457 เข้าใจเข้าถึงอินเดีย.....ต้องเข้าใจคริกเก็ต (3)


คริกเก็ตสร้างชีวิต

 

 

(ขอบคุณภาพจาก cricketcircle.com)

 

สำหรับคนไทย ณ ปี 2554 (2011) ที่ผมเขียนอยู่นี้ หนึ่งปีก่อนมีการทำนายว่าปี 2012 โลกจะแตก (ซึ่งที่ผ่านมา คำทำนายต่างๆ ว่าโลกจะแตกในวันนั้นวันนี้ ก็ยังไม่เกิดสักที) คริกเก็ตก็ยังเป็นกีฬาที่คนไทยไม่สนใจ และไม่ค่อยมีคนไทยรู้เรื่องมากนัก ถือว่ายังอยู่ในกลุ่มเล็กๆ เฉพาะกลุ่ม โดยเฉพาะคนต่างชาติ (อังกฤษ ออสเตรเลียและอินเดีย) ที่พำนักอยู่ในประเทศและในระดับโรงเรียนในต่างจังหวัดบางจังหวัดที่ได้รับการส่งเสริม (เชียงใหม่ ขอนแก่น อุตรดิตถ์ ภูเก็ต) ดังนั้นความคิดในหัวสมองที่เกิดจากการนอนไม่หลับในคืนวันที่ 2 เมษายน 2554 ที่จะทำให้กีฬานี้เป็นที่รู้จักของคนไทยจึงเป็นเรื่องที่ยากมากๆ หรือแทบจะเป็นไปไม่ได้เลย เหมือนเข็นครกขึ้นภูเขาหิมะ แต่อย่างไรก็ตาม ประเด็นนี้กลับเป็นความท้าทายที่น่าสนใจสำหรับผม เพราะชอบทำอะไรที่คนไม่คิดจะทำ เอ เป็นคนแปลกหรือไม่ .......ทุกสิ่งทุกอย่างต้องมีจุดเริ่มต้น และทุกสิ่งทุกอย่างเปลี่ยนแปลงได้เสมอ แม้จะยังมองไม่เห็นทาง แต่ในฐานะที่ผมมีโอกาสใช้ชีวิตอยู่ในอินเดียนานกว่า 4 ปี เห็นการเล่นคริกเก็ตพื้นบ้านแทบทุกวัน ที่อินเดียโดยเฉพาะกีฬาคริกเก็ตมีคำเพิ่มศัพท์ใหม่ขึ้นมาอีกคำหนึ่งคือนอกจากจะมีกีฬาพื้นบ้านแล้วยังมีกีฬาพื้นถนนด้วย คือไม่เว้นแม้แต่ในถนนหนทาง เด็กๆ ก็พากันหาไม้และลูกมาฝึกเล่นคริกเก็ตกันในช่วงที่ไม่มีรถวิ่ง ความฝันของเด็กๆ เหล่านี้ก็คือวันหนึ่งจะเป็นอย่างซาชิน ทันดูลการ์ นักคริกเก็ตเงินร้อยล้านคนนี้ จึงไม่แปลกที่ว่าทุกที่สาธารณะในอินเดียคือสนามฝึกคริกเก็ต อาจจะพูดได้ว่าสนามฝึกคริกเก็ตที่ใหญ่ที่สุดในโลกก็คืออินเดีย คือที่สาธารณะทุกแห่ง เพราะผมเจอมาแล้วกับตัวเอง ขับรถอยู่ดีๆ ก็โดนลูกบอลเล็กๆ ที่ผู้ตีตั้งใจตีจะให้โฮมรัน 6 แต้ม เพียงแต่ว่าลูกกลับพุ่งมาถูกรถของผมที่วิ่งบนถนนพอดี โชคดีที่รถไม่เป็นอะไร

เด็กอินเดียทั่วไปจึงชอบเล่นกีฬากลางแจ้งนี้และอดทนต่อแดดมาก ผมเคยแอบถามคนที่เล่นเหล่านี้ว่าเป้าหมายที่มาเสี่ยงชีวิตข้างถนนเล่นแบบนี้คืออะไร ก็ได้รับข้อมูลที่น่าสนใจว่าเส้นทางการเป็นนักคริกเก็ตที่ใฝ่ฝันคือฝึกเล่นให้เก่ง เก่งในโรงเรียนก่อน จากนั้นพยายามสมัครเล่นในคลับของเขตในเมืองที่ตนอยู่ ถ้าได้ก็จะมีโค้ชประจำตัว จากนั้นหากเล่นดี โค้ชก็จะสนัลสนุนให้ไต่เต้าไปเล่นในระดับทีมของเมือง ซึ่งก็มีระดับความเก่งต่างกัน หากเล่นดี ก็จะสามารถเขยิบไปเล่นในเมืองใหญ่ๆ และในระดับรัฐ และสุดท้ายในระดับประเทศต่อไป เส้นทางเหล่านี้มิใช่เป็นไปไม่ได้ ชีวประวัติของซาชินนั้นเด็กๆ อินเดียรู้ดี อาจรู้ดีมากกว่าประวัติของบรรพบุรุษของตัวเองซะอีก

ซาชินนั้นตัวเล็กๆมาจากครอบครัวคนธรรมดา เริ่มเล่นคริกเก็ตมาตั้งแต่อายุยังน้อยคืออยู่โรงเรียนมัธยม อายุยังไม่ถึง 14 เต็ม ก็ฉายแววของการเป็นนักกีฬาคริกเก็ตที่มีอนาคต จนมีผู้มองเห็นและสนับสนุนให้เดินไปบนถนนสายนี้จนประสบความสำเร็จมาทุกวันนี้ ด้วยฝีมือของการขว้างและการตีบวกกับพรสวรรค์ทำให้เขาเป็นหนึ่งเดียวในกีฬานี้ในอินเดียมากว่า 3 ศตวรรษ ดังนั้นหากเข้าใจในความฝันของเด็กๆ แล้วก็อโหสิกรรมกับลูกบอลที่ถูกตีมาถูกรถ ซึ่งรถก็ไม่ได้เป็นอะไรมาก

สิ่งที่ผม"เห็น" ไม่ใช่ลูกบอลที่มากระทบรถ แต่ผมได้เห็นความมุ่งมั่นของคนที่แทบไม่มีอะไรเลยในชีวิต จะมีก็แต่ไม้ที่ทำจากเศษไม้ในกองขยะ...และความฝันที่หล่อเลี้ยงและเหลืออยู่ในดวงจิตน้อยๆ นับล้านๆ ดวง ว่า “วันหนึ่ง ฉันจะเป็นอย่างซาชิน ทันดูลการ์”......

โอม มหาวีระ คณะปติ เย นะมะฮะ

*บอกแล้วว่าเรื่องนี้ขนาดไม่สั้น.....โปรดติดตามตอนต่อไป

คำสำคัญ (Tags): #Sachin Tendulkar
หมายเลขบันทึก: 441135เขียนเมื่อ 28 พฤษภาคม 2011 09:43 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 13:44 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (6)

น่าสนใจมากค่ะ ขอติดตามอ่านต่อค่ะ

Ico24 ดร. จันทวรรณ ปิยะวัฒน์

ขอบคุณนะครับที่ติดตามอ่าน สิ่งที่ผมนำเสนอโยงเกี่ยวกับผลประโยชน์ของคนไทยในอนาคตครับ แม้แต่เรื่องคริกเก็ตก็สามารถเป็นการทูตทางวัฒนธรรม(กีฬา) ที่ดีได้

เห็นข่าวกีฬาเช่นกัน

แต่ก็ไม่ค่อยได้เคยเห็น

นอกจากทางทีวี

คนอยู่อินเดีย เข้าใจอินเดียอย่างแท้จริงมีน้อย

ขอชื่นชมเพราะบางคนอยู่สิบ ยี่สิบปี

ยังไม่เคยรู้จักคนอินเดียที่แท้จริงเลย

น่าเสียดายเวลาค่ะ

คริกเก็ตเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตและวิถีคนอินเดีย หากเราอยากจะพูดภาษาเดียวกัน ก็ต้องรู้เรื่องคริกเก็ต

ได้เผยแพร่แนวคิดนี้กับ จนท.หลายคนที่ต้องทำหน้าที่ติดต่อกับคนอินเดีย ใช้คริกเก็ตเป็นสื่อในการปฏิสัมพันธ์เถิด แล้วจะเจอขุมทรัพย์กองใหม่

ตามมาอ่านเรื่องคริกเก็ตต่อค่ะ.

แต่ขอคุยนอกเรื่องตามนิสัยของน้าจ้านะคะ พอดีเพิ่งได้อ่านข่าวการมรณภาพของ พระเทพโพธิวิเทศ (หลวงพ่อทองยอด) เจ้าอาวาสวัดไทยพุทธคยา อันดับ 3 อ่านตามข่าวบอกว่า หลวงพ่อได้เดินทางไปปฎิบัติศาสนกิจที่ประเทศอินเดีย โดยไม่ยอมกลับประเทศไทยเป็นเวลานานถึง 50 ปี 50 ปีโดยไม่ได้กลับเมืองไทย....?

ในข่าวเขียนต่อว่า นับเป็นพระมหาเถระที่มีใจเด็ดเดี่ยวอย่างยิ่ง ทั้งยังมีวัตรปฎิบัติน่าเลื่อมใส มักน้อย สันโดษ ก่อให้เกิดศรัทธาปสาทะแก่พุทธบริษัทที่ได้สัมผัสอย่างเด่นชัด. น้าจ้าอ่านประวัติของหลวงพ่อก็ประทับใจมากๆค่ะ คุณพลเดชละคะ?

น้าจ้าครับ

ผมได้มีโอกาสกราบท่านเจ้าคุณพระเทพโพธิวิเทศหลายครั้งในช่วงที่ไปราชการที่พุทธคยา รัฐพิหารตั้งแต่ปีแรกที่ไปอยู่ที่อินเดีย ท่านเป็นพระผู้ใหญ่ที่มีเมตตาสูง ด้วยใบหน้าที่ยิ้มแย้มเสมอ ดวงตาเห็นแล้วก็รู้สึกทันทีว่าท่านเมตตาคนที่ท่านพูดและสนทนาด้วยเสมอ

การที่ท่านเป็นพระธรรมทูตสายอินเดียนับเป็นศาสนกิจที่ยิ่งใหญ่มากเพราะผู้ที่ไปสังเวชนียสถานในอินเดียจะเข้าใจว่าสภาพของเมืองคยา รับพิหารนั้นไม่ได้เจริญมากมายนัก ยิ่งสมัยก่อนก้คงยิ่งต้องลำบากมากทีเดียว แต่ม่านก็ทำหน้าที่พระธรรทูตได้อย่างน่าชื่นชม

ผมชื่นชมพระธรรมทูตไทยสายอินเดียมากที่สุด ในชีวิตนักการทูตที่ออกไปประจำการในประเทศต่างๆ ได้มีโอกาสพบพระธรรมทูตในหลายประเทศในหลายทวีป ทั้งยุโรป อเมริกา เอเชียและอินเดีย ขอเรียนว่าชีวิตที่ต้องต่อสู้จริงๆ ก็คือในดินแดนพุทธภูมิแห่งนี้ ดังนั้น การที่ท่านเจ้าคุณได้อดทนต่อสู้รับภาระในหน้าที่เจ้าอาวาสวัดไทยพุทธคยามาถึงนานมากนี้ นับเวลาที่อยุ่ในอินเดียมาถึง 50 ปีเต็มจึงเป็นเรื่องที่หายากมากๆ และต้องยกย่องกันมากๆ

ในยุคของท่านเจ้าคุณพระเทพฯ เกิดวัดไทยในอินเดียมากมายจากวัดไทยพุทธคยาวัดเดียว มีวัดสาขาที่ต่อมากลายเป็นสำคัญหลายวัด จึงพูดได้ว่ากิจการศาสนาของพระธรรมทูตในยุคท่านเจ้าคุณพัฒนาและเจริญรุ่งเรืองมาก

ที่สำคัญสำหรับผมกับท่านเจ้าคุณคือการที่ผมได้อุปสมบทเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา ในปี 2550 ซึ่งผมได้ฉายา"เตชะพละโพธิ" ซึ่งท่านเจ้าคุณตั้งให้เองทุกคน นับเป็นความโชคดีของผม

ณ โอกาสนี้ผมขอถวายสักการะท่านเจ้าคุณพระเทพโพธิวิเทศด้วยความอาลัยยิ่งครับ ต่อการจากไปครั้งนี้

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท