เพลงอีแซว สื่อสาร ตอนที่ 3 งานพระราชทานเพลิงศพ


มหรสพพื้นบ้านเป็นเอกลักษณ์ที่มีคุณค่าทางจิตใจ เลือกใช้ให้ถูกต้องสมกับเจตนารมณ์ของต้นกำเนิดและรากเหง้าของเพลง จะส่งผลต้อสังคมมากยิ่ง

เพลงอีแซว สื่อสาร

ตอนที่ 3 งานพระราชทานเพลิงศพ

ที่วัดโพธิ์ลอย 

อ.บ้านลาด จ.เพชรบุรี

โดย นายชำเลือง มณีวงษ์

 

          ผมกล่าวถึงเพลงพื้นบ้าน ประเภทเพลงอีแซวว่า สามารถที่จะนำเสนอเรื่องราวที่เป็นสารประโยชน์ต่อท่านผู้ชมได้ทางหนึ่ง โดยกิจกรรมการแสดงที่สื่อสารด้วยสาระให้ตรงตามกิจกรรมหรือลักษณะของงานนั้น ๆ ได้ การที่นักแสดงสามารถที่จะนำเสนอเนื้อหา เรื่องราวได้ตามลักษณะของงานนั้น ผู้แสดงจะต้องมีความสามารถที่จะปรับเปลี่ยนรูปแบบของการแสดงด้วยวิธีการด้นสดตามทำนองเพลงพื้นบ้าน-เพลงอีแซวได้อย่างฉับพลันจึงจะสามารถออกไปรับใช้สังคมตามลักษณะของงานในแต่ละสถานที่ได้
          พูดถึงเรื่องของการแสดง ปัจจัยสำคัญ ประการหนึ่งคือ ศิลปินนักแสดงจะต้องเรียนรู้ล่วงหน้าก่อนว่า ทีมงานของเราไปทำการแสดงในงานอะไร หรือเป็นการจัดกิจกรรมในหัวข้อใด เพราะนักแสดงจะต้องกล่าวถึงงานนั้น ๆ ได้อย่างถูกต้องและให้ความสำคัญต่องานที่ไปแสดงอย่างเต็มที่ การนำเสนอหัวเรื่องที่ตรงกับงานจะทำให้ผู้ติดต่อ หรือผู้เชิญไปแสดงรู้สึกว่า ศิลปินนักแสดงมาตรงงาน มาถูกงาน เพราะในบางโอกาสเพลงที่ท่องจำกันมาไม่สามารถที่จะนำเอามาแสดงบนเวทีบางเวทีได้ หากนักแสดงไม่มีการเตรียมตัวเอาไว้ก่อนก็อาจจะกลายเป็นว่า “มาผิดงาน” ไปไม่ถูกที่ก็อาจเป็นได้
          เพลงอีแซวสื่อสาร ในตอนที่ 3 นี้ ผมขอนำเอาประสบการณ์ที่ได้นำทีมงานนักแสดงเพลงอีแซวสายเลือดสุพรรณฯ โรงเรียนบรรหารแจ่มใสวิทยา 1 อำเภอดอนเจดีย์ จังหวัดสุพรรณบุรี ไปร่วมในงานพระราชทานเพลิงศพ คุณครูบุญเลื่อน พิมพ์รอด ที่วัดโพธิ์ลอย ตำบลหนองกะปุ  อำเภอบ่นลาด  จังหวัดเพชรบุรี เมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม 2554 การติดต่อค่อนข้างที่จะกะทันหัน ทั้งที่ท่านเจ้าภาพได้ประสานงานกับผมเอาไว้นานเกือบจะ 2 เดือน แต่มีความกังวนในบางประการทำให้ความแน่นอนชัดเจนไม่ค่อยมั่นใจนัก แต่แล้วทุกอย่างก็เป็นไปตามที่เจ้าภาพประสานงานไว้ทุกประการ
          ผมนัดหมายเด็ก ๆ ในทีมงานบ่าย 2 โมง (14.00 น. เศษ) ของวันที่ 7 พฤษภาคม 2554 ว่าจะมีงานแสดงในวันอาทิตย์ที่ 8 พฤษภาคม 2554 ที่วัดโพธิ์ลอย อ.บ้านลาด จ.เพชรบุรี ทีมงานก็สับสนกันพอสมควรเพราโดยมากก่อนที่จะไปงานในแต่ละงานผมมักจะนัดหมายนักแสดงได้เตรียมความพร้อมซักซ้อมกันก่อนอย่างน้อย ๆ ก็ 3-5 วัน แต่งานนี้ไม่มีเวลาในการเตรียมตัวเลย แถมนักแสดงอยู่ไม่ครบ  ขาดผู้แสดงหลักในระดับคอรองไป 2 คน ผมจึงต้องนำนักแสดงรุ่นใหม่เสริมเข้าไปให้ครบวง
          ผมนำทีมงานวงเพลงอีแซวสายเลือดสุพรรณฯออกจาก โรงเรียนบรรหารแจ่มใสวิทยา 1 อำเภอดอนเจดีย์ เมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม 2554  เวลาประมาณ 11.30 น. โดยรถตู้รับจ้าง คาดว่าจะต้องใช้เวลาเดินทางประมาณ 4-5 ชั่วโมง เราหยุดพักรถในระหว่างทางกันบ้างเพื่อที่จะให้เด็ก ๆ ได้ลงไปยืดเส้นยืดสายคลายเมื่อย และรับประทานของว่างตามปั๊มน้ำมันที่รถวิ่งผ่าน เส้นทางที่ไป ไม่ผ่านตัวเมืองเพชรบุรี เราแยกเข้า อ.บ้านลาด ตัดเข้าหนองกะปุ สอบถามคนในท้องถิ่นเพื่อขอทราบเส้นทางไปยังวัดโพธิ์ลอย และไปถึงวัดเวลาประมาณ 16.30 น. (หลงทางบ้างเล็กน้อย) เจ้าภาพมาให้การต้อนรับเป็นอย่างดี พร้อมทั้งแจ้งให้ผมทราบในรายละเอียดของงานบางส่วน แต่จะนำเอาบันทึกในรายละเอียดมาให้ก่อนที่เพลงจะลงมือทำการแสดง

        

        

          วันนี้เป็นอีกวันหนึ่งที่ท้องฟ้ามืดครึ้มมมาก ในระหว่างการเดินทางฝนตกลงมาเป็นระยะ ๆ ตลอดทาง พอมาถึงวัดโพธิ์ลอยฝนขาดเม็ด ผมเดินสำรวจสถานที่ไปรอบ ๆ บริเวณงาน เดินไปที่ปะรำพิธี เจ้าภาพจัดตั้งเมรุลอยสวยงามมาก รอบ ๆ มีเต้นสำหรับแขกท่านผู้มีเกียรติมาร่วมงาน ฟังพระสวดมนต์ในตอนกลางคืน เด็ก ๆ ยังคงนั่งรับประทานอาหารที่ใต้ศาลการเปรียญหลังใหญ่ ส่วนสถานที่แต่งตัวนักแสดง เจ้าภาพขอพื้นที่บนศาลาตรงที่นั่งรับประทานอาหารนั่นเอง จากนั้นเจ้าภาพขอตัวไปเตรียมต้อนรับแขกที่กำลังทยอยกันเข้ามาในงาน วัดโพธิ์ลอยมีบริเวณวัดที่กว้างขวางมาก ในขณะนั้นมีรถยนต์แล่นเข้ามาจอดที่ลานวัดเพิ่มมากขึ้น

        

        

        

          เด็ก ๆ อีกส่วนหนึ่งจัดเตรียมฉากเวที เป็นหน้าที่ที่พวกเขารู้กันอยู่แล้ว คนที่เสียสละมากที่สุด ไม่ต้องรอให้ครูใช้งาน คือ นายอนุสรณ์ นพวงค์ เป็นนักเรียนชั้น ปวช.3 ตัวเล็กนิดเดียวแต่งานเก่งเกินตัว คิดแล้วใจหายเพราะในปี พ.ศ. 2554 ไม่มีลูกศิษย์ที่ชื่อ อนุสรณ์ นพวงค์ช่วยงาน เพราะเขาจบการศึกษาและจะต้องออกไปประกอบอาชีพและเรียนต่อด้วย แต่ก็ยังฝากน้องสาวคนแก่งที่มีใจรักในเสียงจังหวะดนตรี ชื่อ มธุรส สังขวรรณะ มาช่วยงานด้านจังวะแทนพี่ชาย
          เวลาประมาณ 20.15 น. เป็นเวลาที่ทีมงานเตรียมตัวที่จะทำการแสดง ซึ่งเวลาทำการแสดงตามปกติจะอยู่ที่ 3-4 ชั่วโมง ขึ้นอยู่กับบรรยากาศ และสถานการณ์ นั่นหมายถึงว่า วงเพลงอีแซวสายเลือดสุพรรณฯ จะทำการแสดงตั้งแต่เวลา 20.30 – 0.30 น. แต่ตามข้อตกลงกับท่านเจ้าภาพ ผมจะแจ้งในการประสานงานว่า ทีมงานของเราจะแสดง 3 ชั่วโมงเศษ แต่ก็มีบางงานที่ท่านเจ้าภาพขอให้แสดงให้ถึงเวลา 0.45 น. เพื่อให้ต่อไปถึงวันใหม่

        

        

          เวลา 20.30 น. เสียงเพลงเบิกโรง ร้องบูชาครู โดย 2 นักร้องนำ ท็อป-ธีระพงษ์ กับ แป้ง-ภาธิณี นักแสดงเตรียมพร้อมที่จะเดินขึ้นเวทีทำหน้าที่แสดงด้วยชุดการแสดงเพียงชุดเดียวตลอดทั้ง 3-4 ชั่วโมงต่อเนื่องกันไป แต่ในเวลาเดียวกันนี้เอง ฝนก็โปรยลงมาเรื่อย ๆ ถึงแม้ว่าจะไม่หนักแต่ก็เปียก ท่านผู้ชมไม่ถอยบางท่านกางร่ม บางท่านมีวัสดุบังที่ศีรษะ ส่วนผมรีบแต่งตัวที่รถตู้ ต้องหลบฝนขึ้นไปบนรถ เด็ก ๆ ในทีมงานดำเนินการแสดงอย่างต่อเนื่อง ไม่ถึง 15 นาที ฝนก็หยุดให้ (โล่งอกไปที) โดยในคืนนี้เพลงที่นำเอามาแสดงจะประกอบด้วย
         - บทเพลงอีแซวและเพลงไทยเดิม บูชา กราบ ไหว้ครูผู้ที่สั่งสอนเพลงอีแซวมา
         - เพลงอีแซวที่ว่าด้วยเรื่องของวิถีชีวิต “วันเดือนปี” คนเราทำอะไรบ้างจนถึงวันจากไป
         - เพลงอีแซวเรื่อง “สังขารา” ความไม่เที่ยงแท้ของคนเรา ความสุขทุกข์ที่ระคนกัน
         - เพลงอีแซวเรื่อง “ศีลห้า” ในหัวใจชาวพุทธ เป็นสาระเกี่ยวกับธรรมในชีวิต
         - ผมออกไปร้องด้นสด ประวัติของผู้จากไป คือ คุณแม่บุญเลื่อน พิมพ์รอด คุณแม่เป็นอดีตครูใหญ่ โรงเรียนวัดโพธิ์ลอย โดยท่านปฏิบัติราชการเป็นเวลา 38 ปี จากนั้นได้ขอลาออกจากราชการมาอยู่กับครอบครัวดูแลลูกหลานให้การอบรมจนกระทั่งทั้งลูกและหลานของย่า ได้ดีมีอนาคตที่สูงส่งกันทุกคน ท่านเสียชีวิตไปเมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2551 รวมสิริอายุได้ 78 ปี 5 เดือน ต่อจากนั้น ลูก หลานได้เก็บศพเอาไว้ จนมาถึงวันที่ 9 พฤษภาคม 2554  เป็นวันพระราชทานเพลิงศพ ผมส่งข่าวสารด้วยทำนองเพลงฉ่อย เพลงอีแซว เพลงพวงมาลัยไปยังท่านผู้ชมด้วยสาระเรื่องราวของ คุณแม่บุญเลื่อน พิมพ์รอด ทั้งหมด
         - เล่นเพลงสนุก มีสาระ ให้คติเกี่ยวกับวัยรุ่นและปัญหาสังคมในอดีต-ปัจจุบัน
         - เพลงอำลา อาลัยที่นักแสดงขอฝากคำว่า “เพลงอีแซว” เอาไว้กับท่านผู้ชมทุกท่าน
         

       

        เจ้าภาพหลายท่านมาให้การดูแลหลังจากที่เพลงอีแซวจบการแสดงแล้ว ผมนำทีมงานไปรับประทานข้าวต้มที่ท่านเจ้าภาพจัดเตรียมเอาไว้ อาหารเตรียมเอาไว้มากเกินพอ รสชาติอร่อยมาก พวกเรารับประมานกันจนอิ่ม ผมได้พูดคุยกับคณะของท่านเจ้าภาพ (หลายชาย หลานสะไภ้ของคุณแม่บุญเลื่อน) สนทนากันถึงเรื่องผลงานการแสดงที่เพิ่งจบลง ว่ามีความลงตัวเป็นไปตามที่เจ้าภาพอยากให้นำเสนอ และเกี่ยวกับเรื่องของทีมงานในอนาคตข้างหน้า

          ผมขอขอบคุณท่านเจ้าภาพ ดร.จิราวุฒิ พิมพ์รอด อาจารย์ โรงเรียนโยธินบูรณะ กรุงเทพฯ (วันนี้ท่านคงไปอยู่ โรงเรียนเตรียมอุดมแล้ว) เอาไว้ ณ โอกาสนี้ ที่ได้มองเห็นคุณค่าของศิลปะพื้นบ้านจังหวัดสุพรรณบุรีและให้ความเมตตาติดต่อไปแสดงในงานพระราชทานเพลิงศพ คุณย่าของท่านในวันนี้ มหรสพพื้นบ้านเป็นเอกลักษณ์ที่มีคุณค่าทางจิตใจ เลือกใช้ให้ถูกต้องสมกับเจตนารมณ์ของต้นกำเนิดและรากเหง้าของเพลง จะส่งผลต้อสังคมมากยิ่ง ครับ

 

หมายเลขบันทึก: 442534เขียนเมื่อ 5 มิถุนายน 2011 17:36 น. ()แก้ไขเมื่อ 17 มิถุนายน 2012 13:56 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

คิดถึงอาจารย์จังเลยเมื่อไหรจะมีงานเนี่ยไม่มีตังใช้เลยรับงานได้เเล้วน่ะค่ะ

คิดถึงอาจารย์ และน้องๆมากเลยครับ ผมมาเรียนต่อมหาวิทยาลัยแล้วเหงามากครับ ไม่ได้ซ้อม

ไม่ได้ร้องเพลงเหมือนตอนเรียนมัธยมเลยครับ คิดถึงอาจารย์นะครับ/ หนูด้วยทิพย์กัญญาค่ะเสนอนิดหนึ่งอิอิ55555+

สวัสดี ทิพย์กัญญา

  • ครูก็คิดถึงหนูและศิษย์ ม.6 ทั้ง 5 คนมากเช่นกัน
  • ตั้งใจเรียนอย่างเต็มที่ จะได้มีความรู้มาก ๆ และได้ที่ทำงานดี ๆ ครูขอเป็นกำลังใจให้หนูตลอดไป

สวัสดี ธีระพงษ์

  • ในช่วงเวลาใหม่ ๆ ที่ยังไม่มีเพื่อนก็อาจจะเหงาหน่อยนะ รออีกสักระยะก็จะดีขึ้น
  • หนูต้องหาโอกาสรวมกลุ่มตั้งเป็นชมรมเพื่อสานต่องานเพลงพื้นบ้านในมหาวิทยาลัยซึ่งสามารถเป็นไปได้มาก
  • ครูขอเป็นแรงสนับสนุนอยู่เบื้องหลัง ด้วยความเป็นห่วง 
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท