สรุปบทเรียนโครงการนพลักษณ์กับการพัฒนาความเป็นวิชาชีพของนักศึกษาทันตแพทย์


ประเมินผลและสรุปบทเรียนการดำเนินโครงการ โดย ผศ.ทพ. อติศักดิ์ จึงพัฒนาวดี หัวหน้าโครงการ

ประเมินผลในภาพรวมอย่างย่อ: ความสำเร็จ/ไม่สำเร็จของโครงการ/โอกาสความต่อเนื่องของการดำเนินการ และปัจจัยที่ส่งผลดังกล่าว

ในเชิงปริมาณนับว่าสามารถดำเนินโครงการลุล่วงไปได้ตามที่ตั้งไว้ทุกประการ แต่ในเชิงคุณภาพยังไม่เป็นที่น่าพึงพอใจนัก โดยเฉพาะในประเด็นการเรียนรู้ของนักศึกษาซึ่งยังมีข้อบกพร้องจำนวนหนึ่ง ซึ่งจากการประเมินของผู้ดำเนินโครงการพบว่าเกิดจากปัจจัยดังต่อไปนี้

  1. การจัดอบรมเชิงปฏิบัติการเรื่อง นพลักษณ์กับการพัฒนาความเป็นวิชาชีพของนักศึกษาทันตแพทย์ มีรูปแบบที่ยังไม่เหมาะสมนัก โดยมีรายละเอียดดังต่อไปนี้

  • จำนวนผู้ร่วมอบรมจำนวน 55 คนต่อกลุ่ม นับว่าเป็นปริมาณที่มากเกินไปสำหรับการเรียนรู้ในเนื้อหาที่ค่อนข้างมีความเป็นนามธรรม ลึกซึ้ง และต้องการการใคร่ครวญตนเองอย่างมาก ส่งผลให้นักศึกษาจำนวนหนึ่งไม่สามารถเกิดการเรียนรู้ได้อย่างเต็มที่ และมีผลกระทบต่อเนื่องไปถึงกระบวนการเรียนรู้ตนเองและการเขียนบันทึก
  • ถึงแม้วิทยากรที่เชิญจะเป็นผู้ที่มีความรู้เรื่องนพลักษณ์ในระดับต้น ๆ ของประเทศ แต่ลีลาการถ่ายทอดไม่ดึงดูดใจและไม่ค่อยเหมาะสมกับกลุ่มเป้าหมายเท่าไรนัก และเนื่องจากประสบการณ์การจัดกบรมส่วนใหญ่ของวิทยากรอยู่ในกลุ่มองค์กรหรือคนในวัยทำงาน ทำให้เนื้อหาในเชิงประยุกต์บางอย่างมุ่งเน้นไปที่การนำนพลักษณ์ไปใช้ในการทำงานซึ่งค่อนข้างเป็นเนื้อหาที่ไกลตัวนักศึกษา ทำให้การอบรมขาดสเน่ห์และความน่าสนใจ
  • ระยะเวลาที่จัดต่อเนื่องครั้งเดียว 2 วันต่อ 1 กลุ่มมีความยาวนานเกินไปที่จะควบคุมให้เกิดการเรียนรู้ที่มีสมาธิต่อเนื่องได้
  1. ถึงแม้ว่าการมอบหมายงานเขียนบันทึกจะเป็นเครื่องมือที่ดีและเหมาะสมในการก่อให้เกิดการเรียนรู้ แต่การมอบหมายงานยังคงมีบางส่วนที่ไม่ชัดเจนและซ้ำซ้อนในบางประเด็นซึ่งจำเป็นที่จะต้องมีการปรับปรุงในการดำเนินงานในครั้งต่อไป

อย่างไรก็ดีการนำความรู้เรื่องนพลักษณ์เข้ามาปรับใช้ในการจัดการเรียนการสอนอย่างเป็นทางการในครั้งนี้นับว่าได้รับการยอมรับจากกลุ่มคณาจารย์ร่วมสอนและมีโอกาสสูงที่จะมีการดำเนินการต่อในนักศึกษารุ่นต่อ ๆ ไป โดยในการดำเนินการต่อเนื่องจะเป็นการจัดการโดยคณาจารย์ภายในคณะทันตแพทยศาสตร์เองที่ได้ผ่านกระบวนการเรียนรู้ร่วมกันในโครงการครั้งนี้ โดยลดการเชิญวิทยากรจากภายนอกลง

และการจัดโครงการในครั้งนี้ได้พบว่าพบว่ามีนักศึกษาจำนวนหนึ่ง (ราวร้อยละ 20 ซึ่งอาจจะไม่ใช่จำนวนที่มากนัก) ที่ได้สะท้อนให้เห็นถึงการสามารถนำแนวคิดนพลักษณ์ไปปรับใช้เพื่อบรรลุวัตถุประสงค์ทั้ง 3 ข้อได้อย่างโดดเด่น และสามารถนำไปใช้เป็นตัวอย่างและแนวทางในการดำเนินการต่อไปได้เป็นอย่างดี

 

สรุปการเรียนรู้และประสบการณ์ที่ผู้ดำเนินงานได้รับ

หลักสูตรทันตแพทยศาสตร์บัณฑิต คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ฉบับปรับปรุง พ.ศ. 2553 ได้กำหนดให้มีกระบวนวิชาการพัฒนาความเป็นวิชาชีพขึ้น โดยมีการจัดการเรียนการสอนกระบวนวิชานี้ตั้งแต่ชั้นปีที่ 1 การจัดการเรียนการสอนวิชานี้วางอยู่บนฐานความคิดที่ว่า วิชาชีพทันตแพทย์ก็เป็นเช่นเดียวกับวิชาชีพในสายวิทยาศาสตร์สุขภาพอื่น ๆ ที่ต้องมีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่นอย่างใกล้ชิด ไม่ว่าจะเป็นปฏิสัมพันธ์กับเพื่อนร่วมวิชาชีพ ข้างบุคลากรข้างเคียง และโดยเฉพาะอย่างยิ่งการมีปฏิสัมพันธ์กับผู้ป่วย ซึ่งคุณภาพของปฏิสัมพันธ์ที่มีต่อผู้อื่นนี้เองที่เป็นคุณสมบัติที่สำคัญประการหนึ่งของการเป็นทันตแพทย์ที่ดี ที่กระบวนวิชาการพัฒนาความเป็นวิชาชีพมุ่งหมายจะจัดกระบวนการเรียนรู้ให้เกิดขึ้น และคุณภาพของปฏิสัมพันธ์ต่อผู้อื่นนั้นขึ้นอยู่กับความเข้าอกเข้าใจที่บุคคลมีต่อตนเองและมีต่อผู้อื่น กระบวนวิชานี้จึงมีวัตถุประสงค์สำคัญ 2 ประการ คือ 1) จัดกระบวนการเรียนรู้ให้นักศึกษาเกิดความเข้าใจในตนเอง ว่าตัวเองเป็นอย่างไร มีลักษณะนิสัย ความรู้สึกนึกคิดและมีโลกทัศน์อย่างไร เพื่อให้ผู้เรียนทำความรู้จักและเปิดใจยอมรับลักษณะของตนเอง ยอมรับข้อจำกัดของตนเอง และ 2) ให้นักศึกษามีความเข้าใจผู้อื่น ตลอดจนเข้าใจและยอมรับข้อจำกัดของผู้อื่น

บนฐานความคิดข้างต้น ทีมงานที่จัดการเรียนการสอนกระบวนวิชานี้ได้เลือก “นพลักษณ์” มาใช้เป็นเครื่องมือเพื่อช่วยให้นักศึกษาทันตแพทย์ได้ทำความรู้จักและเปิดใจยอมรับบุคลิก ลักษณะนิสัยของตนเอง ยอมรับข้อจำกัดของตนเอง ตลอดจน มีความเข้าใจและยอมรับข้อจำกัดของผู้อื่น สิ่งต่างๆเหล่านี้จะส่งผลให้เกิดการมีปฏิสัมพันธ์ที่ดีต่อผู้อื่นต่อไปในอนาคต ก่อให้เกิดการเรียนรู้และการทำงานที่มีความสุขต่อไป เมื่อสิ้นสุดโครงการ ประเด็นสำคัญที่ทีมงานได้เรียนรู้มีดังนี้

ประเด็นแรก นพลักษณ์น่าจะเป็นเครื่องมือที่ใช้ได้ในการตอบวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้ แต่หากจะนำมาใช้ในการเรียนการสอนต่อไป จำเป็นที่จะต้องมีการปรับรูปแบบวิธีการให้เหมาะสมกับกลุ่มเป้าหมายซึ่งเป็นนักศึกษาชั้นปีที่ 1 เพราะโดยมากที่ผ่านมานพลักษณ์มักจะถูกนำไปใช้กับกลุ่มคนวัยผู้ใหญ่ หรือวัยทำงาน

ประเด็นที่สอง นพลักษณ์เป็นเครื่องมือที่มีความละเอียดอ่อน การนำไปใช้ต้องเกิดขึ้นบนความเข่าใจอย่างลึกซึ้ง มิเช่นนั้นอาจจะมีการนำไปใช้อย่างผิดทิศผิดทางทำให้ไม่เกิดประโยชน์เท่าที่ควร เช่น การใช้นพลักษณ์เพื่อเป็นเครื่องมือเพื่อให้ความชอบธรรมกับลักษณะนิสัยหรือการกระทำของตนเอง หรือการเข้าใจว่านพลักษณ์คือการจัดประเภทคนอย่างหยาบ ๆ และตายตัว

ประเด็นสุดท้าย การนำนพลักษณ์ไปใช้เพื่อการพัฒนาตนเองนั้น เป็นสิ่งที่จะต้องเรียนรู้และดำเนินไปอย่างต่อเนื่องในระยะยาว โครงการนี้เป็นเพียงโครงการที่มีระยะเวลาสั้น ๆ จึงไม่อาจบอกได้ว่านักศึกษาแต่ละคนเกิดความเปลี่ยนแปลงในตนเองอย่างไรบ้าง แต่ทีมงานก็ยังคงมีความหวังว่า โครงการนี้น่าจะอยู่ในฐานะของการแนะนำ ความรู้เรื่องนพลักษณ์ ให้นักศึกษาได้รู้จัก และน่าจะมีนักศึกษาจำนวนหนึ่ง(อาจจะเพียงแค่ร้อยละ 10 ก็นับว่าน่าพึงพอใจแล้ว) นำแนวคิดนี้ไปใช้กับตนเองอย่างต่อเนื่องต่อไป

 

อื่นๆที่อยากบอก (ความสุขที่ได้ อุปสรรคที่ก้าวข้าม สิ่งที่ชื่นชม ฝันที่อยากเอื้อมต่อไป โดยอาจบอกเป็นเรื่องเล่าก็ได้)

ประเด็นสำคัญที่ได้จากโครงการนี้คือเกิดความร่วมมือระหว่างคณาจารย์ต่างสาขาและภาควิชาจำนวน 10 กว่าท่าน เข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการเรียนการสอนใจเนื้อหาที่นอกเหนือจากวิชาทันตแพทย์ และเกิดการเรียนรู้ร่วมกันอย่างมาก

  ข้อเสนอแนะอื่นๆ

นพลักษณ์เป็นเครื่องมือที่น่าสนใจสำหรับการนำมาใช้ในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาจริยธรรมและการพัฒนาความเป็นวิชาชีพ แต่จำเป็นที่จะต้องทำการศึกษาเรียนรู้เพิ่มขึ้น เพื่อสะสมประสบการณ์ต่อไป

หมายเลขบันทึก: 441910เขียนเมื่อ 2 มิถุนายน 2011 11:43 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 13:45 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

omega co axial watches fake watches or style that the wearer [url=http://www.keepwatches.org/]watches replica[/url] right handbag that appropriately fake watches <a href="http://www.suchwatches.com/">fake watches</a>fringe and whip stitch the fringe.

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท