เชื้อดื้อยาวัวอาจแพร่สู่คน


สำนักข่าวรอยเตอร์ตีพิมพ์เรื่อง 'MRSA: New stain of superbug found in cow' = "MRSA (เชื้อดื้อยาที่ทำให้เกิดฝีหนอง ปอดบวม ฯลฯ: เชื้อซูเปอร์สายพันธุ์ใหม่ในวัว", ผู้เขียนขอนำมาเล่าสู่กันฟังครับ
  • [ bug ] > noun = แมลง เชื้อโรค ส่วนขัดข้องในโปรแกรมคอมพิวเตอร์ก็เรียกว่า "บั๊ก" เช่นกัน
  • [ superbug ] > noun = เชื้อซูเปอร์ เชื้อที่ร้ายกาจ (super- = ซูเปอร์ เหนือกว่า พิเศษ)
อ.ดร.มาร์ค โฮล์มส์ และคณะจากมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ อังกฤษ (UK) ทำการศึกษา (ตีพิมพ์ใน Lancet Infectious Diseases) พบว่า การใช้ยาปฏิชีวนะมากเกินไปในการเลี้ยงโคนม ทำให้เกิดเชื้อดื้อยาใหม่ได้
.
MRSA (methicillin-resistant Staphylococcus aureus) เป็นเชื้อฝีหนองที่ดื้อต่อยาปฏิชีวนะขั้นพื้นฐาน ทำให้ต้องใช้ยาพิเศษที่มีราคาแพงมากรักษา
.
เชื้อนี้มีลักษณะคล้ายนินจา คือ สามารถไปเจริญเติบโตในคนบางคน หรือสัตว์บางตัวได้ โดยไม่ก่อให้เกิดโรค
.
แต่ถ้าเชื้อนี้ไปเจอของโปรดเข้า เช่น แผล เนื้อเยื่อที่ชอกช้ำ ปอดคนไข้ในโรงพยาบาล ฯลฯ ก็อาจติดเชื้อ ทำให้เกิดอาการ และเสี่ยงต่อการเสียชีวิตได้
.
การศึกษาใหม่พบเชื้อ MRSA สายพันธุ์ใหม่ 35 พันธุ์ที่น่าจะมาจากวัว
.
โคนมเป็นสัตว์ที่มีโรคเต้านมอักเสบ (mastitis) บ่อย, การรักษาที่ดี คือ ให้ยาปฏิชีวนะ หรือยาฆ่าเชื้อเฉพาะเมื่อมีอาการ
.
เกษตรกรจำนวนมากอยากจะได้ผลผลิตมากๆ จึงนำยาปฏิชีวนะมาผสมอาหารให้โคนมกิน ทำให้เขื้อชนิดดีหรือเชื้อท้องถิ่นลดลง และทำให้เชื้อดื้อยามีโอกาสเจริญเติบโต หรือแบ่งตัวเพิ่มขึ้น
.
สมาคมดิน (Soil Association) ของอังกฤษเสนอให้มีการห้าม (ban) ใช้ยาปฏิชีวนะแบบ "ทำเป็นกิจวัตร - ทำเป็นประจำ - หรือรูทีน (routine)" ในการเลี้ยงโคนม หรือให้กับโคทุกตัวแม้จะไม่มีการติดเชื้อ
.
สหภาพยุโรป (EU) มีกฎข้อบังคับห้ามการใช้ยาปฏิชีวนะโดยไม่มีโรค หรือห้ามการใช้แบบ "รูทีน"
.
ศัพท์ "รูทีน" นี้ในคนเรา = กิจวัตรประจำวัน เช่น อาบน้ำ แปรงฟัน ล้างหน้า กินข้าว ดื่มน้ำ
ฯลฯ ที่ทำทุกวันจนเป็นปกติ)
.
ดร.โฮล์มส์ กล่าวว่า คนอังกฤษ (UK) ที่ติดเชื้อ MRSA จากวัวมีน้อยกว่า 100 ราย/ปี แต่ก็พบเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ
.
ส่วนเชื้อดื้อยา MRSA สายพันธุ์อื่นๆ พบได้บ่อย และเป็นสาเหตุการตาย 1,593 รายในปี 2007 / 2550
.
สำนักสุขภาพอังกฤษ (NHS) รณรงค์เรื่องการป้องกันโรคติดเชื้อในโรงพยาบาลอย่างกว้างขวาง ทำให้อัตราตายลดลงเป็น 1,290 รายในปี 2551, 781 รายในปี 2552
.
ข่าวดีตอนนี้ คือ ผลิตภัณฑ์นมในอังกฤษผ่านการฆ่าเชื้อแบบพาสเจอไรส์ (pasteurisation) ซึ่งทำลายเชื้อ MRSA ที่อาจติดไปกับนมได้
.
ส่วนที่ต้องระวัง คือ คนงาน-เกษตรกรฟาร์มโคนม และคนที่สัมผัสกับสัตว์โดยตรง ต้องช่วยกันล้างมือด้วยสบู่หลังดูแลสัตว์ทุกครั้ง เพื่อป้องกันการแพร่เชื้อ
.
ก่อนหน้านี้อังกฤษเคยมีการระบาดของโรควัวบ้า เนื่องจากการนำเนื้อเยื่อสัตว์ที่ป่วย เช่น แกะ ฯลฯ ไปบดรวมเป็นอาหารสัตว์ ให้วัวที่กินหญ้ากลายเป็นสัตว์กินเนื้อ เกิดโรคระบาดใหญ่ [ โรควัวบ้า ]; [ wikipedia ]
.
การระบาดครั้งนั้นทำให้คนอังกฤษตาย 166 คน, และตายนอกอังกฤษ 44 คน, สัตว์เลี้ยงติดเชื้อกว่า 460,000 ตัว มีการฆ่าสัตว์ทิ้งประมาณ 4.4 ล้านตัว
.
เมืองไทยเราก็มีฟาร์มเลี้ยงสัตว์... ถ้าเรารณรงค์ไม่ให้มีการใช้ยาปฏิชีวนะแบบ "รูทีน" และล้างมือด้วยสบู่หลังสัมผัสสัตว์-อาหารสัตว์ได้ จะลดเสี่ยงต่อโอกาสเกิดเชื้อดื้อยาได้มาก
.
ถึงตรงนี้... ขอให้ท่านผู้อ่านมีสุขภาพดีไปนานๆ ครับ
.
 

> [ Twitter ]

  • นพ.วัลลภ พรเรืองวงศ์ รพ.ห้างฉัตร ลำปาง. 8 มิถุนายน 2554.
  • ข้อมูลทั้งหมดเป็นไปเพื่อการส่งเสริมสุขภาพ ไม่ใช่วินิจฉัยหรือรักษาโรค; ท่านที่มีโรคประจำตัวหรือความเสี่ยงต่อโรคสูงจำเป็นต้องปรึกษาหมอที่ดูแลท่านก่อนนำข้อมูลไปใช้.
  • ยินดีให้ท่านนำบทความทั้งหมดไปใช้ได้ > CC: BY-NC-ND.
หมายเลขบันทึก: 443113เขียนเมื่อ 9 มิถุนายน 2011 02:15 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 13:45 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

Perhaps, the 'super E. coli' may come to us in this or similar way.

Perhaps, we should look at 'prescriptions' for people; use of (farm and household) chemicals; cleaning products and so on. We need to think more about possible 'adaptation' (evolution) of micro-organisms'.

Microbes are a lot better than human (and more complex lifeforms) in adapting to new 'chemicals' (including plastics). More research work for hospitals? Medical scientists? ;-)

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท