มุขปาฐะ(ต่อ)


คนเรารู้หลายอย่างโดยไม่ต้องอ่านหนังสือก็ได้

       ถึงแม้เราจะมีอักษรไทยมานานหลายศตวรรษ เราก็ไม่ควรลืมความจริงอย่างน้อยสองประการว่า   ๑) กว่าหกร้อยปีนับแต่มีอักษรไทยจนถึงเมื่อมี พ.ร.บ. ประถมศึกษาฉบับแรก  คนที่รู้จักและใช้ลายสือไทยคือคนจำนวนน้อยในวังกับในวัดเท่านั้น  และถ้าการรณรงค์ของ(อดีต)กรมการศึกษานอกโรงเรียนประสบความสำเร็จร้อยเปอร์เซนต์จริง  ประเทศไทยก็เพิ่งมีคนรู้หนังสือทั่วประเทศเมื่อไม่กี่สิบปีมานี้เอง  ๒) ยุคที่เราทันสมัยสุดๆ และมีข่าวสารมากล้นจนท่วมหัวทุกวันนี้  อัตราเฉลี่ยการอ่านหนังสือของเราแต่ละคนก็ยังไม่ถึงสิบบรรทัดต่อปี

        มีหลายอาชีพที่หนังสือไม่ค่อยจะเกี่ยวข้อง ซึ่งเราจะยังไม่พูดถึง  แต่อาชีพที่ใช้ภาษาไทยเป็นหลักบางทีไม่ต้องรู้หนังสือเลยก็ทำได้ดี  เช่นคุณพุ่มพวง ดวงจันทร์ ซึ่งไม่รู้หนังสือแม้จะเคยเรียนหนังสือมาบ้างก็ตามนั้น ได้รับรางวัลการออกเสียงภาษาไทยชัดจากมหาวิทยาลัยจุฬาลงกรณ์ และคุณคริสตินา อากีลา (ติ๊นา) ก็ร้องเพลงไทยได้ดีมาก ทั้งๆที่เธอไม่รู้หนังสือไทย (ตามคำให้สัมภาษณ์ของเธอเอง) เป็นต้น  นอกจากนี้ ยังมีบรรดาพ่อเพลงแม่เพลงพื้นบ้านที่ร้องออกมาด้วยการด้นเพลงสดๆบนเวทีอีกมากหลายที่ช่วยยืนยันว่า การรู้หนังสือไม่ใช่ตัวชี้ขาดเพียงตัวเดียว

            ยังมีอีกหลายอย่างที่คนเรารู้ดีโดยไม่ต้องมีหนังสือเกี่ยวข้อง เช่น คนในเมืองรู้จักสัญญาณไฟจราจรบนถนน  เด็กๆของชนเผ่าต่างๆบนภูเขารู้จักสัตว์และพืชมากมายโดยไม่ต้องเรียนชีววิทยาให้ปวดหัวตัวร้อนแล้วสอบไม่ได้เหมือนเด็กนักเรียนในเมือง  และไม่เคยหลงป่าทั้งๆที่ไม่รู้จักแผนที่และไม่รู้จัก GPS  สถาปนึก ด้านสถาปัตยกรรมไทยหลายท่านสร้างโบสถ์วิหารสวยงามได้โดยไม่ต้องมีพิมพ์เขียว และที่น่าแปลกก็คือเด็กระดับอนุบาลบางคนที่เพิ่งรู้จักตัวหนังสือไทยไม่กี่ตัว สามารถบอกยี่ห้อรถยนต์บนถนนถูกต้องหมดทุกคันได้อย่างไร             

             ความจริงอีกประการหนึ่ง คือ ทุกวันนี้ เราสามารถดำเนินชีวิตได้อย่างเป็นปกติสุขโดยอ่านหนังสือน้อยกว่าสิบบรรทัด หรือไม่อ่านเลยก็ได้ และจะยังสามารถติดตามข่าวสารทั้งในและนอกประเทศได้ไม่น้อยกว่าคนอื่นๆ เพราะมีโทรทัศน์ให้ดูฟรียี่สิบสี่ชั่วโมง และมีโทรศัพท์ไว้ติดต่อกับผู้คนได้ทั่วประเทศ   ถ้าจะต้องนั่งรอรับบริการอย่างใดอย่างหนึ่งก็ฟังเอ็มพีสาม ไม่ต้องอ่านหนังสือ  ทำอย่างนี้ทุกวันชีวิตก็มีความสุขได้ และตำรวจไทยไม่เคยไล่จับคนไม่อ่านหนังสือด้วย

            ตัวอย่างเหล่านี้แสดงว่า คนเรารู้หลายอย่างโดยไม่จำเป็นต้องอ่านหนังสือก็ได้  และนี่แปลว่า วิถีชีวิตแบบมุขปาฐะยังดำรงคงอยู่ในสังคมที่มีตัวหนังสือไว้เพื่อโม้ว่าเป็นเอกลักษณ์ของชาติ(แต่ไม่ค่อยอ่าน) ได้ต่อไปเรื่อยๆ และอาจไปได้ดีในบางเรื่อง

           แต่ก็แค่บางเรื่องเท่านั้น ขอยืนยันว่าแค่บางเรื่องเท่านั้น  ที่สุดแล้วการอ่านหนังสือมากๆและอ่านได้แตก มีประโยชน์มากกว่าอย่างเทียบกันไม่ได้

หมายเลขบันทึก: 440704เขียนเมื่อ 24 พฤษภาคม 2011 23:09 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 มิถุนายน 2012 21:12 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท