น้ำต้มสมุนไพร


ถ้าไม่เชื่อก็ขอให้ลองทำก่อนอย่าเพิ่งปฏิเสธ แต่ขอให้ศึกษารายละเอียดจากเจ้าหน้าที่ส่งเสริมการเกษตรหรือเกษตรกรที่ทำแล้วประสบผลสำเร็จ ก็จะสามารถทำนาให้ได้กำไรงามไม่ต้องรอให้ขายข้าวได้ราคาเป็นหมื่นบาท เพราะถ้าลงทุนในอัตรา 3,200 บาท ผลผลิตข้าว 800 กก./ไร่ นั่นหมายถึงมีต้นทุนที่ 4 บาท/กก. ถ้าราคาข้าวเพียง 6 บาท/กก. ก็จะมีกำไรที่ 2 บาท/กก. หรือ 1,600 บาท/ไร่

พี่สัมฤทธิ์  ไม่ยาก   กับ พี่สมหมาย ใจแสน เพื่อนเกษตรกรในกลุ่มโรงเรียนเกษตรกรมาช่วยกันสาธิตการทำให้เกษตรชัดดู เพื่อนำเรื่องราวเขียนถ่ายทอดให้กับวารสารเทคโนโลยีชาวบ้าน และนำเสนอองค์ความรู้ผ่านบล๊อก ในเวบไซด์  www.gotoknow.org/          

      นายสัมฤทธิ์  ไม่ยาก เกษตรกรทำนาวัย 57 ปี บ้านเลขที่ 58 หมู่ 11 ต.นางลือ อ.เมืองชัยนาท จ.ชัยนาท เปิดเผยว่า ได้ทำนาข้าว 28 ไร่ ได้ศึกษาการป้องกันและกำจัดศัตรูพืชแบบผสมผสานตามกระบวนการโรงเรียนเกษตรกรร่วมกับเพื่อนเกษตรกรในกลุ่ม ศูนย์ข้าวชุมชน เพื่อการผลิตข้าวให้ได้มาตรฐานและปลอดภัยจากสารพิษ จากสำนักงานเกษตรอำเภอเมืองชัยนาท สำนักงานเกษตรจังหวัดชัยนาท ศูนย์วิจัยข้าวชัยนาท และศูนย์บริหารศัตรูพืชชัยนาท

        องค์ความรู้ที่ได้และนำไปใช้

       การเตรียมดินด้วยลดการเผาตอซังและฟางข้าว หมักด้วยน้ำหมักชีวภาพ อัตราเมล็ดพันธุ์ไม่เกิน 20 กิโลกรัม/ไร่ ใช้เชื้อราไตรโคเดอร์มาป้องกันโรคที่เกิดจากเชื้อรา อนุรักษ์ศัตรูธรรมชาติ(ตัวห้ำ-ตัวเบียน) ด้วยการใช้สารสมุนไพร ผลที่ได้รับเป็นที่น่าพอใจ เพราะต้นทุนการผลิตในปีที่ผ่านมาประมาณ 3,200 บาท/ไร่ ในขณะที่ผลผลิตประมาณ 850 กิโลกรัม/ไร่ รอดพ้นจากการเข้าทำลายของเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลด้วยน้ำสมุนไพรต้มแต่ต้องพ่นซ้ำบ่อยๆ คือ 7-10 วัน/ครั้ง ในขณะที่เพื่อนเกษตรกรบางส่วนใช้สารเคมีจำนวนมากแต่ผลผลิตเสียหายอย่างน่าเสียดาย

             การทำน้ำต้มสมุนไพร

            เตรียมวัสดุที่หาง่ายในท้องถิ่น คือ ใบน้อยหน่าหรือใบน้อยโหน่ง  ใบต้นรัก สาบเสือ  เถามะระขี้นก อย่างละ 1 กก. และใบสะเดา 5 กก. ส่วนผสมสมุนไพรแต่ละชนิดมีทั้งสารที่เป็นอันตรายต่อแมลงศัตรูพืช  ทำลายตัวอ่อน ตัวแก่ และไข่ อีกทั้งกลิ่นที่แรงไล่แมลงศัตรูพืชไม่ให้เข้าในแปลงนา แต่ไม่เป็นอันตรายต่อแมลงศัตรูธรรมชาติของแมลงศัตรูพืช(ตัวห้ำและตัวเบียน) เมื่อได้สมุนไพรดังกล่าวแล้ว นำมาสับให้แหลกละเอียด  นำไปใส่ในถังก่อนเทน้ำส้มสายชู5% และเหล้าขาว อย่างละ 1 ขวดเทลงไปคนให้ทั่ว ปิดฝาทิ้งไว้ อย่างน้อย 5 ชั่วโมง เทลงปีบเติมน้ำให้เต็ม นำไปต้มด้วยไฟกลาง จนน้ำเดือดทิ้งไว้รอจนน้ำเหลือครึ่งปีบ ทิ้งให้เย็นนำไปกรอง ควรใช้ให้หมด แต่ถ้าจะเก็บควรเก็บในที่เย็นๆ ไม่ควรเก็บนานเกินไป อัตราส่วนที่ใช้ 50 ซีซีต่อน้ำ 20 ลิตร ฉีดพ่นทุก 7-10 วัน เวลาที่เหมาะสมในการฉีดพ่นคือเวลาเช้าหรือเวลาเย็นแดดไม่ร้อนมากนัก เพื่อป้องกันการสลายตัวของสารสมุนไพร สามารถป้องกันแมลงศัตรูพืชได้เป็นที่น่าพอใจไม่แพ้สารเคมีที่มีราคาแพง ในขณะที่น้ำต้มสมุนไพรมีค่าใช้จ่ายอยู่ที่เหล้าขาว น้ำส้มสายชู และค่าแก๊สสำหรับต้มเท่านั้น  ซึ่งสามารถผสมน้ำฉีดพ่นได้หลายพันลิตรนำไปฉีดพ่นในพื้นที่นาหลายไร่ การใช้สารเคมีเพื่อการป้องกันและกำจัดศัตรูพืชนั้นเกษตรกรต้องมีความมั่นใจ 

 

พี่วิโรจน์ ฉิมดี ผู้นำสูตรน้ำสกัดสมุนไพรไปใช้ในสวนมะนาวลดต้นทุนได้มากเรื่องราวดีๆ นำเสนอผ่านวารสารเทคโนโลยีชาวบ้าน แล้ว

       ถ้าจะให้ดีผสมน้ำสับปะรด ที่คั้นมาสดๆ อีก 200 ซีซีต่อน้ำ 20 ลิตร จะเพิ่มประสิทธิภาพการป้องกันกำจัด

                  นายวีระศักดิ์  อัตถะไพศาล เกษตรจังหวัดชัยนาท กล่าวเสริมถึงการป้องกันและกำจัดเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลว่า ได้ดำเนินการตามนโยบายของกรมส่งเสริมการเกษตร ในการส่งเสริมการป้องกันและกำจัดศัตรูพืชแบบผสมผสานด้วยการจัดตั้งศูนย์จัดการศัตรูพืชชุมชนที่กระจายอยู่ในพื้นที่  เป็นสถานที่สำหรับเรียนรู้และฝึกปฏิบัติด้านการจัดการศัตรูพืชของเกษตรกรและชุมชน โดยจัดทำแปลงติดตามสถานการณ์ศัตรูพืช  ใช้เป็นสถานที่เรียนรู้และฝึกปฏิบัติ  เรื่องระบบนิเวศในแปลงนา  โดยมีการเก็บข้อมูลศัตรูพืช  ศัตรูธรรมชาติ  และสภาพแวดล้อม  นำมาจำแนก  วิเคราะห์  และตัดสินใจร่วมกันของแกนนำและสมาชิกที่ร่วมกันเรียนรู้ และเลือกวิธีควบคุมศัตรูพืชได้อย่างถูกต้อง  รวมทั้งการผลิตขยายจุลินทรีย์  และศัตรูธรรมชาติได้ด้วยตนเอง    โดยมีกลไกท้องถิ่นเป็นตัวขับเคลื่อน  ได้แก่  เกษตรกร  องค์กรท้องถิ่น  และภาครัฐ    มีหน่วยงานที่ทำหน้าที่สนับสนุนด้านเทคโนโลยีการจัดการศัตรูพืชอยู่หลายส่วน  เช่น  ส่วนกลาง  ได้แก่  ส่วนบริหารศัตรูพืช สำนักพัฒนาคุณภาพสินค้าเกษตร  ในส่วนภูมิภาค  ได้แก่  ศูนย์บริหารศัตรูพืช  สำนักส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรเขต และสำนักงานเกษตรอำเภอ 

(ข้อมูลจาก วารสารเทคโนโลยีชาวบ้าน)

คำสำคัญ (Tags): #น้ำสมุนไพร
หมายเลขบันทึก: 442345เขียนเมื่อ 4 มิถุนายน 2011 12:17 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 13:45 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท