๓. ย้อนรอยพระนวกะ ตอนที่ ๓


"ให้พระนวกะทุกรูปพิจารณาถึงความหนักและเหนื่อยในขณะกำลังอุ้มบาตอยู่ โดยเฉพาะตอนบาตเต็ม ว่าหนักและเหนื่อยขนาดไหน แม่เราก็เหนื่อย และหนักไม่แพ้เรา แถมหนักและเหนื่อยตั้งเก้าเดือน แต่ท่านไม่เคยบ่น เพราะความรักลูกและเอ็นดูสงสารลูกอยากให้ลูกได้เกิดมาลืมตามองโลก"

เสียง..เง้ง...ๆๆๆๆ ของระฆัง ที่ดังถี่ๆ แล้วค่อยๆ เบาลงตามจังหวะของคนตี เคล้าไปกับเสียงเห่าหอน หวีดร้องประหนึ่งว่าจะขาดใจของ สุนัข (ยามเฝ้าวัด) สาม สี่ ตัว บ่งบอกถึงสัญชาตญานของมันรำคาญเสียงระฆังที่ถูกตีโดยพระพี่เลี้ยง (พระที่คอยดูแลปกครองพระนวกะในช่วงเข้าพรรษา) ในยามดึกช่วงตีสามครึ่งนี้ยิ่งนัก

ครับเสียงระฆังที่ดังในยามตีสามครึ่งนี้ คือเสียงที่ปลุกให้พระนวกะที่บวช และจำพรรษาอยู่ในวัดอุโมงค์แห่งนี้ ต้องตื่นมาทำวัตรปฏิบัติส่วนตัว ก่อนที่จะไปรวมตัวกันที่โบสถ์ เพื่อทำวัตรเช้าในเวลาตีสี่ ซึ่งการทำวัตรที่นี่จะทำวัตรแบบแปล คือท่องบทสวดมนต์เป็นภาษาบาลีก่อน แล้วจึงท่องคำแปลที่เป็นภาษาไทยตาม แล้วจะต่อท้ายด้วยการทำจิตใจให้สงบ ด้วยการเจริญวิปัสนากรรมฐาน คือการนั่งสมาธิ เป็นเวลาพอประมาณ ซึ่งโดยประมาณการทำวัตรเช้าจะจบลงตอนเวลาตีห้าของทุกวัน (สังเกตจากเมื่ออยู่ได้หลายวัน)

เมื่อการทำวัตรเช้าเสร็จสิ้นลง เหล่าพระนวกะก็จะตามพระพี่เลี้ยง ออกบิณฑบาตเป็นวันแรก/ครั้งแรก ส่วนหนึ่งคงให้เกิดความคุ้นเคยกับการเส้นทาง และอีกส่วนหนึ่งก็คงต้องการให้เรียนรู้เกี่ยวกับท้วงทำนองของการให้พร ซึ่งความที่เคยแต่ใช้ชีวิตแบบบ้านๆ อย่างฆราวาส จึงทำให้พระนวกะจำนวนมาก ตื่นเต้น จนบางรูปจีวรหลุดลุ่ยไปบ้างก็มี เพราะระยะทางจากวัดอุโมงค์ฯ ไปถึงหน้าวัดสวนดอก เป็นระยะที่ไกลพอสมควร พระที่วัดอุโมงค์ส่วนใหญ่จึงต้องออกบิณฑบาตกันแต่ตีห้าครึ่ง

การบิณฑบาตรจะเสร็จสิ้นในช่วง ๖ โมงกว่าๆ และพระที่นี่จะฉันจังหารในเวลา ๗ โมงเช้าทุกวัน ก่อนการฉันจังหารพระอาจารย์ได้ให้ข้อคิดเกี่ยวกับการบิณฑบาตในวันแรกด้วยธรรมที่เป็นธรรมชาติว่า "ให้พระนวกะทุกรูปพิจารณาถึงความหนักและเหนื่อยในขณะกำลังอุ้มบาตอยู่ โดยเฉพาะตอนบาตเต็ม ว่าหนักและเหนื่อยขนาดไหน แม่เราก็เหนื่อย และหนักไม่แพ้เรา แถมหนักและเหนื่อยตั้งเก้าเดือน แต่ท่านไม่เคยบ่น เพราะความรักลูกและเอ็นดูสงสารลูกอยากให้ลูกได้เกิดมาลืมตามองโลก"

พร้อมกับพระอาจารย์ได้สอนต่อไปอีกว่า "การบวชคือการทดแทนพระคุณแม่อย่างหนึ่ง เพราะชาวพุทธเรา (หมายถึงคนถือพุทธนะ ไม่ใช่หลักศาสนา) ถือว่าการที่ลูกชายได้บวชถือเป็นบุญกุศลที่ยิ่งใหญ่ เพราะแม่จะได้เกาะชายผ้าเหลืองของลูกขึ้นสวรรค์" พระอาจารย์ยังได้ย้ำอีกว่า "เมื่อรู้เช่นนี้ขอให้พระนวกะทุกรูปประพฤติตัวเป็นพระที่ดี ปฏิบัติตามวัตรปฏิบัติอย่างเคร่งครัด เพื่อให้แม่ และตัวพระนวกะได้บุญสมดังเจตนาที่ตั้งไว้"

วันแรกของการเป็นพระนวกะดำเนินมาถึงตอนฉันจังหาร (ฉันเช้า) ซึ่งมีการพิจารณาอาหารด้วยบท ปฏิสังขาโย.... ซึ่งที่นี้มีการแปลเป็นภาษาไทยด้วยเช่นกัน ซึ่งจากคำแปลก็จะพอจับใจความได้ว่า อาหารที่เราฉันไปนี้ฉันเพื่อให้เป็นเลือดให้เนื้อ ให้สังขารเราได้ตั้งอยู่ต่อไป ไม่ใช่เพื่อการบำเรอร่างกาย และกิเลส พูดง่ายๆ คือให้พระบริโภคปัจจัยสี่ คือ อาหาร เครื่องนุ่งห่ม ที่อยู่อาศัย และยารักษาโรค ด้วยปัญญา นั่นเอง

เมื่อฉันเช้าเสร็จพระทุกรูปจะล้างบาต และทำความสะอาดบาต และนำมาวางไว้ยังที่ๆ ที่ทางวัดจัดไว้ให้เพื่อเตรียมไว้สำหรับฉันเพลต่อไป ขั้นตอนแห่งวัตรปฏิบัติของพระนวกะมือใหม่ดำเนินมาได้เกือบครึ่งวันแล้ว หลายท่านได้ประสบการณ์ใหม่จากการบิณฑบาต ที่หนักก็มีได้แก้วที่ฝ่าเท้ากันบ้าง แต่สิ่งหนึ่งที่พระนวกะทุกรูปได้จากการบวชในวันแรกคือ ความทุกข์ของแม่ที่เกิดจากความรักลูก...

คำสำคัญ (Tags): #ปัญญา#แม่
หมายเลขบันทึก: 442445เขียนเมื่อ 4 มิถุนายน 2011 22:05 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 13:45 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

ตอนบาตรเต็มมันคงหนักมากนะคะ

ไม่เคยรู้เลยเพราะไม่เคยบวช อิอิ

ว่าแต่เวลาอุ้มบาตรแล้วพระร้อนมั๊ยอ่ะคะ

ขอบคุณ คุณวิมล212 ครับ

ที่ติดตาม และเฝ้าสอบถาม ทำให้ผมได้พลอยไม่ว้าเหว่..

การที่พระอุ้มบาต ก็หนักเอาการนะครับ ยิ่งระยะทางที่ไกลๆ ยิ่งหนักครับ

ส่วนที่ถามว่าร้อนไหมนั้น มีสองประเด็นนะครับ คือร้อนเพราะระยะทาง ก็ส่วนหนึ่ง

อีกส่วนคือร้อนเพราะญาติโยมใส่อาหารที่สุกใหม่ๆ เช่นน้ำเต้าหู้ อย่างนี้ อันนี้ก็ร้อนดีเหมือนกันครับ

และกับที่ถามถึงเรื่องชีวิตทหารชายแดน ผมจะพยามยามเขียนนะครับ (เท่าทีพอจะเปิดเผยได้) แต่ก็เขียนไว้บ้างแล้วนะ

ในบล๊อก "ตามใจฉัน"

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท