สายน้ำ สายชีวิต : พลังของหยดน้ำ...


ในช่วงปลายเดือนเมษายนที่ผ่านมา (พ.ศ.๒๕๕๔) ข้าพเจ้าได้มีโอกาสเข้าไปสัมผัสธรรมชาติของป่าไม้ในเขตอำเภอแม่วาง จังหวัดเชียงใหม่

ซึ่งโดยปกติ การเดินทางเข้าป่านั้นก็จะเลือกเดินในช่วงหน้าแล้ง คือในช่วงระหว่างเดือนธันวาคม-พฤษภาคม เพื่อที่จะไม่ให้ประสบปัญหากับเรื่องของ "ฝน" ที่จะทำให้เป็นอุปสรรคสำหรับการเดินทางโดยเฉพาะในเรื่องของที่พัก

แต่ทว่า... ระบบนิเวศน์ทางธรรมชาติของ "เมือง" และ "ป่า" นั้นแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง

นับตั้งแต่ครั้งแรกที่ข้าพเจ้าเดินทางเข้าไปใน "เขาใหญ่" ตามเขตจังหวัดนครราชสีมาในช่วงเดือนมีนาคม ๒๕๕๑ นั้น เข้าไปในป่า 7 วัน ฝนตกเสีย 6 วัน

เช่นเดียวกันกับช่วงหน้าแล้งของปี ๒๕๕๔ ของขุนเขาในจังหวัดเชียงใหม่ เข้าป่า 9 วัน ฝนตกเสีย 8 วัน

โดยมีอยู่วันหนึ่ง ข้าพเจ้าได้เห็นพลังของธรรมชาติ พลังของน้ำพลังของ "ป่าไม้"

ในวันนั้นคณะเดินทาง ได้วางแผนที่จะออกเดินจากหมู่บ้านสบลาน โดยมีเป้าหมายหลักเป็นกระท่อมร้างกลางป่า กึ่งกลางทางระหว่างหมู่บ้านสบลานและที่ทำการอุทยานแห่งชาติ "ออบขาน"

ซึ่งผู้นำทางที่อาสาพาเราเดินทางจากหมู่บ้านสบลานในวันนั้นแจ้งระยะทางคร่าว ๆ ว่าประมาณ 20 กิโลเมตร ใช้ระยะเวลาเดินประมาณ 1 วันเต็มสำหรับคนเดินป่าทาง แต่สำหรับคณะของเราซึ่งมีเด็ก ๆ ติดตามมาด้วยนั้นไม่น่าจะเดินไปถึงอุทยานแห่งชาติออบขานได้ภายใน 1 วัน

ด้วยเหตุนี้เอง เราจึงตั้งเป้าหมายหลักไว้ที่กระท่อมร้าง ซึ่งตั้งอยู่กึ่งกลางทางระหว่างหมู่บ้านสบลานกับอุทยานแห่งชาติออบขาน อันเป็นที่พักค้างอ้างแรมของพี่น้องชาวหมู่บ้านสบลาน ซึ่งพื้นเพเป็นชาวเขาเผากระเหรี่ยง (ปะกากะญอ) โดยจะเอาไว้พักครั้นเมื่อมาไล่ต้อนฝูงควายที่ปล่อยให้ออกหากินในป่า ซึ่งบางครั้งฝูงควายก็เดินออกมาไกล ไกลเกินกว่าที่เขาจะเดินกลับไปยัง "บ้าน" ได้ทัน

การเดินทางในวันนั้นเราออกเดินทางจากโรงเรียนบ้านสบลานตั้งแต่เวลาประมาณ 09.30 น. ลัดเลาะตามสันเขาจนกระทั่งตะวันเกือบตรงศรีษะ เราก็หลุดออกจากแนวป่าออกมายังลำน้ำสายใหญ่ที่กั้นขวางระหว่างทางและ "จุดหมาย"

ผู้นำทางบอกกับคณะเดินทางของเราว่า "ปีนี้น้ำมาก ปกติหน้าแล้ง น้ำจะแค่หน้าแข้ง เดินข้ามได้ แต่ปีนี้น้ำเยอะ น้ำประมาณหน้าอก..."

ผู้นำทางซึ่งคนหนึ่งข้าพเจ้าจำได้ชื่อว่า "นายเสือ" จึงพาพวกเราเดินลัดเลาตามริมฝั่งขวา "ลำน้ำแม่ขาน" แทนการต้องลอยคอข้ามฝากไปอีกทางหนึ่ง

การเดินทางลัดเลาะลำน้ำนั้นใช้เวลาเดินประมาณ 4 ชั่วโมง จนกระทั่งเรามาถึงกระท่อมขนาดย่อม ๆ อันเป็นจุดหมายหลักของการเดินทางในวันนี้

ครั้นเมื่อมาถึง คณะฯเดินทาง ก็ได้ประชุมปรึกษาหารือกันว่าจะเดินต่อให้ถึง "ออบขาน" หรือว่าจะพักที่นี่

ถ้าจะเดินต่อ ก็ใช้เวลาอีกประมาณ 6-8 ชั่วโมง น่าจะถึงไม่เกิน 4 ทุ่ม

แต่ปัญหาหลักในการพิจารณาในวันนั้นไม่ใช่อยู่ที่ความดึกหรือความมืดแต่กลับอยู่ที่ระดับน้ำซึ่งจะเพิ่มสูงขึ้นจากปัจจัยหลัก 2 ประการ คือ

1. น้ำฝน

2. การปล่อยน้ำด้านบนในเวลา 6 โมงเย็น

ดังนั้น การเดินลัดเลาะริมฝั่งของเรา (ถ้าไป) ก็จะต้องรีบเร่งเดินไกลที่สุดก่อนที่น้ำจะขึ้นในเวลา 6 โมงเย็น และในช่วงเวลานั้นก็ต้องไม่ให้มีฝนตกลงมาด้วย

จากการประชุมก็ได้ข้อสรุปว่า อันตรายเกินไปที่จะเดินให้พ้นชายฝั่งน้ำจนกระทั่งถึงจุดที่จะต้องตัดขึ้นเขา

ถึงแม้ว่ากระท่อมจะไม่พอนอนสำหรับคนประมาณ 20 คน แต่พวกเราก็มีเต๊นท์และผ้าใบเพียงพอที่จะพักผ่อนได้สำหรับระยะเวลา 1 คืน

 

จากนั้น ทุกคนจึงแยกย้ายเพื่อไปจัดการกับที่พักของตน กางเต๊นท์ ขึงผ้าใบ แต่ในเวลาเพียงไม่กี่อึดใจ "ฝน" ก็เทกระหน่ำลงมา

ตั้งแต่เกิดมา ข้าพเจ้ายังไม่เคยเห็นพลังของน้ำป่าครั้งใดมีพลังมากมายขนาดนี้

พื้นที่นอนของข้าพเจ้าที่ลาดเอียงเพียงเล็กน้อย ก่อนที่จะปูผ้า กางเต๊นท์ ก็ได้ขุดร่องน้ำด้านบน เพื่อบังคับน้ำไม่ให้ไหลเข้าออกตรงบริเวณที่จะพักนอน

สำหรับคนอื่น ก็มีผ้าใบ ขึงกั้นอีกชั้นหนึ่ง เหนือเต๊นท์เพื่อกันฝน

พื้นที่ยกระดับด้วยแผ่นไม้ หรือพื้นที่ที่เลือกแล้วว่าอยู่บนเนิน ทุกที่ที่คิดว่าดีแล้ว ทุกอย่างที่คนพื้นราบอย่างเราคิดว่าเพียงพอแล้ว ทุก ๆ อย่างเปียกเละเทะไปหมด

อย่าว่าแต่ผ้าใบหรือเต๊นท์ที่เปียก ข้าวของ เครื่องใช้ ผ้าผ่อน ที่เก็บไว้ใต้ที่มุงบังนั้น เปียกหมด

ร่องน้ำที่ขุดรอบ ๆ ที่จะพักไว้ ล้นทะลัก น้ำท่วม ไหลนอง

จากการนั่งที่คิดว่ารอดแล้ว ปลอดภัยแล้ว ข้าพเจ้าก็ต้องเริ่มยืน

จากการยืนที่คิดว่าพอได้ ไม่เปียก ก็ต้องขยับเข้าไปยัดกันในกระท่อมหลังเล็ก ๆ

แล้วกระท่อมหลังเล็ก ๆ หลังนั้นเอง ก็กลายเป็นที่ "ซุกหัวนอน" ของพวกเรากว่า 10 ชีวิต เพราะเต๊นท์และอุปกรณ์ทั้งหมด "เปียก"

ต่างคนก็ต่างเอาหัว "สุม" เข้าด้วยกัน เอาขาชี้กันไปคนละทิศ คนละทาง

 

ข้าพเจ้ามานึกย้อนว่า ถ้าหากเราตัดสินใจเดินทางให้ถึงจุดหมายในวันนี้จะเกิดอะไรขึ้น

เพราะขนาดคลองน้ำสายเล็ก ๆ ซึ่งอยู่ด้านข้างที่พักของเรา ตอนเดินเข้ามา ระดับน้ำอยู่แค่ "ตาตุ่ม"

 

แต่พอหลังจากฝนตก ระดับน้ำอยู่ "เคียงเอว"

นั่นเป็นเพียงสายน้ำน้อย ๆ จากเขาเพียง "หนึ่งในร้อย" หรือหนึ่งในพันสายที่ไหลรินจากป่าลงสู่ลำน้ำ "แม่ขาน"

 

แล้วลำน้ำแม่ขานเล่า จากเดิมที่มีความสูงระดับหน้าอกในช่วงกลาง แล้วด้านริมฝั่งที่เราเดินมาในวันนี้ ซึ่งบางช่วงก็ต้องลุยน้ำบ้าง จะสูงขึ้นขนาดไหน

ทีมงานของเราท่านหนึ่ง ได้เดินออกไปดูแม่น้ำหลังจากฝนตกก็พบว่า แม่น้ำมีความสูงขึ้นจากเดิมประมาณ 1 เมตร ซึ่งยังไม่นับรวมถึงการปล่อยน้ำในช่วงเวลา 6 โมงเย็น

ปริมาณน้ำที่มากขนาดนี้ไปที่ไหน

แล้วทำไมพี่น้องชาวไทยในบางพื้นที่ยังประสบกับปัญหา "น้ำแล้ง...?"

 

 

หมายเลขบันทึก: 443976เขียนเมื่อ 14 มิถุนายน 2011 07:57 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 13:46 น. ()สัญญาอนุญาต: ไม่สงวนสิทธิ์ใดๆจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท