คุณหมอนักเขียนคนนี้มีเรื่องเล่าผู้หญิงหลากมุม


ใครๆ ก็เป็นนักเขียนได้ แต่จะเขียนได้ดีหรือไม่เป็นอีกเรื่อง...
 ชัญวลี ศรีสุโข สูติ-นรีแพทย์ หัวหน้าแผนกสูติกรรม โรงพยาบาลพิจิตร จ.พิจิตร ซึ่งชีวิตอีกด้านเป็นนักเขียน เธอมีผลงานเขียนกว่า 30 เล่ม อาทิ ต้าน 4 มะเร็งร้ายในผู้หญิง, Inside ผู้หญิง, Bra size รู้ใจผู้หญิง, คู่มือเติมรักฉบับหมอหวิว และเด็กหญิงของเรา (สารคดีรองชนะเลิศ รางวัลชมนาด สนพ.ประพันธ์สาส์น 2553)ฯลฯ ส่วนใหญ่เธอมักจะนำเสนอเรื่องราวของผู้หญิงหลากหลายมิติจากประสบการณ์การทำงานกับคนไข้หญิงที่เข้ามาปรึกษาปัญหาชีวิตและสุขภาพ บางเรื่องราวก็แปลก จนเธออดใจไม่ไหวที่จะบอกเล่าให้คนอื่นได้อ่านผ่านตัวหนังสือ "เป็นหมอไม่ใช่แค่รักษาโรคและรักษากายคนไข้อย่างเดียว ยังช่วยรักษาใจ จิตวิญญาณด้วย มีคนไข้มาปรึกษาขอคำแนะนำ และเล่าเรื่องที่ไม่คิดว่าเขาจะเล่าให้ฟังมากมาย" คุณหมอชัญวลี เล่าและบอกว่า "มีคนไข้คนหนึ่งมีลูกสองคน มาขอทำรีแพร์ (ซ่อมทำสาว) เพื่อจะไปหากินขายตัวที่พัทยา หรือคนไข้อายุ 24 ปี มีชู้ ไม่รู้ว่าลูกในท้องเป็นลูกใคร เพราะนอนกับแฟนสองคนในวันเดียวกัน คนหนึ่งเป็นคนไทย อีกคนเป็นฝรั่ง หรือกรณีสามีเจ้าชู้ อยากให้ชัญวลี ช่วยเรียกสามีที่เป็นตำรวจยศสูงมาอบรมสั่งสอน แล้วชัญวลีจะกล้าทำแบบนั้นหรือ เราก็ได้แต่บอกเล่าวิธีแก้ไขปัญหาให้คนที่มาปรึกษา หรือกรณีสามีมีกิ๊กเป็นแคดดี้ คนที่เป็นเมียหลวงมาถามหมอว่า ควรจะสู้หรือถอย หรือกรณีเมียน้อยมาปรึกษาเพราะสงสารเมียหลวง กลัวเมียหลวงจะเข้าใจผิดคิดว่าสามีเอาโรคหนองในมาจากตน จริงๆ แล้วไม่ใช่ สามีมีกิ๊กมากกว่าหนึ่ง ฯลฯ" ได้ยินได้ฟังเรื่องราวจากชีวิตจริงมากมาย บางเรื่องเหลือเชื่อ บางเรื่องฟังแล้วขบขัน แต่บางเรื่องน่าเศร้า คุณหมอซึ่งมีพื้นฐานการเขียนก็เลยนำเรื่องราวเหล่านี้ไปเขียนเป็นเรื่องสั้นบ้าง บทความให้ความรู้บ้าง  คุณหมอชัญวลีชอบเขียนหนังสือตั้งแต่เรียนชั้นประถม เพราะแม่เป็นทั้งกวี นักเขียน นักร้อง และนักจัดรายการวิทยุ ส่วนตาเป็นนักดนตรี เล่นดนตรีได้ทุกอย่าง ตีระนาด สีซอ แถมยังเป็นครูสอนช่างฟ้อน  "ตอนเด็กๆ คงจะเป็นเพราะขาดความรัก หมอเป็นลูกผู้หญิงคนกลางในบรรดาพี่น้องผู้หญิงสามคน จึงพยายามเรียกร้องความสนใจ ตอนเด็กๆ พูดเก่ง  ร้องเพลงเก่ง เล่านิทานเก่ง เขียนเรียงความเก่ง เรียนเก่ง จำได้ว่าตอนเรียนมัธยมต้น โรงเรียนมัธยมสารภี คุณครูสำรวย สอนภาษาไทยให้คะแนนเรียงความ 10.5/10 เป็นคนแรกคนเดียวของโรงเรียนที่คะแนนเกิน ต่อมาคุณครูสำรวยหายไป พวกนักเรียนคุยกันว่า ได้ข่าวว่าคุณครูสำรวยไปนอนโรงพยาบาลสวนปรุง (โรงพยาบาลโรคจิต)"  แม้กระทั่งตอนมาเรียนแพทย์ เธอก็ทำงานให้ชมรมวรรณศิลป์ กระทั่งทำงานเป็นแพทย์ เคยเขียนกลอนให้วารสารทางการแพทย์ เขียนนานกว่าหนึ่งปี จนเจ้าของวารสารบอกว่า วารสารไม่ควรมีบทกลอน เธอจึงหัดเขียนเรื่องสั้น และส่งไปลงตามนิตยสารต่างๆ จนประสบความสำเร็จ อาทิ เรื่องสั้น “ตาของหมอ” 1 ใน 10 รางวัล “สุภาว์ เทวกุลฯ” ในปี พ.ศ.2540 และ “ปิมปา” เป็น นวนิยายรางวัล “สุภาว์ เทวกุลฯ” ในปี พ.ศ.2541 จากนั้นก็ได้รับรางวัลอีกหลายสถาบัน เช่น รางวัลช่อปาริชาติ, รางวัลชมเชยพระราชทาน แว่นแก้ว และรางวัลนิทานสีรุ้งยอดเยี่ยม ฯลฯ ส่วนผลงานเรื่องล่าสุด เด็กหญิงของเรา เธอเล่าจากประสบการณ์การทำงานเป็นหมอสูติกว่า 20 ปี ซึ่งมีทั้งเรื่องผู้หญิงที่ถูกทารุณกรรมทางเพศ หรือมีเพศสัมพันธ์ก่อนวัยอันควร  "เรื่องเด็กหญิงของเรา หมอเอามาจากเรื่องจริง มีทั้งเรื่องไม่สะเทือนใจ และเรื่องสะเทือนใจ ยกตัวอย่างเด็กผู้หญิงคนหนึ่งมีเพศสัมพันธ์ แล้วถ่ายคลิปตัวเองไว้ในยูทูบ เด็กไม่รู้ว่าการทำแบบนี้มีผลเสียกับตัวเองอย่างไร หมอคิดว่าเรื่องนี้ครอบครัวมีความสำคัญมาก ถ้าดูแลอย่างใกล้ชิดจะมีปัญหาน้อยลง แม้ว่าเด็กจะติดยา ติดโรค เด็กก็มีที่พึ่งพิง ซึ่งเรื่องเหล่านี้ไม่ใช่เรื่องปัจเจกบุคคล เพราะเรามีสื่อที่ยั่วยุมากมาย หรือผู้ชายที่เห็นเด็กเป็นเหยื่อ หลายครอบครัวพ่อแม่ดูแลอย่างใกล้ชิดไปรับส่งที่โรงเรียนทุกวัน  แต่ในที่สุดเด็กก็ท้อง " เธอเล่าถึงประสบการณ์ที่นำมาเขียน และบอกว่า  เมื่อ 4 ปีที่แล้ว เริ่มเขียนซีรีส์ยาวเด็กหญิงสารภีในนิตยสารชีวจิต เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นจริงเมื่อสิบปีที่แล้ว เด็กหญิงคนนี้มีแม่เป็นคนสติปัญญาบกพร่อง และเด็กถูกทารุณกรรมทางเพศ พอหมอเขียนออกมา มีคนติดตามอ่าน แล้วสงสารอยากอุปการะเลี้ยงดูเด็กหญิงสารภี หากถามว่า เป็นหมอชีวิตก็วุ่นวายอยู่แล้ว เอาเวลาช่วงไหนเขียนหนังสือ เธอบอกว่า เขียนได้ทุกช่วงที่มีเวลาว่าง เมื่อมีอารมณ์และมีความสุข  "ไม่เคยวางพล็อตเป็นเรื่องราว นี่คงเป็นจุดด้อย แต่รู้ว่าเวลาเขียนมันไหลออกมาเอง เหมือนคนอื่นที่ไม่ใช่เรามาช่วยเล่าเรื่อง" ส่วนใหญ่แล้วนักเขียนผู้หญิงจะไม่ค่อยเขียนเรื่องเซ็กซ์ แต่คุณหมอก็มีผลงานออกมาหลายเล่ม อาทิ คู่มือเติมรักฉบับหมอหวิว, คู่มือเติมรักสุขใจและคู่มือเติมรักไออุ่น รวมบทความกึ่งวิชาการเรื่องเพศ สนพ.สุขภาพใจ 2550 "เมื่อสิบปีที่แล้วโปรดิวเซอร์รายการชูรักชูรส ชวนไปเป็นวิทยากร ยังแปลกใจว่าเขารู้ได้อย่างไรว่าเราจะพูดเรื่องเซ็กซ์ได้ แต่ก็พูดได้ เมื่อพูดก็ต้องค้นคว้าตอนนี้จึงมีนิตยสารประมาณห้าเล่มให้เขียนเรื่องเซ็กซ์ จริงๆ แล้วคนเขียนเรื่องเซ็กซ์มีน้อย เพราะเวลาใครพูดถึงเรื่องเซ็กซ์จะถูกมองไม่ดี แต่ปัจจุบันเรื่องเซ็กซ์สำคัญมาก เพราะก่อปัญหาให้กับวัยรุ่นและวัยเจริญพันธุ์" คุณหมอเล่า และบอกว่า แม้เรื่องเซ็กซ์จะเป็นหนึ่งในร้อยของชีวิต แต่มีความสำคัญกว่า 50 เปอร์เซ็นต์ "ที่เห็นได้ชัดคือ ผู้หญิงไทยที่มีแฟนฝรั่ง แม้จะคุยกันไม่รู้เรื่อง แต่สามารถอยู่ด้วยกันได้ เพราะเรื่องเซ็กซ์ ซึ่งสังคมไทยไม่พูดเรื่องนี้ แต่ปรากฏว่า เด็กรู้มากกว่าผู้ใหญ่ แล้วผู้ใหญ่ตามไม่ทันคิดว่า การสอนเรื่องเซ็กซ์เป็นการชี้โพรงให้กระรอก ซึ่งไม่ใช่แบบนั้น หมอเคยเขียนไว้ "เด็กหญิงของเรา" กรณีที่ครูไปเปิดห้องน้ำ แล้วเจอเด็กผู้หญิงและเด็กผู้ชายกำลังกอดจูบกัน คนที่ตกใจคือครู ซึ่งทำอะไรไม่ถูก แต่เด็กกลับบอกว่า ครูจะเข้าห้องน้ำหรือคะ นี่คือเป็นเรื่องที่ผู้ใหญ่คาดไม่ถึง" คุณหมอ บอกว่า เขียนเรื่องเซ็กซ์ในแนวเพศศึกษา กระตุ้นเตือน ป้องกันปัญหา ยกตัวอย่างบทความ "รับปีใหม่ไม่เสียสาว" ผู้หญิงต้องบอกกับตนเองว่าฉันมีศักดิ์ศรี ฉันจะเสียสาวเมื่อพร้อมจะมีครอบครัว ฉันจะไม่เสียสาวในวันปีใหม่, เตรียมคำตอบ ตอบปฏิเสธคำชักชวนให้เสียสาวของอีกฝ่ายไว้หลายๆ รูปแบบ, ตกลงกับแฟน บอกกับเขาตรงๆ ไปเลยว่ารับปีใหม่ไม่เสียสาวนะคะ เสียสาวไม่ไป, อย่าปล่อยให้บรรยากาศเป็นใจ ความสวยหอมของช่อดอกไม้ แสงสลัวจากเปลวเทียน ของขวัญที่ถูกใจ เสี้ยวจันทร์ที่คล้องกิ่งฟ้า มามีอิทธิพลต่อหัวใจ ต้องทำใจแข็งไม่ปล่อยบรรยากาศที่โรแมนติกให้เข้าครอบงำ จนเสียสาวไม่รู้ตัว และอย่าให้สิ่งที่คุณควบคุมไม่ได้เริ่ม คุณต้องรู้จักตนเองให้ดี รู้ว่าตัวเรามีจุดไวต่อความรู้สึกตรงไหน บางคนไวต่อการสัมผัส กอด จูบฯลฯ ดังนั้นต้องไม่ปล่อยให้สิ่งที่เราควบคุมไม่ได้เริ่ม เพราะจะตามมาด้วยการเสียสาวอย่างไม่ทันตั้งตัว และอย่าลอง เซ็กซ์ก็เหมือนยาเสพติด ฯลฯ  เมื่อคุยถึงปัญหาเซ็กซ์ในเมืองไทย ปัญหาที่ตามคือ ท้องไม่พร้อม คุณหมอบอกว่า เป็นปัญหาที่ไม่อาจแก้ได้ด้วยคนคนเดียว แต่คนในสังคมมีส่วนในการช่วยเหลือ

รายการวีไอพี            

 

 

 

หมายเลขบันทึก: 440616เขียนเมื่อ 24 พฤษภาคม 2011 10:33 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 13:44 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

น่าสนใจมาก ลองไปจัดตัวอักษรดูนะครับ

วิดีโอไม่ขึ้นเป็นเพราะอะไรค่ะอาจารย์

ขึ้นแล้วค่ะ...ขอบคุณค่ะอาจารย์

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท