รายการสายใย กศน. 6, 13, 20, 27 มิ.ย. 54


6 มิ.ย.54 เรื่อง “ระบบบริหารและจัดการการเงินอย่างถูกต้องและรวดเร็ว”, 13 มิ.ย.54 เรื่อง “เลขาธิการ กศน. พบบุคลากร”, 20 มิ.ย.54 เรื่อง “แหล่งเรียนรู้ด้านวิทยาศาสตร์ของ กศน.”, 27 มิ.ย.54 เรื่อง “จากธรรมชาติสู่ท้องฟ้าจำลอง”

รายการสายใย กศน. วันที่  27  มิถุนายน  2554

 

 

         เรื่อง “จากธรรมชาติสู่ท้องฟ้าจำลอง”

 

         นายอิทธิเดช  สุพงษ์  ดำเนินรายการ

         วิทยากรโดย
         - สาลิน วิรบุตร์  ผอ.ศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษา
         - นายสิทธิชัย  จันทรศิลปิน  นักวิชาการศึกษาชำนาญการพิเศษ

 

         ศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษา เอกมัย ประกอบด้วยงานย่อย ๆ หลายหน่วย หน่วยที่เป็นหัวใจคือท้องฟ้าจำลอง และพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์

         ท้องฟ้าจำลอง เป็นเครื่องมือทางวิทยาศาสตร์ที่ยิ่งใหญ่มาก ต้องอาศัยศาสตร์ต่าง ๆ   ท้องฟ้าจำลองกรุงเทพเกิดจากพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าให้สร้างเป็นแหล่งเรียนรู้ในกรุงเทพฯ ช่วง ม.ล.ปิ่น  มาลากุล เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ  เปิดแสดงให้บริการแก่ประชาชน ตั้งแต่ปี 2507   ปัจจุบันเปิดบริการสัปดาห์ละ 6 วัน ( หยุดวันจันทร์ )  มีผู้บรรยายสด  มีโรงเรียนจองมาก

         ท้องฟ้าจำลอง จำลองจากท้องฟ้าจริง ๆ เพียงแต่อัตราส่วนเล็กลง ( ดาวจะเปลี่ยนตำแหน่งช้ามาก ในช่วงชีวิตเราจะดูไม่ออกว่าดาวเปลี่ยนตำแหน่ง )

         ท้องฟ้าจำลองกรุงเทพฯ ที่เอกมัย ขนาด 20 เมตร ใหญ่และทันสมัยที่สุดในประเทศ เป็นต้นแบบและมีพัฒนาการตามยุคตามสมัย    ทั่วโลกมีท้องฟ้าจำลองประมาณ 3,300 แห่ง  มีหลายขนาด  ที่ญี่ปุ่นมีท้องฟ้าจำลองทุกเมือง งานดาราศาสตร์และอวกาศของญี่ปุ่นจึงก้าวหน้ามาก    ปัจจุบันในประเทศไทยนอกจากที่เอกมัย มีท้องฟ้าจำลองที่รังสิต ปทุมธานี ขนาดรองลงไป และกำลังสร้างที่ร้อยเอ็ด พังงา นครศรีธรรมราช     ท้องฟ้าจำลองเป็นที่สุดของวิทยาศาสตร์ ที่ทุกท้องถิ่นอยากให้มีท้องฟ้าจำลอง  จึงมีโครงการขยายต่อไปในชื่อ ศูนย์ดาราศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ

 

         ผู้ไปท้องฟ้าจำลอง จะมีจุดประสงค์แบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือไปดูว่าเหมือนจริงไหม กับไปดูเพื่อให้ดูดาวเป็น
         ท้องฟ้าจำลองเป็นแหล่งเปิดจินตนาการของเด็ก เพื่อเข้าใจดาราศาสตร์ เช่น ปรากฏการณ์สุริยุปราคา จันทรุปราคา ฝนดาวตก ระบบสุริยะ   เป็นการพัฒนาสมองพร้อมกันสองซีก ( วิชาการ--ศิลปะ )  ต้องใช้จินตนาการมาก  จุดประกายให้หาความรู้เพิ่มเติม  เมื่อเข้าใจแล้วจะเกิดกระบวนการทางวิทยาศาสตร์เป็นนิสัย   ท้องฟ้าจำลองจึงเป็นเครื่องมือทำให้เด็กมีเหตุผลเป็นนักวิทยาศาสตร์   ปัจจุบันท้องฟ้าจำลองมีการพัฒนาฉายภาพยนตร์เต็มโดมดาว เป็นเรื่อง ๆ เรียนรู้เข้าใจง่าย แต่ว่า แต่ละเรื่องราคาแพง ต้องซื้อเรื่องใหม่ ๆ ( จากต่างประเทศ ) มาเพิ่ม และต้องใช้เครื่องฉายภาพหลายเครื่อง ( คนละเครื่องกับเครื่องฉายดาว )   ช่วงนี้มี 2 เรื่อง ฉายสลับรอบกัน คือ 1. มหัศจรรย์แห่งจักรวาล ( รำลึกถึงกาลิเลโอในยุค 400 ปีที่แล้ว ใช้เด็กเป็นตัวนำเรื่อง ) กับ 2. แสงจากแอนโดรเมดา ( แสงจากกาแล็กซีแอนโดรเมดา )

         เครื่องฉายดาวจะเป็นระบบแสงผ่านเลน ( ระบบคลาสสิค )  จะฉายดาวเหมือนจริงมากกว่า ฉากหลังดำสนิท ดูแล้วประทับใจกว่า แต่ราคาแพงกว่ามาก  ส่วนเครื่องฉายภาพเป็นระบบคอมพิวเตอร์ ( ดิจิตอล ) เหมาะกับการฉายภาพยนต์ที่สร้างเป็นเรื่องราวได้ดีกว่า

 

         กิจกรรมอื่น ๆ ของท้องฟ้าจำลอง  เช่น เผยแพร่ข่าวปรากฏการณ์ทางดาราศาสตร์ที่คนทั่วไปดูได้  ค่ายดาราศาสตร์  อบรมครูหลักสูตรดาราศาสตร์  นิทรรศการเคลื่อนที่พร้อมโดมท้องฟ้าจำลองเคลื่อนที่

         ปัจจุบันศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษาเอกมัย เก็บค่าบริการ ผู้ใหญ่ 30 บาท  เด็ก 20 บาท  ดูได้ทั้งท้องฟ้าจำลองและนิทรรศการต่าง ๆ    สนใจสอบถามข้อมูลได้ที่ ฝ่ายประชาสัมพันธ์ 02-3921773  หรือดูรายละเอียดและจองผ่านเว็บที่ http://www.sciplanet.org


 



 

รายการสายใย กศน. วันที่  20  มิถุนายน  2554


 

         เรื่อง “แหล่งเรียนรู้ด้านวิทยาศาสตร์ของ กศน.”

 

         นายอิทธิเดช  สุพงษ์  ดำเนินรายการ

         วิทยากรโดย
         - สาลิน วิรบุตร์  ผอ.ศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษา
         - นายสิทธิชัย  จันทรศิลปิน  นักวิชาการศึกษาชำนาญการพิเศษ

 

         ศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษา เอกมัย เป็นแหล่งเรียนรู้ทางวิทยาศาสตร์กึ่งแหล่งท่องเที่ยว ที่คนรู้จักในนามดั่งเดิมคือท้องฟ้าจำลอง กรุงเทพ  เปิดปี 2507 เป็นแหล่งเรียนรู้ทางวิทยาศาสตร์แห่งแรกของประเทศไทย   ปัจจุบันศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษาขยายไปยังภูมิภาค 16 แห่งแล้ว
         วิสัยทัศน์ คือ มุ่งมั่นสร้างวัฒนธรรมวิทยาศาสตร์ในสังคมไทย

         วิทยาศาสตร์คือ “ความรู้ที่มีเหตุผล” เรียนรู้สิ่งที่มีอยู่จริงในธรรมชาติ  เป็นประโยชน์กับทุกกลุ่มเป้าหมาย

 

         ที่ศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษา เอกมัย มีกิจกรรมการศึกษาเยอะมาก  มีนิทรรศการต่าง ๆ  6 อาคาร ( หยุดวันจันทร์  มีผู้เข้า ชม/ร่วมกิจกรรม ปีละไม่น้อยกว่า 1 ล้านคน ภาคเช้าวันเสาร์อาทิตย์จะเต็มตลอด )

         อาคาร 1

         1. โลกดาราศาสตร์
         2. ชีวิตสัมพันธ์กับดวงดาว
         3. โลก:แหล่งกำเนิดชีวิตในระบบสุริยะ
         4. ชีวิตดาวฤกษ์
         5. ความเป็นไปในเอกภพ
         6. มนุษย์กับการสำรวจอวกาศ 

         อาคาร 2

         1. นิทรรศการ คอมพิวเตอร์เพื่อชุมชน
         2. นิทรรศการ ชีวิตกับเวลา  
         3. นิทรรศการ FUN SCIENCE

         อาคาร 3

         โลกใต้น้ำ

         อาคาร 4

         ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

         อาคาร 5-6

         วิทยาศาสตร์สุขภาพ 

 

        สนใจสอบถามกิจกรรมได้ที่ ฝ่ายประชาสัมพันธ์ 02-3921773  หรือดูรายละเอียดที่ http://www.sciplanet.org  ( จองผ่านเว็บได้เลย )

 

         อยากให้เด็กเก่ง ต้องเริ่มที่วิทยาศาสตร์

         ( สัปดาห์หน้าเป็นเรื่องท้องฟ้าจำลอง )



 


 

รายการสายใย กศน. วันที่  13  มิถุนายน  2554


 

         เรื่อง “เลขาธิการ กศน. พบบุคลากร”


         นายอิทธิเดช  สุพงษ์  ดำเนินรายการ

         วิทยากรโดย
         - นายประเสริฐ  บุญเรือง  เลขาธิการ กศน.

 

         วิสัยทัศน์ของ กศน.  “คนไทยได้รับการศึกษาตลอดชีวิตที่มีคุณภาพ อย่างทั่วถึงและเท่าเทียมกัน เพื่อให้เกิดสังคมแห่งการเรียนรู้”   ถ้า พรบ.การศึกษาตลอดชีวิต ผ่านออกมา  กศน.จะดำเนินงานได้อย่างมีศักยภาพ   ขณะนี้ พรบ.การศึกษาตลอดชีวิตอยู่ในระหว่างการพิจารณาของนิติกร สป. แต่เป็นฉบับที่ กศน. เป็นกรม   ผมได้หารือกับ รมว.ศธ. ขอปรับเปลี่ยนให้ กศน. เป็นองค์กรหลักที่ 6 และท่าน รมว.รับปากจะช่วยผลักดัน   จึงกำลังจะขอ พรบ.การศึกษาตลอดชีวิตคืนมาปรับมาตรา 21 ให้ กศน.ขึ้นตรงกับ รมว.  ซึ่งต้องแก้ไข พรบ.การศึกษาแห่งชาติอีก 3 มาตรา

         อยากเร่งรัดเรื่อง กศน.ตำบล ให้เป็นรูปธรรม   หัวหน้า กศน.ตำบลต้องไปปฏิบัติหน้าที่ที่ตำบล ไม่ต้องมาอยู่ที่อำเภอ  จัดบริการเรื่องต่าง ๆ เหมือนอำเภอ ไม่ใช่จัดเฉพาะสายสามัญ  มีคอมพิวเตอร์ต่ออินเตอร์เน็ต 6 เครื่อง  ( จะจัดอบรมหัวหน้า กศน.ตำบล คนละ 5 วัน ในเรื่องการบริหาร-ประสานงานใน กศน.ตำบล )
         งาน กศน.ตำบล ต้องมีการประชาสัมพันธ์ โดยจะจัดอบรมนักข่าวภูธร ให้นักข่าวหนังสือพิมพ์ทุกฉบับมาเป็นวิทยากรสอนการเขียนข่าว เพื่อช่วยกันขับเคลื่อนของบประมาณเปิดศูนย์การศึกษาตลอดชีวิตทุกหมู่บ้าน   รูปแบบการส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิตคือการส่งเสริมการอ่าน

         จะจัดมุมวิทยาศาสตร์เพื่อชีวิต ใน กศน.ตำบลต้นแบบ 4 ภาค  ให้ทุก กศน.ตำบลไปดูงาน แล้วกลับไปทำทั้ง 7,409 แห่ง

         สนง. กศน.ตำบล 700 แห่ง  ยังไม่มีการทำสัญญาก่อสร้าง  ขอเร่งรัดให้รีบรายงาน ถ้าถึงวันที่ 30 มิ.ย.54 ยังไม่ทำสัญญาให้เปลี่ยนไปทำที่อื่นที่ประชาชนประชุมให้ความเห็นชอบและนายอำเภอลงนามรับรอง

         ให้มีการแข่งขันคัดเลือก กศน.ตำบลดีเด่นของจังหวัด ๆ ละ 1 แห่ง ( กศน.ตำบลมีชีวิต มีประชาชนมาใช้บริการ มีความพร้อมด้านวัสดุอุปกรณ์ ผู้ใช้บริการมีความสุข )  จะมอบโล่ระดับประเทศในวันที่ 8 ก.ย.

         กศน.ตำบล ได้รับงบประมาณ 3 ส่วน อาคาร-คอมพิวเตอร์-หนังสือ ถ้าทำสัญญาสร้างอาคารแล้ว ให้ดำเนินเรื่องซื้อคอมพิวเตอร์+หนังสือเลย

         ผมเคยเป็นครูประจำกลุ่ม 6 ปี สอนทั้งวัน มีคุณภาพ จึงมีนโยบายให้สอนทั้งวัน อาจจ้างวิทยากรสอนเสริมมาช่วยสอน

         จะเกลี่ยตำแหน่งว่าง ครู กศน.ตำบล จากที่มีครู กศน.ตำบลเกินจำนวนตำบล เช่นภาคอิสาน มาครึ่งหนึ่ง ให้จังหวัดที่มีครูไม่ครบ เช่น อยุธยา  โดยมอบให้ ผอ.จังหวัดดำเนินการสอบเอง ( จะดำเนินการในอีกเดือนสองเดือนนี้ )

         การสอบครูผู้ช่วย ถ้าใครสอบผ่านภาค ก ภาค ข  60 % แล้ว จึงจะสอบสัมภาษณ์และส่งวิสัยทัศน์ไม่เกิน 10 หน้า ( อย่าทำการเกิน 10 หน้า )   การสอบตาม ว.2 ( รับคนใน ) ไม่มีการขึ้นบัญชี  ถ้าสอบตาม ว.3 ( รับคนนอก ) จึงจะขึ้นบัญชี   แต่ จะเสนอขออนุมัติขึ้นบัญชีย้อนหลัง ไม่ทราบว่า ก.ค.ศ.จะยอมหรือไม่ เพราะสอบไปแล้ว ( เคยขออนุมัติที่อาชีวศึกษา สอบตาม ว.2  ก.ค.ศ.อนุมัติให้ขึ้นบัญชี 1 ปี แต่เป็นการขออนุมัติตั้งแต่แรก )   การสอบครั้งนี้ใช้งบประมาณถึง 2 ล้านบาท

 

         สำหรับในส่วนกลางนั้น จะขับเคลื่อนได้ดีต้องมี พรบ.การศึกษาตลอดชีวิต  ผอ.กอง จะเป็น ผอ.สำนัก ( เชี่ยวชาญ C9 )

         การสอบ ผอ.อำเภอ มีตำแหน่งว่าง 100 ตำแหน่ง แต่สอบได้ 45 คน  เข้าอบรมที่วัดไร่ขิง 13 มิ.ย. เหลือตำแหน่งว่างอีก 55 ตำแหน่ง  หลังวันที่ 15 มิ.ย.จะสอบคนของเราอีกรอบ  ถ้าสอบแล้วได้ไม่ครบจึงจะขออนุมัติ อ.ก.ค.ศ. สป. รับโอนจากโรงเรียนต่าง ๆ

         ผอ.จังหวัด ว่าง 21 จังหวัด  ก.ค.ศ.อนุมัติคุณสมบัติแล้ว  เปิดสอบช่วงเดียวกัน  คัดครึ่งสอบครึ่ง  ใช้เกณฑ์เดียวกับ ผอ.เขตพื้นที่ กศ.  ต้องผ่าน 60 %

         นอกจากนี้ มีการสอบ ศน.   ทุกจังหวัดมี ศน. 4 คน  ต้องจบปริญญาโท ต้องสอบผ่าน 60 %

         ต้องการให้ทุกคนในองค์กรมีความรักสามัคคี มีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ จึงจะจัดกิจกรรม กศน.เกม ( ฟุตบอล แชร์บอล วอลเล่ย์บอล เปตอง เซปักตะกร้อ วิ่ง กอล์ฟ )  ทั้งประเภทผู้บริหาร ประเภทครู ประเภทนักศึกษา   แข่งมาจากระดับจังหวัด-ภาค  และวันที่ 6-8 ก.ย.54 ไปแข่งที่สนามกีฬาสมโภชเชียงใหม่ 700 ปี ( ภาคละ 2 ทีม ) เพราะมีที่พักหัวละ 50 บาท    ผอ.จังหวัดวิ่ง 100 เมตร, ผอ.อำเภอวิ่ง 400 เมตร, ครู กศน.วิ่ง 800 เมตร, นักศึกษาวิ่งทุกประเภท   และมีการแข่งขันฟุตบอลระหว่าง ผอ.กศน.จังหวัดกับยูเนสโกนานาชาติ    มีงานเลี้ยงส่งผู้ที่เกษียณอายุ 16 คน พร้อมเลี้ยงยูเนสโก เย็นวันที่ 8    ให้ ผอ.กศน.จังหวัด อำเภอ ผอ.หน่วยขึ้นตรง ผอ.ส่วนกลาง ไปทุกคน  ส่วนครูและนักศึกษาให้ไปเฉพาะนักกีฬา

 

         วันที่ 3 ก.ค.54 เป็นวันเลือกตั้งทั่วไป เป็นหน้าที่ของ กศน. ในการส่งเสริมให้ประชาชนเป็นพลเมืองที่ดี   กกต.ให้ กศน.จัดนักศึกษาที่ไม่เป็นฝ่ายใด อายุ 18-50 ปี ไปร่วมเป็น กกน. ( คณะกรรมการประจำหน่วย 1 ใน 9 คน ) ทุกหน่วยเลือกตั้ง รวม 94,000 คน  รวมทั้งหน่วยเลือกตั้งล่วงหน้าอีก 4,000 หน่วย ( ให้กิจกรรม กพช. )  และให้มีนักศึกษาอีก 1-2 คน สังเกตการณ์อยู่นอกหน่วย   และ กกต.ให้งบประมาณ 12 ล้านบาท มารณรงค์การเลือกตั้ง  รอบแรกทุกอำเภอมาทำที่จังหวัด รอบที่สองจัดที่อำเภอ รอบที่สามจัดที่ กศน.ตำบล สาธิตการเลือกตั้งแบบ 2 บัตร การกาบัตรที่ถูกต้อง ลดบัตรเสีย  วัสดุอุปกรณ์ต่าง ๆ ใช้ของ กกต.จังหวัด   ผู้ที่ได้รับการสาธิตต้องไปเผยแพร่ต่ออีกอย่างน้อย 10 คน โดยลงบัญชีผู้ได้รับการเผยแพร่ตามแบบฟอร์ม กกต. ส่งกลับมา

         นอกจากนี้ กกต.ประสานให้ สนง.ตำรวจแห่งชาติ รายงานผลการเลือกตั้งอย่างไม่เป็นทางการ และ สนง.ตำรวจแห่งชาติให้คน กศน.ไปช่วยรายงาน ให้งบประมาณ 8 แสนบาท    ขอให้ทำเต็มกำลังความสามารถ คัดคนที่มีจิตอาสาไป

 

         จะให้บุคลากร กศน.ได้ไปอบรม ศึกษาดูงาน ( OD ) เพื่อให้มีขวัญกำลังใจ  ถ้าช่วยกันขับเคลื่อน พรบ.การศึกษาตลอดชีวิต ให้ กศน.เป็นองค์กรหลัก  พนักงานราชการจะได้เป็นข้าราชการ ( ท่าน รมว. บอกว่า จะปรับให้พนักงานราชการเป็นข้าราชการปีละ 25 % )  ถ้าไม่ได้เป็นองค์กรหลัก พนักงานราชการจะได้เป็นข้าราชการเพียงปีละประมาณ 40 คน ( ที่กำลังสอบ )   ให้ทุกคนทำงานตามหน้าที่ให้ดีที่สุด สามัคคีกัน ทำงานอย่างมีความสุข  “คนสำราญ งานจะสำเร็จ”

 

         ปีงบประมาณหน้า  ปกติอยากได้ กศน.ตำบลอีก 5,000 แห่ง  แต่ปีนี้ 700 แห่งยังทำสัญญาไม่ได้ คงต้องลดปีหน้าเหลือ 500-1,000 แห่ง    ถ้ามีศูนย์การศึกษาตลอดชีวิตทุกหมู่บ้าน จะทำให้การส่งเสริมการอ่านได้ผล  มีหนังสือพิมพ์แห่งละ 3 ฉบับ จะช่วยให้ประชาชนรู้เท่าทัน ซื้อสิทธิ์ขายเสียงไม่ได้

         อยากให้คน กศน. ให้เกียรติผู้อื่น แล้วผู้อื่นจะให้เกียรติเรา้


 

 



รายการสายใย กศน. วันที่  6  มิถุนายน  2554


 

         เรื่อง “ระบบบริหารและจัดการการเงินอย่างถูกต้องและรวดเร็ว”


         อัญชิษฐา  บุญพรวงศ์  ดำเนินรายการ

         วิทยากรโดย
         - ประทุมทิพย์  ศรีเมือง  ผอ.กลุ่มงานคลัง
         - นายดำรงศักดิ์  ว่าวกำเหนิด  หัวหน้าฝ่ายพัสดุ
         - พูลทิพย์  ใจหวัง  หัวหน้าฝ่ายงบประมาณ
         - กนกวรรณ  พจน์ประสาท  หัวหน้างานบัญชี

 

         สิ้นเดือน มิ.ย.54 หมดไตรมาศ 3  ต้องใช้จ่ายเงินอย่างน้อย 68 % แต่หน่วยงาน กศน.ยังใช้จ่ายเงินไม่ถึง 50 %   ที่น่าห่วงคืองบลงทุนซึ่งเป็นตัวชี้วัดในคำรับรองการปฏิบัติราชการ ขณะนี้ยังใช้จ่ายไม่ถึง 10 %  จึงขอเน้นย้ำให้รีบดำเนินงานงบลงทุน   ที่มีปัญหามากคืองบก่อสร้าง กศน.ตำบล 700 แห่ง ติดขัดในเรื่องกรรมสิทธิ์ที่ดิน  ถ้าก่อหนี้ผูกพันไม่ทันสิ้นเดือน มิ.ย. ให้รีบแจ้งคืนงบประมาณ   และขณะนี้ได้โอนเงินค่าครุภัณฑ์และค่าสื่อหนังสือสำหรับ กศน.ตำบล ที่จะก่อสร้างมาให้อีกแล้ว  ให้ก่อหนี้ผูกพันภายใน มิ.ย.54 เช่นกัน ถ้าไม่ทันให้รีบแจ้งคืน โดยถ้าก่อหนี้ผูกพันการก่อสร้าง กศน.ตำบล ไม่ทัน ก็ต้องคืนค่าครุภัณฑ์และค่าหนังสือนี้ด้วย

         เมื่อทำสัญญาแล้ว ต้องเข้าไปวาง PO จองเงิน ( การก่อหนี้ผูกพันในระบบ GFMIS ) ทันทีเลย ไม่ต้องรอเบิกจ่าย  โดยเมื่อตรวจรับงานแล้วจึงเข้าไปบันทึกตรวจรับในระบบอีกครั้ง   การบันทึกในระบบ GFMIS ผ่านระบบออนไลน์ผ่านคอมพิวเตอร์ที่ใดก็ได้

         การดำเนินการประกาศสอบราคา ให้แยกแต่ละแห่ง และทำสัญญาแยกแต่ละแห่ง เพื่อไม่ต้องรอตรวจรับพร้อมกัน และไม่ต้อง “ปรับ” รวม  โดยการทำสัญญาควรแบ่งการก่อสร้างเป็นงวด ๆ จะได้ทยอยเบิกจ่ายให้มีความก้าวหน้าในการเบิกจ่าย

         ถึงแม้เอกสารสิทธิ์ที่ดินยังไม่ออก แต่ถ้าจะออกแน่โดยไม่มีปัญหา ก็ดำเนินการควบคู่ไปได้

 

         การรายงานผลการใช้จ่ายงบประมาณ ( ส่งถึงกลุ่มงานคลังทุกวันที่ 25 ของเดือน ) เป็นเปเปอร์  ได้รับไม่ครบทุกแห่ง  ขอให้ทุกแห่งรีบรายงานตามแบบฟอร์มเดิม เพราะต้องรวบรวมแจ้ง สนง.ปลัดกระทรวงฯ  ขอให้เน้นย้ำให้ ผอ.กศน.อำเภอ ในการรายงานถึงจังหวัดโดยเร็ว เพื่อจังหวัดดำเนินการรายงานต่อไป

         งบเงินอุดหนุน ภาค 1/54 จัดสรรทั้งค่าดำเนินงาน-พัฒนาผู้เรียน-หนังสือเรียน ให้แล้ว  ให้อำเภอรายงานการใช้จ่ายผ่านจังหวัดถึงกลุ่มงานคลังภายใน 10 มิ.ย. เพราะหน่วยงานอื่นเช่น หน่วยตรวจสอบภายใน สตง. ปปง. ขอตรวจสอบ ( การรายงานจะช่วยให้รู้ว่าใช้จ่ายผิดรหัสงบประมาณไหม และแก้ไขได้ทัน   งบอุดหนุนมี 3 รหัส ต้องใช้จ่ายให้ถูกรหัส )

 

         เรื่องเงินทดรองราชการ ตอนนี้มีปัญหา ยอดไม่ตรงกันระหว่าง กศน.จังหวัด-กรมบัญชีกลาง-คลังจังหวัด เพราะบางจังหวัดดำเนินการผิดพลาด   จะแก้ไขโดยขอเพิ่มวงเงินทดรองฯจากจังหวัดละ 1 แสนบาท เป็น 1 แสน 5 หมื่นบาท

 

         การแก้ไขการดำเนินงานในระบบ GFMIS

         1. การตั้งเบิกในระบบ  ใช้แบบฟอร์ม ผบ.01   ต้องใช้รหัสให้ถูกต้อง ถ้าผิดพลาดต้องให้ส่วนกลางแก้ไขให้

         2. การตั้งเบิกในลักษณะลูกหนี้เงินยืม  ใช้แบบฟอร์ม ผบ.02  ถ้าจะส่งให้แก้ไขต้องส่งใช้ใบสำคัญก่อน

         3. การบันทึกการจ่ายชำระให้เจ้าหนี้  ใช้แบบ ขจ.05  ซึ่งแก้ไขไม่ได้ ต้องให้ส่วนกลางยกเลิก และบนทึกใหม่

         4. ระบบรับและนำส่ง  จังหวัดแก้ไขได้เอง สามารถยกเลิกรายการโดยไม่ต้องส่งส่วนกลาง

 

         งบอื่น ๆ ก็ต้องเร่งรัดการเบิกจ่าย ( จะมีหนังสือเร่งรัดเมื่อสิ้นไตรมาศ 3 อีกครั้ง )  ไตรมาศ 4 ดูผลการเบิกจ่าย ไม่ใช่แค่การก่อหนี้ผูกพัน

         ถ้าจังหวัดใดมีปัญหาให้ปรึกษากลุ่มงานคลัง   ต้องเร่งให้ความรู้เพิ่มแก่เจ้าหน้าที่การเงินบัญชีพัสดุ  แต่ละจังหวัดควรขออัตราในตำแหน่งเจ้าหน้าที่พัสดุ เพราะเป็นวิชาชีพเฉพาะ ให้คนอื่นทำแทนไม่ได้

         การใช้ระบบ GFMIS  ควรมีระบบคุมด้วยมือแบบเก่าด้วย เพื่อตรวจสอบบ่อย ๆ ไม่ให้ผิดพลาด และแก้ปัญหาได้ทัน   ฝ่ายแผนงาน-การเงินบัญชี-พัสดุ ต้องหันหน้าเข้าหากัน ประสานกัน ปรับข้อมูลกันอยู่ตลอด


 

หมายเลขบันทึก: 442650เขียนเมื่อ 6 มิถุนายน 2011 12:40 น. ()แก้ไขเมื่อ 24 มิถุนายน 2012 01:56 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

เรียน อาจารย์เอกช้ย ยุติศรี

สวิสดีครับอาจารย์ผมเจริญ ครับ อาจารย์ผมจะแจ้งให้อาจารย์ทราบครับว่า ผมได้เข้าไปทำงานที่ กศน.อ.บางปะอิน มาแล้วครับ 2 วัน

ที่บางปะอิน ผอ. และอาจารย์รุ่นพี่ ให้การต้อนรับดีมากครับ สอนงานดี มีอาหาร มีขนม นม แจก ผมก็ชอบงานที่ได้เข้าไปสัมผัสมาครับ แต่ปัญหาของผมมีอยู่ตรงที่ว่า ต้องเสียค่าผ่อนบ้าน ก็ลองคำนวนดูแล้ว คงจะไม่พอใช้จ่ายผมก็เลย ต้องตัดสินใจ ทำที่เดิมต่อครับ จะรอให้ค่าใช้จ่ายเบาบาง หรือ เหลือน้อยๆก่อน จึงจะพยายามสอบเข้าทำที่ กศน. เช่นเดิมครับ ถ้าที่ กศน. ยังให้โอกาศผมอยู่

ผมก็ขอขอบคุณอาจารย์เอกชัย มากครับที่อุตส่า สละเวลาให้รายละเอียดกับผมหลายๆเรื่อง รวมทั้งให้รายละเอียดกับผู้ต้องการความรู้ ต่างๆเกี่ยวกับแวดวงกศน. ผลของการกระทำขอให้ส่งผลกับอาจารย์ จงมีแต่ความเจริญก้าวหน้าในหน้าที่การงาน และขอให้อาจารย์และครอบครัวจงมีแต่ความสุข ตลอดไปครับ ขอบคุณมากครับอาจารย์

ขอแสดงความเคารพอย่างสูง

เจริญ

ครับ ขอบคุณมาก ขอให้ก้าวหน้าสมหวัง เจริญสมชื่อ เช่นกันครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท