เกี่ยวกับผักหวานป่า ทุกคำถามมีคำตอบ


อุฑยานผักหวานป่า'๔๔ มีคำตอบ ( 23 ปี กับภาคปฏิบัติ )

 

   หลากหลายคำถามจากเกษตรกรที่มีใจรักผักหวานป่า ที่มาศึกษาดูงานที่อุฑยานผักหวานป่า'๔๔

 

1 ทำไมผักหวานป่าที่ปลูกไว้ไม่ตาย แต่ก็ไม่โตสักที กี่ปีกี่ปีต้นยังเท่าเดิม

ตอบ: สาเหตุที่ต้นผักหวานป่าที่ปลูกแล้วไม่ตาย แต่ก็ไม่มีการเจริญเติบโตดังนี้

        1.1 ปลูกโดยไม่มีต้นไม้พี่เลี้ยง

        1.2 ต้นไม้พี่เลี้ยงที่ปลูกไม่เอื้อกัน กับต้นผักหวานป่าที่ปลูก

        1.3 ต้นกล้าที่ปลูกเพาะข้ามปี (อายุเกิน 10เดือน) และปลูกในฤดูฝนผักหวานหลับคือไม่กินน้ำไม่กินอาหาร

        1.4 การให้ปุ๋ยที่ไม่เหมาะสมและไม่ถูกช่วงเวลา ที่ผักหวานต้องการ (ช่วงรอยต่อการหลับ-ตื่น ฤดูฝนเข้าสู่ฤดูหนาว การให้ปุ๋ยให้น้ำกับผักหวานเล็กๆ ถือเป็นจุดสำคัญในการปรับตัว)

        1.5 การพรวนดินอยู่เสมอ-รากขาดไม่มีโอกาสเดินราก หลังจากปลูก-หยอดเมล็ดห้ามพรวนดินเด็ดขาด

 

2. ทำไมผักหวานป่าที่ซื้อมาปลูกกี่ต้นๆ ก็ตายหมด (ปลูกไม่เคยรอด)

ตอบ : สาเหตุที่ทำให้ผักหวานป่าที่ปลูกแล้วตายมาจากต้นกล้าที่เพาะเลี้ยงข้ามปี อายุเกิน 10 เดือน ไม่ใช่รากนั่งแท่น ไม่ใช่รากขาด แต่เพราะผักหวานป่าหยุดการเจริญเติบโตทางราก-นอนหลับ (ผักหวานเป็นพืชป่าไม่ชอบสิ่งหรือสารกระตุ้นใดๆ ที่นอกจากธรรมชาติ) นอกจากนี้หากวัสดุที่เพาะเป็นแกลบดำเมื่อนำไปปลูกลงดินในฤดูฝน ทำให้อมน้ำ-รากเน่า และตายในที่สุด

 

3. สภาพดินแบบไหนที่เหมาะสำหรับปลูกผักหวานป่า

ตอบ : ผักหวานสามารถปลูกได้กับดินทุกสภาพ ดินทราย ดินเหนียวปนทราย ดินเหนียวลูกรัง ดินร่วน ฯลฯ แต่ยกเว้นพื้นที่ ที่มีน้ำท่วมขังเป็นเวลานานเกิน 20 วัน สำหรับบางพื้นที่เป็นทราย อมน้ำ(ทรายขี้เป็ด)ก็สามารถปลูกได้ แต่ต้องปรับสภาพพื้นที่ คือการทำร่องระบายน้ำและยกโคนหลุมปลูกให้สูงเป็นเนินหลังเต่า 

         แต่สิ่งที่สอดคล้องกับสภาพดินที่ควรปลูกผักหวานหรือไม่ คือสายพันธุ์ของผักหวานป่า ( ตัวบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์) เพราะมีผลต่อการปลูกผักหวานได้ผลช้าหรือเร็ว ถ้าเป็นดินที่ดีอยู่แล้ว (ไม่เคยใช้สารเคมี) สามารถปลูกได้ทุกสายพันธุ์

        3.1  สายพันธุ์ของผักหวานป่าแบ่งออกได้ 3 ลักษณะ

               - สายพันธุ์ใบมน  (ใบมนเล็ก-ใบมนใหญ่)

               - สายพันธุ์ใบรี    (ใบรีเล็ก-ใบรีใหญ่)

               - สายพันธุ์ใบแหลม (ใบแหลมเล็ก-ใบแหลมใหญ่)

           *สายพันธุ์ใบมน-ใบรี(ผักหวานโคก-ผักหวานภู) มีลักษณะนิสัยที่ทนแล้ง สามารถปลูกกับดินเหนียวลูกรัง พื้นที่แห้งแล้งมีน้ำน้อยได้ดี ถิ่นที่อยู่ (ตัวบ่งชี้ทาง ภูมิศาสตร์)ตามธรรมชาติป่า-ภูเขาจะอยู่โซนป่าเบญจพรรณ ป่าโปร่งผลัดใบ อยู่ตามชายเขา (โคก, ป่าแพะ) เมื่อสายพันธุ์ (เมล็ด) ถูกปรับสภาพจากพ่อแม่ที่ทนแล้ง (แดด) ได้ดีแล้วเมื่อนำมาปลูกในสภาพดินที่แห้งแล้ง ย่อมจะปรับตัวอยู่ได้ดี

            *สายพันธุ์ใบแหลม (ผักหวานป่า, ผักหวานดง) เรียกชื่อตามถิ่นที่อยู่(ตัวบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์) ซึ่งสายพันธุ์ใบแหลมจะอยู่ในป่าบริเวณที่มีความสมบูรณ์ (ป่าดิบชื้น) มีความชุ่มชื้น หน้าดินมีความร่วนซุย ระบายน้ำได้ดี (หน้าดินไม่แข็ง) จึงเหมาะสำหรับปลูกในสภาพดินทราย (หน้าดินเป็นทราย) พื้นที่มีหน้าดินลึก ร่วนซุย และพื้นที่ดินร่วนซุยสามารถปลูกได้ทุกสายพันธุ์ แต่ต้องมีการปรับปรุงดินด้วยปุ๋ยอินทรีย์ชีวภาพอยู่เสมอ  (ดินดีวัดผลได้จากตัวจุลินทรีย์ และไส้เดือน)

          ผักหวานป่าทั้ง 3 สายพันธุ์มีอยู่ทั่วทุกภาคของประเทศไทย (ในภูเขาหนึ่งลูกจะมีทั้ง 3 สายพันธุ์) แต่การปลูกผักหวานป่าทั้ง 3 สายพันธุ์ที่ได้กล่าวมาที่ปลูกได้กับดินทุกสภาพ แต่ต้องปลูกกับต้นตะขบ (หรือภายใต้ร่มเงาของต้นตะขบที่มีอยู่แล้ว) ซึ่งผักหวานป่าที่ปลูกกับต้นตะขบอายุ 3-4 ปี มีความสูง 2-4 เมตร  โดยเฉลี่ยสามารถเก็บยอดได้ แต่เมื่อปลูกกับต้นไม้ชนิดอื่นๆ ผักหวานโตช้ามาก อายุ 7ปี ความสูง 1-4 เมตร

 

4. ผักหวานป่าต้องปลูกกับดินจอมปลวกหรือไม่

ตอบ :ผักหวานไม่จำเป็นต้องปลูกกับดินจอมปลวก (ดินโพน) หรือนำดินจากจอมปลวกมารองก้นหลุม (ข้อสังเกต : ผักหวานกับจอมปลวกอะไรอยู่ก่อนกัน) หากเรามองตามความเป็นจริงตรงที่ว่า ผักหวานป่าไม่ได้มีรสชาดที่หวานเฉพาะส่วนของยอดอ่อนเท่านั้น แต่ใบแก่, ดอก, เมล็ดอ่อน, เมล็ดสุกก็หวานเช่นเดียวกัน หวานทั้งต้นแต่คนส่วนมากนิยมรับประทานเฉพาะยอดอ่อน เมื่อใบแก่ร่วงหล่นลงดินตามธรรมชาติของต้นไม้ต้องผลัดใบ ปลวกซึ่งกินใบไม้เป็นอาหารเมื่อมาเจออาหารที่อร่อย (หวาน) และหายากมีจำนวนมาก (ใบผักหวาน)

       โดยธรรมชาติของสัตว์(รวมทั้งมนุษย์)เมื่อพบแหล่งอาหารที่อุดมสมบูรณ์ก็สร้างหลักปักฐานปักหลักสร้าบ้าน (ออกลูกออกหลาน)ซึ่งสิ่งเหล่านี้คือที่มาของผักหวากับจอมปลวก ด้วยเหตุนี้ปลวกมาอาศัยกินใบผักหวานและปลวกขับถ่ายออกมาให้เป็นปุ๋ยกับผักหวาน(พึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน)

 

5. ผักหวานป่าสามารถปลูกเพื่อสร้างวัตถุดิบ เพื่อพัฒนาเป็นเกษตรอุตสาหกรรม-วิสาหกิจชุมชนได้หรือไม่

ตอบ : สามารถปลูกได้ (ผลิต)ด้วยวิธีหยอดเมล็ดคู่กับต้นตะขบ แต่ก่อนลงมือปลูกจะต้องมีการวางแผนปลูกในพื้นที่เกี่ยวกับสภาพดิน-น้ำ-ปุ๋ย ที่สำคัญการศึกษาทำความเข้าใจกับนิสัยใจคอของผักหวานป่า เพราะมีผลต่อการปลูกผักหวานป่าประสบผลสำเร็จ (ปลูกผักหวานต้องทำตามใจผักหวาน ไม่ใช่ทำตามใจคนกำหนด)

 

6.  ตลาดของผักหวานป่า

ตอบ : ปัจจุบันเฉพาะยอดอ่อนของผักหวานมีไม่เพียงพอต่อความต้องการ ยอดส่วนมากนำมาจากธรรมชาติป่า-ภูเขา ยิ่งในแหล่งธรรมชาติผักหวานถูกทำลายมากเท่าไหร่ความต้องการและราคายิ่งนับวันสูงขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งผู้บริโภคผักหวานป่าส่วนใหญ่อยู่ในชนบท การหากินลำบากและคนส่วนใหญ่รู้จักผักหวานป่าเป็นอย่างดี(กิโลกรัมละ 100บาทคนก็แย่งกันซื้อ ข้อมูลจากญาติที่นำผักหวานไปขายตามหมู่บ้าน)หากผลผลิตมีจำนวนมาก สามารถแปรรูปเป็นอุตสาหกรรมการเกษตรและส่งออก(ออร์แกนิกฟู้ด)

        การกำหนดของคนทำให้เกิดผลกระทบจากธรรมชาติคือการบังคับนอกฤดู ทั้งที่ประเทศไทยมีพืชผัก ผลไม้พื้นถิ่นหรือพืชเสริมในแต่ละฤดูกาลมากมาย และสามารถรับประทานนอกฤดูกาลอย่างปลอดภัยจากสารเคมีได้ด้วยการถนอมอาหาร และแปรรูป แต่วันนี้มนุษย์เรากำลังลืม (ทิ้ง) รากเหง้าของตนเอง

 

             คนไทยเราโชคดีที่ได้อยู่ในประเทศที่มีดิน น้ำ อากาศที่เอื้อต่อการทำการเกษตรพืชผักผลไม้ กุ้ง หอย ปู-ปลาอุดมสมบูรณ์มาตั้งแต่รุ่นปู่ย่าตายาย (บรรพบุรุษ) แต่วันนี้คนไทยส่วนใหญ่ (เกษตรกร) มุ่งเน้นไปที่ความสะดวก (เงิน) จนลืมวิถีชีวิต วันนี้ได้เงินมาแต่ของกิน สิ่งแวดล้อม อุดมไปด้วยสารพิษ ที่มองไม่เห็นด้วยตาเปล่า (พยาธิว่าร้ายแต่ก็สามารถมองเห็นตัว) พืช, สัตว์ -ดิน-น้ำ (สารเคมีจากพืชและสัตว์ลงสู่ดิน ฤดูฝนไหลรวมลงสู่แหล่งน้ำ) คนรุ่นต่อไปจะอยู่อย่างไร? 

       .....เรากำลังจะลืมความโชคดีนั้น..... 

 

 

  
 

หมายเลขบันทึก: 444422เขียนเมื่อ 17 มิถุนายน 2011 15:18 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 สิงหาคม 2012 13:29 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (13)

สวัสดีค่ะ

Ico64

คุณน้อย น้ำพอง...สนใจแวะมาอ่าน'เกี่ยวกับผักหวานป่า ทุกคำถามมีคำตอบ' มีประโยชน์มากค่ะ...ขอบคุณค่ะ

..." ที่สำคัญการศึกษาทำความเข้าใจกับนิสัยใจคอของผักหวานป่า"

นั่นไง ต้องตามใจผักหวานป่า

ขอบคุณมากนะคะ คุณน้อย ที่ตั้งใจนำข้อมูลมาแบ่งปัน

ปลูกผักหวานกับมะรุมแทนตะขบจะได้ไหมหนอ?

จะตามเรียนรู้เก็บรายละเอียดค่ะ


 

ขอบพระคุณค่ะ ท่านอาจารย์พจนา แย้มนัยนา ที่มอบดอกไม้และกำลังใจ ชอบฝีมือการถ่ายภาพของอาจารย์ค่ะโอกาสหน้าจะเข้าไปเยี่ยมชมอีก ขอบคุณค่ะ.

ขอบพระคุณ คุณหญ้า @ แสนฝน ( ชื่อดีมีความหมายน่าชวนมาเที่ยวที่สวนบ่อยๆ(ให้น้ำผักหวานหน้าแล้ง)เพราะแห้งแล้งเหลือเกิน แต่มาเฉพาะแสนฝนนะคะ ส่วนหญ้ามีเยอะแล้ว ) ส่วนที่ถามว่า ปลูกผักหวานป่ากับมะรุมแทนตะขบได้ไหม ตอบว่าได้ค่ะ

แต่ก็ขอตอบอย่างชัดเจนเช่นกันค่ะว่า ผักหวานป่าที่ปลูกับต้นมะรุม5-7ปีถึงจะได้เก็บยอดกิน 10ปีออกดอก

แต่หากปลูกคู่กับต้นตะขบ3ปีเก็บยอดขาย 4ปีออกดอก (นี่คือสิ่งมีค่าที่ตะขบมอบให้ผู้ปลูกก็คือ "เวลา" และความหมายแรกของคำว่า "เปิดใจ"

ขอแค่พื้นที่เล็กๆในหัวใจคนรักษ์(ปลูก)ผักหวาน ให้ตะขบได้อยู่ด้วยแล้วท่านจะไม่ผิดหวัง (ทุกคนมัวคิดแต่ว่าต้นไม้อื่นๆมีประโยชน์กว่าต้นตะขบก็เลยมองผ่าน(นอกสายตา) แล้วลองคิดมุมกลับตรงที่ปลูกตะขบ+ผักหวาน+มะรุมผสมผสานอยู่ในบริเวณเดียวบ้างสิคะ อาจจะไม่ใช่หลุมเดียวกันแต่ก็มองเห็นกันสัมผัสกันได้

ปล่อยให้ธรรมชาติเรียบเรียง ความเป็นพี่ เป็นน้องกันเอง มนุษย์เราไม่ใช่ต้นไม้อย่าสรุป(ตอบ)แทนต้นไม้

3อย่างๆละ35ก็เกินร้อย ( เวลา+รุม+หวาน ) ต้นไม้ทุกชนิดมีมุม(ด้าน)ที่เป็นประโยชน์ มีประโยชน์ด้วยกันทุกๆต้น แต่อยู่ที่คนต่างหากที่จะ(ตาถึง)มองเห็นคุณค่าเหล่านั้นหรือไม่ (

บางคนยังบอกอีกว่า ตะขบ ชื่อไม่ดีมีอาเพศ จะขบ(กัด)กัน ต้นไม้เกิดมาไม่เคยพูดซักคำ ชื่อไปตั้งให้เค้าเองแล้วก็บอกว่าเค้าไม่ดีแบบนั้นแบบนี้ ช่างเป็นไปได้คน) "แค่เปลียนความคิดชีวิตก็เปลี่ยน" ขอบคุณค่ะ

สวัสดีค่ะคุณน้อย

แหม...กำลังจะเนรเทศ...แสนฝนไปจากปทุมฯและกทม.พอดีค่ะ^__^

กำลังร่ำๆจะเปลี่ยนชื่อ เพื่อนลุ้นว่าเหมาะดีแล้ว

แต่ตัวเองว่าเรียกยากพิลึก

แต่ชอบ..ฟังดีความหมายก็...ใช่เลย

(ลอกเลียนมาจากชื่อเจ้าของบทกวีดีๆคนหนึ่งค่ะ เติมสัญลักษณ์อื่นไปหนึ่งตัว)

สูตร สามประสาน...

เวลา(ตะขบ)+มะรุม+ผักหวาน 

จากความฝัน เริ่มเห็นความหวังรางๆ ในใจแล้วค่ะ

ที่สวนกลางทุ่ง(ของน้องสาว)มีสระน้ำ

ลงผักเม็ก(เสม็ด)ไว้ ต้นโตแข็งแรงเหมือนอยู่ในป่าเลยค่ะ

อีกไม่นานนน จะมีต้นผักหวานป่าไปเป็นเพื่อนแล้ววว

ขอบพระคุณค่ะ สำหรับความหวังและกำลังใจ

"แค่เปลียนความคิดชีวิตก็เปลี่ยน"!

ด้วยความยินดีค่ะ คุณหญ้า @ แสนฝน ช่วยๆแบ่งปันกันเพื่อสีเขียวจะได้เพิ่มๆขึ้นอีก อยู่(ปลูก)ที่ไหนก็แผ่นดินไทยเหมือนกัน.(ถ้าคุยเรื่องต้นไม้ โดยเฉพาะผักหวานป่าและเพื่อนผักหวานคุยกันไม่มีเบื่อ สบายใจดี) ขอแค่มีต้นไม้ในใจและสิ่งสำคัญคือ" ลงมือทำ " วันนี้ที่มีอยู่(ปัจจุบัน)อย่ารอพรุ่งนี้ (สำหรับผักหวานป่าไม่จำเป็นต้องรู้ใจ ขอแค่ความเข้าใจ ก็เพียงพอ)

พื้นที่ที่(คิด)จะปลูกผักหวานอยู่ที่ไหนคะ น้ำท่วมไหม? ดินแบบไหน? พื้นที่โล่ง? สวน? หรือป่า? ถ้ามีรูปภาพของพื้นที่ให้ดูด้วยก็ดีนะคะ (กำลังชวนปลูกผักหวานป่านะคะนี่ ลงมือทำทันที) การที่จะปลูกผักหวานป่าสำเร็จในสูตรตะขบเป็นแม่นม ( "อุฑยานผักหวานป่า'๔๔" )นั้น. หัวใจที่ศรัทธา(เชื่อมั่น)ในตัวเองและผักหวานป่าคือสิ่งสำคัญที่สุดค่ะ

ไม่ใช่อยู่ที่เงินมากหรือน้อย เพราะต้องค่อยๆทำจากน้อยไปหามาก เรียนรู้พื้นที่ เรียนรู้นิสัยใจคอของผักหวานป่าไปพร้อมๆกัน เมื่อเข้าใจและเชื่อมั่นลให้ต็มพื้นที่(หวานทั้งสวน)ได้เลยค่ะ. ส่วนมากคนที่ไม่ต้องวางแผนให้ยุ่งยาก คิดแค่ว่ามีเงิน(ทุน)หาซื้อต้นพันธุ์(เม็ด)ราคาถูกๆ ทำทีเยอะๆ (โอกาสพลาดมีเยอะ)เพราะมันไม่ใช่ผักหวานป่า และไม่ได้ผักหวานป่าแต่ได้ใจคนแทน (ได้ปลูก ไม่ใช่ปลูกได้)

เพราะสิ่งที่มนุษย์เราเรียกว่าเทคโนโลยี่ สารเร่ง ฮอร์โมน บังคับนอกฤดูต่างๆที่ทำให้ธรรมชาติเป็นแบบนี้ ดิฉันคิดว่าไม่ใช่ธรรมชาติหรอกค่ะที่ผิดเพี้ยนไปแต่เป็น "คน"ต่างหาก ( ที่มีตามฤดูการก็ไม่(อยาก)กิน กลับอยากกินในสิ่ง(เวลา)ที่ไม่มี ปลูกแทบตายกว่าจะติดผลผลิตให้ได้กินกลับนำไปเททิ้ง(ราคาตก) สัตว์ก็เช่นกันค่ะเลี้ยงเยอะฆ่าทิ้งก็เยอะ(เกิดโรค)

เหตุจากคำว่าไม่เพียงพอต่อความต้องการ(ตอบสนองความอยาก) เพราะความเร่งรีบทำให้มนุษย์เรามองไม่เห็นตัวเอง กลับมองเห็นแต่คนอื่นๆ ไม่ว่ามนุษย์เราจะเร่งรีบแค่ไหน เวลาก็ยังเดินอยู่ปกติและผ่านไปล่วงไปตามกาลของเวลา ใช่ว่าเราใช้เวลาแต่ความจริงคือเราได้ใช้ชีวิตคุ้มค่ากับเวลาที่ผ่านล่วงเลยมาและกำลังจะผ่านไปอีก 1วัน ทำ3ประโยชน์(ประโยชน์ตน ประโยชน์ท่าน และประโยชน์อย่างยิ่งในภายภาคหน้า มากน้อยแค่ไหนต่างหาก เราใช้ธรรมชาติตั้งแต่เกิด แต่เราคืนสิ่งดีๆ(ประโยชน์)ให้กับธรรมชาติค้มค่าพอหรือยัง พูดมากขนาดนี้ คงตื่นจากฝันได้นะคะคุณแสนฝน สวัสดีค่ะ

แง่ม แง่ม แง่ม กำลังฝันเพลินเลยจ้า อิอิ

ปีนี้ส่งตังค์ไปให้น้องทำรั้ว รอบสวนน้อยๆ

ฝันว่าจะลงมะรุม ย่านาง ฯลฯ 

แต่...มีอันเป็นไป ต้องไปใช้อย่างอื่นเสียแล้วค่ะ

บ่อยครั้งที่กำลังชื่นใจกับต้นหมากรากไม้

แต่อุปสรรคใหญ่คือวัวค่ะ แถวบ้านเลี้ยงวัวกันเยอะ

ที่นา-สวน อยู่ติดหนองน้ำ ติดหมู่บ้าน ดินงามใช้ได้ค่ะ

แต่นั่นหละ ถ้าไม่มีรั้ว ก็รอดยากส์ส์ส์ค่ะ

ไม่ได้เก็บภาพ ตรงเนินที่อยากปลูกต้นไม้มา

มีเพียงภาพท้องนา และหนองน้ำหน้าบ้านค่ะ

  


สวัสดีค่ะคุณหญ้า @ แสนฝน แค่เห็นภาพหนองน้ำและทำเลสวนของคุณแสนฝนแล้ว(ขออนุญาตเรียกสั้นๆนะคะ)

คนอยู่บนโคกบอกตรงๆอิจฉาค่ะ

ที่จริงหากคิดที่จะลงมือทำการเกษตรไม่จำเป็นต้องมีที่ดินมากมายแค่ 1งานหรือ 1ไร่ ก็แทบจะไม่มีเวลาออกไปไหน คลุกอยู่กับต้นไม้ทั้งวัน(ถ้าทำสวน-การเกษตรแบบผสมผสาน พอเพียงตามแนวพระราชดำริฯ)

ปลูกต้นตะขบ 10ต้นก็จะได้ผักหวานป่า 100ต้น ปลูกพริก มะเขือเปราะ มะเขือพวง ข่า ตะไคร้ ใบมะกรูด กระเพรา ชะพลู แมงลัก โหระพา ผักติ้ว ผักกระโดน มะนาว มะพร้าว ดอกแค ไผ่ ฯลฯ(ปลูกร้อยย่างๆละ 10%ก็ได้แล้ว100%)

ไม่ต้องมากมายอย่างละแปลงหรือ ชนิดละ4-5ต้น(ไม้ผล ผักอายุสั้น)ปลูกคละกันผสมผสาน(เวลาแมลงมาเค้าก็จะกินแค่อย่างละนิดอย่างละหน่อยก็เต็มท้องแมลงแล้ว ไม่เหมือนคนกินทีเป็นกระสอบ เป็นรถปิกอัพ)

ส่วนรั้ว(ก็ปลูกเงินแทนรั้วเหล็ก) โดยปลูกชะอม ขี้เหล็ก กระถินเล็กฯจัดให้ถี่ๆไปเลยค่ะ กันวัวได้สบายแถมช่วยกันคนได้อีก(แบ่งๆกันกินค่ะยิ่งเก็บยิ่งแตกยอด จะได้กัลยาณมิตร แทนมิตรปราถนาดีแต่ประสงค์ร้าย) ในเมื่อโลกดำเนินมาถึงจุดนี้เราอย่าไปฝืนแต่ปรับสภาพวิถีชีวิตให้เรียบง่ายและอยู่ได้ตามวิถีสังคมน้ำใจและแบ่งปัน(เราเลือกได้ค่ะโดยการทำ)

ไม่ต้องมีที่ดินมากมายก็สร้างความสุขได้ในบั้นปลายแล้วค่ะคุณแสนฝน แค่ต้นไม้ใบหญ้าที่เอ่ยชื่ออยู่ในเบื้องต้น คือพืชพื้นถิ่นแลงไม่ค่อยมีโรคไม่เยอะ แถมคนต้องกินต้องใช้โดยเฉพาะตัวเราเอง (หากเราต้องซื้อก็หลายตังค์นะคะ เมื่อประหยัดการจ่ายก็เท่ากับเราเก็บเงินเช่นกัน) แต่กำไลสูงสุดที่ได้การได้ทานผักสดๆเราปลูกเอง

วัวมีเยอะก็ดีสิค่ะ โรงงานผลิตปุ๋ยทั้งนั้นใส่แล้วดินดีมีไส้เดือนเยอะ ลงในน้ำนาข้าวก็งาม กุ้ง หอย ปู ปลา กบเขียดก็จะกลับมา ดีกว่าใส่ปุ๋ยกระสอบละ1,000บาท เสียอีกค่ะ เหลือกินค่อยขาย เก็บพันธุ์ไว้ใช้ปลูกเอง ขาดทุนกำไรดั่งคำพ่อหลวงท่านทรงสอนเอาไว้ให้ทำไม่ใช่แค่จดจำ

แค่นี้ก็สุขล้น ล้นสุข(ถึงทุกข์จะมีก็ยินดีรับใช้) เหลือแบ่งให้กับใครๆได้อีกมากมายหลายกระบุงโกย ( ทำเลแบบนี้ น้ำแบบนี้ ทำการเกษตรรูปแบบนี้คือความฝันของดิฉันเลยนะคะคุณแสนฝน แต่ชาตินี้คงได้แค่ฝันค้างเพราะตกอยู่ตรงกลางโคก ดินเหนียวปนหินแถมแข็งชนิดจอบขุดไม่เข้าแค่ปรุงดินยังใช้เวลาเกือบสิบปี ชีวิตนี้โหยหาน้ำ(สิ่งสุดท้ายก่อนตายที่จะทำคือระบบน้ำ สัญญากับต้นไม้) แปลงที่ดินดีน้ำดีก็ของพ่อแม่แต่ไม่ชอบปลูก "ฉันจะทำแต่นาอย่างเดียว" (วิถี-ชีวิตคนละฝั่งน้ำ)

แต่คุณแสนฝนแค่ลงมือทำไม่ถึงปีก็พบความสุขแล้วเพราะอายุของพืชไม่เท่ากัน สั้น-กลาง-ยาว ทำจากน้อยๆไปหามาก ลดต้นทุนให้มากสุด ใช้ชีวิตช้าๆแต่ยั่งยืน แล้วชีวิตนี้ยังจะต้องการอะไรอีกคะ "เงินทองเป็นมายา ข้าวปลาเป็นของจริง"

ปล.สบายก่อนลำบากทีหลัง ลำบากก่อนสบายทีหลัง (ตอนหนุ่มมีกำลังแรงกายไฟหัวใจฮึดสู้จงรีบทำ รอตอนแก่ แค่จะยกจอบ ก็โอดโอยยยย์.) นี่คือความจริงของมนุษย์ที่ธรรมชาติสร้างให้มาร่างกาย(ให้มาใช้) ใช้หรือไม่ใช้มันวันหนึ่งก็หมดอายุไปเอง รึใครไม่แก่...! ช่วยยกมือขึ้น....(เธอหลอกตัวเอง) ได้เวลาตื่นจากฝันแล้วมาทำฝันให้เป็นจริง! ได้แล้วคุณหญ้า @ แสนฝน

โอววว ขออภัยไม่ได้มาตามผักหวาน มัวทำการบ้านอยู่นะคะ เรียนรู้ช้า และเวลามีน้อย

ขอบคุณมากนะคะ สำหรับกำลังใจมากมาย กระตุกให้ "ตื่นจากความฝัน" ซะที

เฮ้อออ...แสนฝนมีพันธกิจ และภาระกิจมัดตัวแน่นหนาเสียแล้วหละค่ะคุณน้อย

ตอนแรกกะว่าปีนี้จะได้กลับไปลุยสวนเดือนละยี่สิบวัน(ดูแลคุณแม่เป็นหลัก)ปลายเดือนวิ่งกลับมาทำงานที่กทม. 

แต่มีอันต้องเอวัง ม้วนเสื่อ เพราะที่ทำงานมีปัญหา คนทุจริตยักยอกเงินบริษัท

เลยต้องทำงานทั้งหน้าที่ตัวเองและแทนเพื่อนที่ออกค่ะ แห้วววเลย 

หาคนทำงานแทนยากเย็นแสนเข็นทีเดียวค่ะ ฝันจึงค้างอีกตามระเบียบ พัก เฮ้อออ

เอาน่า ตั้งใจ คุยไว้แล้ว อายุสักห้าสิบจะเป็นวัยรุ่งโรจน์โชติช่วงชัชวาลตามที่ฝันเลยเชียว หละค่ะ อิอิ

ขอบคุณมากนะคะ  สำหรับความเป็นเพื่อนที่ชักชวนกันสู่วิถีอันพึงปราถนา ^___^


ขอบคุณเช่นเดียวกันค่ะคุณแสนฝน เอาน่า!อย่าพึ่งถอย ตราบใดที่มีฝันย่อมมีความหวัง เมื่อมีความหวังคงได้ลงมือซักวัน แต่50ปีคงนานไปมั้งถึงวันนั้นแค่คิดก็หมดแรงขุดแล้ว ทำการเกษตรไม่ต้องถึงเดือนละยี่สิบวันก็ได้ อยู่ที่ชนิด-ประเภทพันธุ์ไม้ที่เราปลูก(อาทิตย์ละ1-2วันก็ทำได้) ปลูกต้นตะขบ5ต้นก็เห็นแล้ว ผักหวานป่า50ต้น(สูตรหยอดด้วยเมล็ดไม่ต้องขุดหลุมให้เมื่อย) ปลูกไม้ผล ขนุน มะม่วง เน้นของที่เราและคนในบ้านชอบทานเป็นหลัก ปลูกวันนี้อีก3-5ปี ได้ชิมได้ชื่นใจกับสิ่งที่ทำ ดีกว่ารออีก3-5ปีค่อยลงมือทำนะคะ(ทำรอ อย่ารอทำ)

ดูแล้วคงเป็นรุ่นพี่ดิฉันไม่กี่ปีเองมั้ง พึ่งยี่สิบกว่าๆเอง(เก็บไว้ก่อนสิบปี) รอ50 ปี นานไปแล้ว.แต่สิ่งต่างๆในชีวิตคนเราหลายเรื่องที่คิดอยากทำแต่ไม่ได้ทำ ส่วนที่ไม่เคยคิดจะทำกลับได้ทำซะงั้นก็เยอะแยะ

สบายๆไม่ต้องอะไรมากมายทุกสิ่งทุกอย่างเมื่อถึงเวลาที่เหมาะสม(จะได้ทำ)มันเป็นไปเองแต่ถ้ายังไม่ถึงเวลาต่อให้อยาก-ทำแค่ไหนมันก็ไม่ได้ทำ. เพราะเจอมาแล้วกับตัวเอง.....(หาทุกข์ใส่ใจ)

สวัสดีจ้า สาวน้อย น้ำพอง

พี่แสนฝนคงจะเป็นอาแล้วมังนะ

ตอนนี้ก็ปลูกถั่วงอกไปพลางๆก่อน ฮะฮ่า

อ้อ บนโต๊ะทำงาน จะกลายเป็นไร่ตะบองเพ็ชรแว้ววอิอิ

ระเบียงที่พักบนตึกชั้นสี่ เต็มไปด้วยกระถางผัก

ตอนนี้ ต้องเก็บหมด แอบปลูกหูเสือชั้นสอง

ใกล้ห้องทำงานสามสี่กระถาง พอแก้ขัด

ต้องปีนหน้าต่างออกไปเก็บ 

ใกล้ๆหน้าต่าง เหี้ยนเตียน แตกไม่ทันกิน

แอบปลูกแทรกกระถางใหญ่เค้านะ

มันเลื้อยลงพื้นออกไปรับแดดสลอนเลย

  


 



สวัสดีค่ะคุณแสนฝนเป็นอะไรก็ไม่ว่ากันถ้าหัวใจสีเขียวเหมือนกันก็ok(รักนะคะ) ชอบทานผักเหมือนกันมิน่าถึงได้ อารมณ์ดีเพราะมีความสุข แบบนี้นี่เอง!... คืนนี้หัวใจว้าวุ่น(ไม่ใช่...) ท่ามกลางป่าไม้ในสวน ท้องถนนรถราหยุดวิ่งเงียบสงบบวกเสียงจิ้งหรีด

ใจไม่ยอมหลับ ก็เลยถือโอกาสมาหาความรู้ เพิ่มพูนประสบการณ์จากเหล่าผู้รู้ในโลกกว้าง และก็ไม่ผิดหวังได้ทั้งอาหารตาอาหารใจ บำรุงสมองน้อยๆ ผักงามเหลือหลายดั่งหัวใจคนปลูก กินเมื่อไหร่คงได้โอสถทิพย์เมื่อนั้น ปลูกบุญได้บุญปลูกผักได้อาหารทิพย์ (ปลูกผักหวานคงหวานทั้งป่า) ขอบคุณค่ะ....

ยากร่วมวงด้วยครับ กำลังเบื่อทะเลครับ

 พูดถึงทะเลก็ต้องนึกถึงทางภาคใต้ค่ะ...แถบทางนู้หากมีผักหวานป่าจะเป็นสายพันธุ์ใบแหลมค่ะและพืชอีกชนิดที่ลักษณะคล้ายๆกับผักหวานป่า(แต่ไม่ใช่ผักหวานป่า)ทางภาคใต้เรียกว่า"ผักพู"ค่ะ..

...ขอบคุณค่ะ...

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท