ตั้งครรภ์(ตั้งท้อง)อย่าลืมเหงือก


สำนักข่าว Telegraph.co.uk ตีพิมพ์เรื่อง 'Post-pregnancy gingivitis' = "เหงือกอักเสบหลังตั้งครรภ์ (ตั้งท้อง)", ผู้เขียนขอนำมาเล่าสู่กันฟังครับ
.
การตั้งครรภ์ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนหลายชนิด (เพิ่มขึ้น) และเพิ่มปริมาณเลือดในร่างกาย อาจทำให้เหงือกบวม อักเสบ (gingivitis), หรือมีเลือดซึมออกมาได้ง่ายขึ้น โดยเฉพาะเวลาแปรงฟัน หรือใช้ไหมขัดฟัน
.
คนที่ตั้งครรภ์ประมาณครึ่งหนึ่ง (1/2) มีเหงือกอักเสบ และมักจะทุเลาลงหลังคลอด
.
ถ้าไม่ใส่ใจดูแลสุขภาพเหงือกในระหว่างตั้งครรภ์, เหงือกอักเสบอาจรุนแรงขึ้นจนทำให้เนื้อเยื่อรอบๆ โคนฟันอักเสบ หรือที่เรียกว่า "ปริทนต์อักเสบ (periodontitis; ปริ / peri- = รอบๆ; ทันต- / dont- = ฟัน)"
.
เนื้อเยื่อรอบโคนฟัน (ปริทนต์) มีเยื่อยึดโคนฟัน ทำให้ฟันไม่โยกไม่คลอน และไม่หลุดง่าย เปรียบคล้ายฟันเป็นเสาวิทยุ เยื่อยึดโคนฟันเป็นลวดสลิง
.
ถ้าเนื้อเยื่อรอบโคนฟันอักเสบ (ปริทนต์อักเสบ) มากหรือนานพอ จะเกิดการทำลายเยื่อยึดโคนฟัน ทำให้ฟันหลวม โยกคลอน หรือหลุดง่าย เพิ่มเสี่ยงฟันหลอ
.
และถ้าการอักเสบรุนแรงมากขึ้น, อาจทำให้กระดูกขากรรไกร (jawbone) ที่เป็นเบ้ารองรับฟันสึกกร่อน คล้ายกับครก (เบ้ากระดูก) ที่รองรับสาก (ฟัน) ใหญ่ขึ้น ทำให้ฟันหลวม หลุดได้ง่ายขึ้น
.
วิธีดูแลรักษาช่องปาก (เหงือก-ฟัน) ที่สำคัญได้แก่
.
(1). ใช้ไหมขัดฟัน 1 ครั้ง/วัน
.
(2). เปลี่ยนแปรงฟันเป็นชนิดขนอ่อน (soft) หรืออ่อนมากเป็นพิเศษ (extrasoft), แปรงให้ถูกวิธี และแปรงให้ทั่วถึง 2 ครั้ง/วัน
.
แปรงสีฟันที่ไม่ใช่แปรงขนอ่อน หรือการแปรงฟันแรงๆ ทำให้ฟันสึก-เหงือกสึก
.
(3). ใช้ยาสีฟันที่มีฟลูออไรด์
.
(4). เคี้ยวหมากฝรั่งที่ไม่มีน้ำตาลหลังอาหาร
.
(5). ใช้น้ำยาบ้วนปากที่มีฟลูออไรด์ และไม่มีแอลกอฮอล์หลังอาหาร (อมไว้ในปาก 1 นาที แล้วบ้วนทิ้ง)
.
น้ำยาบ้วนปากที่พอจะทำเองได้ที่บ้าน คือ ใช้น้ำ 1/2 แก้ว, ใส่เกลืออนามัยไป 1/2 ช้อนกาแฟ, ใส่ยาสีฟันที่มีฟลูออไรด์ไปเล็กน้อย, คนให้เข้ากัน
.
(6). ตรวจเช็คช่องปากกับอาจารย์หมอฟัน หรือทันตอนามัย 6-12 เดือน/ครั้ง
.
(7). ไม่กินอาหารจุบจิบ หรือกินอาหารกลุ่มคาร์บ / คาร์โบไฮเดรต (ข้าว-แป้ง-น้ำตาล-ขนม) เกิน 4 มื้อ/วัน (เช้า-สาย-เที่ยง-เย็น)
.
(8). กินอาหารที่มีแคลเซียม, วิตามิน D (เช่น วิตามินรวม 1 เม็ด/วัน) ให้มากพอเป็นประจำ
.
(9). รับแสงแดดอ่อนตอนเช้า-เย็น 15 นาที/วัน เพื่อให้ผิวหนังสังเคราะห์วิตามิน D และป้องกันโรคซึมเศร้าหลังคลอด
.
(10). โรคขาดวิตามิน C ไม่ค่อยพบในไทย ทว่า... เพื่อความปลอดภัย ควรกินพืชผักสดบ้าง อย่างน้อย 1 ครั้ง/วัน เพื่อให้ได้วิตามิน C, วิตามินนี้ช่วยให้เหงือกแข็งแรง
.
(11). กินอาหารสุขภาพที่มีน้ำตาลต่ำ-ไขมันต่ำ มีผลิตภัณฑ์นมไขมันต่ำ หรือนมถั่วเหลืองเสริมแคลเซียม-วิตามิน D, ปลาทะเลที่ไม่ผ่านการทอด, ผัก, และผลไม้ทั้งผล (ไม่ใช่น้ำผลไม้ที่กรองกากหรือเส้นใยทิ้งไป)
.
การทอดทำให้น้ำมันปลาเสื่อมสภาพ ทำให้น้ำมันปลาซึมออก น้ำมันที่ใช้ทอดซึมเข้าไปในเนื้อปลา
.
(12). ดื่มน้ำให้มากพอเป็นประจำ เพื่อทำให้ปริมาณน้ำลายไหลเวียนมากพอ น้ำลายมีฤทธิ์เป็นด่างอย่างอ่อน ช่วยทำความสะอาดช่องปาก ป้องกันฟันผุ
.
ถ้าปัสสาวะตอนกลางวันน้อยกว่า 2 ชั่วโมง/ครั้ง หรือปัสสาวะสีเข้ม บอกว่า น่าจะดื่มน้ำไม่พอ, ตรงกันข้าม ถ้าปัสสาวะเกินกว่า 1 ครั้ง/ชั่วโมง บอกว่า น่าจะดื่มน้ำมากเกินไป
.
ถึงตรงนี้... ขอให้ท่านผู้อ่านมีสุขภาพดีไปนานๆ ครับ
.

> [ Twitter ]

  • นพ.วัลลภ พรเรืองวงศ์ รพ.ห้างฉัตร ลำปาง. 9 มิถุนายน 2554.
  • ข้อมูลทั้งหมดเป็นไปเพื่อการส่งเสริมสุขภาพ ไม่ใช่วินิจฉัยหรือรักษาโรค; ท่านที่มีโรคประจำตัวหรือความเสี่ยงต่อโรคสูงจำเป็นต้องปรึกษาหมอที่ดูแลท่านก่อนนำข้อมูลไปใช้.
  • ยินดีให้ท่านนำบทความทั้งหมดไปใช้ได้ > CC: BY-NC-ND.

หมายเลขบันทึก: 443652เขียนเมื่อ 12 มิถุนายน 2011 11:47 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 19:39 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท