การสื่อสารกับการครอบงำความคิด


“ ผู้ใดครอบครองสื่อ ผู้นั้นครอบครองโลก ”

การสื่อสารกับการครอบงำความคิด
กรณีศึกษา : กรณีวิพากษ์ของสนธิที่มีต่อการทำงานของนายกทักษิณ 

--------------------------------------------------------------------------------
 
โดย : เจ้าหมาน้อย

 

             อำนาจของคนอยู่ที่ข้อมูลข่าวสาร The information is power ....... ในยุคสมัยหนึ่งเคยเป็นข้อความที่มีความหมายและสะท้อนให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงในยุคปัจจุบัน ทว่า หลายคนอาจยังไม่เคยรู้เลยว่า ท่ามกลางกระแสของสังคมที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างติดจรวดนี้ ยังมีอำนาจอีกอำนาจหนึ่งซึ่งกล่าวได้ว่า เป็นอำนาจในการเปลี่ยนแปลงโลก ผู้เขียนอยากให้ลองพิจารณาประโยคต่อไปนี้ ก่อนจะอ่านบทความต่อไป “ ผู้ใดครอบครองสื่อ ผู้นั้นครอบครองโลก ” แล้วเหตุใดสื่อจึงทรงพลังอำนาจที่จะครอบครองโลกเช่นนั้น? บทความนี้อาจจะให้คำตอบแก่ท่านผู้อ่านหรือไม่นั้น ไม่สำคัญไปกว่าการที่ผู้เขียนได้เสนอมุมมองต่อสื่อซึ่งอาจส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงความคิดของผู้ที่สำนึกตนเองว่า คือ พลเมือง

         อิทธิพลของสื่อในโลกยุคปัจจุบัน : พลังอำนาจขึ้นอยู่กับการใช้  “ ผู้ใดครอบครองสื่อ ผู้นั้นครอบครองโลก ” วาทะบทนี้อาจจะเป็นจริงก็ได้ แม้ว่าจะดูเป็นเรื่องเข้าใจยากในยุคปัจจุบัน แต่เราต้องยอมรับว่า “ สื่อ ” มีบทบาทสูงอย่างยิ่ง เพราะมันเป็นสะพานที่เชื่อมต่อไปยังวัตถุดิบที่สำคัญในโลกสมัยใหม่ นั่นคือ ความรู้ ซึ่งหากจะลองพิจารณาถึงวาทกรรมในสมัยอดีตที่กล่าวว่า “ ปิดล้อมสื่อทุกทิศ เท่ากับปิดความรู้ทุกๆ ทาง ” ดูเหมือนว่าความจริงจะเป็นเช่นนั้น เหตุเพราะปัจจุบันบทบาทของสื่อเพิ่มพูนมากขึ้นเรื่อยๆ พร้อมกันนี้มีกลุ่มคนหลากหลายที่พยายามจะเปิดโอกาสหรือช่องทางในการสื่อสารให้มีอำนาจแบบไม่จำกัด หรือที่พวกเราเรียกกันว่า อำนาจสื่อสารไร้พรมแดน คนเหล่านี้ได้เปิดช่องทางใหม่ เพื่อตอบสนองความต้องการของสังคมโลก ทลายกำแพงของทางเลือกที่มีอยู่อย่างจำกัดไปจนหมดสิ้น แล้วเปลี่ยนเป็นให้ทุกคนได้ซึมซับรับเอาความรู้ที่มีอยู่ในสื่อเหล่านั้นเข้าไป ยิ่งสื่อกระจายได้อย่างกว้างขวางขึ้นเพียงใด ความรู้(ที่มีทั้งถูกต้องและถูกบิดเบือน) ก็ยิ่งขยายขอบเขตไปมากเท่านั้น ทุกวันนี้สื่อมีมากมายหลายช่องทาง และถูกคนนำไปใช้เป็นเครื่องมือเพื่อสนองตอบต่อวัตถุประสงค์ที่หลากหลาย แล้วแต่ว่าจะเลือกสื่อสารกันในช่องทางใด และเพื่อเป้าหมายใด แต่พลังอำนาจหนึ่งที่สามารถสังเกตได้ในโลกยุคปัจจุบัน (หากเราไม่ปิดหู ปิดตา ที่จะยอมรับสภาพความเป็นจริง) พลังอำนาจที่เห็นเด่นชัดที่สุดในโลกยุคปัจจุบันซึ่งเป็นโลกแห่งข้อมูลข่าวสาร คือ พลังอำนาจที่มากเพียงพอที่จะเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตการดำรงอยู่ วัฒนธรรม และการเมืองไปในเวลาเดียวกัน โดยเฉพาะการเมือง ถือได้ว่า สื่อยุคใหม่คือศัตรูที่สามารถสั่นคลอนอำนาจของผู้ปกครองได้ ดังนั้น ผู้ปกครองคนใดมีอำนาจสื่ออยู่ในมือ ก็เปรียบเสมือนกับมีอำนาจครอบครองทุกสรรพสิ่ง

         พลังอำนาจของสื่อมีมากมายเพียงนั้นเชียวหรือ......ก่อนที่เราจะตอบคำถามนี้ เราต้องย้อนกลับไปพิจารณาดูต้นธารหรือที่มาของพลังนี้เสียก่อน.......

         ในอดีตการติดต่อสื่อสารกันอาจทำได้โดยการบอกต่อกันเป็นทอดๆ ต่อมาถึงยุคของสื่อข้อความ ข้อความที่ถูกส่งนี้เป็นไปตามความต้องการของผู้ส่งสารว่าต้องการจะบอกกล่าวเรื่องอะไร ซึ่งเป็นการสื่อสารแบบทางเดียว หรือที่เรารู้จักกันว่า One- way Communication ซึ่งทำให้การสื่อสารมีเพียงไม่กี่ช่องทางเท่านั้น สื่อจึงเป็นเครื่องมือชิ้นดีและชั้นดีในการปกครองอำนาจของผู้ปกครอง แต่เมื่อเวลาผ่านไปช่องทางของสื่อได้ถูกทำให้เกิดขึ้นหลายช่องทาง ทิศทางของการสื่อสารจึงเริ่มเปลี่ยนไปเป็นการสื่อสารแบบโต้ตอบ หรืออาจเรียกว่า การสื่อสารแบบสองทาง ( Two- way Communication ) บทบาทของสื่อจึงเปลี่ยนไป สื่อทำหน้าที่สร้างประชามติและประชาสังคมให้กับสังคมอย่างดีเยี่ยม และหากต้องการความชัดเจนคงต้องย้อนมองกลับไปสมัยประวัติศาสตร์ชาติไทย หลายครั้งหลายหนที่สื่อถูกนำไปใช้เพื่อเป้าหมายทางอำนาจในการปกครอง เช่น เหตุการณ์ 16 ตุลาคม 2516 ที่รัฐได้นำเอาสื่อมาเป็นเครื่องมือในการดำรงอำนาจ และรักษาความมั่นคงทาง การปกครองของตน กระบวนการใช้สื่อดังกล่าวเป็นไปอย่างชอบธรรม พร้อมกับกล่าวหาผ่านสื่อว่านักศึกษาเป็นภัยต่อประเทศชาติ และเหตุการณ์ พฤษภาทมิฬ ที่ชี้ให้เห็นชัดถึง “ ทางเลือก ” และ “ ช่องทาง ” การสื่อสารของสังคมไทย ว่าใครเป็น “ ผู้รับ ” และใครเป็น “ ผู้ใช้ ”

         แต่อย่างไรก็ตาม การใช้สื่อ ยังคงถูกตั้งคำถามกันอย่างต่อเนื่องว่าถูกใช้เพื่อเป้าหมายใดกันแน่ ใครได้รับประโยชน์สูงสุดจากการใช้สื่อ ขณะเดียวกัน สื่อมวลชน วางบทบาทของตนไว้อย่างไร ยังคงถูกริดรอนเสรีภาพดังเช่นอดีตหรือไม่ คำตอบอาจจะหาได้ในบรรทัดใดบรรทัดหนึ่งที่จะกล่าวต่อไปนี้ แต่กระนั้นผู้เขียนก็มีความคิดและความเชื่อที่ว่า “ เมื่อสื่อเป็นเครื่องมือที่สร้างคนให้มีอำนาจ สื่อก็เป็นเครื่องมือในการทำให้ลงจากอำนาจได้เช่นกัน ”

สื่อ กับ การครอบงำความคิด
           ว่ากันว่า.....อาชีพที่มีความอ่อนไหวและเปราะบางต่อการวิพากษ์วิจารณ์ที่สุดอาชีพหนึ่งคือ สื่อมวลชน ทั้งที่สื่อมวลชนมีหน้าที่ในการวิพากษ์วิจารณ์ ชี้ผิด ชี้ถูก แม้กระทั่งชี้นำสังคมอยู่ทั่วโลก สำหรับการใช้สื่อในปัจจุบันนี้ ต้องถือว่าเป็น “ ยุคใหม่ ” ซึ่งเริ่มต้นหลังจากการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับ 2540 ซึ่งเอื้อประโยชน์และโอกาสให้คนทุกกลุ่มในสังคมได้ใช้สื่ออย่างกว้างขวาง แต่อย่างไรก็ตามเราต้องยอมรับว่าประมาณ 40-50 ปีที่ผ่านมา สื่อถูกครอบครองและถูกใช้เพื่อประโยชน์ของรัฐเพียงเท่านั้น แม้ว่ารัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันจะเปิดโอกาสให้กลุ่มคนที่หลากหลายได้มีสิทธิในการใช้สื่อ แต่ทว่าสื่อยังตกอยู่ในครอบครองของภาคธุรกิจและภาครัฐเพียงเท่านั้น จนทำให้หลายฝ่ายต่างมองว่ากลุ่มคนดังกล่าว “ ครอบงำ ” และ “ แทรกแซง ” สื่อในเกือบทุกด้าน จากบทสัมภาษณ์ของนายกทักษิณ ชินวัตร กล่าวว่า “ เราก็รู้ว่าสื่อก็คือ คนๆ หนึ่งที่นึกอยากเขียนอะไรก็ต้องเขียนตามความรู้สึกของตัวเอง ซึ่งบางคนก็เขียนโดยความรู้ โดยจริยธรรม บางคนก็เขียนโดยอารมณ์ก็แล้วแต่ ” จากบทสัมภาษณ์ดังกล่าวเราสามารถวิเคราะห์ได้ว่า สื่อก็คือบุคคล ข่าวสารหรือข้อมูลที่หลั่งไหลออกมาก็คือมุมมองและกระแสความคิดของบุคคล ซึ่งมีศิลปะในการถ่ายทอดเพื่อจะครอบงำความคิด หรือปลุกระดมให้ผู้รับสื่อเห็นพ้องต้องกันด้วย

         ในโลกยุคไร้พรมแดน ผู้คนทั่วไปใช้ชีวิตอยู่ภายใต้โลกของสื่อ ทั้งนี้เพราะสื่อทำหน้าที่คล้ายเป็นผู้ให้ข้อมูลข่าวสารความรู้ สื่อทำหน้าที่เตือนภัยสังคม และชี้ให้เห็นถึงปัญหาที่จะต้องแก้ไข ตลอดจนทำหน้าที่ในการนำเสนอความบันเทิง ความสนุกสนานให้กับผู้ชมและผู้ฟัง ดังนั้น อาจกล่าวได้ว่า สื่อจึงมีอำนาจเหนือการกำหนดความฝันและค่านิยมของผู้คนในสังคม ทั้งยังกลายเป็นศูนย์กลางในการผลิตแบบวัฒนธรรม ที่เป็นที่ยอมรับจนกลายเป็นแบบพฤติกรรม เช่น วัฒนธรรมบริโภคนิยม วัฒนธรรมแห่งความรุนแรง และพลังอำนาจที่สำคัญ อีกอย่างหนึ่งก็คือ พลังในการโฆษณาชวนเชื่อ หรือนำไปสู่การสร้างกระแสสังคมและชี้นำทางของสังคม สังคมจะไปข้างซ้ายหรือขวา สังคมจะดีหรือเลว สื่อเป็นสถาบันที่ให้คำตอบแก่สังคม กล่าวคือ ใครมีอำนาจควบคุมเหนือระบบข้อมูลข่าวสาร และการบันเทิง ก็จะมีอำนาจเหนือจิตวิญญาณ กำหนดเหนือทิศทางและแบบวัฒนธรรมของผู้คนในสังคม ในกระบวนการครอบงำความคิดผ่านสื่อนั้น มีกระบวนการและวิธีการอย่างไร ท่านอาจจะหาคำตอบได้จากบรรทัดถัดไป

           บทบาท ตัวตนของสื่อที่ส่งผลต่อพฤติกรรมของคนในสังคม
จากเหตุการณ์ชุมนุมเพื่อเรียกร้องสิทธิ ประชาธิปไตย และความชอบธรรมให้กับประเทศ ที่มีนายสนธิ ลิ้มทองกุล เป็นแกนนำหลักนั้น เห็นได้ชัดว่าเป็นผลมาจากการแพร่กระจายของสื่อโดยผ่านช่องทางที่เปิดโอกาสให้รับรู้เรื่องราวหรือข้อเท็จจริง โดยผ่านกระบวนการผลิตซ้ำ ( Reproduce ) และการสื่อสารซ้ำๆ หลายๆ ครั้งในประเด็นเดียวกัน จากกรณีตัวอย่างจะพบว่า สื่อออกมาในรูปของความต้องการให้ประชาชนทั่วไปในประเทศตื่นตัวและมีส่วนร่วมในการกู้ชาติ (ตามกระแสสื่อ) ดึงกระบวนการสื่อเพื่อครอบงำความคิด เพื่อที่จะสร้างการมีส่วนร่วมให้เกิดขึ้นจากกลุ่มคนที่หลากหลายให้เกิดในรูปของพลังมวลชนเพื่อเป็นแรงผลักดันที่ทรงพลังมากขึ้น เจตนาดังกล่าวใช้วิธีการเดียวกันทั่วโลก แต่อาจจะหลายรูปแบบ นั่นคือ ไม่ว่าจะใช้สื่อเพื่อการใดในโลกนี้กระบวนการที่ใช้ครอบงำนั้นคือ กระบวนการเดียวกับกระบวนการผลิตโฆษณา หากพิจารณาดูให้ถ่องแท้ เราพบว่า ปัจจัยที่เป็นตัวกระตุ้นให้เกิดการครอบงำนั้นมีอยู่มากมาย และในวงการวิทยุ และโทรทัศน์ที่แพร่กระจายออกไปในวงการสื่อสารบ้านเรานั้นมีส่วนประกอบหลักที่ขาดเสียไม่ได้เลยคือ การโฆษณา ซึ่งผู้เขียนจะขอชี้ให้ชัดเจนว่า ทำไมกระบวนการผลิตสื่อ จึง กลายมาเป็นกระบวนการครอบงำความคิดของผู้บริโภคสื่อ? จากการศึกษาพบว่า ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา สื่อถูกใช้เพื่อความบันเทิงไร้สาระ และ เป็นเครื่องมือของกลุ่มคนบางกลุ่มมากกว่าที่จะใช้เพื่อสื่อสารความดี ความงาม สื่อสารความเป็นมนุษย์ รวมไปถึงการทำหน้าที่ของสื่อในฐานะชี้ถูก ชี้ผิด และร่วมแก้ปัญหาของสังคม สื่อยังตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของการโฆษณา และธุรกิจบันเทิงจนสื่อสามารถมีอิทธิพลครอบคลุมเหนือจิตวิญญาณ ซึ่งกระบวนการในการผลิตโฆษณานั้นหาใช่กระบวนการที่ผู้ผลิตมานั่งล้อมวงกันเพื่อคิด Spot โฆษณา หรือวางแผนการโฆษณาเพียงอย่างเดียวเท่านั้น จากข้อเท็จจริงของบริษัทผลิตโฆษณาชื่อดังในญี่ปุ่น ซึ่งเปิดเผยกระบวนการในการผลิตโฆษณาแต่ละชิ้นกล่าวว่า จะมีการค้นคว้าและทำการวิจัยถึงกลุ่มเป้าหมาย เพศ อายุ ความชอบ รวมไปถึงการวิเคราะห์ในแง่ของจิตวิทยาของกลุ่มคนที่เป็นเป้าหมายของการโฆษณาครั้งนี้ เพื่อเจาะทะลุเข้าไปถึงจิตใจของกลุ่มเป้าหมาย แล้วจึงเริ่มกระบวนการผลิต จึงไม่อาจสงสัยเลยว่า ทำไมกระบวนการผลิตสื่อที่ผ่านการวิเคราะห์อย่างทะลุปรุโปร่งแบบนี้จะไม่สามารถครอบงำกลุ่มเป้าหมายได้ เรามีผลพิสูจน์ที่ให้เห็นเชิงประจักษ์อยู่แล้วทั้งในแง่ของกระแสการบริโภคในสังคมปัจจุบัน รวมทั้งจากการศึกษาวิจัยจำนวนมากชี้ให้เห็นว่า คนส่วนใหญ่นิยมฟังและดูโฆษณา รวมทั้งเกิดพฤติกรรมเลียนแบบ เพราะพลังของการโฆษณานั้นมาจากการลงทุนศึกษากระบวนการเอาชนะจิตใจ การส่งเสริมกิเลสตัณหาในตัวมนุษย์ และการสร้างภาพการสื่อสารที่น่าสนใจให้เกิดความเพลิดเพลิน งานโฆษณาแต่ละชิ้นใช้เงินทุนนับล้านบาทเพื่อผลิตและกระตุ้นให้เกิดการบริโภคที่เกินพอดี และเป็นที่น่ายอมรับว่า สังคมไทยตกอยู่ใต้สภาวะดังกล่าวมานานแรมปี นั่นคือ ตัวอย่างและกระบวนการผลิตโฆษณาที่เป็นต้นแบบของการผลิตสื่อเพื่อครอบงำความคิดในรูปแบบอื่นๆ เป็นกระบวนการเดียวกันหากแต่ในการผลิตเพื่อสื่อเป้าหมายอื่นอาจมีวัตถุประสงค์ที่แตกต่างกันออกไป ดังเช่น สถานการณ์ชุมนุมเพื่อเรียกร้องสิทธิความชอบธรรมให้กับสังคมไทย มีกระบวนการผลิตที่เป็นกระบวนการเดียวกับการผลิตโฆษณา แม้ว่าจะไม่ได้ใช้เงินทุนในการวิจัยเพื่อทะลุเข้าไปครอบงำจิตใจ แต่กระบวนการที่ใช้นั้นอาจกล่าวได้ว่า พลิกวิกฤติให้เป็นโอกาส โดยเลือกสื่อสารจากช่องทางที่ถูกปิดกั้น หากเราจะวิเคราะห์และพิจารณาธรรมชาติของมนุษย์มักจะตื่นตัวและใคร่อยากรู้อยากเห็น เมื่อมีการปิดกั้นมากขึ้นเท่าไหร่ ก็เท่ากับว่าการสื่อสารข้อมูลข่าวสารข้อเท็จจริงก็ยิ่งแพร่กระจายไปอย่างรวดเร็วฉันนั้น หลักการสื่อสารครั้งนี้จึงดูเหมือนจะยิ่งได้เปรียบมากขึ้นเนื่องจากถูกปิดกั้นจากการสื่อสารจากช่องทางของภาครัฐและภาคที่เป็นพันธมิตรกับภาครัฐ ทำให้คนตื่นตัวมากยิ่งขึ้นและโอนเอียงจิตใจไปทางข้อมูลที่ผ่านมาจากช่องทางการสื่อสารของนายสนธิ และพันธมิตร เห็นได้ชัดว่าหลังจากเกิดการสื่อข่าวสารข้อมูลออกไปเพียงไม่กี่วันเท่านั้นแต่กลับมีประชาชนผู้ร่วมชุมนุมนับแสน อะไรคือเสน่ห์หรือกลไกที่ทำให้เกิดการรวมตัวกันเป็นประชาคมเพื่อขับไล่การทำงานของรัฐบาลชุดปัจจุบันมากมายขนาดนี้ จากมุมมองส่วนตัวของผู้เขียนวิเคราะห์สถานการณ์สื่อดังกล่าว ว่าถูกใช้เป็นเครื่องมือของการทำสงครรามอย่างเปิดเผย เป็นสงครามความคิดและจิตวิทยา เรียกว่า เป็นสงครามคลื่นใต้น้ำซึ่งใช้สื่อเป็นเครื่องมือหลักในการสื่อสารอย่างชัดเจน เราไม่อาจเห็นได้เลยในระยะเวลาที่ผ่านมาว่าจะมีสื่อชนิดใดที่ประกาศเป็นปฏิปักษ์ต่อการทำงานของรัฐ แต่หลังจากสถานการณ์การต่อสู้ที่เรียกว่า ต่อสู้เพื่อเรียกร้องสิทธิและความชอบธรรมให้กลับคืนสู่สังคม เรากลับพบว่า สื่อหลายทางกลับเปิดเผยและประกาศแสดงจุดยืนในการวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของรัฐบาลอย่างเปิดเผยทั้งอย่างเป็นทางการและไม่เป็นทางการ การสื่อสารทั้งในและนอกระบบถูกขุดและนำกลับมาใช้กันอย่างกว้างขวาง ประชาชนที่ได้รับข้อมูลข่าวสารต่างพากันแสดงพฤติกรรมของตนไปตามความคิดของตนเอง โดยเราไม่อาจปฏิเสธได้ว่ามีอิทธิพลทางความคิดมาจากสื่อ ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มคนที่สนับสนุน ต่อต้าน หรือเพิกเฉย ก็ล้วนแล้วแต่รับข้อมูลมาจากการสื่อสารจากต้นขั้วทั้งนั้น ยกตัวอย่างจากเหตุการณ์ที่ผู้เขียนได้มากจากกรณีศึกษาจากเวบไซต์ผู้จัดการ ( www.manager.co.th ) พบว่าหลังจากสื่อได้กระจายข้อมูลออกไปมีผลต่อพฤติกรรมของกลุ่มคนในสังคมทั่วทั้งประเทศ ทั้งการรวมตัวกันของมหาวิทยาลัยต่างๆ ทั่วประเทศเพื่อเรียกร้องให้เกิดการปรับเปลี่ยนโครงสร้างการบริหารประเทศใหม่ รวมไปถึงการรวมตัวกันของกลุ่มคนจากหลายสาขาอาชีพที่รับสารจากส่วนกลางและเห็นด้วยกับสถานการณ์ที่เรียกว่า “ กู้ชาติ ” ต่างก็ออกมาชุมนุม แสดงความคิดเห็น และร่วมอภิปรายกันอย่างกว้างขวาง เราจะเห็นว่าจากการรับสารดังกล่าวนั้น ส่งผลโดยตรงต่อบุคคลในมิติของการเปลี่ยนแปลงความคิดและส่งผลต่อการกระทำ ซึ่งส่วนหนึ่งอาจจะมาจากความอัดอั้นตันใจภายในตัวของแต่ละคนที่ไม่เห็นด้วยกับการบริหารประเทศของรัฐบาลปัจจุบัน เมื่อเกิดช่องทางและมีแนวร่วมจึงเกิดการรวมตัวกันได้อย่างรวดเร็วและกว้างขวาง

             อย่างไรก็แล้วแต่ จากสถานการณ์ดังกล่าว เราไม่อาจสรุปและกล่าวหาได้ว่า บุคคลที่แสดงพฤติกรรมเนื่องจากได้รับอิทธิพลจากสื่อนั้นเป็นคนที่ขาดการคิดวิเคราะห์ ไตร่ตรอง และบริโภคสื่อจนขาดการยั้งคิด ทั้งนี้เนื่องจากพฤติกรรมดังกล่าวมาจากกลุ่มบุคคลที่หลากหลาย ซึ่งส่วนใหญ่เราเห็นว่าเป็นกลุ่มคนที่สังคมเราเรียกว่าเป็น “ ปัญญาชน ” ทั้งนี้ผู้เขียนเจตนาจะบอกผ่านการสื่อสารครั้งนี้เช่นกันว่า การสื่อสารกับการครอบงำความคิด นั้น หากเราเพียงฟังและอ่านตัวอักษรเพียงไม่กี่ตัว ความหมายและรูปลักษณ์ของประโยคเหมือนจะสื่อออกไปในทางลบ หากแต่เจตนาครั้งนี้ผู้เขียนต้องการให้เห็นว่า การครอบงำความคิดนั้นไม่ได้แปลว่าจะต้องมีความหมายทางด้านลบเพียงอย่างเดียวหากแต่การครอบงำเพื่อก่อให้เกิดพฤติกรรมที่ดีก็ยังมีให้เห็นอยู่มาก(หากเราไม่ปิดตา ปิดใจของเราเสียก่อน) ดังนั้น เราไม่อาจกล่าวหาว่าสถานการณ์กู้ชาติทีสื่อสารออกมาให้คนในสังคมได้รับรู้และก่อให้เกิดพฤติกรรมและการกระทำของคนในสังคมอย่างกว้างขวางนี้ เป็นการกระทำที่ขาดการไตร่ตรองและถูกชี้นำ หากแต่ว่าการสื่อสารในครั้งนี้เพียงแต่มีอิทธิพลและกระตุ้นต่อมความคิดและการกระทำของคนอย่างกว้างขวางซึ่งเรียกว่า เป็นการสื่อสารที่กระตุ้นถูกต่อมผู้บริโภค หรือาจเรียกโดยใช้ภาษาที่ดูสละสลวยว่า การสื่อสารเพื่อจุดประกายความคิด (เพียงแต่ต่างกันตรงที่มีการกระทำตัวอย่างให้เลียนแบบ ซึ่งเป็นกระบวนการเดียวกับกระบวนการผลิตโฆษณา) ดูเหมือนว่าถึงเวลาแล้วที่สื่อในปัจจุบันนี้จะถูกใช้เพื่อทวงถามและเรียกร้องสิทธิความชอบธรรมเสียที หากมิติของการสื่อสารในสังคมเราจะเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางกระแสใหม่เราอยากจะให้สื่อเดินทางไปในทิศทางใด ถึงเวลาแล้วหรือยังที่สื่อจะเปิดพื้นที่ให้บุคคลธรรมดาได้แสดงบทบาทของตนในเวทีสาธารณะ โดยไม่ถูกปิดกั้นด้วยคำว่า คนธรรมดาไม่ใช่มืออาชีพ เราควรเปลี่ยนมุมมองความคิดของเราเสียใหม่หรือเราจะเปลี่ยนคนทำสื่อเสียใหม่ พลังใดจะง่ายต่อการขับเคลื่อนที่ส่งผลให้เกิดการพัฒนาที่เท่าเทียมและยั่งยืนมากกว่ากัน.....

สื่อ : ทางเลือกใหม่ของสังคมแห่งความเท่าเทียม 
               ในฐานะที่ผู้เขียนคลุกคลีอยู่กับวงการสื่อมวลชนมาเป็นระยะเวลา 6 – 7 ปี จึงอยากจะเสนอแนวความคิด มุมมองเกี่ยวกับสื่อยุคใหม่ที่เป็นทางเลือกหรือทางออกของสังคมที่นำไปสู่ความเป็นธรรมแก่ทุกฝ่าย ซึ่งบางคนบอกว่า การมีรัฐธรรมนูญฉบับล่าสุดถือเป็นการกำเนิดการเมืองแบบภาคประชาชนมากขึ้น ขณะที่อีกไม่น้อยเห็นว่านายกฯ นี่เองที่เป็นผู้เขียนภาพการเมืองยุคใหม่โดยสวมวิญญาณนักธุรกิจผู้ประสบความสำเร็จ.....ไม่ว่าตำคอบจะเป็นอย่างไร การเมืองจะขับเคลื่อนไปในทิศทางไหน “ สื่อมวลชน ” ก็ยังคงเป็นผู้สะท้อนภาพของสังคมที่เปลี่ยนผ่านอยู่ทุกยุคทุกสมัย ทำให้ประชาชนได้เห็นมุมมองในหลายรูปแบบจากการนำเสนอผ่านช่องทางของสื่อที่หลากหลาย ดังนั้น คำถามในวันนี้ จึงต้องย้อนกลับมามองที่สื่อมวลชนว่า จะปรับตัวอย่างไรท่ามกลางกระแสของสังคมและการเมืองยุคใหม่ ยุคที่สื่อต้องพึ่งพิงกับกลุ่มทุน?

             น่าสนใจว่า ความเห็นของคนหลายคนไม่ได้หยุดอยู่ที่ความเป็นกลางของสื่อมวลชนเหมือนดังเช่นแต่ก่อน หากแต่กระแสสังคมในปัจจุบันนี้มีแนวโน้มไปในความเห็นที่ว่า สื่อจำเป็นที่จะต้องประกาศจุดยืนที่ชัดเจน เพื่อให้ประชาชนได้เลือกเสพสื่ออย่างเสรีและเป็นธรรม โดยจำเป็นที่จะต้องมีการปรับเปลี่ยนของหลายส่วนเพื่อเอื้อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของวงการสื่อมวลชนรูปแบบใหม่ การตระหนักถึงคุณค่าของการเปลี่ยนแปลงวิธีคิดกับสื่อนั้นสำคัญอย่างยิ่งต่อการเริ่มต้นของสื่อทางเลือกยุคใหม่ จากการวิเคราะห์ส่วนตัวโดย ใช้ทฤษฎีเคออส ( Caos ) มาเป็นฐานคิดในการคิดวิเคราะห์ซึ่งเชื่อว่าเมื่อระบบทุนนิยมเติบโตเต็มที่จะสร้างความเจริญรุ่งเรืองไปพร้อมๆ กับการสร้างปัญหาให้สังคม เมื่อถึงจุดๆ หนึ่งก็จะเกิดการล้มล้าง ซึ่งระบบทุนนิยมดังกล่าว เราอาจกล่าวได้ว่า เป็นระบบที่ทำลายตนเอง ซึ่งหากเราย้อนมองกลับมาเปรียบเทียบที่วงการสื่อปัจจุบันในบ้านเราอย่างกล้าที่จะยอมรับโดยไม่ปฏิเสธความเป็นจริง ก็จะพบว่า สื่อในสังคมไทยเราเดินทางมาถึงขั้นวิกฤติระยะสุดท้ายที่จะต้องทำลายตัวเอง แล้วเกิดเป็นสื่อยุคใหม่ที่เชื่อว่าเป็นสื่อทางเลือก และสร้างความเท่าเทียมให้เกิดขึ้นในสังคมอย่างแท้จริง เป็นทางเลือกใหม่เพื่อสร้างสมดุลในการสื่อสารให้เกิดขึ้นแก่บุคคลทุกระดับ นอกจากนี้ ต้องมีฐานคิดความเชื่อที่ว่า ทุกคนเป็นเจ้าของของทรัพยากรคลื่นสาธารณะที่ลอยอยู่ในอากาศนี้ เพราะฉะนั้นทุกคนมีโอกาสใช้ตามขีดความสามารถของตนเท่าที่จะใช้ได้อย่างเหมาะสมและชอบธรรม หากแต่ส่วนที่สำคัญที่จะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงนั้นดังที่กล่าวมาแล้วข้างต้นว่าจะต้องเกิดการเปลี่ยนแปลงในทุกระดับ สื่อ จะต้องแสดงจุดยืนของตนให้ชัดเจนว่าถูกใช้เพื่อการใด ผู้ใช้สื่อ จำเป็นต้องปรับวิธีคิดเกี่ยวกับสื่อเสียใหม่ และต้องมีความตระหนักและเห็นคุณค่าของสื่อมากกว่าการใช้สื่อเพื่อเป็นเครื่องมือในการหาประโยชน์จากเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน ผู้รับสื่อ ควรปรับเปลี่ยนมุมมองการรับสื่อให้เป็นผู้บริโภคสื่ออย่างรู้เท่าทันและสามารถเป็นนายของการบริโภคไม่ตกเป็นทาสของสื่อดังเช่นในปัจจุบัน อีกทั้งเรื่องของการคิดวิเคราะห์แบบพินิจไตร่ตรองสำคัญและจำเป็นอย่างยิ่งที่ผู้รับสื่อจะต้องใช้เพื่อรับสื่อทั้งนี้เพื่อประโยชน์สูงสุดซึ่งจะนำไปสู่เป้าหมายสูงสุดของสื่อคือ สื่อต้องทำหน้าที่สร้างสติปัญญาให้กับแผ่นดิน กล่าวได้ว่าสื่อยุคใหม่ควรจะเปลี่ยนแปลงทั้งระบบอาจจะยากต่อการเริ่มต้นในระยะแรกหากแต่ผลที่ตามมาน่าจะเป็นทางเลือกและทางออกใหม่ที่สังคมควรต้องยอมรับ การเปลี่ยนแปลงนั้นไม่ใช่การไหลของสื่อเพียงอย่างเดียว หากแต่ต้องเป็นการไหลทางความคิดของคนทำสื่อ คนใช้สื่อ และคนรับสื่อไปพร้อมกัน ทั้งนี้เพื่อสร้างเสรีภาพในการสื่อสารและหลุดพ้นการการถูกสื่อครอบงำและสร้างความเท่าเทียมแก่บุคคลทุกฝ่ายในการใช้สื่อ เรียกได้ว่า สื่อทางออกของสังคมไทย ต้องเป็นสื่อที่สร้างสติปัญญาให้กับแผ่นดิน
 

“ มนุษย์ ” เป็นสิ่งมีชีวิตที่ประเสริฐกว่าสัตว์เดรัจฉาน ตรงที่มี “ ความคิด ” และ “ การวิเคราะห์เพื่อการรู้เท่าทัน ” หากเรายังปล่อยให้ตัวเองถูกครอบงำและแสดงพฤติกรรมโดยปราศจากการคิดวิเคราะห์ เราคงต้องย้อนกลับมาตั้งคำถามกับตนเองว่า “ ตกลงเราเป็นอะไรกัน? ” คงไม่สายเกินไปหากเราจะตอบคำถามนี้ให้ได้ในขณะที่เรายังหายใจอยู่บนโลกใบนี้............

  บทความจาก http://www.semsikkha.org
 

คำสำคัญ (Tags): #จิตวิวัฒน์
หมายเลขบันทึก: 44438เขียนเมื่อ 12 สิงหาคม 2006 09:57 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 มิถุนายน 2012 10:52 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท