Honorary Degree : ศักดิ์และสิทธิ์แห่งปริญญากิตติมศักดิ์


ปริญญากิตติมศักดิ์ของแต่ละสถาบันจึงถือว่ามีเกียรติและมีความศักดิ์สิทธิ์ของปริญญา จึงต้องมีการใช้ความระมัดระวังและการพิจารณาความรอบคอบทั้งในส่วนของมหาวิทยาลัยในฐานะผู้มอบปริญญากิตติมศักดิ์เอง และตัวผู้ที่ได้รับปริญญากิตติมศักดิ์ ต้องคำนึงถึงคุณสมบัติของผู้ที่สมควรได้รับปริญญากิตติมศักดิ์อย่างรอบด้าน ทั้งความรู้ การประกอบสัมมาชีพ การสร้างประโยชน์แก่ประเทศชาติและส่วนรวม คุณธรรมและจริยธรรม ต้องปราศจากวัตถุประสงค์ที่เคลือบแคงของการมอบปริญญากิตติมศักดิ์ ทั้งเรื่องของผลประโยชน์ส่วนตนหรือบางกลุ่ม เพื่อคงไว้ซึ่งศักดิ์และสิทธิ์ของปริญญากิตติมศักดิ์ของแต่ละสถาบันเอง

ศักดิ์และสิทธิ์แห่งปริญญากิตติมศักดิ์

ย่างเข้าสู่ช่วงกลางปีแบบนี้ บรรยากาศที่เรามักจะได้เห็นกันเป็นประจำทุกปีคือการรับน้องใหม่ของชาวมหาวิทยาลัยครับ เสียงกลอง เสียงร้องเพลงสันทนาการและเสียงบูมมีให้ได้ยินอยู่ในทุกมหาวิทยาลัย แต่อีกบรรยากาศที่เรากำลังจะได้เห็นหลังจากเปิดเทอมกันแล้วนอกจากการับน้องก็คืองานรับปริญญาของแต่ละมหาวิทยาลัยนั่นเองครับ ไล่กันไปเรื่อยตั้งแต่ช่วงกลางปีไปจนถึงต้นปีหน้ากันเลยทีเดียว ปกติการมอบปริญญาบัตรนั้นจะมอบให้กับคนที่สำเร็จการศึกษาในระดับอุดมศึกษาตามขั้นคือ ปริญญาบัณฑิตหรือปริญญาตรี ปริญญามหาบัณฑิตหรือปริญญาโทและปริญญาดุษฎีบัณฑิตหรือปริญญาเอกครับ สำหรับมหาวิทยาลัยของรัฐทั้งหมดจะได้รับพระราชทานปริญญาบัตรจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวซึ่งแล้วแต่จะทรงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้พระบรมวงศานุวงษ์พระองค์ใดในการเสด็จฯไปพระราชทานปริญญาแทน ส่วนมหาวิทยาลัยเอกชนบางแห่งก็จะมอบปริญญาโดยบุคคลสำคัญซึ่งอาจเป็นพระบรมวงศานุวงษ์หรือบุคคลอื่นๆ ในวันรับปริญญาของแต่ละมหาวิทยาลัยนอกจากจะมีเหล่าว่าที่บัณฑิตที่จบการศึกษาในระดับต่างๆที่เข้ารับปริญาบัตรแล้ว บางมหาวิทยาลัยอาจมีการประกาศยกย่องเกียรติคุณบุคคลที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญในองค์ความรู้ในสาขาวิชาต่างๆ หรือเป็นผู้ที่ได้กระทำคุณงามความดีต่อชาติบ้านเมือง สถาบันหรือองค์กร ซึ่งเพรียบพร้อมไปด้วยคุณธรรมจริยธรรม โดยการมอบปริญญากิตติมศักดิ์ (Honorary Degree) เพื่อเชิดชูบุคคลท่านนั้น และเพื่อเป็นเกียรติและชื่อเสียงแก่สถาบันอีกด้วย

ปริญญากิตติมศักดิ์ หรือ Honorary degree ซึ่งมีรากศัพท์มาจากคำละติน honoris causa ad gradum ซึ่งแปลว่าให้ปริญญากิตติมศักดิ์ หมายถึงปริญญาที่สถาบันอุดมศึกษาที่มีการมอบปริญญาให้แก่ผู้สำเร็จการศึกษามอบให้แก่บุคคลที่มีความรู้ความสามารถตามที่สถาบันอุดมศึกษากำหนด ซึ่งเกณฑ์ที่สถาบันอุดมศึกษาหรือมหาวิทยาลัยแต่ละแห่งกำหนดนั้นไม่มีกฎเกณฑ์ที่ตายตัวแน่ชัด แต่มักจะคำนึงถึงการแสดงออกความรู้ความสามารถในองค์ความรู้ในสาขาวิชาที่จะมอบปริญญากิตติมศักดิ์ของผู้ที่ได้รับซึ่งต้องเป็นที่ประจักษ์และยอมรับโดยทั่วไป หรือบางที่อาจพิจารณาถึงการกระทำที่เป็นคุณงานความดี อันเป็นประโยชน์ต่อส่วนรวมหรือต่อสถาบันการศึกษานั้นๆ และยังคำนึงถึงคุณธรรมและจริยธรรมของผู้ที่ได้รับอีกด้วย ดังนั้นการมอบปริญญากิตติมศักดิ์ให้แก่บุคคลใด จึงเป็นสิทธิและขอบเขตอำนาจของแต่ละมหาวิทยาลัยเอง การมอบปริญญากิตติมศักดิ์เริ่มต้นที่ประเทศอังกฤษในปี ค.ศ. 1470โดยมหาวิทยาลัยอ๊อกซ์ฟอร์ด (Oxford University) ได้มอบปริญญากิตติมศักดิ์ให้แก่ Lionel Woodville ส่วนในประเทศสหรัฐอเมริกา มหาวิทยาลัยแห่งแรกที่เริ่มการมอบปริญญากิตติมศักดิ์น่าจะเป็นมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด (Harvard University) โดยได้มีการมอบปริญญากิตติมศักดิ์ให้แก่ Increase Mather ซึ่งเป็นอธิการบดีของสถาบันในปีค.ศ. 1692 หลังจากนั้นก็มีมหาวิทยาลัยอื่นๆเริ่มมอบปริญญากิตติมศักดิ์ให้แก่บุคคลทั่วไป ในประเทศไทย คนไทยคนแรกที่ได้รับปริญญากิตติมศักดิ์น่าจะเป็นพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ซึ่งมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ดได้ทูลเกล้า ฯ ถวาย “ดีกรีอย่างสูง” หรือปริญญากิตติมศักดิ์ขั้นสูงแด่พระองค์ในปี พ.ศ. 2440 และอีก 10 ปีต่อมาคือในปี พ.ศ.2450 มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ได้ทูลเกล้า ฯ ถวายปริญญานิติศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์แด่พระองค์อีกด้วย

สำหรับการมอบปริญญากิตติมศักดิ์ของมหาวิทยาลัยในประเทศไทยนั้นน่าจะเริ่มต้นที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเป็นแห่งแรก โดยปรากฏในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในวันที่ 21 พฤษภาคม พ.ศ. 2493 ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถทรงเสด็จไปในการพระราชทานปริญญาบัตรให้แก่นิสิตที่สำเร็จการศึกษาในระดับอุดมศึกษาจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในโอกาสนี้ทางจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้ทูลเกล้าฯถวายปริญญารัฐศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์แด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวด้วย ซึ่งนับเป็นการมอบปริญญากิตติมศักดิ์ครั้งแรกในประเทศไทย ถึงแม้ว่าก่อนหน้านั้นในปี พ.ศ. 2473 ซึ่งเป็นปีที่มีการพระราชทานปริญญาบัตรเป็นครั้งแรกของประเทศไทย โดยมีพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีพระบรมราชินี เสด็จพระราชดำเนินมาพระราชทานปริญญาบัตรให้แก่นิสิตที่สำเร็จการศึกษาในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แต่ก็ไม่มีการมอบปริญญากิตติมศักดิ์ให้แก่บุคคลใด โดยในงานพระราชทานปริญญาบัตรในครั้งแรกนั้นได้มีการทูลเกล้าฯ ถวายฉลองพระองค์ครุยบัณฑิตพิเศษแด่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชทานครุยกิตติมศักดิ์บัณฑิตชั้นโท หรือ มหาบัณฑิตในปัจจุบันทางวิทยาศาสตร์แก่พระยาภะรตราชา ผู้บัญชาการจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในขณะนั้น และบัณฑิตชั้นเอก หรือ ดุษฎีบัณฑิตในปัจจุบัน แก่ศาสตราจารย์ นายแพทย์ เอ จี เอลลิส คณบดีคณะแพทยศาสตร์ในขณะนั้นเท่านั้น

ปริญญากิตติมศักดิ์ โดยทั่วไปแบ่งออกเป็น 3 ชั้น ได้แก่

1.ปริญญาบัณฑิตกิตติมศักดิ์ (เทียบเท่าปริญญาตรี)

2.ปริญญามหาบัณฑิตกิตติมศักดิ์ (เทียบเท่าปริญญาโท)

3.ปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ (เทียบเท่าปริญญาเอก)

โดยปริญญากิตติมศักดิ์แต่ละขั้นนั้น จะมอบให้แก่บุคคลที่ได้แสดงความรู้ความสามารถ คุณงามความดีและมีคุณธรรมจริยธรรม เหมาะสมกับขั้นปริญญาที่ทางมหาวิทยาลัยมอบให้ บางมหาวิทยาลัยมีการมอบปริญญากิตติมศักดิ์ทั้งสามขั้น แต่บางมหาวิทยาลัยอาจมีเพียงบางขั้นเท่านั้น เช่น มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิตมีการมอบปริญญากิตติมศักดิ์ทั้งสามขั้น คือ ปริญญาบัณฑิตกิตติมศักดิ์ ปริญญามหาบัณฑิตกิตติมศักดิ์ ปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ แต่ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมีการมอบปริญญากิตติมศักดิ์เพียงสองขั้น คือ ปริญญามหาบัณฑิตกิตติมศักดิ์ ปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ เท่านั้น

การมอบปริญญญากิตติมศักดิ์กระทำได้ทั้งมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐและมหาวิทยาลัยเอกชน ถึงแม้จะไม่มีหลักเกณฑ์ตายตัวเกี่ยวกับคุณสมบัติของผู้ที่สมควรจะได้รับการมอบปริญญากิตติมศักดิ์ แต่โดยทั่วไปมักกำหนดเงื่อนไขของบุคคลที่สมควรได้รับปริญญากิตติมศักดิ์ไว้ว่า

สถาบันจะให้ปริญญากิตติมศักดิ์ได้เฉพาะในสาขาวิชาที่มีการศึกษาในสถาบันนั้นและได้รับการรับรองมาตรฐานการศึกษาในสาขาวิชานั้นแล้ว

อย่างไรก็ตามถึงแม้ว่าสาขาวิชาที่จะมอบให้กับผู้ที่ได้รับเลือกให้ได้รับปริญญากิตติมศักดิ์นั้น จะมีการเรียนการสอนไม่ถึงขั้นปริญญาที่จะมอบ แต่ก็อาจอนุโลมให้สามารถมอบปริญญากิตติมศักดิ์ในขั้นดังกล่าวได้ เช่น จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้ทูลเกล้าถวายปริญญารัฐศาสตร์ดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์แด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในปี พ.ศ. 2473 ซึ่งตอนนั้นยังไม่มีการเรียนการสอนหลักสูตรรัฐศาสตร์ในระดับปริญญาเอกในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

การกำหนดชื่อปริญญากิตติมศักดิ์ ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์การกำหนดชื่อปริญญาของสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา โดยแบ่งปริญญากิตติมศักดิ์ได้เป็น 2 ประเภทคือ

(1) ปริญญากิตติมศักดิ์ประเภททั่วไป สำหรับผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งใช้ความรู้ความสามารถในสาขาวิชาที่จะให้ปริญญากิตติมศักดิ์นั้นจนเป็นที่ประจักษ์ว่า ได้ทำชื่อเสียงประกอบคุณงามความดีเพียบพร้อมสมบูรณ์และเป็นประโยชน์ยิ่งแก่ประเทศชาติ ในกรณีของสถาบันอุดมศึกษาเอกชนสามารถมอบปริญญากิตติมศักดิ์ได้สำหรับสาขาวิชาวิทยาศาสตร์หรือสาขาวิชาศิลปศาสตร์เท่านั้น

(2) ปริญญากิตติมศักดิ์ประเภทวิชาการ สำหรับผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งเป็นนักวิชาการ มีผลงานดีเด่นเป็นที่ยอมรับของนักวิชาการในสาขาวิชานั้น และมีผลงานซึ่งประเมินคุณค่าได้เท่าเทียมกับผลงานของผู้สำเร็จการศึกษาชั้นปริญญาตรี ปริญญาโท หรือปริญญาเอก

เนื่องจากส่วนใหญ่แต่ละมหาวิทยาลัยกำหนดให้ กรรมการสภามหาวิทยาลัย อธิการบดี รองอธิการบดี คณบดีหรือหัวหน้าหน่วยงานที่เทียบเท่าคณะ หรือนายกสมาคมศิษย์เก่าเป็นผู้ที่มีสิทธิในการเสนอชื่อบุคคลผู้สมควรได้รับการเสนอชื่อให้ทางมหาวิทยาลัยพิจารณามอบปริญญากิตติมศักดิ์ให้ ซึ่งเมื่อมีการกลั่นกรองรายชื่อผู้ที่เหมาะสมตามสาขาวิชาที่จะมอบปริญญากิตติมศักดิ์ให้แล้ว ก็จะมีการออกเสียงลงคะแนนลับเพื่อลงมติรับรองการมอบปริญญาซึ่งโดยทั่วไปจะต้องเกินกึ่งหนึ่งของจำนวนกรรมการที่มีสิทธิลงคะแนน จึงจะถือว่าบุคคลผู้นั้นสมควรได้รับปริญญากิตติมศักดิ์ของมหาวิทยาลัย ดังนั้นจึงกำหนดด้วยว่าบุคคลที่ทางสถาบันมอบปริญญากิตติมศักดิ์ให้นั้นจะต้องไม่เป็นคณาจารย์หรือผู้ที่ดำรงตำแหน่งใดๆในสภาของมหาวิทยาลัยหรือสถาบันเพื่อเป็นการป้องกันมิให้มีข้อครหาหรือติฉินนิทาว่า เป็นการมอบปริญญาที่ให้แก่พวกพ้องในมหาวิทยาลัยของตนหรือเป็นการลงมติเพื่อมอบปริญญากิตติมศักดิ์ให้กับตนเอง

เนื่องจากการมอบปริญญากิตติมศักดิ์นั้นเป็นการมอบปริญญาเป็นกรณีพิเศษให้แก่บุคคลที่ทางมหาวิทยาลัยมีมติเห็นชอบ ดังนั้นบุคคลที่ได้รับปริญญากิตติมศักดิ์ขั้นใดๆจึงไม่จำเป็นต้องสอบเข้าเรียนในมหาวิทยาลัยนั้นๆหรือที่อื่นในระดับนั้นๆมาก่อน และอาจไม่เคยได้เรียนใสาขาวิชาที่จะมอบในมหาวิทยาลัยมาก่อนและอาจเป็นบุคคลทั่วไปก็ได้ เช่น กรณีที่มหาวิทยาลัยรามคำแหงมอบปริญญามหาบัณฑิตกิตติมศักดิ์สาขารัฐศาสตร์ให้แก่นางไฮ ขันจันทาหรือยายไฮ จากการเรียกร้องสิทธิอันชอบธรรมในที่ดินทำกินตลอดระยะเวลาถึง 32 ปี จนได้รับการยกย่องจากมวลชนและแวดวงการศึกษา เป็นต้น หรือนักวิชาการ เช่น กรณีที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้มอบปริญญานิตศาสตร์ดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์แก่ ศาสตราจารย์ ดร.วิษณุ เครืองาม จากการที่เป็นอาจารย์และผู้ทรางคุณวุฒิในสาขาวิชานิติศาสตร์ โดยได้มีผลงานสอนและงานวิจัยมากมายเป็นที่ยอมรับ เป็นต้น นอกจากนี้การมอบปริญญากิตติมศักดิ์ยังสามารถมอบให้กับบุคคลที่ไม่ใช่พลเมืองในประเทศที่มหาวิทยาลัยตั้งอยู่ก็ได้ เช่น มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์มอบปริญาบริหารธุรกิจดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์แก่ศาสตราจารย์ ดร.โบโด บี. ชเลเกลมิลช์ (Professor Dr.Bodo B. Schlegelmilch) เป็นต้น

นอกจากนี้ทางมหาวิทยาลัยยังมีการถวายปริญญาให้แก่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถ ตลอดจนพระบรมวงศานุวงษ์ในฐานะที่ทรงอุทิศพระองค์ในการพัฒนาความเป็นอยู่ของพสกนิกรในประเทศ สำหรับแนวทางในการขอพระราชทานทูลเกล้าฯถวายปริญญากิตติมศักดิ์ของสถาบันอุดมศึกษาในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา ได้กำหนดไว้ดังนี้

แนวปฏิบัติในการขอพระราชทานทูลเกล้าฯถวายปริญญากิตติมศักดิ์ของสถาบันอุดมศึกษาในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา

เพื่อให้การขอพระราชทานทูลเกล้าฯ ถวายปริญญากิตติมศักดิ์ ของสถาบันอุดมศึกษาเป็นไปด้วยความเรียบร้อยและรวดเร็ว สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษาจึงเห็นควรกำหนดแนวปฏิบัติร่วมกัน ดังนี้

1) สถาบันอุดมศึกษาต้องมีกลไกเพื่อทำหน้าที่กลั่นกรองความเหมาะสมในการขอพระราชทานทูลเกล้าฯ ถวายปริญญากิตติมศักดิ์ รวมทั้งคำนึงถึงกฎ ระเบียบที่เกี่ยวข้อง (ถ้ามี) ก่อนเสนอสภาสถาบัน

2) สถาบันอุดมศึกษาต้องพิจารณาสาขาวิชาที่จะขอพระราชทานทูลเกล้า ฯ ถวายให้มีความเหมาะสม เช่น พิจารณาจาก

(1) สาขาวิชาที่ทรงริเริ่มหรือทรงเกี่ยวข้องด้วยมาก่อนแล้ว

(2) ความสำเร็จและความเป็นเลิศของสาขาวิชานั้นในสถาบันอุดมศึกษาของตนและเป็นที่ยอมรับในสถาบันการศึกษาต่างๆ ด้วย

(3) สถาบันได้ดำเนินการเปิดสอนในสาขาวิชานั้น ไม่น้อยกว่า 15 ปี

ทั้งนี้ ให้ใช้แนวปฏิบัตินี้ในการกลั่นกรองความเหมาะสม และเสนอมายังสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา เพื่อรวบรวมข้อมูลและพิจารณาส่งสำนักราชเลขาธิการต่อไป

จะเห็นว่าการขอพระราชทานทูลเกล้าฯถวายปริญญากิตติมศักดิ์แก่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถ ตลอดจนพระบรมวงศานุวงษ์ทุกพระองค์นั้นทางสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษาจะกำหนดหลักเกณฑ์ไว้ค่อนข้างเคร่งครัดเกี่ยวกับข้อกำหนดของหลักสูตรและสาขาปริญญาไว้มากกว่าการมอบปริญญากิตติมศักดิ์ให้แก่บุคคลทั่วไป ทั้งนี้เพื่อไม่ให้มีผลกระทบต่อพระเกียรติในภายหลังนั่นเอง

อันที่จริงการที่จะมอบแนวทางนั้นควรยึดถือเป็นแนวทางในการมอบปริญญากิตติมศักดิ์ให้แก่บุคคลอื่นๆด้วย เพราะเป็นการให้เกียรติแก่บุคคลที่จะได้รับปริญญากิตติมศักดิ์จากมหาวิทยาลัย ถึงแม้จะมีแนวปฏิบัติออกมานี้แต่ที่ผ่านมาก็บางมหาวิทยาลัยที่เปิดการเรียนการสอนหลักสูตรบางหลักสูตรเพียงไม่กี่ปี ซึ่งยังไม่ทันได้ปรากฎความสำเร็จและความเป็นเลิศของการเรียนการสอนและบัณฑิตของสาขาวิชานั้นในมหาวิทยาลัยบางแห่ง แต่ทางมหาวิทยาลัยก็ยังมีการมอบปริญญากิตติมศักดิ์ให้แก่บุคคล ทั้งนี้ส่วนหนึ่งเพื่อเป็นการประชาสัมพันธ์หลักสูตรนั้นในมหาวิทยาลัยของตนให้เป็นที่รู้จักมากกว่า

ปัจจุบันการมอบปริญญากิตติมศักดิ์ให้แก่บุคคลต่างๆมีกันอย่างแพร่หลายทั้งในมหาวิทยาลัยของรัฐและเอกชน ในแต่ละปีมีผู้ที่ได้รับปริญญากิตติมศักดิ์ในระดับต่างๆจากมหาวิทยาลัยต่างๆจำนวนไม่น้อย ทั้งที่เป็นนักวิชาการ นักการเมือง ผู้ที่ประกอบอาชีพในสาขาวิชาต่างๆ จนในบางครั้งมีการตั้งคำถามเกี่ยวกับความเหมาะสมของผู้ที่ได้รับปริญญากิตติมศักดิ์บางคนตามมาหลังจากที่มีข่าวการมอบปริญญากิตติมศักดิ์ออกไปว่าบุคคลผู้นั้นมีคุณสมบัติที่เพรียบพร้อมเพียงพอแล้วหรือไม่ในการที่สถาบันนั้นๆจะมอบปริญญากิตติมศักดิ์ในสาขาวิชานั้นๆให้ นอกจากนี้หลังจากที่ทางมหาวิทยาลัยบางแห่งมีมติมอบปริญญากิตติมศักดิ์ให้กับบางบุคคล ซึ่งก่อให้เกิดความคิดเห็นที่คัดค้านต่อการมอบปริญญากิตติมศักดิ์ให้บุคคลดังกล่าว จนท้ายที่สุดทางมหาวิทยาลัยต้องมีมติยกเลิกในการมอบปริญญากิตติมศักดิ์ให้บุคคลนั้นๆไป สิ่งเหล่านี้ย่อมสะท้อนให้เห็นถึงการขาดการพิจารณากลั่นกรองผู้ที่สมควรได้รับการมอบปริญญากิตติมศักดิ์อย่างรอบคอบ จนเป็นเหตุให้มีผลกระทบต่อความศักดิ์สิทธิ์และเกียรติยศของปริญญาแห่งมหาวิทยาลัยอีกด้วย ช่วงที่ผ่านมามักจะได้ยินชื่อบุคคลที่ได้รับปริญญากิตติมศักดิ์ที่ไม่ค่อยคุ้นหูและไม่ค่อยปรากฏผลงานอันเป็นที่ประจักษ์และยอมรับในความรู้ความสามารถ หรือการกระทำที่เป็นผลประโยชน์แก่ส่วนรวมซึ่งได้รับการยอมรับโดยทั่วไปอย่างแท้จริงของบุคคลนั้น นอกจากนี้ยังพบว่าส่วนใหญ่มักเป็นนักธุรกิจหรือนักการเมืองในระดับท้องถิ่นหรือระดับประเทศที่มักจะได้รับปริญญากิตติมศักดิ์จากมหาวิทยาลัยต่างๆในแต่ละปี โดยบางคนนั้นมีการบริจาคเงินให้แก่มหาวิทยาลัยนั้นๆหรือองค์กรบางองค์กรเพื่อแลกเปี่ยนผลประโยชน์ซึ่งกันและกัน กล่าวคือมหาวิทยาลัยได้รับเงินบริจาค ส่วนตัวคนบริจาคเงินก้ได้ชื่อว่าได้รับปรัญญากิตติมศักดิ์เพื่อนำไปใช้อวดอ้าง ทั้งๆที่ผลงานด้านอื่นๆยังไม่ค่อยปรากฏให้เป็นที่ประจักษ์โดยทั่วไป แต่ทางมหาวิทยาลัยก็มีมติให้มอบปริญญากิตติมศักดิ์ให้ จนสังคมเริ่มตั้งคำถามว่าหากเพียงแค่มีเงินจำนวนมากและเพียงนำเงินมาบริจาคให้กับมหาวิทยาลัยหรือองค์กรบางองค์กรก็มีคุณงามความดีเพียงพอที่มหาวิทยาลัยนั้นๆจะมอบปริญยากิตติมศักดิ์ให้ โดยไม่ได้พิจารณาคุณสมบัติด้านอื่นๆ เช่น คุณธรรม จริยธรรม ความรู้ความสามารถประกอบ ถ้าเป็นเช่นนั้นบรรดาเศรษฐีที่มีเงินรำรวยก็เพียงแค่บริจาคเงินให้กับมหาวิทยาลัยหรือองค์กรต่างๆก็สามารถได้รับปริญญากิตติมศักดืจากบางมหาวิทยาลัยได้ทุกคน และการมอบปริญญากิตติมศักดิ์ก็ไม่ต่างอะไรกับการมอบผลประโยชน์ต่างตอบแทนให้แก่กันและกัน เพราะทางมหาวิทยาลัยได้เงินบริจาคจากนักธุรกิจหรือเศรษฐี และตัวของบุคคลเหล่านี้ก็ได้รับชื่อเสียงตอบแทนจากการได้รับปริญญากิตติมศักดิ์จากมหาวิทยาลัยนั้นๆ ซึ่งสิ่งที่เห็นเป็นประจำของผู้ที่ได้รับปริญญากิตติมศักดิ์ โดยเฉพาะผู้ที่ได้รับปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ คือการประชาสัมพันธ์ว่าตนเองได้รับปริญญากิตติมศักดิ์จากมหาวิทยาลัยแห่งนั้นแห่งนี้ เพื่อให้คนอื่นๆเข้าใจว่าทางมหาวิทยาลัยพิจารณาว่าตนเองเป็นคนเก่ง เป็นคนดี มีความสามารถ บางคนที่ไม่เข้าใจถึงการมอบปริญญากิตติมศักดิ์อย่างแท้จริงเมื่อได้รับปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์จากบางมหาวิทยาลัยแล้วก็มักใช้คำว่า Doctor (Dr.) หรือด็อกเตอร์ (ดร.) นำหน้าชื่อของตนเองเพราะเข้าใจว่าคนที่ได้รับปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ (Honorary Degree) คือตนเองนั้นจบปริญญาเอกเหมือนอย่างที่คนที่เรียนจบปริญญาเอกจริงๆ (Earned degree) ทั้งๆที่จริงในหลายๆประเทศการใช้คำ Dr. หรือ ดร. นำหน้าชื่อของผู้ที่ได้รับปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ไม่ว่าจะได้รับด้วยวิธีใดๆถือว่าเป็นเรื่องไม่เหมาะสม แต่ในบ้านเรานั้นมีผู้ที่ได้รับปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์หลายคนนิยมใช้ Dr. หรือ ดร. นำหน้าชื่อตนเองทั้งนี้เพราะอยากประชาสัมพันธ์ชื่อเสียงให้แก่ตนเพื่อหวังผลบางอย่างไม่ว่าจะเป็นผลทางธุรกิจ ผลทางการเมือง การเพิ่มความน่าเชื่อถือหรือการมีหน้ามีตาในสังคม เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีผู้ที่ได้รับปริญญากิตติมศักดิ์ที่มิใช่ขั้นปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์หรือขั้นที่เทียบเท่าปริญญาเอก คือเป็นปริญญาขั้นปริญญาบัณฑิตกิตติมศักดิ์หรือเทียบเท่าขั้นปริญญาตรี และปริญญามหาบัณฑิตกิตติมศักดิ์หรือเทียบเท่าขั้นปริญญาโท แต่ใช้คำว่า Dr. หรือ ดร. เป็นคำนำหน้าตนเอง ซึ่งนอกจากจะเป็นการเข้าใจผิดเกี่ยวกับขั้นของปริญญายังขาดความเหมาะสมของการใช้คำว่า Dr. หรือ ดร. ขึ้นตนชื่ออีกด้วย ซึ่งที่ผ่านมาก็มีเจ้าของธุรกิจขายตรงท่านหนึ่งที่ได้รับพระราชทานปริญญามหาบัณฑิตกิตติมศักดิ์จากมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งได้ลงประชาสัมพันธ์ในหนังสือพิมพ์บางฉบับว่าตนเองเป็นอีกหนึ่ง ดร. คนใหม่ในแวดวงขายตรงซึ่งนับเป็นการเข้าใจที่คลาดเคลื่อนอย่างมาก นอกจากนี้ยังพบว่ามีนักธุรกิจที่เป็นผู้บริหารบริษัทขายตรงหลายแห่งที่ได้รับปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์จากบางมหาวิทยาลัย และนิยมใช้คำว่า Dr. หรือ ดร. นำหน้าตนเอง ทั้งนี้มักจะเป็นการเพิ่มความน่าเชื่อถือให้กับเหล่าบรรดาสมาชิกขายตรงด้วย ซึ่งมักโดนตั้งคำถามว่าบุคคลดังกล่าวนั้นได้สร้างผลงานทางวิชาชีพทางวิชาการที่โดดเด่นหรือได้ทำคุณประโยชน์ต่อประเทศชาติและส่วนรวม และมีคุณธรรมจริยธรรมเพียงพอเหมาะสมหรือไม่กับการที่มหาวิทยาลัยแห่งนั้นจะมอบปริญญากิตติมศักดิ์ให้

โดยทั่วไปในการที่จะเสนอชื่อบุคคลใดให้ทางมหาวิทยาลัยพิจารณาให้มอบปริญญากิตติมศักดิ์ให้ ผู้ที่ทำการเสนอจะต้องมีการเขียนประวัติโดยย่อของผู้ที่ได้รับการเสนอชื่อเพื่อประกอบการพิจารณาการมอบปริญญากิตติมศักดิ์ด้วย โดยประวัติย่อควรประกอบด้วย ชื่อ ตำแหน่ง ประวัติส่วนตัว ประวัติการศึกษา รางวัลสำคัญๆหรือรางวัลเกียรติคุณที่เคยได้รับ ตำแหน่งหน้าที่ทางการงานและสังคมสำคัญที่เคยได้รับในอดีตจนถึงปัจจุบัน ผลงานทางวิชาการ ผลงานทางวิชาชีพ ผลงานทางด้านสังคมและส่วนรวม เป็นต้น ซึ่งสิ่งเหล่านี้ควรเขียนตามจริงไม่ควรเขียนไปแนวในทางที่โอ้อวดหรือการบิดเบือน การสร้างข้อมูลขึ้นมาที่เกินจริง เพื่อให้ได้รับปริญญากิตติมศักดิ์ ดังนั้นต้องคำนึงถึงด้วยว่าการที่จะเขียนประวัติบุคคลใดบุคคลหนึ่งให้ทางสภามหาวิทยาลัยพิจารณานั้นมีความถุกต้องเหมาะสมหรือไม่ และไม่ควรเห็นแก่ความสัมพันธ์ส่วนตัวระหว่างตัวของผู้ที่มีอำนาจในการพิจารณากับผู้ที่ได้รับการเสนอชื่อให้ได้รับปริญญากิตติมศักดิ์ นอกจากนี้ยังไม่ควรเห็นแก่ผลประโยชน์หรือการตอบแทนที่เป็นประโยชน์ส่วนตนหรือเฉพาะบางกลุ่ม เพราะไม่เช่นนั้นก็จะทำให้ การมอบปริญญากิตติมศักดิ์นั้นขาดความสง่างามและไร้ซึ่งศักดิ์และสิทธิ์ในปริญญากิตติมศักดิ์อีกด้วย

อันที่จริงแล้วถึงแม้ว่าจะมีมหาวิทยาลัยที่มีมติมอบปริญญากิตติมศักดิ์ให้แก่บุคคลใด แต่บุคคลนั้นๆก็สามารถปฏิเสธการรับได้ เพื่อที่จะรอจนเห็นว่าตนเองนั้นก็เหมาะสมแล้วกับการได้รับเกียรติและการยกย่องให้ได้รับปริญญากิตติมศักดิ์ในสาขาดังกล่าว เรื่องนี้เคยปรากฎในการเสด็จพระราชดำเนินของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ มาเป็นองค์ประธานในงานพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของมหาวิทยาลัยศิลปากรขึ้นเป็นครั้งแรก เมื่อวันจันทร์ที่ 12 ตุลาคม พ.ศ. 2507 และในการนี้ทางมหาวิทยาลัยทูลเกล้าถวายปริญญาศิลปดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ทางจิตรกรรมแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ความทราบฝ่าละอองธุลีพระบาท ทรงมีพระราชปรารภว่า “การที่จะทูลเกล้าฯ ถวายปริญญาศิลปดุษฎีบัณฑิตทางจิตรกรรมในโอกาสนี้ ยังไม่น่าจะกระทำ เพราะยังมิได้ทรงจิตรกรรมชิ้นใดได้ถึงขนาด” จึงโปรดเกล้าฯให้ระงับไว้ก่อน และอีก 1 ปีต่อมาในงานพระราชทานปริญญาบัตรประจำปีการศึกษา 2507 (วันพฤหัสบดีที่ 21ตุลาคม พ.ศ. 2508) มหาวิทยาลัยจึงได้ทูลเกล้าฯ ถวายปริญญาศิลปดุษฎีบัณฑิต (จิตรกรรม) กิตติมศักดิ์ แด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

ดังนั้นปริญญากิตติมศักดิ์ของแต่ละสถาบันจึงถือว่ามีเกียรติและมีความศักดิ์สิทธิ์ของปริญญา จึงต้องมีการใช้ความระมัดระวังและการพิจารณาความรอบคอบทั้งในส่วนของมหาวิทยาลัยในฐานะผู้มอบปริญญากิตติมศักดิ์เอง และตัวผู้ที่ได้รับปริญญากิตติมศักดิ์ ต้องคำนึงถึงคุณสมบัติของผู้ที่สมควรได้รับปริญญากิตติมศักดิ์อย่างรอบด้าน ทั้งความรู้ การประกอบสัมมาชีพ การสร้างประโยชน์แก่ประเทศชาติและส่วนรวม คุณธรรมและจริยธรรม ต้องปราศจากวัตถุประสงค์ที่เคลือบแคงของการมอบปริญญากิตติมศักดิ์ ทั้งเรื่องของผลประโยชน์ส่วนตนหรือบางกลุ่ม เพื่อคงไว้ซึ่งศักดิ์และสิทธิ์ของปริญญากิตติมศักดิ์ของแต่ละสถาบันเอง

References.

1.เสริมศักดิ์ วิศาลาภรณ์. ปริญญากิตติมศักดิ์. วารสารบัณฑิตศึกษา

2.ข้อบังคับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยว่าด้วย การให้ปริญญากิตติมศักดิ์ พ.ศ.....

3.กำหนดชั้น สาขาของปริญญา และหลักเกณฑ์การให้ปริญญากิตติมศักดิ์ของสถาบันอุดมศึกษาเอกชน พ.ศ.2549

4.แนวปฏิบัติเกี่ยวกับการขอพระราชทานทูลเกล้าฯถวายปริญญากิตติมศักดิ์ของสถาบันอุดมศึกษา ในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา

5.พิศสมัย บุญเจริญผล. สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถกับปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร. บรรณสาร มศก.ท. ปีที่ 19 ฉบับที่ 1 เมษายน – กันยายน 2547

5. Honorary Degree in Wikipedia

6.พิธีพระราชทานปริญญาบัตรของมหาวิทยาลัยในประเทศไทย in Wikipedia

7.สวัสดิ์ จงกล. พิธีพระราชทานปริญญาบัตรครั้งแรกในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช

หมายเลขบันทึก: 441785เขียนเมื่อ 1 มิถุนายน 2011 16:25 น. ()แก้ไขเมื่อ 17 ตุลาคม 2016 09:54 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท