เศรษฐกิจพอเพียง


ศูนย์ปราชญ์ชาวบ้าน

"ศูนย์ปราชญ์ฯ บ้านโงกน้ำ พัทลุง" ประสบผลสำเร็จ วางแนวทางเกษตรกรปลูกยางพาราสร้างรายได้งามควบคู่ทำเกษตรผสมผสานบริโภคในครัวเรือน



         ศูนย์ปราชญ์ฯ ภาคใต้ ศูนย์การเรียนรู้เกษตรยั่งยืนบ้านโงกน้ำ ต.นาขยาด อ.ควนขนุ น จ.พัทลุง โดยปราชญ์ชาวบ้าน อ. สุขุม ทองขุนดำ นับเป็นอีกหนึ่งใน 40 ศูนย์ปราชญ์ฯ ของปี 2550 ที่เกิดสัมฤทธิผลทั้งในเชิงปริมาณซึ่งมีผู้เข้ารับการอบรมกว่า 600 คน จากเป้าหมาย 500 คน และในเชิงคุณภาพ ที่จากการประเมินติดตามผลพบว่า เกษตรกรได้นำความรู้ด้านเกษตรทฤษฎีใหม่ ภายใต้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงไปประยุกต์ใช้ตามศักยภาพและพื้นที่ของตน กล่าวคือ ถึงแม้ว่าปัจจุบันชาวบ้านโงกน้ำแทบทุกครัวเรือนได้หันมาทำสวนยางพารา ซึ่งสามารถสร้างรายได้จำนวนมากเป็นอาชีพหลัก แต่ก็ยังคงทำนาเพื่อบริโภคในครัวเรือน และที่เหลือบางส่วนจึงนำไปจำหน่ายเป็นรายได้เสริม นอกจากนี้บริเวณที่ดินเปล่า ก็ทำการจัดสรรเป็นสัดส่วนตามแนวเกษตรทฤษฎีใหม่ ซึ่งมีการแบ่งใช้พื้นที่ขนาดเล็กอย่างคุ้มค่าและเกิดประโยชน์ ด้วยการปลูกพืชผักสวนครัว ไม้ผลต่างๆ บริเวณบ้าน ตลอดจนปลูกพืชระยะสั้น เช่น ถั่วลิสง ข้าวโพด แตงกวา และเลี้ยงโค สุกร ไก่ เป็นอาชีพเสริม รวมถึงพยายามปลูกฝังสมาชิกของชุมชนให้เกิดการสร้างวิถีชีวิตความเป็นอยู่โดยคำนึงถึงการพึ่งพาตนเองเบื้องต้น โดยยึดแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง นอกจากนี้ ยังมีการวางเครือข่ายในการติดต่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์ ความรู้ ที่เกิดขึ้นภายหลังการอบรมระหว่างกัน ซึ่งถือเป็นการเชื่อมโยงความสัมพันธ์ของเกษตรกรรายย่อยในพื้นที่ใกล้เคียงให้เกิดความเข้มแข็งได้เป็นอย่างดี อีกปัจจัยหนึ่งที่ส่งผลให้ศูนย์ปราชญ์ฯ บ้านโงกน้ำ ประสบความสำเร็จ เนื่องจากมีการรวมกลุ่ม 15 กลุ่ม ที่มีความพร้อมในการถ่ายทอดองค์ความรู้ให้กับเกษตรกรที่สนใจเข้ามาเรียนรู้ อาทิ กลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิต การจัดตั้งกองทุนปุ๋ย กองทุนปลดเปลื้องหนี้สิน กลุ่มโรงงานยางอบควัน กลุ่มเลี้ยงโค กลุ่มปลูกผัก กลุ่มทำขนม ฯลฯ ผ่านโครงการต่างๆ อาทิ การจัดตั้งโรงปุ๋ยชีวภาพปั้นเม็ดบ้านโงกน้ำ เนื่องจากเล็งเห็นว่าปัญหาเกี่ยวกับสภาพดินที่เสื่อมลงมีสาเหตุมาจากการใช้ปุ๋ยเคมีเป็นระยะเวลานาน จึงหันมาใช้ปุ๋ยชีวภาพซึ่งผลิตได้ไม่ยากและลดต้นทุนการใช้ปุ๋ยเคมี รวมถึงเป็นการฟื้นฟูดินให้อุดมสมบูรณ์ขึ้น ตลอดจนวิเคราะห์วางแผนการปลูกพืชในไร่นาสวนผสม โดยแบ่งเป็น 6 ชั้น ได้แก่ ชั้นที่หนึ่ง พืชชั้นสูง เป็นไม้สร้างบ้าน ชั้นที่สอง ไม้ผลที่ให้ผลสลับกันตลอดทั้งปี ชั้นที่สาม พืชไร่ที่จำเป็นต่อไร่นาสวนผสม อาทิ กล้วย เนื่องจากให้ความชุ่มชื้นในระบบบังแสงแดดและไม่เป็นพิษเป็นภัยกับพืชอื่น ชั้นที่สี่ พืชพุ่มเตี้ยหรือต้นเตี้ยที่สามารถกินใบกินผลได้ตลอดปี ชั้นที่ห้า พืชประเภทผัก เพื่อเพิ่มรายได้ในระยะแรกของการทำเกษตรแบบไร่นาสวนผสม และชั้นที่หก พืชผักในน้ำ ซึ่งกิจกรรมทั้งหมดที่กล่าวไปสามารถสร้างระบบภูมิคุ้มกันที่ดีให้กับเกษตรกรรายย่อยที่เข้ารับการอบรมได้อย่างตรงจุด เนื่องจากจะมีการวิเคราะห์ศักยภาพและปัญหาที่เกิดขึ้นกับการทำเกษตรของตน นำไปสู่การพิจารณาแก้ไขจากสาเหตุแท้จริง ภายใต้การนำทางของปราชญ์ชาวบ้านซึ่งเป็นที่ยอมรับของชุมชน ซึ่งกระทรวงเกษตรฯ พร้อมที่จะให้การสนับสนุนและผลักดันวิธีการเรียนรู้แบบเกษตรกรสอนเกษตรกรนี้อย่างต่อเนื่องและพัฒนาให้ก้าวหน้า เพื่อเป็นการสร้างต้นแบบเกษตรทฤษฎีใหม่ ภายใต้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงให้เกิดขึ้นในทุกภูมิภาค เป็นแหล่งบ่มเพาะเกษตรรายย่อยของประเทศไทยให้มีคุณภาพ พึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืนในที่สุด

          ***สถานที่จัดค่าบบูรณาการ โรงเรียนจุฬาภรณราชวิทยาลัย สตูล***

หมายเลขบันทึก: 440155เขียนเมื่อ 21 พฤษภาคม 2011 15:47 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 12:08 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

แวะมาทักทายและเป็นกำลังใจให้ค่ะ..

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท