นิทานพัฒนาคน ตอนที่ 9 ความอับเฉา


การศึกษา การครอบงำ วัฒนธรรม ภูมิปัญญา

 

    วันนี้เตรียมการสอนสำหรับวันจันทร์  ในรายวิชาการศึกษากับการพัฒนาชุมชน  จึงนำนิทานเรื่องความอับเฉา  มาให้นิสิตวิเคราะห์ เพื่อหวังว่า  จะจุดประกายให้เกิดความตระหนักถึงสภาพการศึกษา ที่ผลต่อการครอบงำวัฒนธรรมและภูมิปัญญาท้องถิ่น  รวมทั้งการพึ่งพาตนเองของชุมชนชนบท  จึงอยากนำมาแบ่งปันเพื่อชักชวนให้เกิดการแลกเปลี่ยนมุมมอง...  โดยสาระของนิทานมีดังนี้คะ

      ...ดอกเตอร์หนุ่มทางการศึกษาคนหนึ่งว่าจ้างเรือโดยสารให้ไปส่งข้ามฟาก  เมื่อเรือเริ่มเคลื่อนออกจากฝั่งลุงแก่ ๆ ซึ่งเป็นคนแจวเรือก็เป็นฝ่ายชวนคุย

            “ ดูท่าทางหลานแล้ว  คงจะเรียนมาสูงนะ เพราะหอบหนังสือกองโตและใส่แว่นหนาที่เดียว”

          “ผมจบปริญญาเอกจากเมืองนอกมาครับและตอนนี้กำลังวางแผนทางการศึกษาให้กับประเทศไทยเรา “ ดอกเตอร็หนุ่มตอบในขณะที่ลุงแสดงสีหน้าชื่นชมและรู้สึกเคารพนับถือในวิชาความรู้ของชายหนุ่มที่นั่งอยู่ตรงข้าม

          “พวกชาวบ้านอย่างลุง นี่คงโง่มากเมื่อเทียบกับหลาน  ว่าแต่พวกคนที่เขาเรียนกันสูง ๆ และใช้เวลาเรียนตั้งหลายปีอย่างหลานนะ  เขาเรียนอะไรกันบ้างเหรอ”

          “มันตอบยากนะลุง เอาอย่างนี้แล้วกันลุงเคยเรียนปรัชญาการศึกษาไหมละ”

            “ลุงไม่รู้หรอกว่า  ไอ้ปรัชญาการศึกษานะมันคืออะไร”

            “โอ นี่แสดงว่า  ชีวิตของลุงได้หมดไปครึ่งหนึ่งแล้ว”  ดอกเตอร์หนุ่มอุทาน  เขาไม่คิดว่า  จะได้ยินคำตอบเช่นนี้

            “ลุงเคยเรียนประวัติศาสตร์สากลไหม”

            “ไม่เคย  ลุงรู้จักแต่ประวัติหมู่บ้านลุง”

            “โอ  …ชีวิตลุงเหลือเพียงครึ่งหนึ่งของครึ่งหนึ่งเท่านั้นเอง”  ดอกเตอร์หุน่มอุทานอีกเป็นคำรบสอง  ยังผลให้สีหน้าของลุงเริ่มสลดลง  เพราะรู้สึกตัวเองว่า  ช่างด้อยค่าเหลือเกินเมื่อเทียบกับดอกเตอร์หนุ่ม

            “ถ้าอย่างนั้น  ลุงเคยเรียนฟิสิกส์  เคมี  ชีวะ ไหม”

            “ลุงไม่รู้จักมันอีกเหมือนกันแหละ”  ลุงรู้สึกอายที่จะตอบ  “ลุงเคยเรียนแต่วิชาทำไร่ ทำนา แจวเรือจ้าง และดูความเปลี่ยนแปลงของลมฟ้าอากาศ “

            “ โอ..ชีวิตของลุงเหลือเพียงเศษเสี้ยวเท่านั้น “ ดอกเตอร์หนุ่มส่ายหัวกับคำตอบที่ได้รับ

            ท้องฟ้าเริ่มมืดครึ้มในขณะที่เรืออยู่กลางแม่น้ำกรีดร้องของกระแสบอกให้ลุงรู้ว่า  พายุฝนกำลังมา   ลำเรือถูกซัดให้โคลงเคลงไปตามกระแสที่เริ่มรุนแรงมากขึ้น ๆ  ดอกเตอร์หนุ่มรู้สึกกลัวขึ้นมาในส่วนลึกของจิตใจ

            “ หลานเคยเรียนวิชาว่ายน้าไหม”  คำถามของลุงบอกให้รู้ว่า  อะไรกำลังจะเกิดขึ้น

            “ ผมไม่เคยเรียนเลยครับ” ดอกเตอร์หนุ่มตอบด้วยสีหน้าซีดเผือด

            “หลานเอ๋ย…ชีวิตของหลานได้หมดลงไม่เหลืออะไรแล้ว”

            โอวาท   สุทธนารักษ์. บทความเรื่อง  การทำลายภูมิปัญญาของไทย : ภาวะวิกฤตทางการศึกษาในชนบท. สังคมพัฒนา  ฉบับที่ 2 –3 /2530.

หมายเลขบันทึก: 441330เขียนเมื่อ 29 พฤษภาคม 2011 13:29 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 13:44 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ความคิดในวงการศึกษาปัจจุบันน่าจะถูำกต้องแล้วนะค่ะ  ที่ย้อนกลับมามองอดีต แล้วให้ความสำคัญกับภูมิปัญญาท้องถิ่น 

 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท