไมเขาถึงมาตั้งโรงเรียนไว้ตรงนี้ ตั้งไว้ที่ยอดเขาซึ่งสูงขนาดนี้

 

เวลานักเรียนจะมาโรงเรียนจะทำอย่างไร ต้องเดินขึ้นเดินลงแบบนี้ทุกวันจะไหวเหรอ พ่อแม่ผู้ปกครองใครจะมาส่ง เพราะทางขึ้นทางลงลื่นและลาดชันมาก

ในตอนเช้า ข้าพเจ้าได้พบกับ "ลุงแคระ" ซึ่งเป็นเสมือนกับผู้นำชุมชนของบ้านสบลานนี้ ซึ่งลุงแคระได้พูดขึ้นมาเกี่ยวกับสาเหตุที่มาตั้งโรงเรียนตรงนี้ว่าเป็น "โรงเรียนวิถีชีวิต..."

ตอนนั้นในใจของข้าพเจ้าได้พูดขึ้นมาคำหนึ่งว่า "อื่ม" วิถีชีวิตจริง ๆ


 

โรงเรียนนี้ครูไม่ต้องสอนคำว่า "อดทน"...

เมื่อก่อนตอนสมัยเรียนข้าพเจ้าเคยได้ยินคุณครูพูดบ่อย ๆ ถึงคำว่าอดทน ความพากเพียร วิริยะ อุตสาหะ แต่จากวันนั้นถึงวันนี้ข้าพเจ้าเข้าใจถึงคำเหล่านั้นมากขึ้น โดยแตกต่างจากเด็กนักเรียนในโรงเรียนนี้ซึ่งสามารถเข้าใจคำว่า "อดทน" ได้ทุกครั้งที่ย่างเท้าก้าวขึ้นมาบน "โรงเรียน"

ข้าพเจ้าคิดย้อนถึงสภาพการเรียนของโรงเรียนในเมืองที่รถเก๋งของพ่อแม่จอดส่งถึงประตูโรงเรียน

นึกถึงรถตู้รับส่งนักเรียนที่สามารถส่งถึงหัวบันได

รถยนต์คันโก้ รถเก๋งคันงาม รถมอเตอร์ไซด์ที่วิ่งฉวัดเฉวียนตามถนนหนทางในมหาวิทยาลัย สิ่งเหล่านั้นไม่สามารถสะท้อนสภาพวิถีชีวิตของคนที่จะต้อง "อดทน" แตกต่างกับโรงเรียนวิถีชีวิตแห่งนี้

สภาพโรงเรียนซึ่งบ่งบอกถึงวิถีชีวิตของตนเองด้วยตนเองนั้น เป็นหลักสูตรการศึกษาที่สำคัญกว่าตัวหนังสือตามตำรา

วิถีชีวิตที่ต้องต่อสู้ ดิ้นรน กระเสือกกระสน ไขว่คว้า เพื่อให้ได้มาซึ่งจุดหมาย ก็มิต่างอะไรกับการที่ต้องเดินขึ้นเขาทวนกระแสแรงโน้มถ่วงของโลก

ในที่นี้ ข้าพเจ้าขอเทิดทูนคุณครูที่ต้องพากเพียรเดินขึ้นมาสอนเด็ก ๆ ทุกวัน เพราะคุณครูก็มิต่างอะไรกับเด็ก ๆ ที่จะต้องใช้ความวิริยะ อุตสาหะ ความพากเพียร อดทน ขึ้นมาให้ความรู้กับเด็ก ๆ ซึ่งจะเป็นอนาคตของเมืองไทย

ดีใดที่ว่าดีเลิศ ดีนั้นจะประเสริฐด้วยการปฏิบัติ

วิถีชีวิตที่สอนความอดทนแฝงไปด้วยการมอบสุขภาพที่แข็งแรง สุขอนามัยที่ถูกต้อง สุขภาวะที่สมบูรณ์ โรงเรียนวิถีชีวิตแห่งนี้ได้มอบความสุขทั้งหลายแก่ทุกคนที่ได้รู้จักความอดทนเมื่อขึ้นมาถึง "โรงเรียน..."

หมายเลขบันทึก: 445128เขียนเมื่อ 21 มิถุนายน 2011 08:58 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 13:46 น. ()สัญญาอนุญาต: ไม่สงวนสิทธิ์ใดๆจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ครูดี คือ ครูที่มุมานะ บากบั่น อุทิศตน สั่งสอน อบรมเพื่อให้ศิษย์ทั้งหลายเป็นคนดี

แต่ครูที่เป็นยอดของครูดี คือ ครูที่มีอุบายในการสอนให้เข้าใจถึงสัจธรรมแห่ง "วิถีชีวิต..."

การที่ "ครู" จะทำให้ "ศิษย์" เข้าถึง "สัจธรรม" ได้จักได้มีอุบายสอดแทรกเข้าไปใน "ชีวิต"

สัจธรรมนั้นจักต้องแทรกซึมผ่านอายตนะทั้ง 6

ไม่มีสัจธรรมใด ๆ จะสอดแทรกลงสู่ก้นบึ้งของหัวใจได้หากไร้ซึ่งหยาดเหงื่อและ "น้ำตา"

โรงเรียนวิถีชีวิตแห่งนี้ สอดแทรกสัจธรรมด้วยหยาดเหงื่อ

บุคคลผู้ทรงภูมิปัญญา ที่มีอุบายอันแยบยล นำโรงเรียนของชุมชนมาตั้งอยู่บนยอดดอยอันสูงตระหง่านเช่นนี้ถือได้ว่าเป็น "ยอดครู"

ครูที่สามารถสอนทุก ๆ คน สอนได้ไม่เพียงแต่เด็กนักเรียน สอนผู้ปกครองหรือแม้กระทั่งสอนข้าพเจ้าเพียงแค่วันหนึ่งของชีวิตได้มาพักอาศัยหลับนอนบนโรงเรียนแห่งนี้

โรงเรียนที่ทำให้ข้าพเจ้าได้เรียนรู้ "วิถีชีวิต"

โรงเรียนที่สอนให้เด็ก ๆ ได้เรียนรู้วิถีชีวิตของพ่อแม่ ว่าท่านจะต้องเหน็ดเหนื่อยอย่างไรในการเดินขึ้นเขาเพื่อไปหาหน่อไม้และของป่า

ชีวิตที่ดำรงคงอยู่ด้วยผืนป่า ไฉนเลยจะหนีจากหยาดเหงื่อที่ชะโลมผืนดินในป่าแห่งนี้ได้

เด็ก ๆ ที่รู้จักความลำบากของพ่อแม่ย่อมเป็นบุคคลผู้รู้บุญรู้คุณ

บุญคุณของผู้ให้กำเนิดและชุบเลี้ยงมาจนเติบใหญ่ ไม่ว่าเขาหรือใครย่อมต้องอาศัย "ความอดทน"

ขันติบารมี จึงเป็นบารมีพื้นฐานสำคัญของชีวิต

เด็กนักเรียนในโรงเรียนแห่งนี้มีขันติบารมีสูง

สูงกว่าข้าพเจ้าและนักเรียนในเมืองกรุงอีกหลากหลายที่

ขอชื่นชมและสรรเสริญคุณความดีให้กับยอดครูทุก ๆ ที่ในผืนแผ่นไทย...

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท