เข้าค่าย เรียนรู้การ (มีชีวิต) อยู่กับเบาหวาน


ทุกคนสามารถอยู่ร่วมกับโรคเบาหวานได้อย่างมีความสุข เพียงแต่ต้องเรียนรู้เรื่องการปรับตัวและมีวินัยในการปฏิบัติตน

โรงพยาบาลเทพธารินทร์ เป็นโรงพยาบาลที่จัดค่ายเบาหวานมาเป็นเวลายาวนานตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๕๓๗ จัดทุกปีสม่ำเสมอถึง ๑๑ ครั้งแล้ว ปี พ.ศ.๒๕๔๘ นี้จะเป็นค่ายครั้งที่ ๑๒ ดิฉันมีโอกาสเข้าร่วมสังเกตการณ์ค่ายครั้งที่ ๑๐ ซึ่งจัดที่จังหวัดสงขลา เห็นความมีชีวิตชีวาของชาวค่ายทุกคน ทั้งผู้ป่วย ญาติ และทีมบุคลากรที่ดูแล ทุกคนร่วมทำกิจกรรมทุกอย่างเหมือนกันหมด ตั้งแต่เช้าตรู่จนถึงเย็นค่ำ (ทีมงานต้องทำงานต่อจนดึก) กิจกรรมในชีวิตประจำวัน เช่น การรับประทานอาหาร เน้นให้ผู้ป่วยได้เรียนรู้ด้วยตนเอง ยังจำได้ว่าเมื่อชาวค่ายไปเที่ยวที่จังหวัดปัตตานี หลายคนลองดื่ม "ชาชัก" เมื่อกลับมาตรวจน้ำตาลในเลือดด้วยตนเองก่อนรับประทานอาหารเย็น พบว่าน้ำตาลในเลือดสูงขึ้นมาก เพราะชาชนิดนี้เขาใส่นมข้นหวานในปริมาณค่อนข้างมาก ผู้ป่วยก็รู้ได้เองโดยไม่ต้องมีคนบอก

กิจกรรมค่าย ดูเหมือนจะเป็นการจัดประสบการณ์การเรียนรู้ให้กับผู้ป่วยและเสริมด้วยความรู้ภาคทฤษฎี แม้จะมีการจัดในรูปแบบที่หลากหลาย แต่ผลที่ออกมาก็คล้ายคลึงกันคือทั้งผู้ป่วย ครอบครัว และบุคลากรผู้ให้การดูแลต่างก็พึงพอใจ

(ดูภาพกิจกรรมค่ายเบาหวานครั้งที่ ๑๑ ที่ลำปาง-เชียงใหม่ท้ายบทความ)

กระบวนการจัดค่ายเบาหวานจะยุ่งยาก ซับซ้อนอย่างไรนั้น โปรดติดตามในตอนต่อๆ ไป

วัลลา ตันตโยทัย ๒๓ มิถุนายน ๒๕๔๘

"เข้าค่าย เรียนรู้การ (มีชีวิต) อยู่กับเบาหวาน"

จุดประสงค์ของกิจกรรมค่ายเบาหวานของโรงพยาบาลเทพธารินทร์ คือ การแสดงให้ผู้ป่วยเห็นว่า ทุกคนสามารถอยู่ร่วมกับโรคเบาหวานได้อย่างมีความสุข เพียงแต่ต้องเรียนรู้เรื่องการปรับตัวและมีวินัยในการปฏิบัติตน หลายคนเข้าใจว่าเมื่อเป็นเบาหวานแล้ว ชีวิตจะต้องอับเฉาเนื่องจากไม่สามารถรับประทานไอศกรีมได้เลย แต่จริงๆ แล้ว ผู้ป่วยเบาหวานยังสามารถมีความสุขกับความหวานและเย็นที่ได้รับจากไอศกรีมได้อยู่ เพียงแต่ต้องเรียนรู้และเลือกรับประทานให้ถูกต้องเท่านั้น หลายคนเข้าใจว่าเป็นเบาหวานแล้วทำให้กลายเป็นคนขี้โรค ไม่ควรออกไปท่องเที่ยว แต่จริงๆ แล้วผู้ป่วยเบาหวานยังเที่ยวได้เหมือนคนปกติ เพียงแต่ต้องเรียนรู้เรื่องการป้องกันภาวะไม่พึงประสงค์ต่างๆ และการปฏิบัติตนหากเกิดภาวะเหล่านั้น

ค่ายเบาหวานของโรงพยาบาลเทพธารินทร์เป็นกิจกรรม 4 วัน 3 คืน ที่ผู้ป่วยเบาหวานและญาติพร้อมด้วยบุคลากรผู้ให้การดูแล ได้แก่ แพทย์ วิทยากรเบาหวาน พยาบาล นักกำหนดอาหาร และนักกายภาพบำบัด ใช้ชีวิตและทำกิจกรรมร่วมกันนอกสถานที่เพื่อเรียนรู้เรื่องโรคเบาหวาน ทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติไปพร้อมๆ กัน

ในค่ายเบาหวาน ทุกๆ วันชาวค่ายจะได้รับการกระตุ้นให้ตื่นแต่เช้าเพื่อมาออกกำลังกายด้วยกัน การออกกำลังกายที่จัดเตรียมไว้มีหลากหลาย เหมาะสำหรับคนหลายสมรรถนะและความชอบ เช่น แอโรบิกสำหรับผู้ที่ยังคล่องตัวอยู่ จี้กงหรือรำกระบองสำหรับผู้สูงอายุ เป็นต้น ทีมงานพยายามแสดงให้ชาวค่ายเห็นว่าการออกกำลังกายนั้นไม่จำเป็นต้องอยู่ในรูปแบบกีฬาเสมอไป ถึงแม้เป็นผู้ที่ไม่มีความสามารถทางด้านกีฬา ก็ยังสามารถออกกำลังกายได้อย่างสนุกสนาน นอกจากนั้น ทีมงานยังเน้นหนักเรื่องการออกกำลังกายให้ถูกต้องตามสภาพร่างกาย เช่น หากมีอาการปวดเข่าหรือหลัง จะสามารถออกกำลังกายได้อย่างไร

อาหารทุกมื้อระหว่างค่ายจัดแบบบุฟเฟ่ให้ชาวค่ายเลือกรับประทานเอง อาหารทุกอย่างเป็นอาหารปกติ ไม่ได้จัดปรุงพิเศษให้ผู้ป่วยเบาหวาน จุดประสงค์ในเรื่องอาหารนี้ ทีมงานต้องการแสดงให้ชาวค่ายเห็นว่า การเป็นเบาหวานไม่ใช่อุปสรรคในการรับประทานอาหารธรรมดาทั่วไปที่คนอื่นรับประทานกัน เพียงแต่ผู้เป็นเบาหวานจะต้องเรียนรู้เพื่อรู้จักเลือกและควบคุมอาหาร
               ก่อนอาหารทุกมื้อ นักกำหนดอาหารประจำค่ายจะตักตัวอย่างปริมาณอาหารจากแต่ละถาด เพื่อแสดงให้ชาวค่ายทราบว่าเท่าไรที่เรียกว่าหนึ่งส่วน เมื่อรับประทานอาหารเรียบร้อยแล้ว ชาวค่ายจะต้องบันทึกว่าตนรับประทานอาหารแต่ละอย่างเข้าไปเป็นปริมาณเท่าไรบ้าง คำนวณสัดส่วน แล้วนำมาเปรียบเทียบกับปริมาณอาหารที่นักกำหนดอาหารได้กำหนดไว้ให้สำหรับแต่ละคน แต่ละมื้อ กิจกรรมนี้ทำให้ชาวค่ายตระหนักเรื่องการเลือกรับประทานอาหาร การแลกเปลี่ยนหมวดอาหาร และสร้างความคุ้นเคยกับการนึกถึงปริมาณอาหารทุกครั้งที่รับประทาน

ตลอดค่าย ชาวค่ายได้รับแจกเครื่องตรวจน้ำตาลในเลือดประจำตัวและต้องทำการตรวจเลือดด้วยตนเอง 4 ครั้งทุกวัน การเจาะเลือดช่วยให้ชาวค่ายเห็นถึงความสำคัญของการติดตามระดับน้ำตาลในเลือดอย่างสม่ำเสมอ ว่าสามารถช่วยในการเรียนรู้ปฏิกิริยาของตนเองต่ออาหารชนิดต่างๆ ปริมาณต่างๆ

กิจกรรมอื่นๆ ของค่ายเบาหวานยังมีอีกมากมาย เช่น การบรรยายในหัวข้อต่างๆ เกี่ยวกับวิวัฒนาการใหม่ๆ ของวงการโรคเบาหวานโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ การเล่นเกมส์ที่สอดแทรกวิชาความรู้เรื่องเบาหวานเข้ากับความสนุกสนาน การจัดกลุ่มคุยกับแพทย์ และการท่องเที่ยวชมสถานที่น่าประทับใจใกล้เคียง

ในการจัดค่ายครั้งแรกๆ ทีมงานประสบปัญหาในการชักชวนให้ผู้ป่วยและญาติเข้าร่วมกิจกรรม เนื่องจากค่ายเบาหวานเป็นสิ่งใหม่และไม่เห็นประโยชน์ชัดเจน แต่เมื่อผ่านไป ๑๑ ปีกับการจัดค่าย ๑๑ ครั้ง ค่ายเบาหวานเป็นที่รู้จักกันมากขึ้น ผู้ร่วมค่ายเข้าใจหลักการและเห็นประโยชน์ชัดเจน ชาวค่ายจำนวนไม่น้อยที่กลับมาร่วมค่ายเบาหวานกับทีมงานครั้งแล้วครั้งเล่า พร้อมชักชวนเพื่อนๆ ทั้งที่เป็นเบาหวานและไม่เป็นเบาหวานให้มาค่ายด้วยกัน

ผู้เล่าเรื่อง: คุณธัญญา หิมะทองคำและทีมงาน โรงพยาบาลเทพธารินทร์

ขอรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ พญ.สิริเนตร กฤติยาวงศ์ คุณสุนทรี นาคะเสถียร โทร ๐-๒๒๔๐-๒๗๒๗ ต่อ ๒๒๓๑,๒๒๓๒

 

หมายเลขบันทึก: 443เขียนเมื่อ 23 มิถุนายน 2005 09:30 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 17:09 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท