หนานเกียรติ
เกียรติศักดิ์ หนานเกียรติ ม่วงมิตร

SHA : ประสบการณ์และบทเรียนจาก ร.พ.กะพ้อ จ.ปัตตานี (๒)


.

เมื่อ นพ.เดชา แซ่หลี เข้ามารับตำแหน่งผู้อำนวยการโรงพยาบาลกะพ้อ มีแนวคิดจะใช้งานคุณภาพมาพัฒนาโรงพยาบาล ซึ่งแม้ว่าโรงพยาบาลขนาดเล็กมีขีดจำกัดไม่น้อย แต่เป็นเพราะการประเมินว่าทีมงานมีความเข้มแข็ง น่าจะเป็นต้นทุนที่จะดำเนินการจนประสบผลได้ 

   งานคุณภาพแรกที่ดำเนินการคือ “สถานที่ทำงาน น่าอยู่ น่าทำงาน” (Healthy workplace)

นอกจากอาคารหลังนี้ ซึ่งเป็นที่ให้บริการรักษาคนไข้ ด้านหลังก็จะเป็นบ้านไม้สำหรับเป็นที่พักของเจ้าหน้าที่ บริเวณรอบอาคารก็จะเป็นป่ารกชัฏ หญ้าสูง ไฟฟ้าแสงสว่างก็ไม่มี เวลาเดินไปกลับที่พักก็ต้องระมัดระวังจากอันตรายต่าง ๆ...

     มารีนี  สแลแม พยาบาลวิชาชีพชำนาญการ หัวหน้างานสุขภาพจิตและยาเสพติด เล่าถึงสภาพโรงพยาบาลเมื่อสิบกว่าปีที่แล้ว และได้เล่าถึงบรรยากาศการปรับปรุงให้โรงพยาบาลให้เป็นสถานที่ทำงาน น่าอยู่ น่าทำงาน ว่า

เราก็คุยกันว่าจะทำให้โรงพยาบาลเป็นสถานที่น่าอยู่ น่าทำงานและปลอดภัยได้อย่างไร ตอนคุยกันต่างก็เสนอว่าอยากจะทำโน่นทำนี่ อยากจะมีสวน อยากจะมีสนามหญ้า แต่เมื่อกลับมาดูงบประมาณของโรงพยาบาล ก็พบว่ามีนิดเดียว ไม่สามารถที่จะทำตามที่ต้องการได้...
...ตอนแรกเราจะทำสนามหญ้า โดยจะซื้อหญ้ามาปลูก แต่หญ้าที่จะซื้อมาปลูกก็ค่อนข้างแพง ใช้เงินเยอะ เราก็เลยช่วยกันถางหญ้าที่รก ๆ ออก บ้านใครที่มีหญ้าก็ขุดลอกเอามาเป็นแผ่น ๆ นำมาปลูก ชาวบ้านเห็นเราทำก็บริจาคหญ้าให้ นอกจากพวกเราเจ้าหน้าที่โณงพยาบาลแล้ว เราก็ขอแรงจากหน่วยทหารพัฒนาในพื้นที่มาช่วยด้วย...

     จากการร่วมแรงร่วมใจของบรรดาเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลในคราวนั้น ทำให้พื้นที่รกชัฏรอบ ๆ โรงพยาบาลกลายเป็นสนามหญ้า ที่สะอาดสะอ้านน่าดูน่าชม เป็นสถานที่ทำงานที่น่าอยู่น่าทำงานและปลอดภัย และถือเป็นความภาคภูมิใจที่เกิดจากการทำงานร่วมกันของบรรดาเจ้าหน้าที่

     ในระยะเดียวกันนั้น โรงพยาบาลได้ตัดสินใจนำ “๕ ส” เข้ามาพัฒนาคุณภาพโรงพยาบาลด้วย มารีนี ได้เล่าบรรยากาศการขับเคลื่อน ๕ ส. ของโรงพยาบาล ว่า

ตอนแรกก็รู้สึกว่าน่าจะเป็นภาระเยอะ เพราะต้องปรับปรุงเปลี่ยนแปลงอะไรเยอะ ต้องทำความเข้าใจกับทีมงานทั้งหมด เริ่มงานทีแรกก็ขลุกขลักมาก แต่พอทุกคนเข้าใจ เริ่มเห็นเป้าหมายที่ต้องการ ต่างอยากจะเห็นภาพที่จะออกมา ก็ค่อยคลายความกังวล เริ่มสนุกกับงานที่จะต้องทำ ก็มาช่วยกันทำคนละไม้ละมือ กลางค่ำกลางคืนเสร็จจากงานประจำก็มาช่วยกัน ตอนนั้นสนุกมาก...

     หลังจากที่ดำเนินการตามแนวทาง ๕ ส. สิ้นสุดลง โรงพยาบาลก็ตัดสินใจขับเคลื่อนเพื่อการรับรองมาตรฐานตามเกณฑ์ HA ทั้งนี้วัตถุประสงค์หลักเพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการพัฒนาโรงพยาบาลเป็นหลัก โดยที่ผลการผ่านการรับรองนั้นเป็นเรื่องรองลงไป

ช่วงที่ HA เข้ามา ตอนนั้นจบมาใหม่ ยังไม่รู้เรื่องอะไรเลย คนที่เป็นแกนหลักในการขับเคลื่อนคือคุณหมอเดชา (ผู้อำนวยการฯ) มีทีม FA เป็นแกนหลัก เรื่อง HA เป็นเรื่องใหม่ยังไม่มีใครเข้าใจ แบบประเมินที่มีอยู่อ่านก็ไม่เข้าใจ อ่านไม่รู้เรื่อง ต้องแปลไทยเป็นไทย ได้คุณหมอเดชาเป็นคนช่วยอธิบายให้ฟัง ที่ยังเต็มใจทำเพราะรู้ว่ามันจะช่วยพัฒนาโรงพยาบาลให้ดีขึ้น...

     ความยุ่งยากในการดำเนินงาน มิใช่อยู่ที่งานแต่อยู่ที่เอกสาร

ตอนทำใหม่ ๆ ค่อนข้างเครียดและเหนื่อย เพราะแบบประเมินอ่านแล้วเข้าใจยากมาก เป็นภาษาที่สวยแต่อ่านแล้วไม่เข้าใจ คำถามที่ถามมาต้องมานั่งคิดว่ามันหมายความว่าอย่างไร เขาถามมาแบบนั้เขาต้องการอะไร ทุกอย่างได้รับการคลี่คลายโดยคุณหมอเดชา นอกจากความยุ่งยากเรื่องเอกสาร เรื่องการทำความเข้าใจในทีมงานก็เป็นเรื่องยาก กว่าจะพูดคุยกันให้เข้าใจไปในทางเดียวกันต้องใช้เวลามาก...
...ทำช่วงแรก ๆ ก็รู้สึกต่อต้าน คิดในใจว่าทุกวันนี้ก็ดีอยู่แล้ว ทำไมจะต้องมาทำอะไรเพิ่มเติมอีก พอเริ่มมือทำงานก็มีงานเอกสารที่เพิ่มขึ้น และก็ยาก งานที่ทำก็หนักอยู่แล้ว ช่วงเที่ยงแทนที่จะได้พักผ่อนก็ต้องมาประชุมทำความเข้าใจ ทั้งที่ไม่อยากเข้าแต่ก็จำใจต้องเข้าเพราะกลัวถูกตำหนิ...

     ความพยายามในการทำคุณภาพเพื่อใช้เก็นเครื่องมือในการพัฒนาได้สร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับโรงพยาบาลไปในทิศทางที่ดีขึ้นหลายประการ ดังที่ มารีนี สะท้อนว่า

ช่วงที่เริ่มต้นทำคุณภาพได้อยู่ด้วย แต่หลังจากนั้นก็ไปเรียนต่อ ไปปี ๒๕๔๕ กลับมาปี ๒๕๔๗ กลับมาแล้วเห็นโรงพยาบาลเปลี่ยนไปเยอะมาก งานต่าง ๆ มีระบบมากขึ้น...

 

โปรดอ่านตอนต่อไป...

 

.

หมายเลขบันทึก: 443153เขียนเมื่อ 9 มิถุนายน 2011 14:02 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 13:45 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

สวัสดีค่ะ

มาส่งกำลังใจ และรอติดตามอ่านค่ะ 

 

  • มาขอบคุณที่เข้าไปทักทายกันจ้ะ
  • มีหมูป่าจากดอยมูเซอมาฝากด้วย
  • หมอทั้งสองคนของโรงพยาบาลกะพ้อ หมอเดชาและหมอวรวุฒิ ได้เป็นแพทย์ตัวอย่างภาคใต้ทั้งคู่ จากการสรรหาของคณะแพทย์ม.อ. ครับ
  • ไม่ใช่เรื่องบังเอิญที่หมอจากโรงพยาบาลเดียวกันจะได้รางวัลนี้ ผมว่าส่วนหนึ่งคือ การมีทีมงานที่ดี ที่จะร่วมทุกข์ร่วมสุขกัน
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท