๔. กรุงเทพ ฤา "เมืองในฝัน"


ผู้เขียนกลับรู้สึกได้ว่า บ้านหลังเล็กๆ ที่ปลูกอยู่ตามไหล่เขา ห้อมล้อมไปด้วยไม้ใหญ่นานาพันธุ์ (บ้านที่เคยถูกกรมป่าไม้ไล่ให้ออกแทบทุกวัน) แม้จะกันดารไปบ้างเนื่องจากห่างไกลความเจริญทางวัตถุ หากแต่มันคือที่ๆ ผู้คนไม่ต้องแก่งแย่ง ไม่ต้องเบียดเสียด ไม่ต้องทนอยู่กับมลภาวะที่เป็นพิษ และที่สำคัญคิอที่ที่คนแก่และเด็กไม่ต้องมายืนขาแข็งบนรถเมล์

ไม่ทราบว่าเป็นโชคดีหรือโชคร้ายของผู้เขียน  ที่มีกำหนดการจะต้องไปศึกษา - เพิ่มพูนความรู้ ตามแนวทางรับราชการ พร้อมกับใช้ชีวิตในเมืองหลวงของประเทศไทย ภายในห้วงสองเดือนนี้ (มิถุนายน - กรกฎาคม ๕๔) กับเมืองที่มีชื่อว่า "กรุงเทพมหานคร" ซึ่งแปลว่า "พระนครอันกว้างใหญ่ ดุจเทพนคร" อันมีที่มาจากชื่อเต็มว่า กรุงเทพมหานคร อมรรัตนโกสินทร์ มหินทรายุธยา มหาดิลกภพ นพรัตนราชธานีบูรีรมย์ อุดมราชนิเวศน์มหาสถาน อมรพิมานอวตารสถิต สักกะทัตติยวิษณุกรรมประสิทธิ์

ครับหากฟังจากชื่อ และความหมายที่แปลออกมาแล้ว คนที่ไม่เคยมาและไม่เคยได้สัมผัสกับบรรยากาศในเมืองหลวงของไทยแห่งนี้ คงใคร่อยากจะมา เพื่อให้ได้เห็นภาพแห่งความกว้างใหญ่ ศิวิไล ทั้งในยามกลางวันและกลางคืนว่า จะมีความยิ่งใหญ่งดงาม และเจริญไปด้วยสิ่งปลูกสร้างที่วิจิตพิศดาร คราครั่งไปด้วยผู้คน หญิงชายที่ล้วนแต่ ดูดี มีฐานะ และการศึกษา ขับขี่รถหลากหลายยี่ห้อ เหมือนดังที่ได้เคยเห็นในหนัง ในละคร หรือไม่

แต่สำหรับผู้เขียน ที่ช่วงหนึ่งของชีวิตแม้จะเป็นเพียงเวลาสั้นๆ ที่มีโอกาสมาใช้ชีวิตในเมืองหลวงของประเทศไทยแห่งนี้ เมืองที่หลายคนเรียกว่าเป็นเมืองที่เจริญ - เมืองกรุง แต่ทุกสิ่งอย่างกลับต้องซื้อด้วยเงิน (น้ำใจหวังได้น้อย) เพราะเพียงวินาทีแรกทีคุณคิดจะเดินทางไปกรุงเทพฯ คุณจะต้องมีเงินในกระเป๋ามากกว่าสองพัน และยิ่งถ้าต้องไปใช้ชีวิตอยู่เป็นแรมเดือนหรือแรมปี ด้วยรายได้ของมนุษย์เงินเดือนที่ยังมีรายได้เท่าเดิมแล้ว จะยิ่งต้องใช้เงินมากขึ้นเป็นเท่าทวี

ผู้เขียนออกเดินทางจากสถานีขนส่งผู้โดยสารอาเขต จังหวัดเชียงใหม่ ด้วยรถปรับอากาศชั้น ๑ ของบริษัทหนึ่ง เพื่อมุ่งหน้าสู่กรุงเทพมหานคร ในช่วงเก้าโมงเช้าของวันที่ ๓๐ พฤษภาคม ด้วยสัมภาระที่น้อยชิ้นที่สุด (กระเป๋าเดินทางขนาดกลางๆ ๑ ใบ กระเป๋าโน้ตบุ๊ค ๑ ใบ และกล่องของฝากจำนวนหนึ่ง) โดยนึกไว้ในใจว่าจะไปพักค้างแรม ณ ค่ายกำแพงเพชรอัครโยธิน จ.สมุทรสาคร ก่อนหนึ่งคืน เพื่อพบปะกับพี่ๆ เพื่อนๆ และน้องๆ ที่เคยร่วมงานกันมา ก่อนจะเดินทางต่อไปยัง กรุงเทพฯ  ในวันต่อไป คือวันที่ ๓๑ เพื่อเตรียมรายงานตัวในเวลาแปดโมงเช้า ของวันที่ ๑ เดือนมิถุนายน กับทางโรงเรียนซึ่งตั้งอยู่แถวบางลำพู

การเดินทางจากเชียงใหม่ ถึงค่ายกำแพงเพชรฯ และกรุงเทพฯ เป็นไปตามแผนที่วางไว้ แต่สิ่งที่ผู้เขียนได้เห็นในกรุงเทพก็คือภาพเดิมๆ ที่ไม่ต่างไปจากเมื่อหลายปีก่อน กลุ่มควันดำจากท่อไอเสียรถ พนักงานเก็บกวาดขยะกับกองขยะเหม็นๆ ผู้คนที่แออัดยัดเยียดกันตามหน้าโรงเรียน ป้ายรถเมล์ แม้กระทั่งบนรถเมล์ในชั่วโมงเร่งด่วน รถราที่วิ่งสวนทางกันไปมาดูไร้ราคาประหนึ่งว่าเป็นของที่เด็กเอามาเล่น ตึกราบ้านช่องที่ผุดขึ้นมาเบียดเสียดยัดเยียดกันมากยิ่งกว่าดอกเห็ดที่ขึ้นตามชายป่า ความแล้งน้ำใจของผู้ขับขี่รถ กับการแสดงความไม่พอใจด้วยการบีบแตรไล่รถคันหน้า โทษฐานที่ทำให้ไม่สบอารมณ์ การทำเป็นแกล้งหลับของผู้ชายวัยกลางคนที่ไม่ได้ง่อยเปลี้ยเสียขาบนรถเมล์ เมื่อเห็นคนแก่ หรือเด็กน้อยต้องยืนเบียดกับผู้คนบนรถเมล์ การอาศัยใต้สะพานเป็นที่ซุกกายนอนของคนที่ไร้บ้านประหนึ่งว่านี่แหละคือวิมาลของเขา เฮ้อนี่หรือเมืองในฝัน...(ผู้เขียนรำพึงรำพันในใจ)

ภาพของเมืองหลวง เมืองแห่งความศิวิไล เมืองแห่งความเจริญ เมืองในฝัน ในสายตาของผู้คน ตจว. มากมายที่ปรารถนา และเฝ้าที่จะได้มาสัมผัส กลับมิได้สร้างความพิศวาสให้กับผู้เขียนแม้น้อยนิด ผู้เขียนกลับรู้สึกได้ว่า บ้านหลังเล็กๆ ที่ปลูกอยู่ตามไหล่เขา ห้อมล้อมไปด้วยไม้ใหญ่นานาพันธุ์ (บ้านที่เคยถูกกรมป่าไม้ไล่ให้ออกแทบทุกวัน) แม้จะกันดารไปบ้างเนื่องจากห่างไกลความเจริญทางวัตถุ หากแต่มันคือที่ๆ ผู้คนไม่ต้องแก่งแย่ง ไม่ต้องเบียดเสียด ไม่ต้องทนอยู่กับมลภาวะที่เป็นพิษ และที่สำคัญคิอที่ที่คนแก่และเด็กไม่ต้องมายืนขาแข็งบนรถเมล์.....

แม้ผู้เขียนจะไม่แฮปปี้กับการมาเมืองศิวิไลครั้งนี้นัก แต่ด้วยหน้าที่และงานที่ยังต้องทำเพื่อเลี้ยงปากท้อง กับช่วงระยะเวลาสองเดือนนี้ ผู้เขียนคงต้องทนอยู่เพื่อศึกษาวิชาในอาชีพ และเรียนรู้ไปกับสิ่งต่าง ๆ ในเมืองหลวงของไทยต่อไป เพียงแต่หวังและภาวนาว่า สภาพแย่ๆ เช่นนี้จะไม่แย่มากกว่านี้ เพราะมนุษย์ต้องอยู่ด้วยการพัฒนา และการพัฒนาจะไปได้ดีก็คงต้องพึ่งพาผู้นำ วันที่ ๓ ก.ค.๕๔ นี้คงเป็นวันชี้ชะตาว่า ไทยเราจะพัฒนาไปในทิศทางใด โดยเฉพาะกับเมืองหลวงของเราเมืองที่มีแต่คนดีคนเก่งอาสามาพัฒนา......

หมายเลขบันทึก: 442396เขียนเมื่อ 4 มิถุนายน 2011 16:08 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 19:35 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท