การถ่ายทอดเทคนิคการวิจัยทางศิลปะและวัฒนธรรม


การวิจัยเชิงคุณภาพ คือ ทักษะ ต้องอาศัยการฝึกฝนเท่านั้น “สังเกตปัญหา ค้นคว้าการอ่าน ฝึกปรืองานเขียน พากเพียรเรียนร่าง

การถ่ายทอดเทคนิคการวิจัยทางด้านศิลปะและวัฒนธรรม

                                                                 โดย  ดร.ธีรกานต์  โพธิ์แก้ว

                จากประสบการณ์วิจัยทางด้านศิลปะและวัฒนธรรม  ทำให้ผู้เขียนได้เรียนรู้งานวิจัยทั้งในด้านระเบียบวิธีวิจัย  และการทำงานในภาคสนามเกี่ยวกับการวิจัยทั้งในด้านศิลปะ และวัฒนธรรม  สำหรับระเบียบวิธีทางด้านศิลปะและวัฒนธรรมนั้นส่วนใหญ่จะเน้นหนักไปทางด้านการวิจัยเชิงคุณภาพ  ที่ใช้เครื่องมือการวิจัยในเชิงสังคมศาสตร์  และจบลงด้วยการพรรณนาวิเคราะห์

                สำหรับการวิจัยในด้านศิลปะ  จัดเป็นส่วนหนึ่งของการวิจัยทางวัฒนธรรม  เพราะงานศิลปะเป็นแขนงหนึ่งของวัฒนธรรม  แต่ศิลปะเป็นศาสตร์เฉพาะทางที่มุ่งเน้นไปที่ความคิดสร้างสรรค์  จินตนาการ  หรือ นวัตกรรม  เป็นสำคัญ  ส่วนระเบียบวิธีก็ไม่แตกต่างกันมากนัก

                จุดเริ่มต้นของการวิจัยคือการรู้จักสังเกตปัญหาว่าในปัจจุบันสังคมของเราตั้งแต่ระดับโลก  มาจนถึงระดับประเทศ หรือระดับองค์กรมีปัญหาทางวัฒนธรรมด้านใดที่จะต้องได้รับการแก้ไข

โดยเร่งด่วน  การสังเกตหัวข้อของปัญหาอาจจะเกิดจากการสังเกตโดยผู้วิจัยเอง  หรือสังเกตโดยการติดต่อหาข้อมูลข่าวสารจากสื่อต่างๆ  ว่าต้องการให้เราช่วยแก้ปัญหาในเรื่องใดบ้าง  เมื่อได้หัวข้อปัญหาที่ถูกใจ  ก็ก้าวเข้าสู่ขั้นที่สอง คือ การค้นหาข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับหัวข้อที่เราสนใจ  ยกตัวอย่างเช่น  ผู้วิจัยสนใจในเรื่อง ปัญหาครอบครัวไทย  ผู้วิจัยก็จะต้องสืบค้นหาข้อมูลด้านปัญหาของครอบครัวให้มากที่สุด  เพื่อที่จะทราบถึงปัญหาที่แท้จริง  เพื่อต้องการที่จะหาวิธีการแก้ไขปัญหา  จากนั้นผู้วิจัยก็มองต่อไปว่าจะสามารถแก้ปัญหาด้วยวิธีใด  สมมติว่า ด้วยวิธีการสร้างความสัมพันธ์ในครอบครัว  ผู้วิจัยจะต้องค้นหาข้อมูลเรื่องการสร้างความสัมพันธ์เพิ่มเติมด้วย  เรียกว่าเป็นการหาข้อมูลให้เต็มกระเป๋า  ก่อนที่จะก้าวเข้าสู่การวางแผนออกแบบการวิจัยให้เหมาะสม  สรุปว่าหากผู้วิจัยสนใจปัญหาวิจัยในเรื่องใด  ให้เก็บรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องนั้นไว้ให้มากๆ  จากนั้นก็มาออกแบบการวิจัยว่า  จะวิจัยอะไร  ประชากรและกลุ่มตัวอย่างคือใคร  (ถ้าในเชิงศิลปะ สิ่งที่จะสร้างสรรค์คืออะไร)  ทำที่ไหน  ด้วยเครื่องมืออะไร  อย่างไร  แต่สุดท้ายแล้ว การวิจัยในเชิงศิลปะและวัฒนธรรม ก็คงหนีไม่พ้นการวิเคราะห์ในเชิงพรรณนา  ที่มุ่งเน้นการสื่อให้เห็นสภาพจริงของปัญหา  สิ่งที่จะสะท้อนให้เห็นสภาพจริงของปัญหาก็คือ รูปภาพ  และการบรรยาย  ฉะนั้นผู้วิจัยจะต้องฝึกอ่าน  ฝึกเขียน  ฝึกพิมพ์  และฝึกถ่ายภาพ  ถ้าบอกว่าไม่ชอบ  ผู้เขียนก็ต้องบอกว่า “ไม่ชอบก็ต้องชอบ”  หากคุณจะต้องลงมือทำวิจัยในศาสตร์นี้  ขอให้คิดว่างานวิจัยเป็นงานที่สนุก และงานวิจัยของเราจะช่วยแก้ปัญหาได้  นั่นแหละคือหัวใจ  มีความสุข และสนุกในงานวิจัย

                เมื่อวางแผนงานคร่าวๆ  เราก็จะเริ่มได้เค้าโครงวิจัยมา ส่วนมากเค้าโครงวิจัยจะต้องเขียนอย่างน้อย 15-30 หน้า ขึ้นอยู่กับเนื้องาน  ที่สำคัญคงจะต้องมีจินตนาการในการวางแผนงานให้รอบครอบ  โดยเฉพาะการวางแผนทางด้านงบประมาณการวิจัยให้เหมาะสม  สำหรับเค้าโครงการวิจัยจะต้องเขียนให้สอดคล้องกับหน่วยงานที่ให้ทุนด้วย เพราะแบบฟอร์มแต่ละแห่งจะไม่เหมือนกัน

ต่อไปผู้เขียนจะยกตัวอย่างการเขียนงานวิจัยแบบมาตรฐาน 5 บท เพื่อเป็นแนวทางดังนี้

                บทที่หนึ่งของการทำวิจัย  การเขียนบทนำ  จะต้องเขียนในรูปลักษณะพีรมิดหัวกลับ  คือ เขียนปัญหาในระดับโลก  ระดับประเทศ  ระดับชุมชนหรือองค์กร  เวลาเขียนปัญหาให้เขียนจากใหญ่มาเล็ก  กำหนดวัตถุประสงค์ให้ชัดเจน  และเหมาะสมกับงานที่จะทำ  เมื่อจะเริ่มทำงานวิจัยจะต้องยึดวัตถุประสงค์เป็นหลักตั้งแต่บทที่หนึ่งไปจนถึงบทสุดท้าย หรืออาจจะบอกว่าตั้งแต่เริ่มต้นจนจบกระบวนการ  หากเขียนวัตถุประสงค์เริ่มต้นอย่างหนึ่ง แต่ตอบคำถามไม่ตรงวัตถุประสงค์ก็แสดงให้เห็นว่าผู้ทำวิจัยไม่เข้าใจในระเบียบวิธีวิจัย  จุดสำคัญอีกเรื่องหนึ่งในบทที่หนึ่ง คือ เรื่องของการเขียนนิยามศัพท์เฉพาะ  จะต้องนิยามศัพท์ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องของเราจริงๆ  ไม่มากหรือน้อยเกินไป  แต่ก็น่าจะอยู่ที่ประมาณ 4-5 คำขึ้นไป  ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับชื่อเรื่อง

                บทที่สองเอกสารและงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง  จะต้องเรียบเรียงเป็นหัวข้อย่อยให้ได้องค์ความรู้ที่ครอบคลุมชื่อเรื่อง  และวัตถุประสงค์   แนวคิดและทฤษฎีที่เกี่ยวข้อง   กฎหมายและนโยบายสำคัญที่เกี่ยวข้อง  หัวข้องานวิจัยที่เกี่ยวข้อง จะต้องเป็นงานวิจัยที่เกี่ยวข้องเท่านั้น  ส่วนใหญ่ไม่เข้าใจก็จะมีการนำบทความต่างๆ  เข้ามาด้วย ซึ่งไม่ถูกต้อง งานวิจัยจะต้อง อ้างอิงจากการสรุปผลงานจากเล่ม  โดยอ้างจากเลขหน้าที่ได้ค้นคว้ามา  ไม่ควรอ้างบทคัดย่อ  ถ้าไม่จำเป็น เพราะหากอ้างเพียงบทคัดย่ออาจแสดงให้เห็นว่า ผู้ทำยังเข้าไม่ถึงรายละเอียดที่แท้จริงของงานวิจัยเล่มนั้น

เมื่อได้ข้อมูลครบถ้วนแล้ว  จุดสำคัญของบทที่สอง คือ  การกลั่นกรองความคิดที่วางแผนตั้งแต่ต้นให้ออกมาเป็นแผนผังความคิด หรือเรียกเป็นภาษาวิจัยว่า “กรอบแนวคิด” กรอบนี้จะต้องสื่อให้เห็นงานวิจัยได้อย่างครบถ้วน

                บทที่สาม ผู้เขียนขอเน้นไปที่เครื่องมือการวิจัย  สำหรับเครื่องมือการวิจัยในเชิงศิลปะและวัฒนธรรม จะประกอบด้วย การสำรวจข้อมูล  การสังเกตมีทั้งสังเกตแบบมีส่วนร่วมและไม่มีส่วนร่วม  การสัมภาษณ์แบบมีโครงสร้างและไม่มีโครงสร้าง  การสนทนากลุ่ม  การระดมสมอง

การจัดประชุมเชิงปฏิบัติการ  และการประเมินผลโครงการ  ซึ่งเครื่องมือเหล่านี้นักวิจัยต้องเรียนรู้ทั้งหมด  แต่เวลาใช้ให้เลือกใช้ให้เหมาะสมกับหัวข้อปัญหาวิจัย  ไม่จำเป็นต้องนำมาใช้ทั้งหมด  จากบทที่หนึ่งจนถึงบทที่สาม  ผู้เขียนคิดเป็นเปอร์เซ็นต์งานทั้งหมดรวม 50 %  ส่วนอีก 50% คือการทำและเขียนบทที่สี่รวมถึงบทที่ห้า  ซึ่งคงเรียกบทที่ 4 และบทที่ 5 นี้ว่า  “กึ๋นของนักวิจัย”

                บทที่สี่  การวิเคราะห์ข้อมูลให้วิเคราะห์ตามวัตถุประสงค์ของงานวิจัย  โดยกล่าวง่ายๆ ก็คือ ยกวัตถุประสงค์เป็นตัวตั้ง  จากนั้นให้บรรยายตามที่ท่านได้ไปเก็บข้อมูลในภาคสนามมา  ต้องบรรยายโดยละเอียด  สามารถนำภาพถ่ายสำคัญๆ  มาบรรยายประกอบ  หากภาพประกอบมากเกินไป  จะต้องนำไปไว้ที่ภาคผนวกเพิ่มเติม  เพราะงานวิจัยด้านศิลปะและวัฒนธรรมนั้นจะเน้น

ที่การปฏิบัติจริง  และลงภาคสนามจริง  ให้ผู้อ่านเห็นภาพที่ชัดเจน จึงทำให้งานวิจัยมีสีสันและมีภาพประกอบค่อนข้างเยอะ  หากบรรยายมากเกินไปจะทำให้น่าเบื่อ  และมองไม่เห็นภาพที่ชัดเจนมากนัก  จะทำให้งานวิจัยชิ้นนั้นขาดเสน่ห์

                บทที่ห้า  สำหรับหัวข้อการสรุปผล และอภิปรายผล  การสรุปผลให้สรุปตามวัตถุประสงค์  หรือพูดง่ายๆ  ก็คือสรุปจากบทที่สี่ให้ถูกต้อง  ตรงประเด็น  ครบถ้วน  กระชับ  และลงตัว  ส่วนสิ่งที่สำคัญที่สุดน่าจะเป็นเรื่องของการอภิปรายผลที่เรียกว่า “หินกลิ้ง”  พอสมควร  ที่บอกว่าหินกลิ้ง

เพราะ บางคนอาจจะบรรยายไปเรื่อย  ไม่ถูกเรื่อง ไม่ตรงวัตถุประสงค์   การอภิปรายผลจะต้องเชื่อมโยงกับบทที่สอง ในส่วนของงานวิจัย  แนวคิดและทฤษฎีที่เกี่ยวข้อง  โดยให้อภิปรายว่างานวิจัยของผู้วิจัยนั้นมีประเด็น หรือองค์ความรู้ใหม่ๆ  อะไรบ้างที่น่าสนใจ  ภายใต้วัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้  ทั้งนี้การอภิปรายผลจึงสามารถอภิปรายมากกว่าวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้  แต่จะต้องสามารถเชื่อมโยงให้ได้ว่าผลที่ว่านั้นสอดคล้องหรือไม่สอดคล้องกับงานวิจัย   แนวคิดและทฤษฎีที่ผู้วิจัยได้ศึกษาไว้แล้วในบทที่สองอย่างไร แต่ที่สำคัญที่สุด คือ “องค์ความรู้ใหม่ที่ได้รับจากการวิจัย”

                สำหรับสิ่งที่ผู้เขียนกล่าวมาตั้งแต่ต้นจนจบนี้เป็นการกล่าวแบบย่อๆ  ที่สรุปประเด็นสำคัญให้ฟัง  แต่สำหรับการวิจัยในเชิงศิลปะและวัฒนธรรมนั้นยังมีรายละเอียดอีกมาก  ทั้งนี้ผู้ที่สนใจก็สามารถศึกษาเพิ่มเติมได้ในการวิจัยทางวัฒนธรรม หรือการวิจัยในเชิงสังคมศาสตร์  เกี่ยวกับการวิจัยในเชิงคุณภาพ ( Qualitative Research)  การทำวิจัยจัดว่าเป็นทักษะที่จะต้องอาศัยการลงมือทำ และฝึกฝน  เพราะฉะนั้นจึงอยากจะเชิญชวนให้ผู้ที่สนใจในเรื่องศิลปะและวัฒนธรรม  มาทำวิจัย เพราะงานวิจัยด้านนี้สนุกมาก  และไม่ยากอย่างที่คิด 

                สุดท้ายอยากบอก “เคล็ดไม่ลับ  กับการวิจัยเชิงคุณภาพทางศิลปะและวัฒนธรรม” 

  1. “สังเกตปัญหา  ค้นคว้าการอ่าน   ฝึกปรืองานเขียน  พากเพียรเรียนร่าง

วางแผนออกแบบ  แนบท้ายถ่ายภาพ   รับทราบแล้วพิมพ์”

  1. ท่าน ศ.ดร.จีระ หงส์ลดารมภ์  ให้มุ่งหลักการทำวิจัยทางวัฒนธรรมไปที่  ทฤษฎีตัว T

งานวิจัยทางวัฒนธรรมจะต้องมีภาพที่กว้าง  ลึก  หรือจะเป็นแบบทั้งกว้างและลึกก็ได้  แต่ต้องอยู่บนฐานแห่งวัฒนธรรม   คำว่ากว้างจะมุ่งเน้นปริมาณพื้นที่  หรือเนื้อหาที่หลากหลาย  ส่วน คำว่าลึก จะเจาะประเด็นไปถึงแก่นของเนื้อเรื่องรวมถึงรายละเอียดสำคัญ และระยะเวลาของปัญหาที่ศึกษา

                3.  ผู้เขียนขอนำเสนอหลักการทำวิจัย “ทางวัฒนธรรมอย่างสร้างสรรค์”  โดยต่อยอดทฤษฎี

      เป็นตัว       ทฤษฎี I  หมายถึง  การจะทำงานวิจัยทางด้านศิลปะและวัฒนธรรมนอกจากจะต้องกว้างและลึกแล้ว  จะต้องสามารถต่อยอดในเชิงนวัตกรรม  หรือการสร้างสรรค์ผลงานใหม่ๆ  ทางด้านศิลปะและวัฒนธรรม  บนฐานวัฒนธรรมดั้งเดิม   ให้เกิดเป็นคุณค่าทางจิตใจ  หรือพัฒนา และสร้างเป็นมูลค่าทางเศรษฐกิจให้ได้

  1. คำศัพท์ภาษาอังกฤษที่มักจะจำสับสนกันเสมอ  ระหว่างการวิจัยเชิงคุณภาพ และเชิงปริมาณ

                   การวิจัยเชิงคุณภาพ  Qualitative Research

               การวิจัยเชิงปริมาณ  Quantitative Research

                สำหรับการถ่ายทอดเทคนิคการวิจัยทางด้านศิลปะและวัฒนธรรมคงจะต้องขอจบลงเพียงเท่านี้  หวังว่าท่านผู้สนใจคงจะได้รับความรู้เพิ่มเติม  และมีความสนุกกับการทำวิจัยนะค่ะ  หากมีโอกาสคงจะได้เล่าถึงประสบการณ์วิจัยจากภาคสนามสนุกๆ  ให้ฟังค่ะ พบกันใหม่ค่ะ 

 

 

หมายเลขบันทึก: 443888เขียนเมื่อ 13 มิถุนายน 2011 16:02 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 13:47 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

ไม่อนุญาตให้แสดงความเห็น
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท