คำว่า "สวัสดี" มาจากไหน?


ปัจจุบันนี้เยาวชนไทย เมื่อพบกันแทนที่จะใช้คำว่า "สวัสดี" กลับนำเอาคำผรุสวาทมาใช้แทน ซึ่งล้วนแต่ไม่เป็นมงคลแก่ตนเองทั้งสิ้น นับเป็นความเสื่อมทางวัฒนธรรมด้านภาษา และจิตใจอย่างมากที่สุด

คำว่า "สวัสดี" มาจากไหน

 

สายที่ 1 มาจากพระยาอุปกิตศิลปสาร

คำ พูดที่คนไทยมักจะพูดกันเสมอเวลาเจอกันคือ "สวัสดี" เราพูดกันตั้งแต่จำความได้นั่นแหละ แต่จะมีใครรู้บ้างมั๊ยเอ่ยว่า คำว่า "สวัสดี" มาจากไหน ใครเป็นคนคิดให้เราพูดคำว่า "สวัสดี" เมื่อเวลาเจอกัน

"สวัสดี" ความ หมาย ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน 2525 สวัสดี หมายถึงความดี ความงาม ความเจริญรุ่งเรือง คำทักทาย หรือพูดขึ้นเมื่อพบหรือจากกัน

สวัสดี ในส่วนที่นำมาใช้เป็นคำทักทายนั้น พระยาอุปกิตศิลปสาร (นิ่ม กาญจนาชีวะ) ได้เล่าถึงต้นเหตุเดิมไว้ว่า เจ้าหน้าที่วิทยุกระจายเสียงได้ใช้คำ "ราตรีสวัสดิ์" ลงท้ายคำพูดเมื่อจบการกระจายเสียงตอนกลางคืน โดยอนุโลมตามคำว่า "กู๊ดไนต์" (Goodnight) ของอังกฤษ แต่มีผู้ไม่เห็นด้วย ทางสถานีวิทยุกระจายเสียง จึงขอให้กรรมการชำระปทานุกรมของกระทรวงธรรมการในสมัยนั้น ช่วยคิดหาคำให้ ตกลงได้คำว่า "สวัสดี" ไปใช้ และเมื่อ พ.ศ.2476 พระยาอุปกิตศิลปสาร ได้นำไปเผยแพร่ให้นิสิต ในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยใช้เป็นคำทักทายเมื่อพบกัน จึงได้แพร่หลายใช้กันต่อมา

ครั้นต่อมาในยุคบำรุงวัฒนธรรม เพื่อส่งเสริมความเจริญก้าวหน้าของชาติ รัฐบาลในสมัยนั้น ก็เห็นชอบกับการใช้คำว่า "สวัสดี" ในโอกาสแรกที่ได้พบกัน ได้มอบให้กรมโฆษณาการ (กรมประชาสัมพันธ์ในปัจจุบัน) ออกข่าวประกาศเมื่อวันที่ 22 มกราคม 2486 ดังต่อไปนี้ (ตัวสะกดและการันต์ในสมัยนั้น)

"ด้วยพณฯ ท่านนายกรัฐมนตรี ได้พิจารนาเห็นว่า เพื่อเปนการส่งเสริมเกียรติแก่ตนและแก่ชาติ ให้สมกับที่เราได้รับความยกย่องว่า คนไทยเปนอารยะชน คำพูดจึงเปนสิ่งหนึ่งที่สแดงภูมิของจิตใจว่าสูงต่ำเพียงใด ฉะนั้นจึงมีคำสั่งให้กำชับ บันดาข้าราชการทุกคนกล่าวคำ "สวัสดี" ต่อกันไนโอกาสที่พบกันครั้งแรกของวัน เพื่อเป็นการผูกไมตรีต่อกัน และฝึกนิสัยไห้กล่าวแต่คำที่เปนมงคล ว่าอะไรว่าตามกัน กับขอไห้ข้าราชการช่วยแนะนำ แก่ผู้ที่อยู่ไนครอบครัวของตนไห้รู้จักกล่าวคำ "สวัสดี" เช่นเดียวกันด้วย" นี่เป็นหลักฐานที่แสดงให้เห็นว่า ทางราชการในสมัยนั้น ได้กำหนดให้ใช้คำว่า สวัสดี ไว้แล้วตั้งแต่ พ.ศ.2486

แต่ ปัจจุบันนี้เยาวชนไทย เมื่อพบกันแทนที่จะใช้คำว่า "สวัสดี" กลับนำเอาคำผรุสวาทมาใช้แทน ซึ่งล้วนแต่ไม่เป็นมงคลแก่ตนเองทั้งสิ้น นับเป็นความเสื่อมทางวัฒนธรรมด้านภาษา และจิตใจอย่างมากที่สุด ใน ปัจจุบันนี้มีชาวต่างประเทศมาเที่ยวเมืองไทยจำนวนมาก ได้พยายามยกมือไหว้และกล่าวคำว่า "สวัสดี-Sawasdee" เพราะเข้าใจวัฒนธรรมของไทยดีขึ้น นับเป็นการส่งเสริมวัฒนธรรมไทยได้ประการหนึ่ง

คำว่า สวัสดี ได้แพร่หลายออกไปอย่างกว้างขวาง จนกลายเป็นคำของ "ชาตินิยม"เป็นวัฒนธรรม อันหยั่งรากฝังลึกลงในจิตใจของชาวไทยทั้งประเทศ อากัปกิริยาของการ"สวัสดี" ผนวกกับ ความมีน้ำใจไมตรีของคนไทย และรอยยิ้มแห่งมิตรภาพ ทำให้คำว่า "สวัสดี" เป็นคำที่มีความหมายมากมายนัก 

ข้อมูลจาก สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ กระทรวงวัฒนธรรม

คำสำคัญ (Tags): #สวัสดี
หมายเลขบันทึก: 445005เขียนเมื่อ 20 มิถุนายน 2011 13:34 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 13:46 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท